1 พ.ค. 2020 เวลา 13:01 • ความคิดเห็น
พอกันทีกับการสร้างผู้ติดตามแบบจอมปลอม !!!
และนี่คือวิธีการการสร้างผู้ติดตามที่แท้จริง
" ฝากติดตามด้วยนะครับ "
" ติดตามแล้ว รบกวนติดตามกลับด้วยนะครับ "
" ฝากเพจด้วยนะครับ "
นี่คือสิ่งที่ผมพบในช่องแสดงความคิดเห็นเป็นประจำ
เจอแม้กระทั่งในบทความที่เขียนเรื่องความไม่เหมาะสมของการฝากเพจแบบนี้ และหลายครั้ง เพจเหล่านี้ก็ตามไปโพสต์แบบเดิมๆซ้ำๆบนเพจอื่นอีกมากมายในลักษณะเดียวกัน
การแสดงความคิดเห็นแบบนี้มีมากจนผมทนไม่ไหว จึงต้องเขียนบทความนี้
ผมว่าหลายเพจที่โปรโมตด้วยวิธีนี้ กำลังเข้าใจผิด
พวกเขากำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้วยวิธีที่เหนื่อย เปลืองแรง และไร้ประสิทธิภาพ ผมกล้ายืนยันได้เลยว่า เพจใหญ่ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากไม่เคยมีเพจไหนใช้วิธีการนี้
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพครับ
สมมติว่าคุณคือคนอ่านทั่วไปที่ได้ไปอ่านบทความจากเพจยอดนิยมเพจหนึ่ง
ซึ่งเนื้อหาในเพจนั้นกำลังพูดถึงข่าวของคนที่ท้อแท้ สิ้นหวังจากพิษเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องจากปัญหาโควิด19
.
ในฐานะที่ " คุณ "คือผู้อ่านบทความนั้น เมื่อไล่ลงมาดูในช่องแสดงความคิดเห็นแล้วพบเพจที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นดังนี้
เพจ A : ติดตามแล้วนะครับ ฝากติดตามเพจ A ด้วยนะครับ
เพจ B : ผมว่าโควิด19 มันสร้างผลกระทบให้กับทุกส่วนของสังคมจริงๆครับ
โดนกันหมด แบบเหมารวม แน่นอนว่าทุกคนมีพลังในการรับความเสียหายได้ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยผมก็อยากฝากกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง " เจ็บปวดได้...แต่หายเจ็บแล้วต้องลุกขึ้นมาสู้ต่อ "
โควิดมาแล้วก็ไป แต่ชีวิตเราต้องอยู่ต่อ ขอพลังจงสถิตย์อยู่กับทุกท่านครับ
เพจ C : ชอบมากมายเลย" นะค่ะ " (อันนี้มุกครับ 555)
จากความคิดเห็นของสองเพจด้านบน ผมขอถามคุณว่า
คุณอยากกดติดตามเพจ A หรือ เพจ B มากกว่ากัน ?
ผมไม่รู้คำตอบของคนอื่น ... แต่ผมรู้คำตอบของตัวเอง
ผมจะกดติดตามเพจ B ครับ เพราะเพจ B ทำให้ผมเห็นมุมมองที่น่าสนใจ หากผมติดตามเพจนี้คงมีอะไรดีๆมาให้อ่านแน่นอน
ขณะที่เพจ A นอกจากจะแสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบทความแล้ว
ผมยังมีคำถามต่ออีกว่า " เขาได้อ่านบทความของเจ้าของเพจไหม ? "
บางครั้งคำถามนี้เกิดขึ้นเพราะ ไม่ว่าไปเพจไหน เพจ A ก็จะแสดงความคิดเห็นซ้ำๆแบบนี้ เหมือนแค่เข้ามาหาคนติดตามเท่านั้น (คุณเป็นบอทใช่มั้ย? )
ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ผมถือว่าเพจ A เสียมารยาทครับ ...
เหมือนใครก็ไม่รู้ที่อยู่ดีๆก็โผล่พรวดเข้ามากินอาหารในงานแต่งงานโดยที่ไม่ได้รู้จักหรือเกี่ยวข้องใดๆกับเจ้าของงาน...
ผมจึงไม่ค่อยได้กดติดตามเพจเหล่านี้
แน่นอนครับ ด้วยการทำแบบนี้ อาจทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมา 2-3 คน
แต่ผมว่าเพจ B ได้ผู้ติดตามมากกว่าแน่นอน และที่สำคัญก็คือ วิธีการของเพจ A ทำให้เพจได้ผู้ติดตามมาเพราะความเกรงใจ
ซึ่งผลลัพธ์ของวิธีนี้มีเพียงยอดผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
จะไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในบทความที่เพจเขียนขึ้นเลย และมันจะทำให้คุณเหนื่อย หมดกำลังใจในเวลาต่อมา เพราะเขียนแล้วไม่มีคนอ่าน ไม่มีคน Like ไม่มีคนเข้ามามีส่วนร่วม
คุณอยากได้ผู้ติดตามแบบนี้หรือครับ ?
เวลาเดินทางแล้วหลง สาเหตุของการหลงคืออะไร ?
คำตอบคือ เป็นเพราะการเลือกเส้นทางที่ไม่ถูกต้องครับ
ทางที่ไม่ถูกต้อง จะนำไปสู่จุดหมายที่ไม่ถูกต้อง
สิ่งที่ผมเขียนมาด้านบน อาจทำให้เพจที่ใช้วิธีการนี้อยู่ไม่สบายใจ
แต่สิ่งที่เขียนทั้งหมดนั้น ผมเขียนด้วยความหวังดี
ไม่อยากให้ใช้วิธีการผิดๆ ที่ทำแล้วเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์ จนนำไปสู่การเลิกเขียนเพราะหมดกำลังใจ
ต่อไปนี้คือเทคนิคการสร้างผู้ติดตามที่ผมอยากแบ่งปัน
เป็นวิธีการสร้างผู้ติดตามแบบยั่งยืน
ไม่ขอให้ " เชื่อ " แต่อยากให้นำไปใช้เพื่อ " พิสูจน์ " ด้วยตัวเอง
ผมใช้วิธีนี้กับเพจของผมจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
1
: สร้างผู้ติดตามด้วยการแสดงความคิดเห็นตามเพจต่างๆ (วิธีเรียกแขกเข้าบ้านแบบ Outside to Inside)
มีข้อปฎิบัติในวิธีนี้อยู่สามข้อหลักๆ คือ
หนึ่ง ต้องใช้เพจในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
สอง ห้ามขอร้องหรืออ้อนวอนให้กดติดตามเพจของคุณโดยเด็ดขาด โปรดให้อิสระกับผู้อ่าน ถ้าเพจคุณเหมาะสม ตรงใจ เขาจะกดติดตามเอง
วิธีการนี้ทำให้คุณต้องพัฒนาตัวเองเพื่อยกระดับบทความให้น่าสนใจ และมีประโยชน์อยู่เสมอ (อย่าหลอกตัวเองด้วยการสร้างผู้ติดตามจอมปลอมที่มาด้วยความเกรงใจ)
สาม อย่าคาดหวังผลลัพธ์ การเข้าไปแสดงความเห็นของเรา อาจไม่มีใครมาติดตามเลย ไม่เป็นไร...หลักสำคัญของข้อนี้ไม่ได้อยู่ที่การพยายามแสดงความคิดเห็น แต่อยู่ที่" ทำไมเราจึงเข้ามาแสดงความคิดเห็นในบทความนี้ "
ผมมีกฎเหล็กของตัวเองหนึ่งข้อ คือ ผมจะไม่แสดงความเห็นในบทความที่ผมไม่ได้อ่าน ทำไมผมจึงตั้งกฎแบบนี้ เพราะผมอยากให้ตัวเองเป็นนักอ่านครับ ผลที่เกิดจากการตั้งธงแบบนี้
ทำให้ผมเลือกอ่านบทความที่น่าสนใจจากหน้าฟีดเป็นหลัก เมื่ออ่านจบแล้วผมจึงแสดงความคิดเห็น ยาวบ้างสั้นบ้าง ผมก็แสดงความเห็นในทุกบทความที่อ่านเสมอ
เมื่ออ่านบ่อยเข้า ผมจึงรู้ว่าบทความแบบไหนที่กระตุ้นความสนใจผมได้ เขาเขียนแบบไหน ใช้เทคนิคอะไรในการเขียน ผมก็ศึกษาและนำมาปรับใช้กับบทความของตนเอง
เมื่อต้องแสดงความคิดเห็น โดยมากความคิดเห็นของผมจะไม่สั้นจนเกินไป และจะอยู่ในแนวทางใดแนวทางหนึ่งต่อไปนี้ คือ
สร้างอารมณ์ขัน หยอกล้อเจ้าของบทความหรือให้คนอ่านทั่วไปเกิดรอยยิ้ม ,
ให้กำลังใจผู้เขียน ด้วยการแสดงความเห็นให้เขาทราบว่าเราอ่านบทความของเขาจริงๆ (เป็นกำลังใจที่ดีที่สุด) หรือ นำเสนอแนวคิด และมุมมองของตนเอง
วิธีการนี้คุณจะได้ใจผู้เขียนบทความ และโดยส่วนใหญ่เขาจะติดตามเพจกลับเองโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ และบางครั้งก็มีโบนัสจากผู้อ่านที่ชอบคอมเม้นต์ของเราแล้วกดติดตามอีก (อย่าคาดหวังมาก ทำให้เป็นธรรมชาติ )
2
: รักษาคุณภาพงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ (สร้างเพจให้ดี จนคนต้องติดตาม Inside to Outside) ข้อที่แล้วผมแนะนำว่า " อย่าคาดหวัง " แต่ข้อนี้ผมจะแนะนำว่า " จงคาดหวังและตั้งเป้าหมาย "
ผมถือว่าการตั้งเป้าหมาย คือ การคาดหวังอย่างหนึ่งครับ ดังนั้นเมื่อตั้งเป้าแล้วต้องทำให้ได้ ทุกครั้งที่ผมเขียนบทความ ผมตั้งเป้าว่า บทความของผมต้องมียอดแชร์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง อาจจะไม่มียอดแชร์ทุกบทความ แต่อย่างน้อยในสิบบทความ ผมต้องมีการแชร์เกิดขึ้นขั้นต่ำหกบทความ
การมีเป้าหมายสักหน่อย แล้วทำให้ได้ตามเป้าจะกระตุ้นให้เราอยากเขียน (ควรเริ่มจากเป้าหมายที่ทำได้ก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มความท้าทาย)
วิธีนี้ ไม่ต้องอธิบายมาก มันตรงตัวอยู่แล้ว แค่รักษาคุณภาพตามมาตรฐานของตัวเองให้ได้
เขียนทุกงานด้วยความตั้งใจและทำให้ทุกบทความเป็นมาสเตอร์พีชของเรา
ทำไปเถอะครับ แล้วคุณจะพบกับบทความแจ้งเกิด (สถิติผู้ติดตามสุงสุดที่ผมเคยทำได้จากหนึ่งบทความคือ 167 คน)
ผมมีบทความแบบนี้อยู่ราวๆ 3-4 บทความ เป็นบทความที่ทำให้คนรู้จักและสร้างผู้ติดตามให้กับเพจรวมกันจากบทความเหล่านี้ประมาณ 500 คน แต่โดยปกติ หนึ่งบทความของเพจหนังหลายมิติจะมีผู้ติดตามเฉลี่ยราว 30 - 60 คน
การักษาคุณภาพงานเขียนในข้อนี้ มีความหมายรวมถึงการรักษาความสม่ำเสมอในการโพสต์ด้วย อย่าหายไปนาน
ผมเคยหายไปหนึ่งเดือน ... พอกลับมา ช่วงแรกๆจำนวนคนติดตามก็เพิ่มขึ้นช้าลงกว่าที่เคย แต่ที่กลับมาได้เร็วเพราะ ตอนหายไปผมยังเข้ามาทักทายคนในเพจอยู่บ้าง บางทีก็เข้ามารีโพสต์เก่าๆ
3
เขียนบทความให้หลากหลาย ไม้เด็ดของวิธีนี้คือ โพสต์ที่เกี่ยวข้อง
เคยสังเกตไหมครับ ... เวลาอ่านบทความจบ ด้านล่างของบทความจะมี " โพสต์ที่เกี่ยวข้อง " จะเป็นบทความแนะนำซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทความที่เราอ่าน ถ้าเราทำให้ " คนอ่าน " แวะมาหาเราจากตรงนี้ได้ ผู้ติดตามจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งการจะทำแบบนี้ เราต้องมีกลยุทธสองข้อ คือ
หนึ่ง สร้างบทความที่หลากหลาย ข้อนี้ขอใส่ดอกจันไว้นิดนึงว่า บทความหลากหลายนั้นต้องอยู่ในแนวทางของเพจเป็นหลักนะครับ อย่านอกเรื่องมาก ... คนตามเราเพราะชอบตัวตน ชอบสไตล์ ชอบเนื้อหาของเพจ ดังนั้นคุณต้องรักษาคนอ่านกลุ่มเดิมของเพจไว้ด้วย
แต่ขอให้มีความหลากหลายของเนื้อหาให้มากที่สุด
ขอยกตัวอย่างเพจผมซึ่งแม้จะเป็นเพจหนัง แต่บทความในเพจมีหลากหลายมาก ทั้ง ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อวกาศ เศรษฐศาตร์ ฯลฯ
ทุกเรื่องที่เขียนจะเชื่อมโยงกับหนังเสมอ
มีบ้างที่เขียนนอกเรื่อง แต่บทความนอกเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มาบ่อย เขียนไปสามสิบบทความจะเจอสักครั้งนึง
ความหลากหลายตรงนี้จะทำให้บทความของเราเกี่ยวข้องไปเสียทุกหมวด และมีโอกาสที่คนจะเห็นเพจเรามากขึ้น
แต่ " โพสต์ที่เกี่ยวข้อง " ก็ฆ่าเพจมักง่ายหลายเพจด้วยเช่นกัน เคยไหมครับ อ่านบทความจบ แล้วพบว่า " โพสต์ที่เกี่ยวข้อง " ที่แนะนำมาทั้งสามบทความ ล้วนแต่มีเนื้อหาเดียวกัน
.
คนอ่านก็รู้ทันทีว่าบทความนี้ " คัดลอกมาจากแหล่งอื่น " ซึ่งนั่นทำให้เพจของคุณถูกจัดอยู่ในหมวดของเพจที่ไม่ได้เขียนบทความเองไปโดยปริยาย แม้จะแค่บทความนั้นเพียงบทความเดียวก็เถอะ ( ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง)
ไม่ใช่แค่หลากหลาย...แต่ต้องน่าสนใจ
ยกตัวอย่างบทความล่าสุดของผม " มาเฟียในวงการหนังฮ่องกง และหลิวเต๋อหัว พระเอกในโลกจริงของหนังเรื่องผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ" แน่นอนว่าเมื่อเขียนจบ บทความนี้จะกลายเป็นบทความแนะนำในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับบทความเรื่อง " หลิวเต๋อหัว "
โดยปกติ คนเขียนบทความถึงหลิวเต๋อหัว จะเขียนเรื่องอะไรกันมากที่สุดครับ .... คำตอบคือ เขียนถึงประวัติของเขานั่นเอง
คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าคุณเพิ่งอ่านประวัติหลิวเต๋อหัวจบ คุณจะเข้าไปอ่านประวัติหลิวเต๋อหัวที่บทความแนะนำในโพสต์ที่เกี่ยวข้องอีกไหม ?
คำตอบคือ คงอ่านบ้าง ... แต่คงไม่มาก
ทีนี้ลองมาคิดต่อว่า...ถ้าอ่านประวัติหลิวเต๋อหัวจบ แต่โพสต์ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่อง " ประวัติหลิวเต๋อหัว กับ มาเฟียในวงการหนัง "
โอ้โห....ผมจะคลิ๊กอย่างไวเลย .... เพราะผมอยากรู้ว่าหลิวเต๋อหัวไปเกี่ยวข้องอะไรกับมาเฟีย
.
.
นี่ล่ะครับความหมายของการเขียนให้หลากหลายแต่น่าสนใจ (ในส่วนของการหาไอเดียการเขียนให้แตกต่างและน่าสนใจ ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความสอนการเขียน ที่ผมจะเขียนทุกๆ 50 บทความ ดังนั้น เรื่องนี้จะเป็นเนื้อหาในบทความลำดับที่ 150 อดใจรอครับ...อีกไม่นาน)
อย่าได้ดูถูกโพสต์ที่เกี่ยวข้องนะครับ ... ตั้งแต่มีฟังก์ชั่นนี้ มีคนเข้ามาอ่านบทความเก่าๆของผมมากขึ้นจริงๆ
.
ยอดผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในวันที่ผมไม่ได้ลงบทความใหม่ โดยเฉลี่ยของผู้ติดตามส่วนนี้จะตกอยู่ที่วันละประมาณ 15 - 30 คน ตรงนี้ผมว่าเป็นเพราะโพสต์ที่เกี่ยวข้องครับ
นี่คือสามเทคนิคหลักๆที่ผมใช้มาตลอด
วันนี้เพจตั้งขึ้นมาครบ 10 เดือนแล้ว มียอดผู้ติดตามอยู่ราวๆ 8,300 คน
.
.
ผมมีเป้าหมายว่าเมื่อครบหนึ่งปี เพจผมจะมีผู้ติดตามครบ 10,000 คน พอดี
.
.
ผมเชื่อว่าแนวทางที่ได้เขียนไปทั้งหมดนี้ คือ แนวทางที่ถูกต้องที่จะนำไปสู่การสร้างผู้ติดตามที่แท้จริง และทำให้เพจเต็มไปด้วยผู้อ่านที่ติดตามบทความของเราอย่างมีส่วนร่วมโดยแท้จริง ซึ่งเป็นวิธีที่เพจใหญ่หลายเพจได้ทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว (ความคิดผู้เขียน)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต่อไปนี้ผมคงจะเห็นความคิดเห็นประเภทที่เชิญชวนให้กดติดตามแบบ " ฝากติดตามด้วยนะครับ/คะ "
" ฝากเพจ... " หรือ " ติดตามกลับด้วยนะครับ/คะ " น้อยลงนะครับ ถ้าวิธีการนี้ได้ผลจริง เขาคงไม่ห้ามให้แสดงความคิดเห็นแบบนี้หรอกครับ ...
ลองคิดดูดีๆ แล้วคนที่ห้ามน่ะ เพจของเขามีผู้ติดตามเท่าไหร่ ? (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ?)
หวังว่าเทคนิคที่เขียนมาทั้งหมดนี้ จะมีประโยชน์กับทุกคน ผมอยากให้ที่นี่เป็นสังคมคุณภาพ ไม่ใช่เฟสบุ๊คแห่งที่สอง
ถ้าแบบนั้น...เราจะหนีมาที่นี่ทำไม ?
และทั้งหมดนี้
ผมทำคนเดียวไม่ได้....ดังนั้น เราต้องช่วยกัน
ภาพประกอบจาก :
โฆษณา