30 เม.ย. 2020 เวลา 02:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมภาพวัตถุท้องฟ้าที่เรามองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ถึงไม่มีสีสันสวยงาม?
หนึ่งในคำถามยอดฮิตของใครหลายคนหลังจากดูวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ แล้วพบว่าสีไม่ได้สวยงามเหมือนภาพถ่ายที่เคยเห็น เรื่องนี้มีคำตอบค่ะ
ปกติแล้วดวงตามนุษย์มีจอรับภาพที่เรียกว่า เรตินา (Retina) ซึ่งเรตินาประกอบด้วยเซลล์รูปแท่ง (Rod cell) ให้ภาพในโทนขาวดำ และ เซลล์รูปกรวย (Cone cell) ให้ภาพสี เมื่อเราอยู่ในสถานที่ที่มีแสงน้อยหรือเป็นเวลากลางคืน เซลล์รูปแท่งจะทำงานได้ดีกว่าเซลล์รูปกรวย ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นสีได้
สำหรับวัตถุท้องฟ้าเช่น ดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะยังคงเห็นสีได้ เนื่องจากวัตถุเหล่านี้สว่างมากพอต่อความไวแสงของเซลล์รูปกรวย ในขณะที่วัตถุท้องฟ้าอย่าง กาแล็กซี เนบิวลา และกระจุกดาว สว่างไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้เซลล์รูปกรวยทำงาน จึงทำให้เห็นเป็นเพียงภาพขาวดำ
อาจมีคำถามต่อไปว่า แล้วถ้าหากดูวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จะช่วยให้เห็นสีของวัตถุเหล่านั้นได้หรือไม่? คำตอบคือ สามารถเห็นสีได้ แต่จะไม่เห็นเป็นสีสันสวยงามเหมือนในภาพถ่าย ยกตัวอย่างเช่น เนบิวลานายพราน (M42) มีสเปกตรัมค่อนไปทางสีแดง หากมองด้วยตาเปล่าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ สีของเนบิวลาที่เห็นเป็นสีแรกจะเป็นสีเขียว เนื่องจากเป็นสีที่ไวต่อเซลล์ประสาทตามากที่สุด ดังนั้นเมื่อมองวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ สีจะออกมาในโทนขาวดำหรืออาจมีสีเขียวเจือปนนั่นเอง
ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า CCD (Charge Coupled Device) ทำหน้าที่บันทึกแสงของวัตถุท้องฟ้า ในการถ่ายภาพแต่ละครั้งจะใช้แผ่นกรองแสงหรือฟิลเตอร์สีต่าง ๆ มาช่วยกรองเอาเฉพาะแสงสีที่ต้องการแล้วนำภาพแต่ละฟิลเตอร์มารวมกันเพื่อให้ได้ภาพที่เลียนแบบสีที่ตามนุษย์เห็นนั่นเอง
เรียบเรียง :
บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.�

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา