Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
27 เม.ย. 2020 เวลา 04:45 • ประวัติศาสตร์
แสงสว่างแห่งประชาธิปไตย สิ่งที่ทำให้เกาหลีใต้หลุดพ้นจากการครอบงำของเผด็จการ
ภายหลังการลอบสังหาร ปัก จุงฮี แม้ฝ่ายอำนาจเก่าจะเลือกปธน.กันเองอีกรอบ และได้นาย เช คยูฮา (Choi kyuha) ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แต่เป็นได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น นายพล ชอน ดูฮวาน (Chun Doohwan) และ นายพลโร แทอู (Roh Taewoo) ก็ออกมาทำรัฐประหาร โดยไม่สนกลไกตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่พวกตัวเองเขียนไว้ก็ตาม โดยใช้ข้ออ้างว่าต้องตามจับล้างบางพวกกบฎที่ลอบสังหารผู้นำ โดยเข้ามากำจัดและก็แต่งตั้งพวกตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ แบบไม่ต้องมีกฎหมายอะไรรองรับ ให้ปธน. มีไว้เป็นหุ่นเชิดเฉยๆ
ก็เป็นอันรู้กันทั้งประเทศว่า นี่คือการกระชับอำนาจ ของทหารที่จับกลุ่มกันแบบลับๆ ที่ชื่อว่าทหารสาย “ฮานาเฮว” (Hanahoe) แปลตรงตัวได้ว่า “สมาคมหนึ่งเดียว” ซึ่งก็คือสมาคมของพวกทหารที่เรียนจบโรงเรียนทหารรุ่นที่ 11 หรือไม่ก็มีพื้นเพจากเมืองแทกู โดยตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยกันเล่นการเมือง ช่วยกันรักษาผลประโยชน์และมีอิทธิพลแต่งตั้งโยกย้ายนายพลส่วนใหญ่ของประเทศ
พอนายพล ชอน ดูฮวาน ลาออกจากกองทัพ และตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วย KCIA ในเดือนเมษายนปี 1980 ประชาชนก็เห็นแล้วว่าคงต้องดูหนังม้วนเดิม เพราะนี้มันสเต็ปเดิมๆ เหมือนตอนปัก จุงฮีครองอำนาจ คือใช้เครือข่ายหน่วยข่าวกรองKCIA ไล่กำจัดนักการเมืองและก็ระดมทุนตั้งพรรคมาจัดเลือกตั้งสกปรกชุบตัวอีกรอบ
ประชาชนเห็นแบบนี้ก็ทนไม่ไหวออกมาชุมนุมใหญ่ ต่อต้านรัฐธรรมนูญยูชิน เป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี คล้ายกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนตอนที่สามารถไล่ รี ซึงมัน ให้หนีไปฮาวายได้ นั่นก็เพราะว่าทหารแทรกแซงการเมืองมากว่า 20 ปี ทหารอยู่ในทุกต่ำแหน่งทางการเมือง ทหารผูกพันกับนโยบายเร่งรัดเศรษฐกิจที่ทำให้เกาหลีใต้เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะรวยแค่คนกันเองก็ตาม
ประกอบกับการที่ยังมีสงครามกับเกาหลีเหนือก็ทำให้งบทหารมีมาก ทำให้กองทัพมีกำลังพลและอาวุธซึ่งก็มีความพร้อมนำมาปราบปรามประชาชนได้ทุกเมื่อ ต่างชาติก็นิ่งเฉยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะอยากจะได้แหล่งผลิตราคาถูก ดังนั้นทหารเกาหลีใต้ไม่มีความจำเป็นต้องต่อรองอะไรกับประชาชน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ในที่สุด นายพล ชอน ดูฮวานก็บีบให้สภายกมือออกประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 สั่งปิดมหาวิทยาลัย สั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง สั่งห้ามสไตรก์หยุดงาน วันที่ 18 พฤษภาคม เมื่อประชาชนและนักศึกษาในเมืองกวางจูออกมาชุมนุมประท้วง ก็เกิดการสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ (Gwangju massacre) ซึ่งลุกลามไปทั่วประเทศยาวนานกว่า 9 วัน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200 คน บาดเจ็บเป็นพันๆ คน ทุกวันนี้ตัวเลขก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าประมาณต่ำเกินไปในความเป็นจริงอาจจะมี 1,000 ถึง 2,000 คนเลยทีเดียว
พอปราบประชาชนเสร็จ ชอน ดูฮวาน ก็ทำการยุบสภาสมัชชาแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการใหม่มาปกครองชั่วคราวโดยให้ตัวเองเป็นประธานเหมือนที่คณะรัฐประหารทำกันมาเป็นประจำ (National Defense Emergency Policy Committee) และก็ทำการแก้รัฐธรรมนูญใหม่โดยการผ่านประชามติ โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเรื่องของตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นถูกกำหนดว่าให้ประธานาธิบดีอยู่ยาวๆ ไปอีก 7 ปีต่อหนึ่งวาระ ไม่มีการเลือกตั้งโดยตรง ประชาชนต้องเลือกผู้แทนจากคนที่ถูกเลือกมาให้เลือกอีกที เลวร้ายไม่ต่างอะไรกับยุคก่อนหน้านี้ ด้วยระบอบแบบเดิมนี้ ชอน ดูฮวาน ก็ได้เป็นประธานธิบดีในที่สุด
ยุค 1980 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ยังบูมขึ้นไปอีก เกาหลีใต้กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์รายใหญ่ มีอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดขึ้นในประเทศ มีการลงทุนจากต่างประเทศไหลมาแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ด้วยการเมืองแบบเผด็จการมีแต่พวกเดียวกันเองที่ได้ประโยชน์ ก็ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมีมากขึ้นไปอีก ประชาชนชนชั้นกลาง ชั้นล่างก็ทนทุกข์เหมือนเดิม ในสังคมที่ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ใครเป็นพวกใคร
1
แต่เมื่อใช้รัฐธรรมนูญแทนกฎอัยการศึก ก็ทำให้การควบคุมน้อยลง ประชาชนก็ยังไม่คิดว่าการเมืองแบบเผด็จการจะแก้ปัญหาในชีวิตพวกเขาได้ ช่วงเวลาหลังจากนั้น ตลอดระยะเวลาหลายปีก็มีการเคลื่อนไหวแบบไม่ขาดสาย ปี 1984 นักศึกษาจากสถานศึกษา 42 แห่งทั่วประเทศ มาร่วมกันตั้งองค์กรเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ออกมาเป็นปึกแผ่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และ ปี1986 พรรคฝ่ายค้านล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ถึง 10 ล้านชื่อ
เมื่อห้ามไม่ไหวในปี 1987 การปราบปรามก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง มีนักศึกษาคนหนึ่ง (Park Jong-chol) ถูกตำรวจจับไปสอบสวน ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน และในเดือนพฤษภาคม ตำรวจก็สลายการชุมนุมนักศึกษาที่กำลังชุมนุมในมหาวิทยาลัยย็อนเซ มีนักศึกษาเสียชีวิตเพราะถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่ศีรษะ ประชาชนที่หมดความอดทนออกมาเรียกร้องความยุติธรรมเป็นหลักล้านคน
ตลอดเดือนมิถุนายน ปี 1987 (June Democracy Movement) ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล ไม่เพียงแค่เรียกร้องความยุติธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหล่านักศึกษาที่โดนฆ่าและเหตุการณ์ที่กวางจูเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ยังเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านนายโร แทอู ลูกน้องของ ชอน ดูฮวาน ที่ประกาศว่าจะลงสมัครเป็นประธานธิบดีคนต่อไปเพื่อสืบทอดอำนาจ
มีการลงชื่อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงและประชาชนก็ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการก็เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง เตรียมปิดมหาวิทยาลัย ปิดสื่อ และเตรียมสลายการชุมนุมในวันที่ 20 มิถุนายน ในขณะที่หนังม้วนเดิมกำลังจะกลับมาฉายใหม่ วงจรอุบาวท์กำลังจะหมุน ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น
รัฐบาลเผด็จการเปลี่ยนใจ ยกเลิกการสลายการชุมนุม และในวันที่ 29 มิถุนายน 1987 นายโร แทอู ก็ออกประกาศ 8 ข้อ ยอมรับข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมือง
เหตุที่รัฐบาลเผด็จการเปลี่ยนใจก็มีหลายคำอธิบาย บ้างก็ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้พัฒนามาไกลเกินไปที่จะย้อนกลับไปเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ เผด็จการมีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา เพราะเกาหลีใต้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกในปี 1988 อีกคำอธิบายหนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น จอมเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เพิ่งถูกประชาชนชาวฟิลิปปินส์ขับไล่หลังจากที่ครองอำนาจอยู่ถึง 20 ปี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของเผด็จการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้แสดงความสนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ คอราซอน อาคิโน่ ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เผด็จการเกาหลีใต้ต้องเบรกตัวเองไว้แบบหัวทิ่ม
หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นคนเลือก เขียนกำหนดชัดเจนว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ สมัชชาแห่งชาติต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานธิบดีต้องเลือกตั้งโดยตรงมีวาระ 5 ปีและอยู่ได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น มีการเขียนกำหนดไว้ชัดเจนว่า กองทัพมีเพียงหน้าที่ด้านความมั่นคงของชาติและต้องเป็นกลางทางการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้
เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ที่เกาหลีใต้อยู่ใต้สิ่งที่เรียกว่าเผด็จการซ่อนรูป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังไม่จบ ประชาธิปไตยเพิ่งจะได้เริ่มฟื้นฟูเท่านั้น อำนาจทหารก็ยังอยู่ไม่ไปไหน ถึงมีรัฐธรรมนูญแต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1987 ก็สร้างความผิดหวังให้กับคนที่ต่อสู้มา
เพราะว่าฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการกลับมีแคดิเดตถึงสองคน คือ คิม ยองซัม และ คิม แดจุง ทั้งสองคนเป็นฮีโร่ที่สู้กับเผด็จการมาทั้งคู่ ฝ่าฟันกันมามาก โดนลักพาตัวก็โดนมาแล้ว กลับลงแข่งและแย่งคะแนนกันเองไปครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ โร แทอู ชนะการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจสำเร็จด้วยคะแนนโหวตเพียง 36 % ทำให้การฟื้นฟูประชาธิปไตยช้าไปอีก 5 ปี
ในปี 1993 การเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง ฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการอย่างคิม ยองซัม และ คิม แดจุง ได้ลงมาแข่งขันกันในสนามเลือกตั้ง และนายคิม ยองซัมเป็นฝ่ายที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี แต่กลับย้ายพรรคไปอยู่พรรคเดียวกับนายพลโร แทอู ผู้ที่มีส่วนร่วมในการออกคำสั่งกวาดล้างการชุมนุมที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้อย่างเหตุการณ์กวางจูในปี 1980
ซึ่งผลของการออกคำสั่งกวาดล้างการชุมในครั้งนี้ ไม่มีใครถูกเอาผิดเลยสักคนเดียว เนื่องจากอัยการบอกว่าหากเอาผิดผู้ที่มีส่วนร่วมออกคำสั่งในครั้งนั้น ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดีที่ยังคงหลงเหลืออำนาจ อาจจะทำให้ประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งอีก
แต่ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีและเป็นประชาธิปไตย เหล่าญาติผู้สูญเสียและ NGO ก็ได้ช่วยกันผลักดัน ให้การตัดสินของอัยการไปขึ้นศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ และศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ก็ตัดสินออกมาว่าอัยการคิดผิด! การใช้เหตุผลที่ว่าทำรัฐประหารสำเร็จไปแล้วและได้นิรโทษกรรมตัวเองไปแล้วนั้น ใช้การไม่ได้ ถือว่าผิด! เหตุผลนี้ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีกบฎล้มล้างการปกครอง
และแล้วในเดือนธันวาคม 1995 สภาก็ผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาคดีย้อนหลังไปถึงปี 1979 ทั้งอดีตปธน.ชอน ดูฮวานและโร แทอู และนายทหารอีก 14 คน ถูกตัดสินดังนี้ 1. มีความผิดในข้อหายึดอำนาจเมื่อปี 1979 2. ข้อหาใช้อำนาจสร้างความร่ำรวยแบบผิดกฎหมาย 3. ความผิดอาญา ฐานฆ่าประชาชนที่ออกมาชุมนุม และ 4. ข้อหานำประเทศสู่การคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ชอน ดูฮวาน ที่เคยเป็นปธน.เมื่อไม่กี่ปีก่อน ถูกตัดสินประหารชีวิต และยึดทรัพย์ 283 ล้านดอลลาร์ (8.5พันล้านบาท) โร แทอู ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี ยึดทรัพย์ 355 ล้านดอลลาร์ (1 หมื่นล้านบาท) ก่อนที่ต่อมาจะอุทธรณ์ โทษจากประหารชีวิตเป็น จำคุกชอน ดูฮวานตลอดชีวิต และ โร แทอู เหลือ 17 ปี ทั้งคู่ติดอยู่ในคุกจริงๆ แค่ 2 ปีเท่านั้น แต่ถึงแม้จะถูกปล่อยออกมายังคงถูกควบคุม ถูกจับตาโดยรัฐบาล
ในการสืบสวนก็มีตัวอย่างเช่น ว่า นายพลชอน ดูฮวาน มีมูลนิธิชื่อว่า อิลแฮ (ilhae foundation) ตั้งเป็นมูลนิธิไว้บังหน้า แต่ในความเป็นจริงเอาไว้เรียกเก็บเงินจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ โดยมีประธานสหพันธ์อุตสหกรรมเป็นคนรวบรวม เงินที่ได้รับนั้นมีถึง 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินถูกนำไปใช้สร้างฐานเสียงให้รัฐบาล ใช้หาเสียง หรือใช้จ่ายเงินให้สมาชิกเพื่อป้องกันงูเห่าเลื้อยไปอยู่กับขั้วตรงข้าม
การจำคุกในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการแก้แค้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย คือการคืนความยุติธรรมให้สังคม ประกาศว่ากฎหมายยังศักดิ์สิทธิ์ สร้างความเป็นนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และกระบวนการนี้ก็ยังดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในช่วงปี 1990 มีการสลายกลุ่มนายทหารสายฮานาเฮวที่มีอิทธิพลไม่ต่างกับมาเฟียทิ้งไป เหล่านายพลสิบกว่าคนได้รับโทษลดหลั่นกันไป
ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือกลุ่มแชโบลที่ถูกกล่าวหาว่าเคยสปอนต์เซอร์อดีตปธน.ทั้งสองคน ก็มีความผิดด้วย มีการปรับกองทัพบก ตัดโครงสร้างที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศออกไป ไม่ให้ใครที่ไหนมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้อีก
กฎหมายเรื่องความโปร่งใส การตรวจสอบก็ยังคงเข้มข้นมาจนถึงทุกวันนี้ ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้โดนบททดสอบหนักๆ เสมอ ปธน.เกาหลีใต้ไม่ว่ามาจากฝ่ายไหน ก็สามารถติดคุกกันเป็นว่าเล่น กลไกประชาธิปไตยอยู่มาสามสิบกว่าปีแล้ว คนโกงก็โดนสอบ โดนจับ ไม่ต้องใช้ทหารทำรัฐประหารอีกต่อไป และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้พัฒนาแบบก้าวกระโดด ประชาชนมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะประชุม G20 มี GDP อยู่ที่อันดับ 12 ของโลก
ดูจากตัวเลขในส่วนของรายได้ต่อหัวของประชากรต่อปีของเกาหลีใต้ในยุคต่างๆ ก็ได้ ใน ค.ศ.1965 (ยุคของ ปัก จุงฮี) อยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐอเมริกา ต่อมาใน ค.ศ.1980 (ยุค ของ ชอน ดูฮวา) อยู่ที่ 1,741 และใน ค.ศ.1995 ที่เริ่มเป็นประชาธิปไตยได้เพิ่มเป็น 10,076 เหรียญสหรัฐอเมริกา และ ค.ศ.2017 อยู่ที่ 29,700 ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนไทยเราปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ประเทศไทยของเราอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
7 บันทึก
14
1
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกาหลีใต้ เลิกเป็นเผด็จการได้อย่างไร?
7
14
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย