30 เม.ย. 2020 เวลา 23:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ยุงกัดได้อย่างไร?
ภาพถ่ายรูปปั้นจำลองของยุง
เมื่อวันก่อนผมได้อ่านกระทู้จากเว็บไซต์ pantip.com ถามว่า เวลายุงกัดนี้ยุงจะใช้ปากกัด (หรือจริงๆ แทง) เข้าทะลุผิวหนัง หรือแทงทะลุรูขุมขนกันแน่ ถึงทำให้ไปถึงเส้นเลือดและดูดเลือดได้?
ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจดี เลยจะลองเขียนให้อ่านกันครับ
ยุงตัวผู้แตกต่างจากยุงตัวเมียตรงที่หนวดของยุงตัวผู้จะเป็นพู่คล้ายขนนก และมีขนาดเล็กกว่ายุงตัวเมีย และมีรยางค์ที่ยื่นจากฟัน (Maxillary palps) ที่อยู่ข้างปากที่ยาวกว่าในขณะที่ยุงตัวเมียหนวดจะเป็นพู่น้อยกว่า (ที่มา https://freesvg.org/male-and-female-mosquito)
โดยทั่วไปยุงตัวเต็มวัยทั้งสองเพศจะกินน้ำหวานเป็นอาหาร โดยใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายกับหลอดดูด แต่ว่ามียุงหลายชนิดมีวิวัฒนาการที่จะสามารถแทงผิวหนังเพื่อดูดเลือดของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังได้
โดยยุงเพศเมียจะเป็นเพศที่กินเลือดเป็นอาหารเพื่อที่จะนำมาเป็นสารอาหารเพื่อมาใช้ในการผลิตไข่ เนื่องจากในเลือดนั้นมีไขมันและโปรตีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของไข่มากกว่าในน้ำหวาน
โดยเราสามารถแยกยุงตัวผู้และตัวเมียได้จากลักษณะภายนอกคือ ยุงตัวผู้แตกต่างจากยุงตัวเมียตรงที่หนวดของยุงตัวผู้จะเป็นพู่คล้ายขนนก เพื่อใช้รับสัญญาณความถี่ของการสั่นสะเทือนของการบินของยุงตัวเมีย เพื่อใช้ในการหายุงตัวเมียเพื่อผสมพันธ์ุ ในขณะที่ยุงตัวเมียหนวดจะเป็นพู่น้อยกว่า และยุงตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่า และมีรยางค์ที่ยื่นจากฟัน (Maxillary palps) ที่อยู่ข้างปากที่ยาวกว่ายุงตัวเมีย
ถึงแม้ยุงจะตัวเล็ก แต่ลักษณะเหล่านี้จริงๆ แล้วก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
โครงสร้างปากของแมลง ยุงอยู่ในรูป (D) สีเดียวกันแสดงถึงโครงสร้างเดียวกัน (ที่มา Xavier Vázquez, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15923055)
จากรูปข้างบน Lb คือ ริมฝีปากล่าง (Labium); md คือ กราม (Mandibles); mx คือ ฟัน (Maxillae); hp คือ ลิ้น (Hypopharynx) และ lr คือ ริมฝีปากบน (Labrum)
ปากของยุงมีวิวัฒนาการไปเป็นลักษณะแบบเจาะดูด (Piercing-sucking type) โดยโครงสร้างของปากมีลักษณะคล้ายกับงวงซึ่งเป็นส่วนของริมฝีปากล่าง (Labium) ปิดรอบๆ ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของปาก เมื่อยุงตัวเมียเกาะบนผิวหนัง จะเอาปลายริมฝีปากล่างของมันสัมผัสผิวหนังไปรอบๆ โดยอาจจะเป็นการหาตำแหน่งที่สามารถใช้ปากแทงลงไปแล้วทำให้พบหลอดเลือด เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนของริมฝีปากล่างนี้จะเปิดกางออก โดยปลายของริมฝีปากล่างจะยังสัมผัสกับผิวหนังอยู่ แล้วยุงจะใช้ส่วนของกราม (Mandibles) และฟัน (Maxillae) แทงเข้าไปในผิวหนัง โดยที่กรามมีวิวัฒนาการให้เป็นเข็มแหลมเล็ก และฟันมีวิวัฒนาการเป็นแผ่นแบนคล้ายใบเลื่อย โดยยุงจะขยับหัวเข้าออกเพื่อให้ปากแทงเข้าไปในผิวหนังได้ ลึกไปเรื่อยๆ โดยฟันเลื่อยบนฟันจะเป็นตัวเกาะไม่ให้ปากยุงหลุดออกจากผิวหนังตอนยุงขยับหัวไปมา
ส่วนที่เข้าไปในผิวหนังด้วยคือ ส่วนของลิ้น (Hypopharynx) และส่วนของริมฝีปากบน (Labrum) ที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง เมื่อลิ้นเข้าไปในผิวหนังยุงจะปล่อยน้ำลาย (Saliva) เข้าไป เพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว (anticoagulant) และยุงก็จะดูดเลือดก็จะไหลออกมาทางริมฝีปากบนที่เป็นเหมือนหลอดนั่นเอง และการที่บางคนถูกยุงกัดแล้วเกิดอาการแพ้และคัน ก็เนื่องจากน้ำลายของยุงที่ถูกปล่อยเข้ามาในผิวหนังในกระบวนการนี้
ยุงที่กำลังดูดเลือด (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/02/Mosquito_bite4.jpg)
มนุษย์แต่ละคนอาจจะมีความเสี่ยงในการถูกยุงกัดไม่เท่ากัน คนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดได้แก่ คนที่มีเลือดกรุ๊ป O คนที่หายใจแรง (ยุงใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการหาเหยื่อ) คนที่มีแบคทีเรียบนผิวหนังเยอะ อุณหภูมิร่างกายสูง หรือคนท้อง โดยพบว่าความดึงดูดต่อยุงสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
บางครั้งเราอาจจะเห็นคำถามที่ว่า แล้วยังมีประโยชน์อะไรในธรรมชาติ นอกจากมากัดเราให้เจ็บๆ คันๆ แถมบางครั้งก็นำโรคมาด้วย คำตอบคือ เนื่องจากยุงกินน้ำหวานจากพืช ทำให้บทบาทและประโยชน์ในธรรมชาติของยุงคือ การที่ยุงช่วยในการผสมเกสรในพืชได้ และมีพืชหลายชนิดที่ได้รับการผสมเกสรโดยยุง เช่น พืชในวงศ์ทานตะวัน วงศ์กุหลาบ หรือวงศ์กล้วยไม้
รู้จักยุงกันแล้ว มารู้จักปลวกกันไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Peach DA, Gries G (2019). "Mosquito phytophagy – sources exploited, ecological function, and evolutionary transition to haematophagy". Entomologia Experimentalis et Applicata. doi:10.1111/eea.12852
2. Fernández-Grandon GM, Gezan SA, Armour JAL, Pickett JA, Logan JG (2015) Heritability of Attractiveness to Mosquitoes. PLoS ONE 10(4): e0122716. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0122716
3. Shirai Y, Funada H, Seki T, Morohashi M, Kamimura K (July 2004). "Landing preference of Aedes albopictus (Diptera: Culicidae) on human skin among ABO blood groups, secretors or nonsecretors, and ABH antigens". Journal of Medical Entomology. 41 (4): 796–9. doi:10.1603/0022-2585-41.4.796

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา