1 พ.ค. 2020 เวลา 09:42
เรื่องสั้น : ความทรงจำ
“ผมรู้สึกแปลกๆ ครับหมอ เอ่อ..ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้หมอเข้าใจ แต่ผม..ผมรู้สึกเหมือนกับว่า ผมไม่เป็นตัวของตัวเอง เหมือนผมเป็นใครคนอื่น” ฐาปนาเล่าให้หมอประจำตัวของเขาฟังอย่างกระท่อนกระแท่น
พญ.สุธิดา ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมประสาทมองคนไข้ของเธออย่างเป็นห่วง อันที่จริง แม้ว่าฐาปนาเพิ่งจะผ่านการผ่าตัดสมองไปได้แค่ 3 เดือน แต่มันเป็นการผ่าตัดที่ถือว่าไม่ยาก ฐาปนามีเพียงเนื้องอกขนาดเล็กในเยื่อหุ้มสมอง และ ศ.นพ.สิระ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมประสาท อาจารย์แพทย์ผู้ที่ลงมีดผ่าตัดให้เขา ก็ถือเป็นหมอมือหนึ่ง เมื่อเธอต้องมาดูแลการให้ยาคนไข้หลังผ่าตัดต่อมา เธอจึงไม่คิดเลยว่าจะมีปัญหา
แต่ฐาปนาก็มีปัญหา!
หลังผ่าตัด เขาพร่ำบอกเธอว่า ไม่เป็นตัวของตัวเอง และมีความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่ก่อนผ่าตัด เขาก็ไม่เคยแสดงอาการเครียดมาก่อน
“คำว่า เหมือนเป็นใครคนอื่นของคุณ มันหมายความว่ายังไงคะ คุณพอจะขยายความให้หมอฟังได้ไหม” พญ.สุธิดาซักถาม
“ผม..อืมม์..มันอาจจะฟังดูแปลกนะครับ แต่หลังผ่าตัดได้ไม่นาน ผมก็รู้สึกกลัวน้ำ ผมหมายถึงแม่น้ำลำคลองน่ะครับ เมื่อก่อนผมไม่เคยกลัวเลย แต่เดี๋ยวนี้ ผมไม่กล้าแม้แต่จะมองแม่น้ำ แล้วผมก็กลัวฝั่งธนฯ ผมไม่กล้าขับรถไปฝั่งธนฯ ผมบอกไม่ถูก ใครบางคนที่ไม่ใช่ผม ทำให้ผมกลัว” ฐาปนาเล่าอย่างคล่องแคล่วขึ้น เขารู้สึกใจชื้น ที่หมอพยายามรับฟังเขา
“กลัวฝั่งธนฯ” พญ.สุธิดาทวนคำของคนไข้อย่างงุนงง เธอไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน หรือว่า การผ่าตัดจะทำให้ฐาปนาได้รับผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง หรือว่า..แพทย์หญิงไม่อยากคิดเลยว่า อาจจะต้องส่งเขาไปหาจิตแพทย์หรือเปล่า แต่เพื่อแก้สถานการณ์เท่าที่จะทำได้ เธอตัดสินใจให้ยาคลายเครียดกับเขา มันอาจจะเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ผู้ป่วยไม่ได้กังวลก่อนผ่าตัด แต่กลับมีความเครียดหลังผ่าตัด แต่กลัวฝั่งธนฯ เนี่ยนะ เธอรู้สึกว่ามันผิดปกติอย่างประหลาด แต่ก็หวังว่า นัดคราวหน้าในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ ฐาปนาอาจจะหายเครียดลงบ้าง
แต่กลับไม่เป็นไปอย่างที่ พญ.สุธิดาคิด
อีก 3 เดือนต่อมา ซึ่งเป็นการนัดพบแพทย์หลังผ่าตัดได้ครึ่งปี คนไข้ของเธอดูจะแย่ลงกว่าเก่า
“ผมรู้สึกว่า ไม่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นครับหมอ อย่างที่ผมบอก เหมือนมีใครอีกคนในตัวผม” ฐาปนาเล่าอย่างซึมเซา
“คุณยังกลัวน้ำ กลัวฝั่งธนฯ อยู่อีกเหรอคะ” พญ.สุธิดาชักกังวล
“ครับ มันหนักขึ้นกว่าเก่า ผม..เอ่อ..ผมรู้สึกว่า มันอยู่ในความทรงจำของผม ความทรงจำที่ว่า ผมจมน้ำตายที่ฝั่งธนฯ ในลำน้ำที่บรรยากาศไม่เหมือนตอนนี้ ผม..ผมพูดกับหมอได้ไหม” ฐาปนาสบตาหมอของเขาอย่างมีความหวัง
“ได้ซิคะ คุณบอกหมอได้ทุกเรื่อง หมอจะได้หาทางแก้ปัญหาให้คุณอย่างถูกวิธี”
“ผมรู้สึกตัวว่า ผมมีความทรงจำที่ไม่ใช่ของผม ความทรงจำที่ว่า ผมมีชีวิตอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์” ฐาปนาเห็นสีหน้าของหมอว่ากำลังตระหนก “ผมรับราชการ ตอนที่คนอื่นๆ ย้ายจากฝั่งธนฯ มาบางกอกหมดแล้ว ผมต้องนั่งเรือกลับไปเอาเอกสารที่ฝั่งธนฯ แต่เกิดอุบัติเหตุขณะเดินทาง แล้วผมก็..ผมก็จมน้ำตาย ผมเลยกลัวน้ำ และกลัวที่จะต้องเดินทางไปฝั่งธนฯ มันทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าผมข้ามไปฝั่งธนฯ ผมจะต้องตาย”
พญ.สุธิดาสบตากับคนไข้ของเธอด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ก่อนที่จะตัดสินใจเพิ่มยาคลายเครียดให้เขา และนัดมาดูอาการอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า
9 เดือนหลังผ่าตัด
“มันหนักขึ้นกว่าเดิมครับหมอ ผมรู้สึกว่า ผมมีความทรงจำที่มากกว่านั้น นอกจากความทรงจำในสมัยรัตนโกสินทร์ ผมยังจำได้ว่าผมเคยเป็นพรานป่าในสมัยอยุธยา ผมเข้าป่าไปล่าสัตว์ แต่ผมถูกงูกัดตายในป่านั่นเอง ตอนนี้ ผมกลัวงูมาก แค่รูปงูในหนังสือ ผมก็ทนมองไม่ได้แล้ว” ฐาปนาเล่าให้แพทย์ของเขาฟังอย่างหมดหวัง มาถึงขั้นนี้ ฐาปนารู้ดีว่า ไม่ว่าจะเป็นหมอที่ไหน ก็คงคิดว่าเขาเป็นบ้า “แล้วผมก็เจ็บท้องน้อยบ่อยๆ ด้วยนะครับ มันยังเป็นความทรงจำที่เลือนลาง แต่ก่อนหน้านั้น ในอีกชีวิตหนึ่ง ผมเป็นพ่อค้า ผมถูกโจรแทงตาย แผลที่ถูกแทงมันยังเจ็บขึ้นมาเรื่อยๆ บางที เจ็บจนเหมือนผมจะทนไม่ไหว” ฐาปนาเล่าต่อ แม้หมอจะว่าเขาบ้า เขาก็คงต้องยอมรับ
“คุณพูดเหมือนคุณระลึกชาติได้” พญ.สุธิดารำพึงเบาๆ และเมื่อพยายามคิดหาทางออก เธอตัดสินใจว่า น่าจะส่งฐาปนาไปตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันอาจจะเป็นไปได้ไหมว่า การผ่าตัดมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนในสมองของเขา หากมีอะไรผิดปกติจริง ผลเอ็มอาร์ไอ น่าจะบอกได้ หรือไม่ ก็คงต้องส่งเขาไปหาจิตแพทย์จริงๆ
และตอนที่นอนในอุโมงค์เครื่องมือตรวจเอ็มอาร์ไอนั่นเอง ฐาปนาก็ “จำ” เพิ่มขึ้นมาได้ว่า ในชีวิตก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นกวี เป็นนักกลอนในสมัยอยุธยา ถึงตอนนี้ เขานึกถึงคำพูดของ พญ.สุธิดา หรือมันคือการระลึกชาติจริงๆ ถ้ามันเป็นจริง เขาจะไม่แปลกใจเลย ที่เขาแต่งกลอนเป็นตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาก็คงจะไม่แปลกใจอีกเหมือนกัน หากหมอจะบอกว่าเขาเป็นบ้า!!
ผลการตรวจที่ออกมา ทำให้ พญ.สุธิดาถึงกับชะงักงัน สมองส่วนหน้าของฐาปนาเปลี่ยนไปมาก เมื่อเทียบกับผลเอ็มอาร์ไอที่เคยตรวจก่อนผ่าตัด มันดูมีความหนาแน่นมากกว่าเก่า และมีขนาดใหญ่ขึ้น นี่เป็นผลการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบที่แพทย์หญิงผู้เชี่ยวชาญด้านสมองไม่เคยเห็นมาก่อน แม้ว่าจะเคยมีคนไข้ที่มีสมองส่วนหน้าขนาดใหญ่ หรือหนาแน่นให้เห็นมาก่อน แต่กรณีของฐาปนา สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจคือ ความเปลี่ยนแปลงในเนื้อสมองของเขา เพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังผ่าตัด สมองส่วนหน้าของเขา “เปลี่ยนแปลง” ไปมาก
ก่อนจะให้คนไข้ของเธอได้ดูผลการตรวจ พญ.สุธิดา ตัดสินใจนำภาพเปรียบเทียบการตรวจสมองของฐาปนาไปให้ นพ.สิระ ช่วยพิจารณา พร้อมเล่าเรื่องของฐาปนาให้หมอผ่าตัดสมองผู้มีชื่อเสียงได้ฟัง
นพ.สิระ ขมวดคิ้ว เมื่อเห็นผลการตรวจสมองของผู้ป่วยที่เขาเป็นคนผ่าตัดให้เมื่อ 9 เดือนก่อน มันแปลกเหมือนที่ พญ.สุธิดาบอก สมองส่วนหน้าของฐาปนาเปลี่ยนไปมาก มันไม่น่าจะเป็นไปได้กับระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึงปี ที่สมองจะเหมือนกับเป็นของคนละคน
“หนูบอกอะไรอาจารย์สักอย่างได้ไหมคะ” พญ.สุธิดาเอ่ยถามอาจารย์หมอ และมันทำให้เธอนึกถึงตอนที่ฐาปนาเคยถามเธอมาก่อนว่า เขาจะพูดกับเธอได้ไหม ใช่สิ มันเป็นคำถามที่ฟังเหมือนง่าย แต่ต้องรวบรวมความกล้าอย่างมากที่จะถาม
“ได้ซิ คุณถามผมได้ทุกเรื่องนั่นแหละ” นพ.สิระตอบเหมือนที่เธอเคยตอบคนไข้มาก่อน ยิ่งทำให้ พญ.สุธิดาประหวั่น ว่าคำถามของเธอจะฟังดูเหมือนคนบ้า นี่ซินะ อาจจะเป็นความรู้สึกที่ฐาปนาเคยรู้สึกมาก่อน
“คือ..” แพทย์หญิงเริ่มลังเลที่จะถาม แต่เธอก็ตัดสินใจในที่สุด “คือคุณฐาปนาเล่าเหมือนกับว่า เขามีความทรงจำใหม่ๆ..อืมม์ ไม่ใช่ซิคะ คงต้องบอกว่า เป็นความทรงจำเก่าๆ มากกว่า เขาบอกว่า เขามีความทรงจำที่ถอยไปในอดีต เหมือนที่คนเค้าพูดๆ กันว่า ระลึกชาติได้”
“แล้วคุณคิดว่ายังไงล่ะ” อาจารย์แพทย์ถามกลับ
“หนูบอกตามตรงนะคะ ทีแรก หนูคิดอยู่ว่า อาจจะต้องส่งคุณฐาปนาไปหาจิตแพทย์ แต่พอมาเห็นการเปลี่ยนแปลงในสมองส่วนหน้าของเขา ทำให้หนูอดตั้งสมมติฐานไม่ได้ แต่มันก็อาจจะเป็นสมมติฐานที่บ้าบอชอบกล”
“สมมติฐานอะไรของคุณ” นพ.สิระจ้องเธอเขม็ง จนเธอรู้สึกปวดมวนในท้อง
“อาจารย์คะ อาจารย์จะว่ายังไง ถ้าหนูมีสมมติฐานว่า ความทรงจำในชาติก่อนๆ ไม่เคยหายไปไหน แต่ซุกซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่งในสมอง และเมื่อถูกกระตุ้น ความทรงจำนี้ก็เผยตัวเองออกมา” พญ.สุธิดาถึงกับลอบถอนหายใจเมื่อสามารถพูดออกมาได้จบจบ
บ้า มันเป็นสมมติฐานที่บ้าเอามากๆ บ้าตั้งแต่เชื่อว่าคนเราระลึกชาติได้นั่นแหละ มันอาจจะง่ายกว่าจริงๆ ถ้าจะส่งฐาปนาไปหาจิตแพทย์ คงดีกว่าที่เธอต้องมาเล่าความคิดสุดบ้านี่ให้อาจารย์ฟัง เธอจะไม่ประหลาดใจเลย หาก นพ.สิระ จะพลอยคิดว่าเธอบ้าไปอีกคนหนึ่ง
แต่นายแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดสมองไม่เพียงแต่จะไม่ดุเธอ แต่เขากลับมองผลการตรวจสมองในมืออย่างครุ่นคิด
เวลาผ่านไปไม่กี่วินาที แต่แพทย์หญิงรู้สึกเหมือนนานนับชั่วโมง ก่อนที่ นพ.สิระจะเอ่ยปาก
“ผมอยากคุยกับคุณฐาปนา”
ฐาปนารู้สึกงงเล็กน้อย เมื่อพยาบาลสาวมาเชิญเขาไปที่ห้องของ นพ.สิระ และอดตกใจไม่ได้ ที่เข้าไปเจอแพทย์ทั้งสองคนมีสีหน้าเคร่งเครียด เอ หรือว่าผลตรวจออกมาว่าสมองเขามีปัญหา
คนไข้นั่งลงเบื้องหน้าหมออย่างช้าๆ เขารู้สึกถึงความกังวล แต่ นพ.สิระก็ยิ้มให้อย่างอบอุ่น
“ไม่มีอะไรมากหรอกนะคุณฐาปนา ผลการตรวจเรียบร้อยดี คุณไม่ได้มีโรคภัยอะไร” นายแพทย์อาวุโสรีบบอก เมื่อเห็นความวิตกฉายออกมาอย่างชัดเจนจากสีหน้าผู้ป่วยของเขา “ผมแค่อยากฟังคุณเล่าซ้ำอีกที ว่าหลังผ่าตัด คุณเป็นยังไงบ้าง คุณช่วยบอกผมอย่างละเอียดเลยได้ไหม”
ฐาปนาถอนหายใจยาว ก่อนจะเล่าให้หมอผู้เชี่ยวชาญด้านสมองทั้งสองคนฟังว่า หลังผ่าตัดเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมอง เขารู้สึกเบลอๆ อยู่ 2-3 วัน ก่อนที่จะ “รับรู้” ถึงใครบางคน หรือจะว่าไป อีกหลายคนที่อยู่ใน “ความทรงจำ” ของเขา ความทรงจำที่ไม่ควรจะมี แต่มันเกิดขึ้น เขาเคยเกิดมาก่อนหน้านี้ เคยเป็นกวี เคยเป็นพรานป่า เคยเป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ และยังอาจจะ “เคย” เป็นอะไรอีกหลายอย่าง ที่ในขณะนี้ ยังเป็นความทรงจำที่เลือนลาง แต่เขารู้ดีว่า ทุกความทรงจำจะกระจ่างชัดขึ้นมาเรื่อยๆ
นพ.สิระ และ พญ.สุธิดา ซักถามรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละชีวิตของเขา ฐาปนาเล่าเท่าที่จำได้ มันเป็นความทรงจำที่เขารู้สึกว่าถูกเก็บกักมาแสนนาน ก่อนที่ทุกความทรงจำจะเปิดออกมาทีละหน้า ทีละหน้า เหมือนเขาเปิดหนังสืออ่าน แต่มันต่างจากการอ่านหนังสือตรงที่ว่า ทุกหน้าที่เปิดออกมานั้น เขารู้แล้วว่า ไม่ใช่ใครคนอื่นที่มาอยู่ในสมองของเขา แต่ทุกเรื่อง คือเรื่องของเขา ทุกความทรงจำ คือสิ่งที่เขาเคยทำ รับรู้ สุข เศร้า และเจ็บปวด โดยเฉพาะในทุกจุดจบ ที่ทำให้เขาเกิดความหวาดกลัว เขากลัวทุกรูปแบบของความตายที่ถาโถมมาใส่เขา
เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง กว่าที่จะเล่าทุกความทรงจำได้จนแพทย์ทั้งสองพอใจ หมอยังคงให้ยาคลายเครียดกับเขา เพราะอยากให้ฐาปนาผ่อนคลาย และรับมือกับความทรงจำที่ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ ได้โดยไม่หนักหนามากนัก เมื่อฐาปนากลับบ้านไปพร้อมกับยาคลายเครียดถุงใหญ่ นพ.สิระ จึงได้หันมาปรึกษากับ พญ.สุธิดา
“สมมติฐานความทรงจำจากอดีตชาติของคุณ มันฟังดู..เอ่อ..หลุดโลกไปนิด” แพทย์อาวุโสเอ่ยขึ้น “แต่ผมไม่ได้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้นะ ผมเองก็ชักจะเอนเอียงไปกับสมมติฐานของคุณแล้วล่ะ” นพ.สิระรีบพูดอย่างเร็ว เมื่อเห็นลูกศิษย์เริ่มทำสีหน้ากระดาก
“แล้ว..เราจะรักษาคุณฐาปนายังไงต่อดีคะอาจารย์” พญ.สุธิดาถาม
“รักษาเหรอ ถ้าคุณมีสมมติฐาน ผมคิดว่า เราคงไม่ต้องรักษา แต่เราต้องหาทางพิสูจน์สมมติฐานของคุณต่างหาก”
นพ.สิระ ผ่าตัดสมองคนไข้มามาก ทุกการผ่าตัด แพทย์ด้านศัลยกรรมประสาท จะทำงานร่วมกับแพทย์ด้านอายุรกรรมประสาทอย่างใกล้ชิด ทำให้นายแพทย์อาวุโสมีเครือข่ายแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสมองจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ขอผลการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแพทย์ที่รู้จักมาให้ พญ.สุธิดาร่วมตรวจสอบ และเมื่อพบรายที่ “สงสัย” ก็จะขอพบเพื่อสัมภาษณ์คนไข้ ส่วนรายที่อยู่ต่างประเทศ ก็ไหว้วานให้แพทย์ในประเทศต่างๆ ช่วยสอบถาม รวมทั้งขอสัมภาษณ์คนที่อ้างตัวเองว่าระลึกชาติได้ และขอตรวจสมองคนเหล่านั้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย หากรายไหนมีความชัดเจนเหมือนที่เกิดขึ้นกับฐาปนา พญ.สุธิดาก็จะบินไปตรวจสอบด้วยตัวเอง
งานนี้ไม่ง่าย แต่ใช้เวลานานหลายปี และต้องเดินทางไปเกือบทั่วโลก กว่าจะได้ข้อมูลที่พบว่า สอดคล้องกับสมมติฐานของ พญ.สุธิดา ในขณะที่ฐาปนาเอง ก็มา “รายงาน” ความทรงจำจากอดีตที่ละเอียดขึ้น และย้อนเก่าไปเรื่อยๆ ของเขาอยู่เสมอ และมันทำให้มีสิ่งของ หรือสถานที่ที่เขา “กลัว” มากขึ้นเรื่อยๆ หากมันเกี่ยวข้องกับความตายในอดีตของเขา
พญ.สุธิดาพบว่า คนไข้หลายคนที่มีการเปลี่ยนแปลงในสมองส่วนหน้า มีอาการคล้ายกับฐาปนา คือ เหมือนจะระลึกชาติได้ หรือมันคือสิ่งที่แพทย์หญิงเรียกว่า มันคือ “ความทรงจำ” ที่ถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของสมอง และเผยตัวออกมาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การผ่าตัดสมอง หรือการกระทบกระเทือนของสมอง และในหลายๆ กรณี มันก็เกิดขึ้นเองโดยไม่มีอะไรมากระตุ้น แต่มักจะเกิดในเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ ที่สมองส่วนหน้ามีความหนาแน่นมากกว่าปกติ และทุกคนยังมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ กลัวอะไรบางอย่าง อย่างไม่มีเหตุผล จนกว่าจะ “จำได้” ว่ามันเป็นสิ่งที่เคยกระทบกับชีวิตในอดีตอย่างเลวร้าย
“ผมคิดว่า ในที่สุด คุณก็พิสูจน์สมมติฐานของคุณได้แล้วว่า ชาติก่อนมีจริง ความทรงจำจากชาติก่อนมีจริง และมันอยู่ในสมองของคนเรานั่นเอง” นพ.สิระเอ่ยขึ้น
“ไม่น่าเชื่อนะคะอาจารย์ ว่าเราได้ค้นพบสิ่งที่ตอบคำถามได้ ทั้งด้านความเชื่อ ศาสนา และวิทยาศาสตร์” พญ.สุธิดาตอบ
“ไม่ใช่เราหรอกนะ ผมคิดว่า ทั้งหมดที่ทำงานมานี่คือคุณ หมอสุธิดา คุณเป็นคนตั้งสมมติฐาน และพิสูจน์ เครดิตทั้งหมดเป็นของคุณ ผมเพียงแค่ช่วยเหลือในการหาเครือข่ายความรู้มาสนับสนุนสมมติฐานที่หลุดโลกของคุณ และตอนนี้ มันไม่หลุดโลกแล้ว ผมคิดว่า ถึงเวลาที่คุณจะเปิดเผย ตีพิมพ์ และนำเสนอผลงานของคุณต่อสาธารณะ”
“อาจารย์คิดว่า เราควรเปิดเผยเรื่องนี้แล้วเหรอคะ”
“ใช่ เพราะมันไม่ใช่เป็นสมมติฐานอีกต่อไปแล้ว แต่มันพิสูจน์แล้ว กลายเป็นทฤษฎีที่จะสั่นสะเทือนทั้งโลก” นพ.สิระยิ้ม “และผมเชื่อว่า เมื่อคุณนำเสนอทฤษฎีนี้แล้ว สิ่งต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบล”
พญ.สุธิดารู้สึกเหมือนทุกอย่างลอยวนอยู่ในอากาศ ก่อนที่เธอจะรวบรวมมาเก็บเป็นระบบ เกือบ 10 ปี ที่เธอกับ นพ.สิระร่วมกันตรวจสอบเรื่องราวจากทั่วโลก หลังจากนี้ น่าจะใช้เวลาอีกไม่กี่เดือนก่อนที่เธอจะเขียนรายงานเสร็จ และนำเสนอมันต่อคนทั้งโลก โลกที่จะต้องตื่นตะลึงกับทฤษฎีของเธอ และไม่เพียงทฤษฎีนี้เท่านั้น เธอยังมีสมมติฐานใหม่ว่า หากมีกระตุ้นสมองอย่างเหมาะสม เช่น กระตุ้นสมองส่วนหน้าด้วยไฟฟ้าโดยฝีมือผู้เชี่ยวชาญ คนทั้งโลกจะระลึกชาติได้ เพียงแต่จะต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มอีกสักหน่อย มันจะดีแค่ไหน หากเราสามารถหาคำตอบที่เราอยากรู้ได้ เช่น ทำไมคนเราถึงกลัวอะไรบางอย่าง หรือทำไม บางคนจึงมีพรสวรรค์พิเศษ ความรู้จากอดีตกาลที่สะสมมา อาจจะช่วยพัฒนาให้โลกของเราไปได้ไกลขึ้น
เธอมีนัดกับฐาปนาอีกครั้ง เธออยากบอกผลการศึกษากับเขา อยากขอบคุณเขา ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอได้คิดสมมติฐาน ที่พัฒนามาเป็นทฤษฎีเขย่าโลก !!
ฐาปนานั่งอยู่ตรงหน้าเธอเหมือนเช่นเคย เกือบ 10 ปีที่เขามาหาเธอทุก 3 หรือ 6 เดือน เพื่อเล่าเรื่องในชีวิตก่อนหน้านี้ของเขาให้ฟัง ในทุกๆ ครั้งเขา “จำได้” ถึงเรื่องราวที่ถอยไปในหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตของเขาไปเรื่อยๆ
แต่วันนี้ เขาดูเครียดมากๆ
“คุณดูมีเรื่องไม่สบายใจนะคะ” พญ.สุธิดาเอ่ยทัก
“ครับหมอ ผมเจอมันแล้ว” ฐาปนาบอก
“มัน หือ คุณหมายถึง...”
“ไอ้คนที่มันแทงผมตอนที่ผมเคยเป็นพ่อค้า มันเป็นโจรที่ทำให้ผมเจ็บมาจนถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่นึกถึง ผมเจ็บแผลที่โดนแทงทุกครั้ง ไม่อยากเชื่อเลยว่าผมจะเจอมัน” เขาพูดอย่างโกรธขึ้ง
“คุณรู้ได้ยังไงว่าเป็นใคร” นี่เป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้ พญ.สุธิดาประหลาดใจมาก มันอาจจะกลายเป็นอีกสมมติฐานหนึ่งว่า คนเรา ไม่เพียงแค่ระลึกชาติได้ แต่ยังจำคนที่เคย “ร่วมชาติ” กันได้ด้วย
“ผมจำหน้ามันได้ มันติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผม มันไม่เพียงแต่จะเป็นคนที่เคยแทงผม มันยังเป็นคนที่ทำเรือล่มในชาติที่ผมจมน้ำตายด้วย ผมจำมันได้ดี มันเพิ่งย้ายบ้านมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับผม มันยิ้มเยาะผม เหมือนไม่รู้สึกรู้สมอะไรเลย ที่เคยฆ่าผม” ฐาปนาเกรี้ยวกราดขึ้นเรื่อยๆ
“เอ่อ..คุณฐาปนาคะ คุณต้องเข้าใจนะว่า มีแต่คุณ ที่จำอดีตชาติได้ คนอื่นเขาไม่ได้มีความทรงจำเหมือนคุณ” พญ.สุธิดาเริ่มมองเห็นปัญหาอยู่รำไร
“มันฆ่าผม มันขโมยทรัพย์สินของผม มันต้องรู้ซิ” คนระลึกชาติได้เหมือนจะไม่ได้ยินสิ่งที่หมอของเขาพูด แม้ พญ.สุธิดาจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาใจเย็น และทำความเข้าใจว่าชาติก่อนคือชาติก่อน และคนอื่นที่อยู่ในชาตินี้ไม่ได้รู้เรื่องด้วย แต่ฐาปนายังคงมีแววตาที่ดุดัน
เช้าวันรุ่งขึ้น พญ.สุธิดาถึงกับปล่อยโทรศัพท์มือถือร่วงหลุดมือไป เมื่อเห็นข่าวใหญ่
ฐาปนาบุกเข้าไปแทงเพื่อนบ้านตาย ก่อนจะป่าวประกาศเหตุผลว่า เขาแก้แค้นเรื่องที่ค้างคามาจากชาติก่อน และนั่น ทำให้ฐาปนาถูกส่งเข้าไปควบคุมตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช
เขาฆ่าคนตาย และถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้า!!
พญ.สุธิดารีบไปหา นพ.สิระ และช่วยกันโทรศัพท์สอบถามถึง “กลุ่มทดลอง” คนอื่นๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในรายงานของเธอ ก่อนจะพบว่า มีอีกหลายรายในต่างประเทศ ที่ผู้ที่ “จำ” ชาติก่อนได้ ลงมือทำร้ายผู้คนอย่างไม่มีเหตุผล หรือไม่บางรายก็ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลโรคจิต เพราะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัก เรื่องแค้น หรือเรื่องหวงทรัพย์สินในอดีต
 
“คุณจะทำยังไงต่อไป” นพ.สิระถาม
“หนูคงต้องฉีกรายงานทฤษฎีของหนูทิ้งไปค่ะ” พญ.สุธิดาตอบเบาๆ
“คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พวกเขาทำนะ ไม่ว่าจะมีรายงานของคุณ หรือไม่มี พวกเขาก็มีความทรงจำของพวกเขาเอง และต้องจัดการกับความรู้สึกของพวกเขาเอง และผลงานของคุณ มันเป็นประโยชน์ ที่สามารถตอบคำถามที่คนเราสงสัยได้”
“ใช่ค่ะอาจารย์ คนที่จำเรื่องในอดีตชาติได้ ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ แต่ถ้าหนูเปิดเผยทฤษฎีของหนูออกไป ก็จะมีคนสนใจการระลึกชาติมากขึ้น จะมีคนหาทางจำอดีตชาติให้ได้ด้วยวิธีต่างๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่คนอยากรู้ อยากหาคำตอบ และหนูคงทนรับความรู้สึกแบบที่เกิดขึ้นกับกรณีของคุณฐาปนาไม่ได้”
“คุณจะไม่เปิดเผยทฤษฎีของคุณแน่หรือ”
“ค่ะอาจารย์ ทฤษฎีนี้ จะเป็นเพียงความทรงจำหนึ่งของหนูเท่านั้น”
“แต่..คุณก็รู้ นี่อาจจะหมายถึงโนเบลที่คุณควร...”
“มันไม่มีค่าหรอกค่ะอาจารย์ หากนึกถึงผลของมันที่จะตามมา” พญ.สุธิดาชิงพูดขึ้นมาก่อนที่อาจารย์ของเธอจะพูดจบ “โนเบลอาจจะนำมาสู่เรื่องร้ายๆ อีกมากในโลกนี้นะคะ หนูเชื่อว่าหนูตัดสินใจถูกค่ะอาจารย์ บางที มีความทรงจำมาก ก็เจ็บปวดมากนะคะอาจารย์ หนูคิดว่า หนูเพิ่งรู้ ว่าคุณฐาปนาต้องเจ็บปวดขนาดไหนกับความทรงจำแต่ละอย่าง” พญ.สุธิดาพูดพร้อมๆ กับน้ำตาที่รินไหล
ณ โรงพยาบาลจิตเวช แพทย์หญิงยืนมองฐาปนาที่ถูกคุมไว้ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เธอซึมซับได้ถึงสายตาที่เลื่อนลอยและเจ็บปวดของเขา คนไข้ที่เป็นแรงบันดาลใจสู่ทฤษฎีสะเทือนโลกของเธอ ทฤษฎีจากความทรงจำของเขา
แต่ตอนนี้ เขาไม่เหลือความทรงจำใดๆ ในสายตาอันว่างเปล่านั้น !!

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา