Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Everything in the world
•
ติดตาม
29 เม.ย. 2020 เวลา 10:48 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วันนี้วันพุธ เรามาอัพเดทเรื่องเกี่ยวกับดาวพุธกันเสียหน่อยครับ เรื่องที่ว่า น้ำแข็งที่ขั้วของดาวพุธนั้น เกิดจากความร้อนของดวงอาทิตย์!
น้ำแข็งจะเกิดจากความร้อนได้ยังไงกันนะ?
เมื่อปี พ.ศ. 2555 นักดาราศาสตร์ได้ยืนยันว่ามีน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาตที่ขั้วดาวพุธ เป็นผลลัพธ์จากการสำรวจของยานอวกาศเมสเซนเจอร์ (MESSENGER) แต่ยังไม่มีใครทราบว่าทำไมบนดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงสุดถึง 400 องศาเซลเซียส ถึงมีน้ำแข็งอยู่
แต่ตอนนี้ แบรนท์ โจนส์ (Brant Jones) นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย และทีมวิจัยของเขาเสนอความเห็นว่า แม้น้ำแข็งที่พบบนดาวพุธมีปริมาณมากกว่าที่พบบนดวงจันทร์ทั้ง ๆ ที่ดาวพุธมีอุณหภูมิสูงกว่ามาก แต่กระบวนการที่ทำให้เกิดน้ำแข็งบนดาวพุธก็ยังใช้หลักการเดียวกันกับน้ำแข็งบนดวงจันทร์ แตกต่างกันที่บางปัจจัยเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 มีนักวิทยาศาสตร์เสนอว่า กระบวนการการเกิดน้ำแข็งบนดวงจันทร์ เกิดจากอนุภาคมีประจุในลมสุริยะเคลื่อนที่มาปะทะกับออกซิเจนที่กระจายอยู่บนพื้นผิว เกิดเป็นโมเลกุล #ไฮดรอกซิล (OH) ซึ่งประกอบด้วยอะตอมของออกซิเจนและไฮโดรเจนอย่างละหนึ่งตัว
แบรนท์จึงนำแนวคิดของกระบวนการข้างต้นมาวิเคราะห์อีกครั้งร่วมกับโทมัส ออร์แลนโด (Thomas Orlando) นักวิจัยร่วมสถาบันเดียวกัน และตีพิมพ์งานวิจัยในปี พ.ศ. 2561 ผลการวิจัยคือ หลักการดังกล่าวจะทำให้เกิดไฮดรอกซิลบนดวงจันทร์ปริมาณมาก แต่เกิดโมเลกุลน้ำได้น้อยเนื่องจากมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยต่ำ และกระบวนการเกิดโมเลกุลน้ำด้วยหลักการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งดาวเคราะห์น้อย ดาวพุธ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ปะทะกับลมสุริยะโดยตรง
ล่าสุด งานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับการเกิดน้ำแข็งบนดาวพุธอีกครั้ง พร้อมอธิบายถึงปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ดาวพุธมีน้ำแข็งมากกว่าดวงจันทร์
“อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการสร้างโมเลกุลของน้ำ คือ ความร้อน”
ในตอนกลางวันดาวพุธมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยสูงถึง 400 องศาเซลเซียส และมีโมเลกุลที่มีหมู่ไฮดรอกซิลกระจายตัวไปทั่วพื้นผิวดาว ความร้อนจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ไฮดรอกซิลหลุดหลุดลอย และรวมตัวเข้ากับไฮดรอกซิลตัวอื่น ๆ เกิดเป็นโมเลกุลน้ำและแก๊สไฮโดรเจนทั่วดาวพุธ
โมเลกุลของน้ำบางโมเลกุลจะแตกตัวต่อเมื่อได้รับแสงดวงอาทิตย์ แต่โมเลกุลของน้ำที่ลอยเข้าไปในเงาของหลุมอุกกาบาตนั้นแทนที่จะแตกตัว กลับสะสมตัวมากขึ้น จึงก่อตัวเป็นน้ำแข็งที่เงาหลุมอุกกาบาตอย่างถาวร เพราะเงาของหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วดาวพุธนั้นมีอุณหภูมิเย็นจัดถึง -200 องศาเซลเซียส ด้วยความที่ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศนั่นเอง และในช่วงเวลา 3 ล้านปี กระบวนการนี้สามารถสร้างน้ำแข็งขึ้นได้ประมาณ 1,013 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 10 ของน้ำแข็งทั้งหมดบนดาวพุธเลยทีเดียว
อ้างอิง :
[1]
https://www.universetoday.com/145410/the-intense-heat-from-the-sun-helps-ice-form-on-mercury-wait-what/
[2]
https://www.firstpost.com/tech/science/mercurys-extreme-daytime-heat-turns-its-poles-into-ice-making-chemistry-lab-study-8154511.html
เรียบเรียง : น.ส.ฟ้าประกาย เจียรคุปต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Science & Tech
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย