25 เม.ย. 2020 เวลา 11:12
บันทึกการเดินทางในพม่า
เที่ยวเมืองพม่า (2)
หากใครเปิดหนังสือคู่มือท่องเที่ยวพม่า หนึ่งในภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือทะเลสาบอินเลในรัฐฉาน
ฉันมีโอกาสไปเยือนสถานที่แห่งนี้ในช่วงกลางฤดูร้อนปี 2545 ซึ่งเป็นการเดินทางไปประเทศพม่าเป็นครั้งแรก แม้ว่าวันนี้เวลาจะผ่านไปนานสิบปีแล้ว แต่ความทรงจำที่มีต่อทะเลสาบผืนนี้กลับยังคงแจ่มชัดราวกับเพิ่งผ่านไปเมื่อวาน ภาพทะเลสาบน้ำจืดกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ชาวประมงพายเรือด้วยเท้าอย่างคล่องแคล่วตั้งแต่รุ่นเยาว์ไปจนถึงรุ่นอาวุโส เอกลักษณ์กลางผืนน้ำที่นำพานักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกเดินทางมาเยือน ฉันยังจำได้ดีถึงบรรยากาศยามเช้าอันสุดแสนโรแมนติก สายหมอกลอยเอื่อยเหนือทะเลสาบ นึกถึงทีไรต้องนั่งอมยิ้มราวกับกำลังแอบหลงรักใครสักคน
ทะเลสาบอินเล (Inle Lake)เป็นทะเลสาบน้ำจืดอยู่ห่างจากเมืองตองยีประมาณ 25 กิโลเมตร มีขนาดใหญ่กว้างใหญ่เป็นอันดับสองในพม่า กินอาณาบริเวณ 158 ตารางกิโลเมตร และเป็นทะเลสาบที่ได้ชื่อว่าสวยงามที่สุดของประเทศพม่า ทะเลสาบแห่งนี้ก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตมากมายรวมทั้งวิถีชีวิตชุมชนชาวอินตาที่ อาศัยทะเลสาบอินเลในการดำรงชีวิต ชุมชนชาวอินตาตั้งอยู่บนแนวคันดินตะกอนที่มีขนาดกว้างถึง 5 กิโลเมตร แนวตะกอนและวัชพืชเหล่านี้เป็นชั้นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุที่เหมาะ สำหรับการเพาะปลูกของชาวอินตา ชาวอินตาสามารถทำแปลงเพาะปลูกลอยน้ำโดยใช้ความรู้ที่สั่งสมมายาวนานโดยใช้ วัชพืชมาตากแห้งและมัดรวมกันเป็นแพแล้วใช้ลำไม้ไผ่ตรึงเอาไว้และโกยเอาโคลน จากก้นทะเลสาบอินเลมากลบด้านบนเพื่อใช้ในการเพาะปลูก พืชหลักที่ทำการเพาะปลูกได้แก่มะเขีอเทศ ถั่ว แตงกวา กะหล่ำ
เหตุผลที่ชาวอินตายืนใช้เท้าข้างเดียวพายเรือเพราะจะได้มองเห็น ฝูงปลาได้ง่ายกว่าการนั่งพายเรือโดยปกติชาวอินตาชอบออกหาปลาคนเดียวโดยใช้เรือแจว และเครื่องมือจับปลาพื้นบ้าน เป็นสุ่มทรงกรวยสูง และแห ภาพชาวประมงยืนพายเรือด้วยเท้าข้างเดียวกลางทะเลสาบกว้างใหญ่จึงกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมาแต่ไหนแต่ไร
ทว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ภาพความทรงจำอันแสนหวานของฉันกลับต้องเปลี่ยนไป หลังจากเห็นข่าวทะเลสาบอินเลเหือดแห้งจนเห็นผืนดินแตกระแหงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา รวมทั้งเรื่องราวอันน่าเศร้าใจจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Floating Tomatoes” หรือ “มะเขือเทศลอยน้ำ” ซึ่งชาวอินเลกำลังเจ็บป่วยล้มตายจากการใช้สารเคมีปลูกมะเขือเทศเลี้ยงคนทั้งประเทศ
หลังจากนั่งชมภาพยนตร์สารคดีความยาวสามสิบนาทีจนจบ ฉันก็ได้แต่นั่งเศร้าใจราวกับเห็นคนรักกำลังป่วยหนักเพราะถูกวางยา ลมหายใจของเขาแผ่วเบาลงเรื่อยๆ และอาจจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

“ตั้งแต่จำความได้ลุงก็ดื่มน้ำจากทะเลสาบแห่งนี้ แต่วันนี้ลุงไม่กล้าดื่มอีกแล้ว เพราะมันปนเปื้อนสารเคมีจากไร่มะเขือเทศลุงเห็นผู้คนที่ดื่มน้ำจากทะเลสาบป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ”
ลุงทุน เงียว ชายชราวัย 77 ปี บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของทะเลสาบที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ผ่านภาพยนตร์สารคดี ชาวอินเลจำได้ว่า ครั้งสุดท้ายที่ได้ดื่มน้ำสะอาดจากทะเลสาบอินเลคือปี ค.ศ. 2000 หรือสิบสองปีมาแล้ว นอกจากนี้ น้ำในทะเลสาบยังแห้งขอดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ในช่วงหน้าแล้ง น้ำบางช่วงสูงแค่ 4 ฟุตเท่านั้น ส่งผลให้ปลาที่เคยมีกินอย่างอุดมสมบูรณ์เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
ฉันยังจำได้ดีว่าแปลงผักลอยน้ำของชาวอินเลเคยมีพืชผักนานาชนิดปลูกสลับกันไป ระหว่างนั่งเรือล่องไปตามทะเลสาบจะมองเห็นผักสวนครัวอวบอิ่มอยู่ตามแปลงผักสองข้างทาง ทุกๆ กาดห้าวัน หรือ ตลาดนัดทุกห้าวัน ชาวบ้านจะนำผักนานาชนิดมาขายที่ตลาดให้เลือกซื้อเลือกหากันอย่างละลานตา โดยส่วนใหญ่เป็นผักจากธรรมชาติ ใช้สารเคมีเป็นส่วนน้อย ตรงกันข้ามกับภาพที่ฉันเห็นในภาพยนตร์สารคดี แปลงผักลอยน้ำส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นไร่มะเขือเทศกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บนเรือของชาวบ้านเต็มไปด้วยมะเขือเทศสีเขียวสีแดง ไม่มีผัก ชนิดอื่นเลย เมื่อมาถึงฝั่ง มะเขือเทศเหล่านี้ก็ถูกส่งไปยังโกดังกว้างใหญ่เพื่อรอจัดเก็บลงในลังไม้ส่งไปขายให้กับคนทั่วประเทศพม่า
ปัจจุบัน ประชาชนชาวอินเลมากกว่าหนึ่งแสนพึ่งพาไร่มะเขือเทศ เป็นรายได้หลักสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวและสานต่อความฝันของตนเองและลูกๆ ให้เป็นความจริงในอนาคต เต่งวิน ชายชาวอินเล ผู้เป็นพ่อของลูกสาววัยเรียนอายุ 10 ปีและลูกชายวัยก่อนเข้าเรียนอีกหนึ่งคน เด็กสาวมีความฝันอยากเป็นหมอ เมื่อเติบใหญ่ ส่วนผู้เป็นพ่อก็มีความฝันอยากปลูกบ้านเป็นของตนเองสักหลังตามประเพณีการแยกบ้านจากพ่อแม่หลังแต่งงานมีครอบครัว เมื่อรายได้จากการปลูกมะเขือเทศดูเป็นกอบเป็นกำมากกว่าการจับปลาที่เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ทางเลือกที่เขาจะสานต่อความฝันจึงมีไม่มากนัก…แม้ว่าพวกเขาจะรู้อยู่แก่ใจว่ามันเสี่ยงอันตราย และเขาอาจวิ่งไล่ตามความฝันไม่ทันก็ตาม
ทุกวันนี้ บนเรือของชาวอินเลไม่ได้มีเพียงเครื่องมือจับปลาเป็นอุปกรณ์จำเป็นเท่านั้น แต่ยังต้องมีถังน้ำสีเหลืองวางอยู่ประจำ เพราะต้องนำไปใส่น้ำดื่มจากท่อประปาที่ต่อมาจากแม่น้ำยองวันเป็นเวลาสามปีมาแล้ว น้ำในทะเลสาบถูกใช้สำหรับอุปโภค แต่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้เพราะเสี่ยงต่อการสะสมสารพิษในร่างกาย ผลกระทบจากการปลูกมะเขือเทศและใช้สารเคมีบนแปลงผักลอยน้ำทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในทะเลสาบส่งผลให้ปลาลดลง เมื่อจับปลาได้น้อยลง ชาวอินเลก็ยิ่งปลูกมะเขือเทศกันมากขึ้น จนกลายเป็นวัฏจักรของสารพิษที่ตกค้างอยู่ในน้ำแบบทวีคูณ
มินท์ติ่นโกโกยี เป็นผู้ผลิตหนังสารคดีเรื่องนี้ เดิมเขาตั้งใจว่าจะเก็บ ภาพความงดงามของทะเลสาบอินเล แต่ภายหลังต้องเปลี่ยนประเด็นไปสู่ความทุกข์ยากของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเกินขนาดแทน
นอกจากทะเลสาบอินเลแล้ว เมืองตองยีซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ฉันตั้งเป้าว่าจะต้องไปเยือนให้ได้ คือ หอหลวงยองห้วยหรือวังเจ้าฟ้าไทยใหญ่ซึ่งปกครองเมืองยองห้วยในอดีต
หอหลวงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊กด้วยศิลปะแบบมัณฑะเลย์ ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐ ส่วนชั้นบน สร้างขึ้นด้วยไม้ เนื่องด้วยเจ้าส่วยแต๊กมีมเหสีรองสององค์และลูกๆ อีกสิบกว่าคน หอหลวงจึงประกอบด้วยอาคารสามหลังติดกัน แต่ละหลังจะมีแท่นบูชาอยู่ชั้นบนสุด อาคารด้านในสุดเป็นห้องสวดมนต์ของครอบครัว หอกลางเป็นส่วนที่เจ้าฟ้าใช้ประชุมขุนนาง โดยเจ้าฟ้าจะประทับบนบัลลังก์ทองหากมีการประกาศราชโองการ ส่วนบริเวณห้องโถงใหญ่ด้านนอกสำหรับจัดพิธีคารวะเจ้าฟ้า ซึ่งมีบันไดขึ้นหอสองแห่ง บันไดทางด้านทิศเหนือสำหรับคนทั่วไป อีกด้านหนึ่งเป็นบันไดที่ตกแต่งแบบตะวันออกเรียกว่าบันไดมังกรสำหรับพระสงฆ์เดินขึ้นเวลาจัดงานคารวะ ซึ่งเจ้าฟ้าจะประทับอยู่บนพระที่นั่งที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกใต้ฉัตรสีขาว
บริเวณโดยรอบหอหลวงประกอบด้วยสนามเทนนิส 4 สนาม สวนกล้วยไม้ ต้นมะขาม คอกม้า โรงรถ โรงครัว และสวนที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ทางทิศเหนือและทิศใต้ ใกล้กับมุมทางตะวันออกเฉียงเหนือของหอหลวงมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป 8 องค์ และศาลเจ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณประตูด้านตะวันออกซึ่งเป็นที่อยู่ของ “นัต” หรือ “ผี” ที่คุ้มครองเมือง ซึ่งเจ้าฟ้าอนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาสักการบูชานัตประจำเมืองได้ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ชาวบ้านตักน้ำจากหอหลวงไปใช้ได้ในช่วงที่แล้งจัด
บ้านเมืองยองห้วยภายใต้การบริหารบ้านเมืองของเจ้าส่วยแต๊กในขณะนั้นสงบร่มเย็นมาก ว่ากันว่า ที่ยองห้วยมีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2490 เจ้าฟ้าส่วยแต๊กได้ร่วมกับเจ้าฟ้าไทยใหญ่และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คนอื่นๆ ลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเพื่อปลดปล่อยสหภาพพม่าที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้นให้เป็นอิสระจนเป็นผลสำเร็จ หนึ่งปีต่อมาเจ้าส่วยแต๊กได้รับเลือกจากรัฐบาลพม่าให้เป็นประธานาธิบดีของสหภาพพม่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวในบันทึกประวัติศาสตร์ของพม่า นอกจากนี้เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ลงนามสละอำนาจการปกครองแบบเดิมรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐไทยใหญ่โดยขึ้นกับพม่า ด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เจ้าส่วยแต๊กได้พามหาเทวีเฮือนคำ สตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้นย้ายครอบครัวจากหอหลวงมาพำนักอยู่ในกรุงย่างกุ้ง
ทว่า เมื่อนายพลเนวินทำการรัฐประหารในปี พ.ศ.2505 ในฐานะบุคคลสำคัญที่สุดในประเทศย่อมตกเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องกำจัด กลางดึกคืนวันรัฐประหาร ทหารได้บุกเข้าไปยังที่พักของเจ้าส่วยแต๊กเพื่อนำตัวประธานาธิบดีไปคุมขัง เจ้าชายหมีซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าฟ้าถูกกระสุนปืนของทหารนายหนึ่งเสียชีวิตในคืนนั้น ต่อมาเจ้าส่วยแต๊กได้เสียชีวิตในระหว่างที่ถูกรัฐบาลเนวินคุมขัง มหาเทวีเฮือนคำได้พาลูกๆ เดินทางออกจากพม่ามายังประเทศไทย ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าเฮือนคำมีส่วนช่วยเหลือในการก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า แต่ต่อมาขุนส่า ราชายาเสพติด ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังเมืองไตในขณะนั้นนำกองกำลังทหารจำนนต่อรัฐบาลพม่า เจ้าเฮือนคำจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ บุตรชายยังต่างประเทศซึ่งเจ้านางได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในต่างแดนจนถึงวาระสุดท้ายโดยไม่มีโอกาสได้เห็นอิสรภาพในเมืองไต
หอหลวงเมืองยองห้วยถูกยึดไปเป็นสมบัติของรัฐบาลพม่าเนื่องจากไม่มีลูกหลานพักอาศัย ซึ่งหลังจากที่ถูกทิ้งรกร้างมาเป็นเวลานาน รัฐบาลได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม โดยเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมคนละ 2 ดอลลาร์ ข้าวของเครื่องใช้และรูปถ่ายของเจ้าฟ้าไทยใหญ่และมหาเทวีในอดีตรวมถึงบัลลังก์ทองถูกนำออกมาตั้งโชว์อวดสายตานักท่องเที่ยว ราวกับต้องการประกาศให้โลกได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของมรดกอันเป็นศิลปะของชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายร้อยชนชาติที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ ทว่าสิ่งที่ดูขัดแย้งกันก็คือรัฐบาลพม่าเองไม่ใช่หรือคือผู้สังหารเจ้าฟ้า ถอนรากถอนโคนระบบการปกครองแบบเดิม เข่นฆ่าชาวไทยใหญ่และพยายามทำลายความเป็นไทยใหญ่ให้หมดสิ้นไปโดยกลืนให้เป็นพม่า บัลลังก์ทองและรูปถ่ายในอดีตจึงมีเพียงกระดาษชิ้นเล็กๆ ที่ระบุเพียงชื่อสิ่งของและเจ้าของโดยละไว้ซึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งของมีค่าเหล่านั้น แท้จริงแล้วพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมยองห้วยจึงอาจมีค่าเพียงเครื่องมือ สร้างรายได้เข้ากระเป๋ารัฐบาลพม่าเท่านั้นเอง
หมายเหตุ - งานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่นิตยสาร "เนชั่นสุดสัปดาห์" คอลัมน์พิราบขาวข้ามพรมแดนช่วงปี 2555

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา