Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
19 เม.ย. 2020 เวลา 08:27 • สุขภาพ
ยุทธศาสตร์ของอเมริกา
ในการเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษโควิด
การเยียวยาเศรษฐกิจของอเมริกาและประเทศทางตะวันตกในครั้งนี้คล้ายกัน โดยได้ต้นแบบมาจากเยอรมันในคราวแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤติซัพไพร์ม เมื่อปี พ.ศ.2551 ซึ่งทำให้เยอรมันสามารถฟื้นตัวได้เร็วที่สุด
1
กล่าวโดยรวบยอดแนวทางในการเยียวยาเศรษฐกิจของอเมริกา คือ
1. ค้ำยันธุรกิจไม่ให้ล้ม
2. ช่วยประชาชนให้อยู่รอด
3. พยุงตลาดหุ้น
1
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ค้ำยันธุรกิจไม่ให้ล้ม
ธุรกิจจะล้มหรือไม่ล้ม หัวใจชี้ขาดอยู่ที่ “สภาพคล่อง” แม้ธุรกิจที่ขาดทุน หากยังมีสภาพคล่องก็ยังอยู่ได้ แต่ต่อให้เป็นธุรกิจที่มีกำไร ถ้าขาดสภาพคล่อง เช่น ธนาคารตัดเงินกู้ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายซัพพลายเออร์ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าอาคาร ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ ธุรกิจก็ล้ม
ถ้าปล่อยให้ธุรกิจเลิกกิจการไปแล้ว การจะให้เริ่มดำเนินการใหม่ใช้เวลามาก เสียค่าใช้จ่ายมาก กว่าจะรวมทีมงานได้ หาสถานที่ เซ็ทโครงสร้างการบริหาร ติดต่อซัพพลายเออร์ หาลูกค้า ฯลฯ และเมื่อธุรกิจหนึ่งล้ม ผลกระทบจะเป็นลูกโซ่ เพราะsupply chainขาดตอน ธุรกิจอื่นก็จะกระทบกระเทือนไปด้วย ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศโดยรวมล่าช้า
รัฐบาลอเมริกาและธนาคารกลาง(เฟด) จึงพยายามเสริมสภาพคล่องของธุรกิจทุกวิถีทาง อาทิเช่น
- ปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจ SME ที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน และเงินกู้ส่วนที่จ่ายเป็นค่าแรงพนักงานไม่ต้องคืน พูดง่ายๆ คือ รัฐจ่ายค่าแรงแทนบริษัทเป็นเวลา 2 เดือน
- ซื้อตราสารหนี้หลากชนิดของบริษัทต่างๆ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครดิตเรตติ้งของบริษัทต่างๆ ตกต่ำลงมาก เช่น บริษัทรถยนต์ฟอร์ด จากเคยมีเครดิตเรตติ้ง เกรดA ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับขยะ ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเหล่านี้แพงขึ้นมาก เพราะต้องให้ดอกเบี้ยแพงๆ ถึงจะมีนักลงทุนกล้าซื้อตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นหนี้สูญสูง เมื่อทางรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบ และทุ่มซื้อตราสารหนี้ โดยดูเครดิตเรตติ้งช่วงก่อนเกิดวิกฤติเป็นหลัก ทำให้ดอกเบี้ยของตราสารหนี้เหล่านี้ถูกลงมาก บริษัทจึงมีเงินมาหมุนเสริมสภาพคล่องด้วยต้นทุนที่ถูก
- เสริมด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น ยืดการจ่ายภาษี ห้ามเจ้าของอาคารไล่ที่ ลดค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีปัญหา เช่น สายการบินต่างๆ บริษัทโบอิ้ง รัฐให้เงินช่วยเหลือโดยมีเงื่อนไขว่า สามารถนำเงินช่วยเหลือ แปลงเป็นทุน ถือเป็นหุ้น เมื่อธุรกิจนั้นฟื้นตัวแล้วรัฐก็สามารถนำออกขายได้ เงินไม่หายไปไหน
2. ช่วยประชาชนให้อยู่รอด
แม้รัฐจะพยุงธุรกิจและจ่ายเงินเดือนแทน 2 เดือน แต่ธุรกิจที่มองว่ากิจการของตนต้องลดพนักงานมากกว่า 2 เดือน ก็ยังมีการให้พนักงานออกจำนวนมาก
ในสหรัฐอเมริกา มีคนทำงานในระบบทั้งหมด 163 ล้านคน และมีการประกาศอัตราการว่างงานประจำเดือน ซึ่งมาจากข้อมูล ณ กลางเดือนนั้นๆ โดยอัตราการว่างงานเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดในรอบ 50 ปี เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก แต่เมื่อเชื้อไวรัสเริ่มระบาดกว้างในอเมริกา อัตราการจ้างงานในเดือนมีนาคม ซึ่งมาจากตัวเลข ณ วันที่ 15 มีนาคม ก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4.4%
ในอเมริกาผู้ที่ตกงานสามารถไปลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือได้ ซึ่งจะมีการสรุปตัวเลขผู้ตกงานมาลงทะเบียนเป็นรายสัปดาห์
จาก 15 มีนาคม มีผู้ตกงานเพิ่มขึ้นดังนี้
15 – 21 มีนาคม 3,568,000 คน
22 – 28 มีนาคม 6,606,000 คน
29 มี.ค. – 4 เม.ย 6,615,000 คน
5 – 11 เมษายน 5,245,000 คน
รวม 22,034,000 คน
ตัวเลขคนตกงาน 22,034,000 คนนี้ คิดเป็น 13.5% ของแรงงานในระบบทั้งหมด เมื่อนำไปรวมกับอัตราการว่างงาน 4.4% เมื่อ 15 มีนาคม
เท่ากับว่าในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในอเมริกาเท่ากับ 17.9% แล้ว สูงที่สุดตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อราว 90 ปีก่อน และเป็นการว่างงานอย่างฉับพลัน เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้แนวโน้มยังเพิ่มขึ้นอีก มีผู้คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานอาจถึง 25% ในเดือนพฤษภาคมนี้
ในอเมริกาคนจำนวน1ใน4 ไม่มีเงินเก็บ อีก1ใน4 มีเงินเก็บไม่ถึง 1,000 ดอลลาร์ เมื่อตกงานจึงไม่มีกิน ไม่มีใช้ทันที รัฐจึงต้องเร่งช่วยเหลือโดยด่วน โดยแจกเงินให้ประชาชนผู้ใหญ่คนละ 1,200 ดอลลาร์ (ราว 38,000 บาท เท่ากับ 2% ของ GDP ต่อหัวของชาวอเมริกัน) และอาจต้องจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นหากวิกฤติยืดเยื้อ ธุรกิจต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัมป์พยายามเร่งรัดการเริ่มเปิดดำเนินการใหม่ของธุรกิจต่างๆ โดยเร็ว
3. พยุงตลาดหุ้น
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นสูงสุดที่ 29,551 จุด ตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกามีมูลค่าหลักทรัพย์รวม (Market Capitalisation) ราว 1,100 ล้านล้านบาท หากอาศัยดัชนีดาวโจนส์เป็นตัวเทียบเคียงแทนตลาดหลักทรัพย์รวมของอเมริกา ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นหรือลงทุกๆ 1,000 จุด จะส่งผลทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์อเมริกาเพิ่มหรือลด 37 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของ GDP ประเทศไทย
ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เมื่อดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเหลือเพียง 18,000 กว่าจุด เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์อเมริกาหายไปทันทีกว่า 400 ล้านล้านบาท
สภาคองเกรสของอเมริกาอนุมัติงบเยียวยาเศรษฐกิจจากโควิด จำนวนราว 70 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์แล้ว แต่มูลค่ามาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงนี้มากกว่านั้นอีกกว่า 5 เท่าตัว
ดังนั้นในการเยียวยาเศรษฐกิจ รัฐบาลอเมริกาและธนาคารกลาง (เฟด) จึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไว้ให้ได้ ไม่อย่างนั้น จะอัดฉีดงบเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่ก็ไม่พอ
หากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกมากๆ ผลกระทบไม่ใช่เพียงตัวเลขมาร์เก็ตแคปที่หายไป ทำให้นักลงทุน ธุรกิจ ที่ถือหุ้นอยู่รู้สึกว่าตนเองจนลงกะทันหัน ทำให้การบริโภคการลงทุนตกต่ำลงเท่านั้น แต่จะทำให้ธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย จนสถาบันการเงินอาจล้มตามไปด้วย เพราะในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูธุรกิจในอเมริกาจำนวนมากออกตราสารหนี้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆ เพราะดอกเบี้ยถูกมาก แค่ราวร้อยละ 2 ธุรกิจจำนวนมากเอาเงินที่ได้มาไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองและหุ้นของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะผลตอบแทนที่ได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เยอะ เมื่อตลาดหลักทรัพย์ตกลงมากๆ ธุรกิจที่เอาเงินจากตราสารหนี้ไปซื้อหุ้นมากๆ เหล่านี้ก็จะขาดทุนยับเยินจนอาจล้มละลาย ตราสารหนี้ที่ออกไปก็จะกลายเป็นหนี้สูญ ส่งผลกระทบในวงกว้างเป็นลูกโซ่
ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงต้องออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0–0.25 % และพร้อมอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องอย่างไม่จำกัดจำนวน ภายในสัปดาห์เดียวเฟดอัดฉีดเงินเข้าระบบมากกว่า 20 ล้านล้านบาท กระทำการล้ำเส้นของขอบเขตหน้าที่ธนาคารกลาง โดยเข้าไปซื้อตราสารหนี้ของบริษัทต่างๆ โดยตรง แม้เครดิตเรทติ้งจะตกลงเป็นระดับขยะ(junk bond) แล้วก็ตาม ขอให้ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเครดิตยังดีก็ซื้อหมด แล้วขอให้กระทรวงการคลังตั้งงบประมาณราว 10 ล้านล้านบาท ไว้รองรับการขาดทุน กรณีที่ตราสารหนี้ที่เฟดซื้อ กลายเป็นหนี้สูญ
ท่าทีของเฟดและรัฐบาลอเมริกา ชัดเจนมากว่า จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์พยุงตัวอยู่ได้ ทำให้นักลงทุนคลายความตื่นตระหนก กล้าเข้าลงทุนซื้อหุ้นใหม่ กองทุนต่างๆซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์มากก็พยายามหาข่าวดีทุกอย่างเอามากระพือ เพื่อให้เป็นเหตุผลในการดันดัชนีให้สูงขึ้น
แต่เราต้องทราบว่าดัชนีดาวโจนส์ที่ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 24,242 จุด ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายนนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาล้วนๆ เมื่อผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ทยอยประกาศในสัปดาห์หน้า ซึ่งกำไรจะลดลงมาก ขวัญกำลังใจของนักลงทุนจะทานไหวไหมโดยเฉพาะเมื่อผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดว่า GDP อเมริกาจะติดลบราว 30% (เม.ย.-มิ.ย.) ออกมา นักลงทุนจะกล้าซื้อหุ้นที่ค่า P/E ratio 40-50 เท่าตัวไหม กว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัวสู่สภาพปกติได้คาดว่าจะเป็นปลายปี 2564 และ ณ จุดนั้นก็มีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าผลกำไรของบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมจะลดต่ำกว่าที่ผ่านมาราว 20%
ดังนั้น ดัชนีดาวโจนส์ที่ 24,000 เศษ ในขณะนี้ถือว่าสูงมากแล้ว และในปีนี้เราคงไม่เห็นดัชนีดาวโจนส์สูงไปกว่า 25,000 จุด ไม่ว่าจะดันกันอย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้จึงมีความเสี่ยงมาก หากจะลงทุนจะต้องเลือกหุ้นของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดน้อย มีพื้นฐานทางการเงินดีเป็นหลัก
อเมริกาเอาเงินจากไหนมาเยียวยาเศรษฐกิจ
เฟดมีอำนาจในการพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ไม่จำกัดจำนวน เมื่อรัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาล เฟดก็เอาเงินที่พิมพ์ไปซื้อ ทำให้รัฐบาลมีเงินไปใช้ในโครงการเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้เฟดยังก้าวข้ามขอบเขตปกติของธนาคารกลางไปซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรงอีกด้วย
รัฐบาลอเมริกาไม่ต้องคอยง้อจีน ญี่ปุ่น ประเทศต่างๆ ให้มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกาอีกแล้ว อยากได้เงินใช้ก็ออกพันธบัตร แล้วให้เฟดพิมพ์เงินดอลลาร์มาซื้อพันธบัตรได้ไม่จำกัดจำนวนเลย พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายก็คือ อเมริกาแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดย เมื่อต้องการใช้เงิน ก็พิมพ์แบงก์เพิ่มเอาไปใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ซิมบับเว และอาร์เจนตินา เคยทำจนต่อมาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากมายจนเศรษฐกิจล่มสลาย
แต่อเมริกาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก เงินดอลลาร์เป็นเงินตราสกุลหลักของโลก เศรษฐกิจอเมริกาจะไม่ล้มลงง่ายๆเพราะหากล้มก็จะลากเศรษฐกิจทั่วโลกล้มลงด้วย
ในปีนี้รัฐบาลอเมริกาจะขาดดุลงบประมาณราว 100 ล้านล้านบาท ราว 15% ของ GDP ทำให้หนี้สินของรัฐบาลอเมริการวมมากกว่า 135% ของ GDP สูงกว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ท่าทีของธนาคารกลางและรัฐบาลอเมริกานี้ จะส่งผลคือ หากสกัดการระบาดของไวรัสได้เร็ว เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ก็รอดไปทั้งหมด แต่ถ้าการระบาดยืดเยื้อ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเพิ่มอีกเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์จะลดลง ทำให้ในระยะยาวเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงมาก และเศรษฐกิจอเมริกาจะทรุดตัวลงโดยภาพรวม โดยอเมริกาจะสูญเสียสถานะมหาอำนาจหมายเลข 1 ทางเศรษฐกิจของโลก
โดยสรุป
ยุทธศาสตร์การเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษโควิดของอเมริกา เน้นน้ำหนักที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ธุรกิจและประชาชนพยุงตัวให้รอดในช่วงการ lock down นี้ และหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว
พรุ่งนี้พบกับ “ยุทธศาสตร์จีนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด”
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลกทั้งปวง
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
27 บันทึก
175
8
51
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ช่วยกันหยุด โควิด-19
27
175
8
51
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย