Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันดี สันติวุฒิเมธี
•
ติดตาม
26 เม.ย. 2020 เวลา 04:07 • ท่องเที่ยว
ซีรีย์บันทึกการเดินทางในพม่า
เที่ยวเมืองพม่า (3)
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพม่ากำลังบูม...ฉันหลับตามองเห็นภาพโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และบริการสำหรับนักท่องเที่ยวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หากกลับไปพม่าอีกครั้ง ฉันจะรู้สึกเช่นไรกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น...ฉันเฝ้าถามตัวเองเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ยิ่งเมื่อถึงเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตหลายแห่งในพม่า ฉันก็ไม่แน่ใจว่า ฉันจะรู้สึกดีใจหรือเสียใจกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
ปี 2549 ณ ท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี เมืองพุกาม
“เฮ้อ...ถึงสักที” หลังจากนั่งเรือจากกรุงมัณฑเลย์ล่องสายน้ำอิรวดีตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ในที่สุดฉันและเพื่อนหญิงชาวพม่าก็เดินทางมาถึงเมืองท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ... “พุกาม” (Bagan) ดินแดนทะเลเจดีย์ บรรยากาศของเมืองนี้ทำให้ฉันรู้สึกย้อนยุคเข้าไปอยู่ในสมัยโบราณ เพราะถูกรายล้อมด้วยเจดีย์เก่าหลายพันองค์ ทุ่งนา และพาหนะที่วิ่งผ่านไปมายังเป็นวัวเทียมเกวียน
พุกาม ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ถูกสถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี แต่ปัจจุบันเหลือเพียงกำแพงเมืองด้านในและด้านตะวันออกเท่านั้น กล่าวกันว่า จำนวนเจดีย์ที่แท้จริงนั้นมีจำนวนมากกว่า 10,000 องค์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างยิ่งใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเจดีย์ในปัจจุบัน
อาณาจักรพุกามมีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 16 เพราะกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ล้วนมีความศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก กษัตริย์หลายพระองค์นิยมสร้างเจดีย์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลในรัชกาลของพระองค์ และต้องล่มสลายลงจากการบุกรุกเข้าทำลายของกองทัพมองโกลที่นำโดยกุ๊บไลข่าน (Kublai Khan) ในปี พ.ศ. 1830 ต่อมาในปี ค.ศ 1975 เกิดแผ่นดินไหวขึ้น ทำให้หมู่เจดีย์จำนวนมากล้มครืนลงมา แต่ด้วยศรัทธาอันยึดแน่น ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่และอีกมากก็เป็นการสร้างเพิ่มขึ้นทดแทนด้วยพลังศรัทธาของผู้คน
ประเทศพม่าถูกขนานนามว่าเป็นดินแดน “ฤาษีแห่งเอเชีย” เพราะปิดตัวเองจากการติดต่อโลกภายนอกมายาวนานหลายทศวรรษ แผ่นดินพม่าจึงเป็นเสมือนสาวงามบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยมีชายใดได้ยลโฉมใกล้ชิด เมื่อรัฐบาลทหารพม่าประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้สโลแกน “Visit Myanmar Year 1996” บรรดานักท่องเที่ยวจึงเริ่มเบนเข็มทิศมาทางประเทศพม่า แน่นอนว่า หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมก็คือ ดินแดนทะเลเจดีย์พุกามแห่งนี้นั่นเอง
หลังจากพม่าเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อปี 1990 เมืองพุกามก็เริ่มมีโรงแรมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมทั้งร้านค้าและร้านขายของที่ระลึก แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก รถแทรกเตอร์มีให้เห็นน้อยกว่าวัวเทียมเกวียน ตลาดสดยังพรั่งพร้อมด้วยอาหารจากเรือกสวนไร่นาและท้องน้ำ
นอกจากพุกามแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากที่สุดในพม่าก็คือ เจดีย์ชเวดากอง เจดีย์ทองคำเหลืองอร่ามซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงย่างกุ้ง พระราชวังมัณฑะเลย์ สถาปัตยกรรมอันงดงามกลางเมืองมัณฑะเลย์ เมืองหลวงอันดับสองของพม่าในปัจจุบัน เจดีย์ไจ้ก์ทีโย เจดีย์บนก้อนหินทองคำซึ่งตั้งหมิ่นเหม่อยู่บนยอดเขาในรัฐมอญ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “พระธาตุอินทร์แขวน” จากนิยายซีไรต์เรื่อง “เจ้าจันทน์ผมหอม” ของมาลา คำจันทร์ และทะเลสาบอินเล ทะเลสาบในรัฐฉานตอนใต้ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากชาวประมงพายเรือด้วยเท้าและแปลงผักลอยน้ำ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพม่าจะต้องเดินทางไปเยือนสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยหนึ่งแห่ง หรือหากซื้อทัวร์มาเที่ยวพม่าหนึ่งครั้ง คุณอาจได้เดินทางไปยังสถานที่ข้างต้นทั้งหมดในคราวเดียวกัน เพราะเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ในรายการท่องเที่ยวของทุกบริษัททัวร์
สิ่งที่ฉันประทับใจในการเดินทางเข้าพม่า นอกจากความสวยงามของสถานที่ก็คือ วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ชาวพม่ายังคงรักษาเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อาทิ วัฒนกรรมการนุ่งโสร่ง หรือ “โลงยี” การใช้แป้งทะนาคาเป็นเครื่องประทินโฉม รวมทั้งการเคี้ยวหมาก ซึ่งในบรรดาชนชาติต่าง ๆ ในพม่า ชาวพม่าแท้ (Burman) นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมเคี้ยวหมากมากที่สุด สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีก็คือร้านขายหมากที่มีอยู่จำนวนมากในกรุงย่างกุ้งที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าแท้ เรียกได้ว่าแทบจะมีอยู่หัวซอยท้ายซอย หาได้ง่ายพอๆ กับร้านส้มตำบ้านเรา ขนาดของร้านจะค่อนข้างกะทัดรัด มีอุปกรณ์สำคัญคือโต๊ะเล็กๆ บนโต๊ะมีขวดและกระปุกเครื่องปรุงรสหลากหลายให้เลือกสรร สิ่งที่ขาดไม่ได้คือใบพลูสีเขียวสดวางเรียงเป็นชั้น เมื่อลูกค้ามาสั่งซื้อใบพลูจึงถูกนำมาวางเรียงทีละใบแล้วปรุงรสตามความต้องการของลูกค้า
หากลองเปิดใบพลูรูปหัวใจดูด้านในจะพบว่า ภายในหมากหนึ่งคำไม่ได้มีเพียงผลหมากเท่านั้น แต่ยังมีส่วนผสมอย่างอื่นเพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมด้วย อาทิ สีเสียด เม็ดผักชียี่หร่า ชะเอมหั่นชิ้นเล็กๆ ปูนขาว ยาสูบ ซึ่งเครื่องปรุงต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น หมากที่ได้รับความนิยมมีสองแบบ คือ “หมากหวาน” และ “หมากเมา” ฟังชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าหมากหวานจะมีรสหวานและไม่ใส่ใบยาสูบ ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของ “หมากเมา” อาการเมาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่เพิ่งทดลองกินหมากครั้งแรก
ชาวพม่าไม่ได้่ผูกพันกับหมากเพียงแค่การขบเขี้ยวเท่านั้น แต่สาว ๆ ยังนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านความงามอีกด้วยเช่นกัน นักประพันธ์ชาวพม่าเล่าถึงชีวิตวัยเด็กในหนังสือ Colourful Myanmar ของเธอไว้ว่า ในสมัยที่เธอเป็นเด็ก เวลาสาว ๆ จะแต่งตัวออกงานแต่ละที พวกผู้ใหญ่จะให้เด็กสาวเคี้ยวหมากก่อนออกงานเพื่อทำให้ริมฝีปากมีสีแดงสวยงามดูโดดเด่น
วัฒนธรรมการเคี้ยวหมากของชาวพม่าจากยุคโบราณดำเนินมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งชนิดที่ขาดไม่ได้ สมัยก่อนจะเตรียมเครื่องหมากและจีบหมากสำหรับเคี้ยวเองที่บ้าน จากนั้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตคนเริ่มทำงานนอกบ้านมากขึ้น การที่จะพกเชี่ยนหมากติดตัวไปด้วยทุกที่หรือห่อมากินเองในที่ทำงานก็คงไม่สะดวก ครั้นจะให้เลิกไปก็ไม่สามารถทำได้ ประกอบกับคนพม่าเคี้ยวหมากได้ทั้งวันมีเวลากำหนด แผงขายหมากขนาดย่อม มีทั้งที่ห่อไว้แล้วและห่อให้เดี๋ยวนั้น (อารมณ์เดียวกับร้านอาหารจานด่วน แต่นี่เป็น “หมากด่วน”) เราจึงพบ “ร้านหมากด่วน” อยู่ทุกตารางเมตรในเมืองต่าง ๆ ใครอยากจะเคี้ยวเมื่อไหร่ แค่เหลียวซ้ายแลขวาก็เจอ
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลพม่าได้ออกคำสั่งสะเทือน วงการหมากในเมืองหลวงเป็นอย่างมาก โดยห้ามจำหน่ายหมากในกรุงย่างกุ้งเพื่อต้อนรับปีการท่องเที่ยวพม่าหรือ “Visit Burma Year in 1996” เนื่องจาก “การบ้วนน้ำหมากลงบนพื้นนั้นเป็นสิ่งที่ ไม่น่าพิสมัยในสายตานักท่องเที่ยว จึงขอสั่งให้งดจำหน่ายในเขตเมืองหลวงเพื่อรักษาภาพพจน์ที่ดีของประเทศ หากพบเห็นการซื้อขายจะดำเนินการปรับทันที”
ด้วยเหตุนี้ แผงหมากที่เคยมีเกลื่อนเมืองมานมนานจึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปในบัดดล แต่เนื่องจากหมากมีฤทธิ์เป็นสารเสพติดอ่อน ๆ หากใครเคี้ยวเป็นกิจวัตรแล้วก็ยากที่จะหยุดยั้งได้ คำสั่งห้ามดังกล่าวจึงทำให้พ่อค้าขายหมากต้องลักลอบดำเนินธุรกิจแบบใต้ดิน และแน่นอนว่าราคาของหมากต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และผลที่ตามมาก็คือ ปริมาณหมากที่เคี้ยวในแต่ละวันน้อยลง เพราะคนซื้อไม่มีเงินมากพอ เช่น คนที่อาจจะเคยเคี้ยววันละ 30-40 อันก็ลดลงมาเหลือเพียง 10 อัน เพราะราคาแพงแต่จากการเดินทางเข้าออกพม่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า นโยบายห้ามเคี้ยวหมากจะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะทุกวันนี้ ร้านขายหมากก็ยังมีให้เห็นเกลื่อนเมืองย่างกุ้งและตามเมืองท่องเที่ยวทั่วไป เพราะห้ามอะไรก็ห้ามได้ แต่ห้ามคนพม่าเคี้ยวหมาก...ท่าจะยาก !
บันทึก
4
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บันทึกการเดินทางในพม่า
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย