22 เม.ย. 2020 เวลา 11:28 • ท่องเที่ยว
ซีรีย์บันทึกการเดินทางในพม่า
ตอน "ผจญภัยในรัฐฉาน (1)"
ปลายเดือนมีนาคม 2545 บนรถไฟจากเมืองสีป้อสู่ปลายทางเมืองล่าเสี้ยว ภาคเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า
“กรี้ดดดดด......เอี้ยดดดด” เสียงผู้โดยสารบนรถไฟกรีดร้องด้วยความตกใจหลังจากรถไฟโยกเยกไปมา ตามด้วยเสียงล้อเหล็กเสียดสีกับรางเพื่อหยุดขบวนม้าเหล็กอย่างกระทันหัน แสงไฟจากหลอดแบบกลมเพียงหลอดเดียวที่ให้ความสว่างแต่ละโบกี้ดับวูบลงทันที ตะวันลาลับขอบฟ้าไปแล้ว เหลือเพียงความมืดมิดปกคลุมขบวนรถไฟซึ่งจอดนิ่งอยู่บนแผ่นดินรัฐฉานระหว่างภาคกลางสู่ภาคเหนือ มองไปไกลสุดลูกหูลูกตาคือภูเขาและทุ่งหญ้า ไร้บ้านเรือนและผู้คน
“เกิดอะไรขึ้นเหรอคะ” ฉันถามผู้โดยสารชาวไทใหญ่ที่นั่งอยู่ติดกันเป็นภาษาไทใหญ่ตามความรู้พื้นฐานที่ร่ำเรียนมาตั้งแต่อยู่เมืองไทย
“รถไฟตกรางน่ะ” คำตอบที่ได้รับทำให้ฉันกับเพื่อนสาวรุ่นน้องถึงกับอ้าปากค้างเพราะไม่คาดคิดว่าการเดินทางมาพม่าครั้งแรกจะได้เจอกับอุบัติเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้ ขณะที่เราสองคนยังใจเต้นระส่ำเพราะหวาดกลัวกับอันตรายต่าง ๆ นา ๆ ทว่า บรรยากาศโดยรวมในโบกี้รถไฟกลับตรงกันข้าม แสงเทียนเล่มน้อยถูกจุดขึ้นราวกับเตรียมความพร้อมมาล่วงหน้า
“ไม่ต้องกลัวหรอก รถไฟที่นี่ตกรางบ่อย” พี่สาวต่างชาติพันธุ์พูดเหมือนให้กำลังใจ แต่เมื่อเห็นคนฟังหน้าซีด เธอจึงส่ง “กำลังใจ” ระลอกต่อไปมาให้อีก
“โชคดีนะที่ไม่ตกรางแถวสะพานข้ามหุบเขา ไม่งั้นแย่เลยเพราะหุบเขาลึกมาก” ฉันรีบหยิบคู่มือท่องเที่ยวจากสำนักพิมพ์ยอดฮิตมาเปิดดู
“หากคุณนั่งรถไฟจากสีป้อไปยังล่าเสี้ยว คุณจะได้ชมวิวทิวทัศน์หุบเขาที่ลึกที่สุดในรัฐฉานระหว่างข้ามสะพานเหล็กซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง” ฉันอ่านข้อความในหนังสืออีกครั้งด้วยความรู้สึกต่างไปจากเดิม
ที่นี่คือประเทศพม่า...ความสวยงามที่ระบุไว้ในคู่มือท่องเที่ยวอาจแฝงไว้ด้วยอันตรายที่เราไม่คาดฝัน เพราะในคู่มือเล่มเดียวกันไม่ได้บอกว่า สภาพรถไฟที่นี่เสี่ยงอันตรายมากแค่ไหน หากไม่นับอุบัติเหตุรถไฟตกรางแล้ว แค่เครื่องยนต์ที่มีโอกาสเสียอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้ผู้โดยสารไม่อาจคาดการณ์เวลาถึงจุดหมายปลายทางได้เลย เรื่องน่าเจ็บใจไปกว่านั้นก็คือ หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าโดยสารจะเรียกเก็บเป็นดอลลาร์ซึ่งแพงกว่าค่าโดยสารคนท้องถิ่นชนิดที่ฟังแล้วร้อนหูทีเดียว อย่างเช่นเรากับพี่สาวไทใหญ่ซึ่งนั่งอยู่แนบชิดจนสัมผัสถึงไออุ่นของกันและกัน ค่าโดยสารของพี่สาวคิดเป็นเงินไทยแค่ 10 บาทเท่านั้น แต่ของเราพุ่งสูงถึง 1,000 บาท !
สิ่งที่ยืนยันความเคยชินกับปัญหารถไฟเสียหรือตกรางของชาวบ้านในพม่าได้อีกอย่างหนึ่งคือ บรรยากาศการขายของอันแสนคึกคักของพ่อค้าแม่ขายที่เริ่มเปิดธุรกิจของตนเอง ตั้งแต่หมากพลูคบเคี้ยวไปจนถึงขนม ผลไม้ และอาหารว่างใส่ถาดเทินอยู่บนหัวพร้อมกับแสงเทียนเล่มน้อยเดินเร่ขายสินค้ากันให้ขวักไขว่ ผู้โดยสารที่เริ่มหิวเพราะไม่ได้เตรียมอาหารมาล่วงหน้าจึงเริ่มเรียกใช้บริการ พอกินอิ่มก็นอนหลับพักผ่อนรอรถไฟเคลื่อนตัวอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า อีกนานเท่าไหร่
คงมีเพียงแต่ฉันและเพื่อนรุ่นน้องที่ตาสว่างและหัวใจยังเต้นรัวเพราะกังวลถึงเหตุการณ์ในอนาคต
“นะโม ตัสสะ.....” ฉันเริ่มพนมมือสวดมนต์ภาวนาขอให้รถไฟกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมเร็ว ๆ ระหว่างนั้นก็คิดหาทางออกอื่น ๆ ไปด้วย
“ถ้ามีรถไฟอีกขบวนสวนกลับมา เราโบกให้จอดรับเรากลับไปเมืองสีป้อดีไหม”
ฉันถามเพื่อนร่วมทางเพราะเห็นว่ายังไม่ดึกมาก หากเป็นเมืองไทยก็คงจะมีรถไฟวิ่งตอนกลางคืนอยู่อีกหลายขบวน แต่หลังจากรออยู่นานนับชั่วโมงก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีรถไฟสักขบวนวิ่งผ่านมา ส่วนความช่วยเหลือจากนายสถานีรถไฟใกล้เคียงยิ่งริบหรี่เข้าไปอีก สิ่งที่มองเห็นภายนอก คือ ไฟป่าบนภูเขาสูงและแสงจันทร์ส่องทุ่งหญ้า
หากคืนนี้ พวกเราต้องค้างคืนบนโบกี้รถไฟ คงนอนไม่หลับกันแน่ ๆ ในสมองของฉันตอนนั้นเริ่มจินตนาการทางลบ คิดไปถึงข่าวทหารพม่าและทหารชนกลุ่มน้อยสู้รบกัน มีการฉุดคร่าผู้หญิงไปข่มขืนหรือเป็นตัวประกัน หากกระเป๋าสตางค์และพาสปอร์ตถูกขโมยไปจะทำอย่างไร ฯลฯ ยิ่งคิดก็ยิ่งใจเสีย เวลาแต่ละนาทีช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน... นี่เป็นการเดินทางเข้าพม่าครั้งแรกของเรา แล้วต้องเจอกับเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้ ฉันรู้สึกใจไม่ดีเลย
ฉันเดินทางมาที่นี่เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาเรื่อง “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย -พม่า” ก่อนหน้านี้ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่หมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่มาแล้วสองปี และการเดินทางเข้ามาในรัฐฉาน ซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ของชาวไทใหญ่จะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อทำให้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การเดินทางเข้าพม่าครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด 17 วัน เมืองศูนย์กลางหลักสำหรับการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน คือ มัณฑเลย์ ซึ่งเป็นเสมือนหัวเมืองภาคเหนือของประเทศพม่าคล้ายกับจังหวัดเชียงใหม่ของไทย หากต้องการเดินทางไปยังรัฐฉานภาคต่าง ๆ จะต้องกลับมาตั้งต้นที่มัณฑะเลย์ก่อนทุกครั้ง เพราะนักท่องเที่ยวจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเฉพาะบางเมืองเท่านั้น หากใครเผลอไปซื้อตั๋วรถเดินทางไปยังเมืองที่ไม่ได้รับอนุญาต คนขายตั๋วก็จะรีบปฏิเสธทันทีเพราะไม่อยากเดือดร้อน
เส้นทางสู่รัฐฉานครั้งนี้แบ่งออกเป็นรัฐฉานภาคเหนือ คือ เมืองสีป้อและเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานภาคใต้ คือเมืองตองยี พวกเราซื้อตั๋วรถประจำทางจากมัณฑเลย์มุ่งสู่เมืองสีป้อเป็นสถานที่แรก หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังเมืองล่าเสี้ยว และเพื่อต้องการสัมผัสบรรยากาศนั่งรถไฟผ่านสะพานข้ามหุบเขาตามคำแนะนำในคู่มือท่องเที่ยว
เราจึงตัดสินใจซื้อตั๋วรถไฟโดยไม่คาดคิดว่า เราต้องมานั่งสวดมนต์ขอให้พระคุ้มครองแทนการนั่งชมวิว !
เวลาผ่านไปประมาณสามชั่วโมง เสียงหวูดรถไฟดังขึ้นอีกครั้ง ม้าเหล็กเคลื่อนตัวออกจากกลางป่ามุ่งหน้าสู่ปลายทางทิศเหนือใกล้ชายแดนจีน
เมืองล่าเสี้ยว เวลาสี่ทุ่มกว่า
รถไฟจอดส่งผู้คนที่สถานี รถโดยสารตะโกนแย่งลูกค้ากันโหวกเหวก สถานีรถไฟที่นี่มีสภาพทรุดโทรมเพราะขาดการบำรุงรักษา เราว่าจ้างรถโดยสารให้ไปส่งที่โรงแรมซึ่งเลือกไว้จากคู่มือท่องเที่ยว แล้วก็ต้องพบกับเรื่องน่าแปลกใจอีกครั้งเมื่อโรงแรมในพม่าไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวทุกแห่งหรือทุกสัญชาติ โรงแรมบางแห่งอนุญาตให้รับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากประเทศจีนเท่านั้น
ที่ตลกไม่ออก คือ โรงแรมซึ่งระบุไว้ใน “คู่มือท่องเที่ยวชื่อดัง” กลับไม่อนุญาตให้เฉพาะนักท่องเที่ยวอย่างเราเข้าพัก เพราะเปิดรับเฉพาะนักธุรกิจชาวจีน เราจึงต้องตระเวนหาโรงแรมใหม่โดยให้คนขับพาไป รถจอดหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายโรงแรม “จิ้งหรีด” สำหรับหิ้วผู้หญิงบริการ ฉันขอดูห้องพักก่อนตัดสินใจ โดยให้รุ่นน้องเฝ้าของที่รถ ระหว่างเดินไปดูห้องพักก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมห้องจึงลงไปอยู่ชั้นใต้ดินของอาคาร แล้วระหว่างทางเดินจากขั้นหนึ่งลงไปชั้นใต้ดินมีประตูเหล็กแน่นหนา หน้าห้องพัก มีชายฉกรรจน์นอนเฝ้ายามบนเตียงผ้าใบ ภายในห้องพักไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ และไม่มีห้องน้ำภายในห้อง ดังนั้น ถ้าต้องการเข้าห้องน้ำก็จะต้องเดินผ่านหน้าชายฉกรรจ์
หลังจากเดินกลับขึ้นมาด้านบนพร้อมปฏิเสธการเข้าพัก ฉันก้าวขึ้นไปนั่งข้าง ๆ น้องสาวต่างสายเลือดที่รออยู่บนรถแล้วกระซิบว่า
“ถ้าเราอยู่ที่นี่ เราสองคนต้องถูกจับขายตัวไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันแน่ ๆ !”
ฉันตะโกนบอกกับคนขับว่า
“ช่วยพาไปโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ดีกว่านี้หน่อยได้ไหม”
ไม่กี่นาทีต่อมา รถจอดที่โรงแรมระดับ 3 ดาวของเมืองไทย พนักงานต้อนรับที่ล็อบบี้เป็นเด็กหนุ่มล้วน เราตัดสินใจพักที่นี่เพราะเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะเสาะหาโรงแรมใหม่ หวังในใจว่า คืนนี้อยากนอนหลับพักเหนื่อยให้เต็มทีเพราะล้าทั้งกายและใจ
แต่ทว่า....หลังจากปิดประตูห้องพัก และเตรียมจะลงกลอนจากด้านใน ฉันก็ร้องโวยวายออกมาทันที
“ให้ตายเถอะ....ห้องพักไม่มีกลอนให้เราล็อคจากด้านไหน” นั่นหมายความว่า พนักงานจะใช้กุญแจเปิดประตูเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้
“เอาไงดี...คืนนี้จะนอนหลับได้ยังไง” เราต่างมองไปรอบห้องแล้วพบขาตั้งกล้องถ่ายรูป และโต๊ะวางทีวีขนาดใหญ่ สองสาวช่วยกันยกทีวีและโต๊ะไปกั้นไว้ที่ประตูเพื่อป้องกันการเปิดเข้ามายามวิกาลของบรรดาพนักงานหนุ่มด้านล่าง
มองไปทางหน้าต่าง เห็นกระจกบานใหญ่และโชคดีที่เราพักอยู่ชั้นสอง เราตกลงกันว่า คืนนี้จะนอนกอดขาตั้งกล้อง หากได้ยินเสียงคนเปิดประตูจะใช้ขาตั้งกล้องทุบกระจกแล้วกระโดดออกทางหน้าต่าง อย่างน้อยคงไม่บาดเจ็บสาหัสเพราะแค่ชั้นสอง
คืนนั้น....หญิงสาวสองคนนอนหลับไปพร้อมกับมีขาตั้งกล้องเป็นหมอนข้าง ฉันได้สวดมนต์ขอให้ตื่นมาพบกับเรื่องราวดี ๆ สักที แต่ดูเหมือนว่า...สิ่งที่หวังจะยังเดินทางมาไม่ถึง
(เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ “พิราบขาวข้ามพรมแดน”)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา