24 เม.ย. 2020 เวลา 04:39
ซีรีย์บันทึกการเดินทางในพม่า
ตอน "เที่ยวเมืองพม่า (1)"
สิ่งที่ทำให้ฉันสนุกกับการทำงานเรื่องพม่ามาตลอดเวลาเก้าปี คือ การได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองพม่าหลายแห่ง แต่ละเมืองมีมนต์เสน่ห์แตกต่างกันออกไป บางเมืองมีแม่น้ำกว้างใหญ่ดุจท้องทะเล บางเมืองมีป่าไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ บางเมืองมีทะเลเจดีย์นับร้อยนับพัน และบางเมืองมีตึกรามบ้านช่องยุคโบราณให้ดูชม ประสบการณ์ทำงานเรื่องพม่าจึงครบรสทั้งตื่นตาตาใจกับสถานที่ต่างๆ ตื่นเต้นเมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่ต้องห้าม รวมทั้งตื่นตูมเมื่อคิดไปเองว่าถูกสายลับกำลังติดตาม
 
การเดินทางสู่เมืองมะละแหม่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2548 ตรงกับช่วงเทศกาลเข้าพรรษาท่ามกลางสายฝนโปรยปรายพอดี ฉันเริ่มต้นเดินทางจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของประเทศพม่า มุ่งหน้าสู่เมืองพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง มะละแหม่งเมืองท่าสำคัญของรัฐมอญมาตั้งแต่อดีตและเป็นจุดสิ้นสุดของแม่น้ำสาละวินที่มีความยาวถึง 2,800 กิโลเมตรจากเทือกเขาหิมาลัยถึงอ่าวเมาะตะมะ
การเดินทางทั้งหมดใช้เส้นทางบก โดยการเช่ารถยนต์ส่วนตัว เพราะสะดวกในการแวะพักชมวิวถ่ายรูป เส้นทางระหว่างกรุงย่างกุ้ง ถึงเมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยงเป็นระยะทาง 163 กิโลเมตร ถนนช่วงแรกหลังออกจากตัวเมืองราบเรียบและกว้างหลายเลนจนทำให้เผลอคิดไปว่า อีกไม่นานคงได้ไปเดินเล่นในเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงเป็นแน่ แต่ทว่าหลังจากฝันหวานไม่เกินชั่วโมง ถนนก็เริ่มขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อบวกกับสายฝนที่โปรยปรายมาเป็นระยะแล้ว ความฝันที่วาดไว้ก็พังทลาย
กว่าจะถึงเมืองพะอันพระอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำลงจนใกล้ตกดิน ฉันและเพื่อนร่วมทางอีกสามคนพากันออกตระเวนหาที่พักซึ่งมีให้เลือกไม่มากนักในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ที่พักแห่งแรกที่เราเข้าไปดูมีสภาพเหมือนเกสต์เฮาส์ ถ้าเป็นบ้านเราราคาไม่เกิน 300 บาท แต่ราคาที่นี่ทำให้เรายิ้มไม่ออกทีเดียว เพราะเป็นราคา “ต่อหัว” ไม่ใช่ “ต่อห้อง”ดังนั้น ห้องเช่าแบบเดียวกันจึงราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่พักต่อห้อง เช่น คนละ 10 ดอลลาร์ ถ้าอยู่ 3 คนรวมกันก็ 30 ดอลลาร์ หลังจากพยายามต่อรองราคาให้ถูกลงไม่เป็นผล พวกเราก็มุ่งหน้าไปยังโรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ ในที่สุดเราก็ได้ราคาถูกลงและสภาพห้องพักดีกว่าเล็กน้อย
หลังจากเก็บของเข้าที่พักเราก็ลงไปเดินเล่นในตัวเมืองพะอัน ที่นี่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีมหาวิทยาลัยพะอันใหญ่โตอลังการ สร้างตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองพม่า แต่น่าเสียดายที่ในขณะนั้นมหาวิทยาลัย ถูกสั่งปิดด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ฉันไม่มีโอกาสได้เห็นนักศึกษาเดินไปมาขวักไขว่เหมือนกับมหาวิทยาลัยบ้านเรา
ที่ตั้งของเมืองพะอันอยู่ห่างจากชายแดนอำเภอแม่สอดประมาณ 150 กิโลเมตร คนที่นี่จึงพูดภาษาไทยได้หลายคำ สถานที่สำคัญของเมืองที่ผู้มาเยือนควรไปให้ถึง คือ วัดตามันยา เป็นวัดที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือเจ้าอาวาสที่นี่มาก แม้แต่อองซาน ซูจียังมากราบนมัสการ “สยาดอว์ อู วินายา” หรือ “อู วินัย” ที่นี่ (สยา เป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกบุคคลที่นับถือเปรียบได้กับคำว่า ครู) เพราะความศรัทธาที่มีต่อสยาดอว์ ธรรมเนียมการมาแสวงบุญที่นี่คือ ทุกคนจะกินอาหารมังสวิรัติก่อนการเดินทางหนึ่งวัน และอาหารที่ให้บริการฟรีสำหรับนักแสวงบุญก็เป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด สิ่งที่น่าประทับใจของเมืองนี้ก็คือความบริสุทธิ์และกว้างใหญ่ของแม่น้ำสาละวินจนแทบมองไม่เห็นคนอีกฝั่งหนึ่งเลยทีเดียว ฉันมีโอกาสนั่งเรือชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำ พบว่าผู้คนยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้อย่างแนบแน่น บ้างใช้ชีวิตอยู่บนเรือต่างบ้าน บ้างอาศัยอยู่บนเรือนแพไม้ไผ่ ภาพเด็กๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานโดยมีแม่บ้านนั่งซักผ้ากันเป็นกลุ่มอยู่ใกล้ๆ เป็นภาพที่น่าประทับใจมากทีเดียว เพราะในเมืองไทยทุกวันนี้แทบไม่มีภาพเหล่านี้ให้เห็นแล้ว
เช้าวันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปยังปลายทางสุดท้าย คือ เมืองมะละแหม่ง (เมาะลำไยเป็นชื่อใหม่ที่รัฐบาลพม่าตั้งให้) เมืองหลวงของรัฐมอญ เป็นเมืองคู่แฝดกับเมาะตะเมาะซึ่งอยู่คนละฟากฝั่งสาละวิน
ยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษยึดพม่าตอนใต้ได้ก่อนในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรก(ค.ศ.1824) จึงเปลี่ยนมะละแหม่งซึ่งเป็นเมืองประมงเล็กๆให้เป็นเมืองท่าสำคัญนำเข้าสินค้าจากอังกฤษและนำสินค้าพื้นเมืองจากภูมิภาคนี้ออกไป มะละแหม่งได้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับกองคาราวานสินค้าขึ้นล่องจากแถบยูนนานผ่านเชียงตุง เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สู่มะละแหม่ง ในเวลานั้นเจ้านายทางล้านนามั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าขายเนื่องจากเป็นทางผ่านของกองคาราวาน ท่ามกลางความสัมพันธ์อันแนบแน่นจากการค้าขายระหว่างเชียงใหม่และมะละแหม่งภายใต้จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ก่อให้เกิดตำนานรักต่างชนชาติและต่างฐานันดรระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษมราชบุตรกับมะเมียะแม่ค้าสาวชาวมะละแหม่ง บทสรุปของตำนานรักคือการพลัดพรากจากลาจนกลายเป็นเพลงอมตะและโด่งดังของจรัล มโนเพชรให้คนไทยได้รู้จักและจดจำมาจนถึงวันนี้
มรดกจากการตกเป็นเมืองท่ายุคอาณานิคมที่ยังหลงเหลือให้เห็นคือ สภาพตึกรามบ้านช่องตามสไตล์ตะวันตก อาคารบางหลังยังคงมีรั้วระเบียงเหล็กดัดลวดลายสวยงามผิดไปจากบ้านเรือนของคนพม่าแบบโบราณที่ใช้วัสดุเรียบง่าย มะละแหม่งมีชื่อเสียงหลายด้าน ทั้งอาหารการกิน จากท้องทะเลที่มีให้เลือกสรรนานาชนิด ปลาตัวโตๆ ยังมีให้เห็นทุกๆ เช้าตามตลาดสด รวมทั้งอาหารจากบนผืนดิน โดยเฉพาะผักผลไม้นานาชนิด เพราะเป็นชุมทางของสินค้าทางเรือ ชาวเมืองมะละแหม่งมีทั้งพม่า มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง ปะโอ ไทยใหญ่ แขก และจีน โดยใช้ภาษาพม่าเป็นภาษากลาง
ความประทับใจที่มีต่อเมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้ คือ บรรยากาศยามเย็น บนถนนเลียบชายฝั่งปากแม่น้ำสาละวิน ความกว้างใหญ่ของแม่น้ำสาละวิน ตั้งแต่ในช่วงผ่านรัฐกะเหรี่ยงมาจนถึงไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะทำให้ฉันรู้สึกเสียดายไม่น้อยที่โครงการเขื่อนขนาดใหญ่กำลังจะมาพรากความบริสุทธิ์จากแม่น้ำสายนี้ไป หากถึงวันนั้น ชีวิตคนตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำที่เห็นในวันนี้ก็คงจะเปลี่ยนไป เพราะสายน้ำไม่ได้ไหลตามธรรมชาติเหมือนเดิม
สถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของเมืองมะละแหม่งในวันนี้ที่จะต้องเอ่ยถึงก็คือ สะพานมะละแหม่งที่มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร จัดเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่มีความยาวที่สุดในพม่าและมีทางรถไฟวิ่งคู่ขนานกันไป สะพานนี้ได้เชื่อมแผ่นดินเมืองเมาะตะมะกับมะละแหม่งให้กลายเป็นผืนเดียวกัน ทำให้ชาวพม่าสามารถเดินทางโดยรถไฟจากเมืองทวายภาคใต้ขึ้นเหนือไปจนถึงกรุงย่างกุ้ง เพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองมิตจีนา เมืองหลวงรัฐคะฉิ่นในภาคเหนือได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะเลือกไปทางเมืองพุกามหรือมัณฑเลย์ก็ทำได้เช่นกัน
สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวพม่าอีกเรื่องหนึ่งคือ วัฒนธรรมการนุ่งโลงจี หลายคนอาจเข้าใจว่า”โลงจี” ในภาษาพม่าหมายถึงโสร่งของผู้ชาย แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “โลงจี” เป็นคำเรียกโดยรวมทั้งโสร่งของผู้ชายและผ้าถุงของผู้หญิง โสร่งในภาษาพม่าจะเรียกว่า “ปะโซ” ส่วนผ้าซิ่นจะเรียกว่า “ทะเมง” ซึ่งปะโซกับทะเมงจะแตกต่างกัน โดยปะโซมักจะเป็นลายตารางหรือมีสีพื้นส่วนทะเมงมักจะเป็นลายดอกไม้หรือมีลวดลายด้านล่าง นอกจากนี้ การสวมใส่โลงจีของผู้หญิงกับผู้ชายก็จะแตกต่างกันด้วย โดยผู้ชายจะสวมโดยทบชายผ้าซ้ายขวามาผูกเป็นปมด้านหน้า ส่วนผู้หญิงจะทบจากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวาตามความถนัด
มีหลายเหตุผลที่ทำให้โลงจียังอยู่กับชาวพม่าอย่างเหนี่ยวแน่นจนถึงทุกวันนี้ นอกจากรัฐบาลที่ หวงแหนความเป็นชาตินิยมมากพอๆ กับอำนาจแล้ว คุณสมบัติหลายอย่างและความสารพัดประโยชน์โดยตัวของโลงจีเองก็เป็นเหตุผลหนึ่งเช่นกัน
อูถิ่นจี นักเขียนชาวพม่าได้สาธยายถึงคุณสมบัติของโสร่งในบทความชื่อ “In praise of longyi” ในเว็บไซต์ http://www.myanmar.gov.mm ของรัฐบาลว่า 
“…โลงจีเป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับหน้าร้อนในพม่าที่สุด แต่เมื่ออากาศเย็นก็สามารถใช้ห่มได้อีกด้วย และเนื่องจากโลงจีทำจากผ้าผืนเดียวเย็บติดกัน จึงประหยัดทั้งเวลาในการตัดเย็บ ประหยัดทั้งผ้าด้วย หากเผลอไปทำโลงจีเลอะเข้าหรือเป็นรอยขาดก็ซ่อนรอยนั้นไว้ในปมแล้วค่อยกลับไปซ่อมแซมรอยขาดและซักรอยเปื้อนออกก็ได้ ซึ่งโลงจีซักง่ายและแห้งเร็วแถมยังไม่ต้องรีด แค่พับให้เรียบร้อยเก็บไว้ใต้ที่นอน รุ่งเช้าก็นำมาสวมได้ทันที ถ้าโลงจีสีซีดจางก็กลับด้านในออกคือเวลาสวม ซึ่งหากไม่สังเกตก็ไม่รู้ หรือถึงจะสังเกตก็ยากที่จะรู้ นอกจากนี้ โลงจียังสามารถแปลงร่างเป็นอุปกรณ์อย่างอื่นได้อีก เช่น ผูกเป็นเปลสำหรับเด็ก ใช้เป็นกระเป๋าห่อของแบกไว้บนบ่า เป็นผ้าซับเหงื่อ ใช้เป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้ายามฉุกเฉินได้อีกด้วย…”
การสวมโลงจีไม่ได้เป็นเพียงเป็นการแต่งกายในวันปกติที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น แต่รัฐบาลพม่ายังได้กำหนดให้หลายอาชีพสวมโลงจีเป็นเครื่องแบบ เช่น นางพยาบาลระดับสูงสวมซิ่นสีเขียว พยาบาลระดับกลางสวมซิ่นสีน้ำเงินสำหรับ และพยาบาลระดับล่างสวมซิ่นสีแดง นักเรียนและครูสวมโสร่งสีเขียว ในระดับมหาวิทยาลัยของพม่าภายหลังอาจมีการบังคับให้สวมเครื่องแบบนักศึกษาด้วยเหตุผลความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งก็หนีไม่พ้นโลงจีอยู่ดี แต่ก่อนนี้แม้ไม่มีการบังคับให้สวมเครื่องแบบชุดนักศึกษาหรือเครื่องแบบชุดของอาจารย์ นักศึกษาและอาจารย์ส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะสวมโลงจีไปมหาวิทยาลัยกันอยู่แล้ว ในขณะที่บ้านเราถ้าไม่มีการบังคับให้นักเรียนสวมเครื่องแต่งกายประจำท้องถิ่นในวันศุกร์ เราก็คงไม่มีโอกาสเห็นเด็กวัยรุ่นหยิบผ้าซิ่นขึ้นมานุ่งเป็นแน่แท้ ซึ่งเด็กเหล่านั้นคงรู้สึกเคอะเขิน ไม่ต่างกับการที่ต้องสวมกางเกงยีนไปไหนต่อไหนในบ้านเมืองนี้สักเท่าไหร่
การเดินทางเยือนถิ่นคนมอญครั้งนี้ ฉันยังมีโอกาสได้ไปเที่ยวงานวัดเพราะตรงกับเทศกาลเข้าพรรษาพอดี ผู้คนทั่วทุกสารทิศพากันหลั่งไหลเดินเท้าขึ้นไปในวัดแห่งนี้ ระหว่างการเดินจากเชิงเขาขึ้นไปยังวัดแห่งนั้น หากไม่ฟังสำเนียงการพูดหรือสังเกตจากคิ้วอันดกดำของเณรน้อยแล้ว อาจจะเผลอคิดไปว่ากำลังอยู่ในประเทศไทยเป็นแน่แท้ เพราะวัยรุ่นที่นี่สวมเสื้อยืด กางเกงยีน เสื้อสายเดี่ยว รองเท้าส้นสูง เหมือนแบบที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเราเปี๊ยบ
เพราะเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ บรรดาคนรุ่นใหม่จึงหลั่งไหลไปทำงานที่ประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าสิ่งที่นำกลับเข้าประเทศตัวเองไม่ได้มีเพียงแค่เม็ดเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานหนักเท่านั้น แต่ยังนำค่านิยมและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่อาจจะเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งอาจรวมถึงวัฒนธรรมการนุ่งโลงจีด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ประชาชนชาวพม่าจะต้องเตรียมรับมือกับการเปิดประเทศในอนาคตจึงไม่ใช่เพียงแค่การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น หากยังต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่อาจถาโถมเข้ามาจนทำให้คนรุ่นใหม่เลิกนุ่งโลงจีเข้าวัด แต่ใส่สายเดี่ยว นุ่งสั้น เข้าดิสโก้เธคกันแทน
(บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ "พิราบขาวข้ามพรมแดน" ช่วงปี 2555)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา