Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
18 เม.ย. 2020 เวลา 08:31 • สุขภาพ
ยุทธศาสตร์การเยียวยาเศรษฐกิจ อเมริกา VS จีน
ไทยจะไปทางไหน
ตอนที่1 : บทเรียนจากประวัติศาสตร์
ในวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรง แนวคิดในการแก้ไขสำคัญมาก ถ้ายุทธศาสตร์ถูกต้อง ก็จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ถ้ายุทธศาสตร์ผิด ปัญหาก็จะหนักหน่วงขึ้น และยาวนานขึ้น
การศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ และตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์มากในการเลือกแนวทางการแก้ปัญหาที่ดี
เฮอร์เบิร์ต คลาร์ก ฮูเวอร์
ตัวอย่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ผิดพลาด
วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดในโลกในรอบ 100 ปี(Great Depression) เกิดขึ้นในอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2472 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากฟองสบู่ในตลาดหุ้นแตก ราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เชื่อในแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิคที่ว่า รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงภาวะตลาด ตลาดจะปรับตัวมันเอง
เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมีอยู่ 4 ตัว คือ
1. การบริโภค
2. การลงทุน
3. การส่งออก
4. การใช้จ่ายภาครัฐ
ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานมากมาย การบริโภคลดต่ำ เพราะคนไม่มีเงิน ธุรกิจไม่มีเงินและไม่กล้าลงทุน การส่งออกก็หดตัวเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำระบาดไปทั่วโลก เครื่องยนต์หลักที่เหลือเพียงตัวเดียวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ แต่ประธานาธิบดีฮูเวอร์กลับเลือกใช้นโยบายไม่แทรกแซง และสั่งให้ทำงบประมาณแบบสมดุล เมื่อรายรับจากภาษีลดลง ก็ให้ตัดลดงบประมาณรายจ่ายอีก เศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัว แถมยังขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากร้อยละ 1.5% เป็น 2.5% และขึ้นไปอีกเป็น 3.5% ภายในแค่ 3 สัปดาห์ ออกกฎหมายปกป้องสินค้าภายในประเทศโดยตั้งกำแพงภาษี ประเทศอื่นก็ตอบโต้บ้าง ผลคือ การค้าระหว่างประเทศหดตัวลงถึง 50% สินค้าออกอเมริกาก็ยิ่งลดต่ำลง เศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ลงไปอีก
นโยบายที่ผิดพลาดของฮูเวอร์ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบสุดๆ นี้ ลากยาวถึง 4 ปี ตลอดช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง
GDP ของอเมริกาในปี พ.ศ.2476 หดตัวลงถึง 45% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2472 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงกว่า 80% อัตราการว่างงานสูงถึง 25% มีธนาคารล้มละลายถึงราว 10,000 แห่ง และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 ต้องสั่งให้ธนาคารทั้งประเทศหยุดดำเนินการ ภาพคนใส่เสื้อผ้าซอมซ่อเดินตามถนนเพื่อหางานทำแลกอาหารกินกันตายเห็นได้ทั่วไป คนที่ไม่มีบ้านอยู่ต้องเอาเศษไม้มาตอกตีเป็นที่อยู่รวมกัน เรียกชื่อกันว่า “หมู่บ้านฮูเวอร์” คนที่เอากระดาษหนังสือพิมพ์มาพันตัวกันหนาวนอนตามถนน เรียกชื่อกันว่า “ผ้าห่มฮูเวอร์”
ผลจากนโยบายที่ผิดพลาดนี้ ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อมา ฮูเวอร์พ่ายแพ้อย่างยับเยิน และรุสเวลส์ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ รุสเวลส์ประกาศแผนการนิวดีล โดยอัดฉีดงบประมาณช่วยประชาชน ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงาน สร้างงานโดยลงทุนสร้างถนน เขื่อน กิจการสาธารณูปโภคต่างๆ และให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร เศรษฐกิจอเมริกาก็เริ่มฟื้นตัว
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์
เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์
เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเดิมที่ยึดถือกัน (neo-classic) บกพร่อง ทำให้จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้นำเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ในปีพ.ศ.2479 ซึ่งกล่าวว่าในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรัฐควรเข้าแทรกแซง เพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รัฐควรอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการว่างงาน และแก้ภาวะเงินฝืด ภาครัฐและเอกชนล้วนมีบทบาทที่สำคัญต่อการแก้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
การอัดฉีดงบประมาณของรัฐจะกระตุ้นให้มีการผลิต การลงทุน เพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น บริโภคเพิ่มขึ้น จึงมีการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก เป็นวงจรบวก
นับแต่นั้นเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ก็ได้เป็นแนวคิดกระแสหลัก ในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในโลก
“แนวทางที่ถูกต้องของรัฐบาลจึงสำคัญยิ่ง กับการแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
”ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากไวรัสโควิดนี้ รุนแรงที่สุดนับจาก Great Depression เรามาดูกันว่าแนวทางของอเมริกาและจีนใครจะเป็นผู้ชนะ และประเทศไทยจะไปทางไหน
ตอนต่อไปพบกับ “ยุทธศาสตร์การเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษโควิดของอเมริกา”
ขอคุณพระศรีรัตนตรัยปกปักรักษาประเทศไทยและชาวโลกทั้งปวง
พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
13 บันทึก
184
12
35
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ช่วยกันหยุด โควิด-19
13
184
12
35
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย