24 เม.ย. 2020 เวลา 01:30 • สุขภาพ
วัคซีนโควิดอาจสำเร็จเร็วเกินคาด
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยาและสถาบันวิจัยทางการแพทย์ทั่วโลก ต่างเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดกันขนานใหญ่ และต่างคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้ได้ราวต้นปีหน้า
 
ความคืบหน้าล่าสุด โลกอาจมีวัคซีนโควิดใช้ในเดือนกันยายนปีนี้
มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ประกาศจะเริ่มทดลองวัคซีนโควิดในคน (clinical test) ในวันที่ 23 เมษายนนี้ โดยทดลองฉีดวัคซีนต้นแบบในคนอายุ 18-55 ปี จำนวน 510 คนและจะขยายไปถึง 5,000 คน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการป้องกันโรค และตรวจเช็คผลข้างเคียง
โดยจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนคู่ขนานไปกับการทดลองเลย ไม่รอให้การทดลองเสร็จก่อนแล้วค่อยผลิตเหมือนกระบวนการผลิตวัคซีนโดยปกติทั่วไป ทำให้สามารถย่นเวลาได้มาก ตั้งเป้าหมายไว้ว่าถ้าทุกอย่างราบรื่น จะร่วมมือกับบริษัทยา ผลิตวัคซีนชุดแรกจำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนกันยายนปีนี้
 
กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษประกาศเมื่อวันที่ 21 เมษายน ว่าจะสนับสนุนงบประมาณจำนวนราว 800 ล้านบาท (20 ล้านปอนด์) ให้มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด
(ภาพบน) บริษัทไบออนเทค (Biontech) กับ (ภาพล่าง) บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)
รัฐบาลเยอรมัน ก็ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายนว่า ได้อนุมัติการทดลองวัคซีนในคนเป็นครั้งแรกในเยอรมันแล้ว โดยใช้วัคซีนที่บริษัทไบออนเทค (Biontech) ของเยอรมัน กับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ของอเมริการ่วมกันพัฒนา ทดลองฉีดในคนจำนวน 200 คน
มหาวิทยาลัยเบอร์น (Bern)
มหาวิทยาลัยเบอร์น (Bern) ในสวิสเซอร์แลนด์ ก็กำลังพัฒนาวัคซีนโดยตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้สำเร็จผลิตจำนวนมากออกใช้ได้ในเดือนตุลาคมปีนี้
ปกติการพัฒนาวัคซีนใช้เวลาหลายปี แต่ในสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดนี้ ทุกฝ่ายต่างก็หาทางเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้ง Vaccine Task Force โดยให้สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยและบริษัทยาร่วมมือกัน และทางรัฐบาลให้เงินอุดหนุนกระบวนการอนุมัติการทดลองวัคซีนในคนก็เร่งให้เร็วเป็นพิเศษใช้เวลาเพียง1สัปดาห์
องค์การอนามัยโลกได้รวบรวมข้อมูลพบว่ามีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด อยู่ราว 70 โครงการทั่วโลก ประเทศไทยเราก็มีโครงการพัฒนาวัคซีนร่วมกับจีน ในอเมริกาและจีนได้เริ่มการทดลองวัคซีนในคนไปแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็ต้องรอดู 2 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้ว่าจะสร้างเซอร์ไพรส์ผลิตวัคซีนได้สำเร็จเร็วยิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของวัคซีน มี 2 อย่างคือ
1.ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคได้จริง
2.ป้องกันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนได้ดี
หากการพัฒนาวัคซีนสำเร็จเร็ว คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็จะไม่กลัวการติดเชื้ออีก กล้าเดินทางไปมาหาสู่กันทั่วโลก เราก็กล้ารับเขาเข้าประเทศ การดำเนินธุรกรรมตามเศรษฐกิจรวมถึงการท่องเที่ยว การบริการต่างๆ ก็จะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ ผู้คนทำมาหากินได้ เศรษฐกิจพ้นจากภาวะชะงักงัน
ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนอยู่นี้ ประเทศไทยเราก็ต้องไม่ประมาท ป้องกันการระบาดอย่างเต็มที่ต่อไป
หมายเหตุ
การตรวจ antibody ที่มลรัฐนิวยอร์ค เพื่อหาอัตราส่วนประชากรที่ติดเชื้อโควิดโดยไม่รู้ตัวและหายแล้ว ร่างกายสร้างภูมิต้านทานแล้ว
ผลตรวจชุดแรกของประชากร 3,000 คน พบว่า 13.9% มีภูมิต้านทานแล้ว (ในเขตตัวเมืองนิวยอร์คที่การติดเชื้อสูงที่สุด พบว่า 21.2% มีภูมิต้านทานแล้ว)
หากถือตัวเลข 13.9% นี้เป็นเกณฑ์ เท่ากับว่าประชากรอเมริกา จำนวนราว 46 ล้านคนติดเชื้อแล้ว โดยไม่มีอาการและหายแล้ว ร่างกายสร้างภูมิต้านทานแล้ว
ตัวเลขนี้สอดคล้องกับผลการตรวจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อ่านรายละเอียดได้ที่บทความตามลิงค์ด้านล่างนี้
ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยคุ้มครองรักษาประเทศไทยและชาวโลกทั้งปวง
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา