22 เม.ย. 2020 เวลา 03:38 • สุขภาพ
ยุทธศาสตร์ของจีนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากพิษโควิด
ตอนที่ 2 : วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของจีน
2. ใช้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่จำเป็น
เนื่องจากจีนคุมการระบาดได้อยู่ในเวลาอันสั้น ธุรกิจต่างๆ หยุดงานจริงๆ เพียง 2 สัปดาห์ ก็เริ่มดำเนินการใหม่ได้ รัฐบาลจีนจึงมีแรงกดดันน้อยในการอัดฉีดสภาพคล่องป้องกันธุรกิจต่างๆ ล้มละลาย
ในขณะที่ทางตะวันตกรัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเสริมสภาพคล่องกัน 10-20% ของ GDP ลดอัตราดอกเบี้ยกันแหลกลาญ ธนาคารกลางของอเมริกา (เฟด) ต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน ลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งๆละ 0.5% และ 1% ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ จนอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาลดลงเหลือ 0-0.25% ในยุโรปและญี่ปุ่นก็มีอัตราดอกเบี้ยราว 0% เช่นกัน
เรามาดูการลดอัตราดอกเบี้ยในจีน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารชาติจีนลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะเวลา 1 ปี ลง 0.1% จาก 4.15% เหลือ 4.05%
20 เมษายน ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี ลงอีก 0.2% เหลือ 3.85%
จะเห็นได้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของจีนน้อยมาก เหมือนน้ำจิ้มเลย เพราะธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ยังพอประคองตัวได้อยู่ ทำให้ทางการจีนยังเหลืออาวุธในมือที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก เพราะไม่ได้ถูกบังคับให้เทหมดหน้าตักเหมือนทางตะวันตก
ด้านการช่วยเหลือประชาชน ในขณะที่ประเทศต่างๆ คนตกงานจากภาวะ lockdown รัฐต้องแจกเงินช่วยเหลือกันมากมาย แต่ในจีนกลับไม่มีปัญหาเรื่องนี้ รัฐไม่ต้องแจกเงินประชาชนเลย เพราะ lockdown เพียงแค่ช่วงสั้น 10 วัน และคนจีนมีนิสัยประหยัด ประชาชนส่วนใหญ่มีเงินเก็บ พอมีกินมีใช้ในระยะเวลา 3 เดือนได้
ในจีนกลับมีปัญหาตรงกันข้าม คือ ในช่วงคลาย lockdown ใหม่ๆ โรงงานต่างๆ หาคนทำงานไม่ได้ แรงงานจากชนบท 300 ล้านคน ที่กลับไปเยี่ยมบ้านยังไม่กลับมาเพราะกลัวเชื้อ โรงงานใหญ่อย่าง Foxconn ต้องประกาศจ่ายเงินให้คนที่พาคนมาสมัครงาน ผู้ที่มาทำงานใหม่ ทางบริษัทแจกเงินพิเศษให้ทันที ราว 20,000 บาท โรงงานต่างๆ แย่งคนงานกัน กว่าสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานจะคลี่คลายก็ใช้เวลาราว 1 เดือน รัฐบาลจีนจึงไม่ต้องปวดหัวเรื่องจะแจกเงินช่วยคนตกงานอย่างไร อัตราการว่างงานในจีน ซึ่งปกติอยู่ที่ราว 5% เศษ ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมาเป็น 6.2% และในเดือนมีนาคมก็ลดลงเหลือ 5.9%
people's bank of china
อัตราการเติบโตของ GDP ของจีนในไตรมาสที่1 (ม.ค.-มี.ค.) ติดลบ -6.8% (เทียบกับไตรมาสที่1 ของปีก่อน) เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 44 ปี นับแต่เปิดประเทศพัฒนาเศรษฐกิจแบบการตลาดตามนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิง ปัญหาเศรษฐกิจที่จีนเผชิญครั้งนี้จึงถือว่าหนักหนาสาหัสมาก
เรามาดูดัชนีเศรษฐกิจสำคัญแต่ละตัว การดูแยกเป็นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ กับ เดือนมีนาคม จะทำให้เราเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง
จะเห็นได้ว่าในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งโรงงานต่างๆ ถูกสั่งปิด ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงถึง -13.5% แต่พอถึงเดือนมีนาคม โรงงานต่างๆ เปิดทำการใหม่ การผลิตเริ่มฟื้นตัวติดลบเพียง -1.1% ภาคการผลิตของจีนถือว่าฟื้นตัวแล้ว ไม่ใช่ปัญหาหลัก การลงทุนสร้างโรงงานและสำนักงานต่างๆ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัว จาก -24.5% ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ฟื้นตัวเหลือ -3.2% ในเดือนมีนาคม
ปัญหาใหญ่คือ การบริโภคใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งในเดือนมกราคม-ถึงกุมภาพันธ์ -20.5% ในเดือนมีนาคมฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ -15.8%
เมื่อมองเห็นประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจชัด ว่าอยู๋ที่การบริโภค รัฐบาลจีนก็แก้ปัญหาอย่างตรงจุดด้วยการกระตุ้นการบริโภค
รัฐบาลจีนใช้จ่ายเงินเยียวยาเศรษฐกิจอย่างประหยัดระมัดระวัง ใช้หลัก “สี่ตำลึง ปาดพันชั่ง” คือ หาวิธีที่ใช้เงินน้อยแต่ได้ผลมาก อาทิ เช่น
ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันละ ราว 43,000 บาท และยกเว้นภาษีการซื้อรถ จะเห็นได้ว่ามาตรการนี้รัฐจ่ายเงินไป 43,000 บาท ส่งผลกระตุ้นให้ประชาชนที่มีเงิน ควักเงินออกมาซื้อรถเกือบ 1 ล้านบาท เมื่อรถขายได้ มีการผลิต มีการจ้างงาน เงินหมุนเวียน ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่สะพัด มีจำนวนมากกว่าเงิน 43,000 บาท ที่จ่ายไปเสียอีก นี้คือ ตัวอย่างหนึ่งของการใช้เงินอย่างฉลาด
อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ มีการผลิตและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องมาก มีสัดส่วนราว 10% ของ GDP ประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ การซื้อรถยนต์ลดลง 79% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 43% ในเดือนมีนาคม รัฐบาลจีนจึงกระตุ้นการซื้อรถยนต์โดย ให้เมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้น ซึ่งปกติจะมีการจำกัดจำนวนป้ายทะเบียนรถใหม่ในแต่ละปี เพื่อแก้ปัญหารถติด เปิดโควตาพิเศษอนุมัติป้ายทะเบียนรถใหม่เพิ่มขึ้นเมืองละราว 1 แสนคัน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด (เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย) ซึ่งจะมีผลกระตุ้นมูลค่าการซื้อรถราว 1 แสนล้านบาท โดยรัฐไม่ต้องควักเงินเลยแม้แต่บาทเดียว
เมื่อการบริโภคตกต่ำ เพราะประชาชนห่วงอนาคต ไม่ค่อยใช้จ่าย บางมณฑลก็ใช้วิธีแจกคูปองส่วนลด ซึ่งสามารถนำไปใช้ซื้อของลดราคาได้ 20% บ้าง 30% บ้าง ตามมูลค่าที่กำหนดบนคูปอง คนได้รับคูปองก็อยากซื้อของ ร้านค้ารับคูปองแล้วก็มาขึ้นเงินกับทางรัฐได้ รัฐจะให้กี่ % หรือจะร่วมกันออกคนละครึ่งกับทางร้านค้าก็แล้วแต่ตกลงกัน
เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของการใช้จ่ายงบประมาณน้อย ให้ได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจมาก ตามหลัก “สี่ตำลึง ปาดพันชั่ง” ทั้งนั้น เพื่อให้มีเงินเหลือพอไว้ใช้แก้ปัญหาในระยะยาวด้วย
หมายเหตุ
ประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ปริมาณการค้า-การท่องเที่ยวกับไทยก็เพิ่มขึ้นมาก การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในจีนจึงส่งผลต่อประเทศไทยมาก
สำนักข่าวทางธุรกิจในไทย ควรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลปฐมภูมิในภาษาจีน เลือกสรร หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอให้ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารองค์กรธุรกิจของไทยได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับจีนได้ อย่างรู้เท่าทันและทันท่วงที ดีกว่าการนำเสนอข้อมูลทุติยภูมิเกี่ยวกับจีนจากสำนักข่าวทางตะวันตก ซึ่งเราจะได้แต่ข้อมูลที่สื่อเหล่านั้นอยากให้เรารู้
คนไทยที่เรียนจบจากจีน และนักศึกษาจีนที่มาเรียนจนจบมหาวิทยาลัยในไทยและอยู่ทำงานในไทย มีหลายหมื่นคน ถ้านโยบายชัดเจน การหาผู้สื่อข่าวที่มีความรู้ภาษาจีนไม่ใช่เรื่องยาก
3.ทุ่มเทพลังเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว
จีนมองว่า ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดไปทั่วโลกครั้งนี้จะมากมายมหาศาล ส่งผลต่อโครงสร้างกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จีนจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทำศึกแก้ปัญหาระยะยาว
โปลิตบูโร คือ คณะกรมการเมืองประจำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจีน มีสมาชิก 7 คน เบอร์ 1 คือ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เบอร์ 2 คือ หลีเค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี เบอร์ 3 คือ หลี่จ้านซู ประธานสภาประชาชน
คณะกรรมการโปลิตบูโร ที่ปกติจะประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยไม่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นและมติของที่ประชุมสู่สาธารณะ แต่ในวันที่ 8 มีนาคม 2563 สื่อมวลชนในจีนได้พร้อมเพรียงกันนำเสนอข่าวการประชุมคณะกรรมการโปลิตยูโร โดยสีจิ้นผิงได้ส่งสัญญาณการเตรียมพร้อมทำศึกยืดเยื้อไปถึงผู้บริหารทุกระดับชั้นของทั้งรัฐและเอกชน ดังนี้
“ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงทั่วโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงซับซ้อน เราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน
สิ่งที่รัฐบาลจีนเป็นห่วงมากมีอยู่ 3 เรื่อง คือ
1. การส่งออก
จีนเป็นประเทศที่มีการส่งออกสูงที่สุดในโลก ราว 80 ล้านล้านบาทในปีพ.ศ. 2562 และดุลการค้าเป็นบวกมากที่สุดในโลกเช่นกัน ราว 15 ล้านล้านบาท
ดุลการค้าที่เป็นบวกนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันให้ GDP ของจีนเติบโตสูงต่อเนื่องมากว่า 40 ปี จน GDP ต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าตัว
หลังจากทุ่มเททำงานอย่างหนักมา 2 เดือน ถือว่าจีนสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศได้โดยพื้นฐาน แต่ปัญหาคือไวรัสโควิดที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะงักงัน ส่งผลคือความต้องการสินค้าจีนจะลดลง องค์การการค้าโลก(WTO) คาดว่าปริมาณการค้าทั่วโลกจะลดลงถึง -32% ในปีนี้ ถ้าแก้ปัญหาไม่ดี โรงงาน ธุรกิจส่งออกในจีนจะขาดทุน บางส่วนต้องปิดโรงงาน ล้มละลาย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้คนตกงาน การบริโภคและการลงทุนตกต่ำ เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว เป็นวงจรลบได้
2. การโยกย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนของธุรกิจต่างประเทศ
จีนเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจด้วยจุดแข็งคือ ประชากรมาก ค่าแรงถูก เป็นแรงดึงดูด ทำให้ธุรกิจจากทั่วโลกมุ่งหน้าไปลงทุนในจีน นำมาซึ่งเงินทุนและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจีนได้เรียนรู้ดูดซับและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างรวดเร็ว
แม้ปัจจุบันคนจีนรวยขึ้น ค่าแรงของจีนแพงกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม บังคลาเทศ พม่า รวมถึงไทย แต่ธุรกิจต่างชาติจำนวนมากก็ยังคงลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นด้วยเหตุ 2 ประการคือ
ก. ประชากรจีนมาก และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จีนเป็นตลาดใหญ่มาก
ข. การที่ธุรกิจต่างๆ ไปลงทุนในจีนมาก ทำให้เกิดสภาพเป็น cluster ในการผลิต เช่น แถบเสิ่นเจิ้น เป็น cluster ด้านอุปกรณ์ไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ใครจะลงทุนผลิตอุปกรณ์ไอที หากตั้งโรงงานที่เสิ่นเจิ้นจะหาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้ง่ายมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตถูก แม้ค่าแรงจะแพงขึ้นก็ตาม
ก่อนไวรัสโควิดระบาด สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน โดยอเมริกาตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนจำนวนมากสูงๆ บ้างก็ถึง 25% ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ต้องส่งออกอเมริกาไปประเทศอื่น ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือ เวียดนาม
การระบาดของไวรัสโควิด มาเร่งกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น ประเทศต่างๆ เห็นแล้วว่าการกระจุกการผลิตไว้ที่จีนเป็นเรื่องอันตราย แม้ต้นทุนการผลิตจะถูก แต่ในยามวิกฤตประเทศของตนไม่สามารถพึ่งตัวเองในการผลิตสิ่งของที่ต้องการได้ทันท่วงที เช่น หน้ากากอนามัย โลกต้องพึ่งการผลิตจากจีนถึงราว 50% ของโลก จึงเกิดกระแสการถอนการลงทุนจากจีน กลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง หรือ กระจายความเสี่ยงย้ายไปผลิตที่ประเทศอื่น
นายชินโซะ อาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563
ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ ญี่ปุ่น
ในวันที่ 5 มีนาคม นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แถลงในการประชุมเรื่องการลงทุนในอนาคต ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และผู้นำในวงการธุรกิจ อาทิ ประธานไดคังเรน เข้าประชุมพร้อมหน้า นายอาเบะได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนว่า “การชะงักงันของการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์จากประเทศต่างๆ เช่น จีน มายังญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อ supply chain อย่างมาก จึงมีนโยบายว่าในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่มีการพึ่งพาการผลิตจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากๆ (คือจีน) ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้นำกลับมาผลิตในญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ทั่วไปก็ไม่พึ่งพาการผลิตจากประเทศเดียว แต่ให้กระจายการผลิตไปยังประเทศอื่นด้วย เช่น ประเทศอาเซียน” และจัดตั้งกองทุน มีมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท (240,000 ล้านเยน) เพื่อให้การอุดหนุนแก่บริษัทที่โยกย้ายฐานการลงทุนจากจีนกลับมายังญี่ปุ่น
ปกติผู้นำญี่ปุ่นจะระมัดระวังในการแถลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจีนมาก เพราะจีนมักมีการตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ซึ่งญี่ปุ่นยังไม่พร้อมจะแตกหักกับจีน เพราะแม้จะเสียหายทั้งคู่ แต่ญี่ปุ่นเสียหายมากกว่า เนื่องจากจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นแล้ว
แต่การที่อเมริกาเปิดศึกสงครามการค้ากับจีน ทำให้จีนจำเป็นต้องถนอมน้ำใจญี่ปุ่น เพื่อดึงเป็นพวก หรืออย่างน้อยไม่ให้ญี่ปุ่นไปเข้าข้างอเมริกาเต็มตัว ทำให้ญี่ปุ่นมีอิสระในการดำเนินนโยบายกับจีนได้มากขึ้น
บรรยากาศการประชุมผู้นำประเทศจี 20 ที่เมืองโอซาก้าญี่ปุ่นเดือนมิถุนายน 2562
ในอเมริกา นาย Kudlow (Director of the United States National Economic Council) ซึ่งรับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจ ก็ได้ออกมาแถลงว่า จะให้การอุดหนุนแก่บริษัทอเมริกาที่โยกย้ายการลงทุนจากจีนกลับประเทศ
Larry Kudlow
หากกระแสโยกย้ายการลงทุนจากจีนนี้ลุกลามไปทั่วโลก จีนจะได้รับผลกระทบมาก ทางจีนจะต้องหาทางพยายามยับยั้งหรือชะลอกระแสนี้ให้ได้ โดยมีอาวุธสำคัญคือ ตลาดในประเทศจีนที่ใหญ่มาก และมาตรการจูงใจบริษัทต่างประเทศโดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ
การประกาศนโยบายเศรษฐกิจในปีนี้ของรัฐบาลจีน
ทุกปีนายกรัฐมนตรีจีน จะแถลงนโยบายเศรษฐกิจประจำปีต่อที่ประชุมสภาประชาชน ซึ่งประชุมปีละ 1 ครั้ง เริ่มในวันที่ 5 มีนาคม โดยจะมีการประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ งบประมาณประจำปี ตลอดจนถึงนโยบายเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งการลงทุน การบริโภค การส่งออก ฯลฯ มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดใหญ่ ก็คงจะประกาศในการประชุมสภาประชาชนนี้ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะเป็นมาตรการการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ทั้งส่วนกลางและจากมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศจีน ตลอดจนผู้นำธุรกิจเอกชน ก็จะรู้ทิศทางนโยบายและดำเนินการให้สอดคล้อง ทำให้การทำงานของทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สีจิ้นผิง ผู้นำจีนตรวจเยี่ยมประชาชนที่มณฑลเจ้อเจียง
แต่ในปีนี้ การประชุมสภาประชาชนถูกประกาศเลื่อนเนื่องจากการระบาดของโควิด แต่ตอนนี้จีนคุมการระบาดของโควิดได้เกือบ100% แล้ว หากจะประชุมก็ประชุมได้ แต่องค์กรนำของจีนยังคงนิ่งเงียบ ไม่มีการประกาศวันประชุมใหม่แต่อย่างใด คาดกันว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
สาเหตุที่ทางจีนชะลอการประชุมสภาประชาชนออกไปนานถึง 2 เดือนเศษนี้ เพราะต้องการดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน แนวโน้มการระบาดทั่วโลกเป็นอย่างไร แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอย่างไร ภาวะของธุรกิจในประเทศเป็นอย่างไร เมื่อเห็นภาพชัดจะได้วางนโยบายได้ตรงกับความเป็นจริง แก้ปัญหาได้ตรงจุด เมื่อประกาศนโยบายแล้วทุกส่วนงานของจีนทั้งรัฐและเอกชน ก็จะทุ่มสุดพลังเดินหน้าแก้ปัญหาระยะยาว
การที่จีนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เร็วโดยใช้เงินน้อย ทำให้มีเวลาและงบประมาณเพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหาระยะยาว และการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด อาจเร่งให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริการุนแรงขึ้น จากสงครามการค้า สู่การช่วงชิงความเป็นเจ้าทางเทคโนโลยี และอาจลุกลามสู่มิติด้านความมั่นคง ซึ่งจีนจะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
โดยสรุป
แนวทางการแก้ปัญหาของจีน คือ
มองภาพรวมของทั่วโลก เน้นน้ำหนักที่การแก้ปัญหาระยะยาว เพราะวิกฤตโควิดครั้งนี้ จะส่งผลต่อโครงสร้างดุลอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของโลก
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลกทั้งปวง
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา