29 เม.ย. 2020 เวลา 12:57
ซีรีย์ "บันทึกการเดินทางในพม่า"
เที่ยวเมืองพม่า (จบ)
ใกล้เทศกาลเข้าพรรษาปี 2548 ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย หมอกสีขาวค่อยๆ ลอยเข้ามาขโมยพระธาตุอินทร์แขวนสีทองเรืองรองไปจากสายตาทีละน้อย เมื่อสายฝนหยุดพักผ่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่รัฐมอญจึงค่อย ๆ ปรากฎชัดเบื้องหน้า ฉันยืนตะลึงในความงดงามของก้อนหินสีทองอร่ามที่ตั้งหมิ่นเหม่บนหน้าผาอย่างน่าอัศจรรย์ หลังจากเดินขึ้นเขาสูงชันจนเหนื่อยหอบ ในที่สุดฉันก็เดินทางมาถึงเจดีย์ไจ้ก์ทิโย หรือ พระธาตุอินทร์แขวนในนิยายซีไรต์เรื่อง “เจ้าจันทร์ผมหอม” ของมาลา คำจันทร์
การเดินทางสู่เจดีย์ไจ้ก์ทิโยซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศพม่าทำได้ไม่ยาก หากใครซื้อทัวร์จากเมืองไทยมาเลยก็จะยิ่งสะดวกสบายตลอดเส้นทางเพราะมีคนจัดการให้เสร็จสรรพ แต่ถ้าต้องการเป็นนักแบกเป้เดินทางกันเองก็จะต้องเตรียมหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและที่พักด้วยตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากเป็นในอดีตจะค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร เพราะรัฐบาลกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวและรูปแบบการท่องเที่ยวเอาไว้สองแบบ คือ การท่องเที่ยวประเภท I หรือเขตเปิด หมายถึง เขตที่นักท่องเที่ยวไปได้ด้วยตนเอง และ ประเภท P หรือเขตปิด หมายถึง เขตที่ต้องไปกับบริษัททัวร์และขอวีซ่าพิเศษ
เขตท่องเที่ยวประเภท I คือ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหรือเมืองสำคัญ อาทิ เจดีย์ชเวดากอง พระราชวังมัณฑะเลย์ เจดีย์ไจ้ก์ทีโย เป็นต้น เขตท่องเที่ยวประเภท P คือ สถานที่ท่องเที่ยวพิเศษซึ่งอยู่ในเขตชายแดน เช่น ภูเขาหิมะในเมืองปูเตารัฐคะฉิ่น หรือเขตนาคาชายแดนประเทศอินเดีย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บริษัททัวร์นิยมเรียกการท่องเที่ยวประเภทนี้ว่า “Eco-Tourism” การท่องเที่ยวประเภทนี้จะต้องมีบริษัททัวร์จัดการขอวีซ่าพิเศษและต้องมีมัคคุเทศก์ติดตามไปด้วย
การท่องเที่ยวแบบ P จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบ I เพราะต้องเสียค่าขอวีซ่าพิเศษ ค่าไกด์ ค่าที่พัก และค่าพาหนะซึ่งบริษัททัวร์ จัดให้เท่านั้น นอกจากนี้ การท่องเที่ยวประเภทนี้ยังมีเงื่อนไขการขอวีซ่าพิเศษที่ยุ่งยากแตกต่างกันไป เช่น การขอวีซ่าเข้าไปยังเขต ชนเผ่านาคาต้องใช้เวลา 2 เดือน ส่วนการขอวีซ่าเข้ารัฐชิน รอยต่อระหว่างประเทศอินเดียและบังคลาเทศต้องใช้เวลา 1 เดือน เป็นต้น
รัฐบาลพม่าได้กำหนดพาหนะเดินทางและราคาสำหรับนักท่องเที่ยวไว้เป็นพิเศษ โดยเส้นทางส่วนใหญ่อนุญาตให้เดินทาง โดยรถ ทั้งรถทัวร์และรถเช่าซึ่งใช้บริการคนขับจากบริษัททัวร์ แม้ว่า ในแต่ละเส้นทางจะมีรถโดยสารหลายสาย แต่นักท่องเที่ยวจะต้องซื้อตั๋วรถโดยสารจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้บริการได้เท่านั้น หากบริษัทไหนไม่ได้รับอนุญาตให้นักท่องเที่ยวโดยสารไปด้วย พนักงานขายตั๋วจะโบกมือขับไล่เป็นคำตอบ
ส่วนการเดินทางโดยรถเช่าจะมีราคาค่อนข้างสูงคือ ค่าเช่ารถวันละ 100 ดอลลาร์ หรือ 4,000 บาท รวมค่าคนขับและน้ำมัน แต่บางแห่งอาจไม่รวมค่าภาษีผ่านทาง ซึ่งต้องจ่ายทุกครั้งเมื่อผ่านหมู่บ้านและสะพาน โดยราคามากน้อยจะขึ้นอยู่กับขนาดของหมู่บ้าน และความยาวของสะพาน ดังเช่น ค่าผ่านสะพานเมาะละแหม่ง บริเวณปากแม่น้ำสาละวินที่ไหลลงทะเลอันดามันในเขตรัฐมอญ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศราคา 250 จั๊ต (ประมาณ 10 บาท) ส่วนสะพานเล็กๆ ที่มีความยาวเกิน 15 เมตร ตามเส้นทาง 30-50 จั้ต (ประมาณ 1-2.50 บาท) ราคานี้สำหรับรถยนต์ 4 ประตู หากเป็นรถโดยสารจะถูกเก็บในอัตราก้าวหน้า คือ เพิ่มสูงขึ้นตามขนาดและจำนวนผู้โดยสารบนรถ (ค่าแรงขั้นต่ำในพม่าวันละ 500 จั๊ต หรือ 20 บาท )
สำหรับการเดินทางโดยรถไฟ รัฐบาลอนุญาตให้นักท่องเที่ยว เดินทางได้เฉพาะบางเส้นทางเท่านั้น โดยราคารถไฟสำหรับนักท่องเที่ยวจะกำหนดเป็นเงินดอลลาร์ซึ่งมีราคาสูงกว่าชาวบ้านท้องถิ่นแม้ว่าจะใช้ขบวนรถและที่นั่งโดยสารประเภทเดียวกันก็ตาม ส่วนการเดินทางโดยเรือจะอนุญาตเฉพาะบางเส้นทาง เช่น เส้นทางมัณฑะเลย์-พุกาม เป็นต้นการเดินทางแบบสุดท้ายคือเครื่องบิน ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้สถานที่บางแห่งนักท่องเที่ยวต้องเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น เช่น การเดินทางระหว่างย่างกุ้งไปยังเมืองเย รัฐมอญ หรือเมืองปูเตา รัฐคะฉิ่น เป็นต้น
นับตั้งแต่พม่าเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี 1990 สัดส่วนของนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมากับบริษัททัวร์จะมากกว่านักท่องเที่ยวแบกเป้ เพราะบริษัททัวร์ช่วยแก้ปัญหาความยุ่งยากในเรื่องพาหนะ ที่พัก และการขออนุญาตพิเศษ และเนื่องจากรัฐบาลพม่ากำหนดให้โรงแรมบางแห่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก โรงแรมเหล่านี้จะขึ้นทะเบียนพิเศษและต้องเสียภาษีให้รัฐมากกว่าโรงแรมสำหรับคนท้องถิ่น ดังนั้น ทางเลือกของนักท่องเที่ยวแบกเป้ในการพักโรงแรมราคาถูกจึงมีน้อยลง นอกจากนี้ โรงแรมหลายแห่งยังมีคุณภาพไม่สมราคา แต่นักท่องเที่ยวแบกเป้จะต้องจำใจพักเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เช่น ราคาโรงแรมต่ำสุดที่เมืองเมาะละแหม่งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคือคืนละ 30 ดอลลาร์สำหรับพัก 3 คน ขณะที่สภาพห้องเทียบเท่ากับคืนละ 300 บาทในเมืองไทย เป็นต้น
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยวแบกเป้ คือ การตรวจสอบข้อมูลในคู่มือท่องเที่ยวก่อนออกเดินทาง เพราะบางสถานที่คนเขียนใช้มุมมองโรแมนติคมากเกินไปจนหลงลืมอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการเดินทาง ตัวอย่างเช่น ตอนที่ฉันเดินทางเข้าพม่าครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังจากอ่านข้อมูลในคู่มือท่องเที่ยวของสำนักพิมพ์ต่างประเทศชื่อดังบรรยายว่าเส้นทางรถไฟสายจากมัณฑเลย์ไปเมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานตอนเหนือสวยงามมาก โดยเฉพาะช่วงที่วิ่งผ่านสะพานเหล็กข้ามหุบเขาสร้างในสมัยอาณานิคมอังกฤษ อ่านคำบรรยายจบ ฉันก็ตัดสินใจซื้อตั๋วรถไฟเพื่อชื่นชมความงดงามสองข้ามทางดังวาดฝัน แต่ปรากฏว่ารถไฟเกิดตกรางจนทำให้เสียขวัญและเสียเวลาไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ระหว่างรอรถไฟกลับคืนสู่ราง บรรยากาศเริ่มเข้าสู่ความมืดมิด ชาวบ้านหยิบเทียนไขมาจุดราวกับรู้ตัวว่ารถไฟจะตกราง และไม่นานนักก็เริ่มมีแม่ค้านำใบพลูห่อหมากมาเดินขายผู้โดยสารชาวพม่าราวกับเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องปกติ หลังจากสอบถามชาวบ้านที่นั่งข้าง ๆ จึงพบว่า “รถไฟตกรางบ่อยมาก นี่ยังดีนะที่ไม่ตกช่วงผ่านหุบเขา” !
วินาทีนั้นฉันนึกถึงคำบรรยายสวยงามในคู่มือท่องเที่ยว พร้อมกับสบถคำหยาบออกมาด้วยความโมโหตัวเองที่ตกเป็นเหยื่ออุตสาหกรรมคู่มือท่องเที่ยวด้วยตัวหนังสือเพียงไม่กี่ประโยค ปัญหาของการใช้คู่มือท่องเที่ยวพม่าอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลไม่ทันเหตุการณ์ เพราะรัฐบาลมักเปลี่ยนกฎเกณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวตลอดเวลา รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่พักและค่าเดินทางที่ระบุในหนังสือท่องเที่ยวมักไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ยากแก่การจัดสรรงบประมาณ และหากเกิดปัญหาเงินไม่พอในพม่า คุณก็ไม่สามารถกดเอทีเอ็มหรือใช้บัตรเครดิตในเขตเมืองที่อยู่ห่างไกลความเจริญได้ ดังนั้น จึงต้องพกเงินสดติดตัวไปให้เพียงพอก่อนเดินทางเข้าพม่าทุกครั้ง
วันสุดท้ายของการเดินทางเยือนเจดีย์ไจก์ทิโย ระหว่างเดินลงเขา เรามีลูกหาบตัวจิ๋ว 3 คนช่วยแบกเป้เดินทางอันหนักอึ้ง เด็กชายทั้งสามอายุเพียง 11 ปี คนหนึ่งออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถม 3 เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย อีกสองคนเรียนอยู่ชั้นประถม 3 และประถม 6 แม้ว่าทั้งสองจะอายุเท่ากัน แต่เรียนต่างชั้นเพราะคนหนึ่งต้องออกจากโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่เก็บเงินชั่วคราว เมื่อพร้อมจึงกลับมาเรียนต่อ ส่วนอีกคนหนึ่งโชคดีกว่าที่พ่อแม่ของพวกเขาเก็บเงินได้ทันทุกปี ส่วนหนึ่งของเงินนั้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของเขาด้วยเช่นกัน
“ครอบครัวของพวกเราย้ายมาจากที่อื่น เพราะที่บ้านเดิมไม่มีงานทำ แต่นี่ยังมีนักท่องเที่ยวให้รับจ้างทำงานหลายอย่าง พ่อของพวกเราก็เป็นลูกหาบแบกเสลี่ยงให้คนนั่ง ส่วนพวกเราจะคอยช่วยแบกของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ก็ช่วยล้างจานที่ร้านค้าแถวท่ารถ”
เด็กชายทั้งสามเล่าถึงครอบครัวด้วยแววตาเศร้าหมอง บนหน้าของทุกคนเต็มไปด้วยแป้งทะนาคาเครื่องประทินผิวของชาวพม่าจนแทบไม่มีที่ว่าง เด็กทุกคนเป็นพี่ชายคนโตของน้อง ๆ อีกหลายคน คนที่ยังเป็นนักเรียนจะหาเวลาหลังเลิกเรียนมาช่วยพ่อแม่หาเงิน เงินที่ได้ทั้งหมดจะยกให้แม่และมีบ้างที่นำไปซื้อเสื้อตัวเล็กๆ ให้น้อง เด็กชายบอกถึงความฝันของตนเองว่า
“โตขึ้นผมอยากทำงานอะไรก็ได้ที่หาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ แล้วผมก็ตั้งใจว่าจะไม่ให้น้องต้องมาทำงานเป็นลูกหาบเหมือนผมกับพ่อ อยากหาเงินให้พวกเขาเรียนหนังสืออย่างเดียว”
พูดจบ แววตาของเด็กชายก็มีน้ำใสๆ มารออยู่แถวขอบตา เช่นเดียวกับคนฟังที่นั่งอยู่ตรงข้าม ฉันได้หวังว่า การเปิดประเทศพม่าที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นจะทำให้ครอบครัวของเด็ก ๆ เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเด็กทุกคนได้เข้าเรียนหนังสือในระบบโรงเรียนและออกมาช่วยพัฒนาประเทศพม่าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา