24 มิ.ย. 2020 เวลา 08:51 • ไลฟ์สไตล์
How To : การสร้างงานเขียนให้แตกต่างและน่าสนใจ
เป็นธรรมเนียมของเพจที่ทุกๆ 50 บทความ ผมจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเขียนบทความ สำหรับหัวข้อในบทความนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับการหาไอเดียเพื่อสร้างงานเขียนที่แตกต่างและน่าสนใจ
ช่วงที่ผมเริ่มทำเพจใหม่ๆ ผมพบว่ามีเพจรีวิวหนังเยอะมาก หากผมอยากเขียนรีวิวหนังใหม่ผมคงต้องช่วงชิงคนอ่านกับเพจเหล่านี้
ลองนึกดูสิครับว่าในหนึ่งสัปดาห์มีหนังเข้าใหม่กี่เรื่อง ?
และในบรรดาหนังเข้าใหม่เหล่านั้น มีกี่เรื่องที่คนสนใจอ่านรีวิว ?
สมมติว่า สัปดาห์นี้หนังอย่าง Avengers : End Game เข้าโรง
คุณคิดว่าเพจรีวิวหนังจะเขียนถึงเรื่องไหน ? แน่นอนครับว่า 80 % ของเพจรีวิวหนังจะเขียนถึงเรื่องนี้ และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
แม้ผมเป็นคนที่ชอบดูหนังแต่จะให้ผมอ่านรีวิวหนังเรื่องเดิมซ้ำๆคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการรีวิวหนังจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือเรื่องย่อ ซึ่งส่วนนี้เราอ่านเต็มที่สามหรือสี่รอบก็เบื่อแล้ว นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เขียนรีวิวหนังใหม่
ผมเลือกที่จะฉีกงานเขียนเรื่องหนังมาในรูปแบบของบทความสาระความรู้จากหนัง หรือถ้าจะรีวิวหนังผมก็จะเขียนในซีรีส์บทความชุดหนังอย่างนี้ก็มีด้วย ซึ่งเป็นการแนะนำหนังแปลก หนังที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก
บทความของหนังหลายมิติจึงแตกต่างจากบทความหนังโดยทั่วไป
จริงๆงานเขียนของผมไม่ใช่เรื่องใหม่ คุณสามารถหาบทความเกี่ยวกับอวกาศจากหนังเรื่อง interstellar ได้จากเพจให้ความรู้เรื่องอวกาศ
สามารถหาบทความเกี่ยวกับทฤษฎีเกมจากหนังเรื่อง A Beautiful Mind ได้จากเพจที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
.
แต่คำถามคือทำไมไม่มีเพจหนังที่พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำไมเราต้องตามอ่านเรื่องเหล่านี้จากเพจนั้นทีเพจโน้นที ไม่มีเพจไหนที่รวบรวมความรู้จากหนังมาถ่ายทอดเลย ผมจึงนำไอเดียนี้มาต่อยอดเป็นเพจหนังหลายมิติ
ที่เกริ่นเรื่องนี้มายืดยาว เพราะอยากให้นักเขียนทุกคนได้หาจุดที่ทำให้เพจของตัวเองกลายเป็น Niche ให้ได้
Niche ในที่นี้หมายถึง เพจที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การเขียน มุมมอง หรือหัวข้อบทความ
.
เราจะไม่ลงไปเล่นในทะเลแดง( Red Ocean)ที่มีคู่แข่งมากแต่เราจะอยู่ในทะเลฟ้า (Blue Ocean)ที่คู่แข่งน้อย ข้อดีอย่างหนึ่งของการเขียนบทความเฉพาะที่เป็น Niche ก็คือ บทความนั้นจะเป็น Original Content ที่ยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน
การหาไอเดีย
ผมมีขั้นตอนการหาไอเดียการเขียนดังนี้
เริ่มจากคิดหัวข้อที่จะเขียนว่าจะเขียนเรื่องอะไร ? เขียนถึงหนังเรื่องไหน ?
.
ถ้าเพจของคุณมีเนื้อหาที่ต่างไปจากเพจผมก็ต้องคิดเนื้อหาให้ตรงกับเพจ เช่น เขียนเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ เขียนเรื่องข่าวสาร เขียนให้ความรู้ ลองหาบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นมาอ่าน ขอแนะนำให้อ่านข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อถึงจุดนี้คุณจะพบว่าเนื้อหามากมายที่ค้นมานั้นมักจะซ้ำกัน
ซึ่งถ้าจะเขียนตามเขา บทความของคุณก็จะไม่ใช่ Original Content
วิธีที่ผมใช้ประจำเพื่อปรับแต่งให้เรื่องในบทความกลายเป็นเนื้อหาใหม่ก็คือ
1. ขยายข้อมูลให้ลึกและกว้างขึ้น
บทความเรื่อง " จิโร่ เทพเจ้าซูชิ ในวันที่ไร้มิชลินสตาร์และบางมุมที่สารคดีไม่บอกคุณ "
บทความนี้เกิดจากการที่ผมได้อ่านข่าวเรื่องการถอดร้านจิโร่ซูชิออกจากมิชลินสตาร์ ซึ่งเหตุผลที่ร้านถูกถอดก็เพราะร้านจิโร่ซูชิไม่ใช่ร้านที่สามารถ Walk-inเข้าไปทานได้ ลูกค้าต้องจองคิวเพื่อรับประทาน ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของมิชลินไกด์ที่จะแนะนำร้านอาหารทั่วไปที่ผู้คนสามารถขับรถไปทานได้
ตอนแรกผมจะเขียนถึงสารคดีเรื่องจิโร่ซูชิ และพูดถึงวิธีบริหารกับการส่งต่อความรู้ให้ทายาทรุ่นที่สอง แต่เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่ามีรีวิวตำหนิเรื่องการบริการของร้านเยอะมาก
.
ซึ่งรีวิวแง่ลบส่วนใหญ่มักได้มาจากลูกค้าชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของญี่ปุ่น รวมถึงความเคร่งครัดในกฏระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไปของทางร้าน
ผมจึงได้ไอเดียที่จะเขียนถึงเรื่องนี้ โดยใช้มุมที่ร้านถูกวิจารณ์ในแง่ลบมานำเสนอซึ่งเป็นมุมที่สารคดีไม่ได้กล่าวถึง ก่อนจะสรุปว่าการกินที่มีความสุขไม่ใช่เพียงแค่รสชาติอร่อย แต่มีองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมายที่ต้องให้ความสำคัญ ความใส่ใจที่มากเกินไปอาจสร้างความกดดันและอึดอัดให้ลูกค้าได้
นอกจากนี้ผมยังเพิ่มเรื่องการทำความสะอาดสนามบินของแม่บ้านอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ปีแรกที่เธอแข่งขันแล้วไม่ชนะเพราะเธอมัวแต่สนใจแต่เรื่องความสะอาดจนลืมเรื่องนึกถึงความสะดวกในการเดินของผู้โดยสารในสนามบินซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
ดังนั้นเมื่อแก้ไขจุดนี้ได้เธอจึงได้แชมป์ในปีถัดไป
ผมใส่รีวิวของร้านจาก Google และเรื่องของนักทำความสะอาดสนามบินเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกกับคนอ่าน ทำให้งานเขียนของผมแตกต่างจากบทความอื่นๆที่เขียนถึงสารคดีเรื่องนี้ และผู้อ่านก็จะสนใจด้วยว่าอะไรคือสิ่งที่สารคดีไม่ได้บอกไว้ นี่คือเหตุผลที่ทำให้บทความนี้ได้ยอดไลค์และยอดแชร์สูงมาก
2. การจัดหมู่และรวมร่าง
ข้อนี้คือการเอาเนื้อหาที่ต้องการเขียนมารวมกับเรื่องอื่นๆซึ่งอาจเป็นข่าวที่คนกำลังสนใจ หรือการให้ความรู้ก็ได้ แต่เรื่องที่นำมาผสมกันนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เขียนถึงด้วย
มีช่วงหนึ่งที่บทความส่วนใหญ่เน้นไปที่โควิด19 เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับโควิดมักจะได้รับความสนใจ ในแง่หนึ่งมันคือกระแสที่ผู้อ่านตอบรับอย่างล้นหลาม แต่อีกแง่หนึ่งก็คือมีคนเขียนถึงเรื่องนี้เยอะแล้ว
ตอนนั้นผมอยากเขียนถึงอะไรที่เป็นกระแสดูบ้าง ผมจึงทำตามขั้นตอนเริ่มต้นก่อน คือ วางแนวทางการเขียนว่าจะเขียนถึงนโยบายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดของรัฐบาล ตอนนั้นกระแสเรื่องนี้แรงมาก หลังได้หัวข้อผมก็หาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำมาวิจารณ์นโยบายนี้ จนได้ทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์สวัสดิการมา
ผมทำสองขั้นตอนนี้ก่อนแล้วจึงมาคิดว่ามีหนังเรื่องไหนที่เข้ากับหัวข้อนี้ ผมนั่งลิสต์รายชื่อหนังออกมา 3-4 เรื่อง จนเห็นว่าเรื่องที่เหมาะที่สุดน่าจะเป็น In Time จึงเกิดเป็นบทความเรื่อง
" In Time (2011) : เงิน เวลา ชีวิต จากหนังสู่ชีวิตจริง - วิพากษ์นโยบายแจกเงิน 5,000 บาท เพื่อการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพในมุมมองเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ "
บทความนี้เป็นบทความที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเพจ มียอดไลค์ถึง 287 ไลค์ 333 เพชรและ 164 แชร์
3. หาข้อมูลจากเวบภาษาอังกฤษ
เวลาหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความ ผมจะค้นข้อมูลทั้งเวบไทย ,เวบภาษาอังกฤษ และบางครั้งก็มีเวบภาษาอื่นด้วย
หลายท่านอาจจะแปลกใจและคิดว่าผมรู้หลายภาษา ไม่ใช่ครับผมรู้แค่ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ แต่ผมอ่านเวบภาษาอื่นเข้าใจเพราะใช้บริการแปลภาษาของ Google
เราสามารถให้ Google ช่วยแปลหน้าเวบภาษาต่างๆเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ การค้นหาข้อมูลจากเวบต่างประเทศจะทำให้ได้หัวข้อใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีการแปลเป็นภาษาไทย แต่ผมจะไม่แปลและลอกข้อมูลของเวบโดยตรง ผมจะหาข้อมูลเพิ่มเติมและเรียบเรียงเรื่องนั้นใหม่เพื่อทำให้บทความมีความเป็น Original Content
ตัวอย่างของวิธีนี้คือบทความเรื่อง " บทเรียนผู้นำ 4 ข้อ จาก The Godfather "
ผมได้ไอเดียมาจากบทความต่างประเทศที่เขียนถึงเรื่องภาวะผู้นำ ในบทความนั้นผู้เขียนได้ยกบุคลิกภาพของดอน วีโต้ คอลิโอเน่ มาประกอบ ผมจึงกลับไปดูหนังเรื่องนี้อีกรอบและเขียนถึงบทเรียนผู้นำที่ได้จากหนังเรื่องนี้โดยไม่ได้เอาเนื้อหามาจากบทความต้นฉบับเลย แต่ไอเดียการเขียนบทความนี้ก็ได้มาจากการอ่านบทความเรื่องภาวะผู้นำ
4. คิดให้ต่าง
วิธีนี้ออกจะตรงไปหน่อย แต่ก็เป็นวิธีที่จะเขียนให้แตกต่างจริงๆ คือต้องคิดให้แตกต่าง หลักการของวิธีนี้คืออ่านบทความที่มีเนื้อหาตรงกับเรื่องที่จะเขียนให้มากที่สุดแล้วหามุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้เจอ หรือหาวิธีที่แปลกใหม่ในการนำเสนอ
วิธีนี้จะแตกต่างจากข้ออื่นตรงที่ว่า เราไม่ได้ขยายข้อมูลเชิงลึกหรือกว้าง ไม่ได้จัดหมู่รวมร่าง หรือหาหัวข้อการเขียนจากเวบต่างประเทศ แต่เป็นการนำเนื้อหาที่มีคนเขียนอยู่แล้วมาเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง ความสำคัญของวิธีนี้คือเทคนิคการเล่าเรื่อง
ถ้าสามารถเล่าเรื่องเดิมในมุมมองใหม่ๆได้ เรื่องที่เล่าก็จะกลายเป็นเรื่องใหม่ทันที
ตอนที่ผมเขียนถึงหนังเรื่อง Fight Club แทนที่ผมจะเขียนถึงหนังเรื่องนี้โดยตรง ผมก็เอาวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้นจากเพจเรื่องสั้นๆมาใช้ โดยเล่าเรื่องหนังผ่านตัวละครในเรื่องสั้นแทน
หรือ บทความเรื่องSpider-manในดินแดนปลาดิบ ก็เกิดมาจากการที่อยากจะเขียนถึงSpider-man แต่มีคนเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในมุมของ Marvel เยอะแล้ว ผมจึงฉีกไปเขียนเรื่องที่สตูดิโอของญี่ปุ่นเคยซื้อ Spider-man ไปทำเป็นซีรีส์แนวยอดมนุษย์ห้าสีแทน
5. ผสมทุกวิธีที่กล่าวมาเข้าด้วยกัน
วิธีนี้คือ ทั้งขยายข้อมูลให้ลึก-กว้าง จัดหมู่รวมร่างประกอบเรื่องใหม่ หาข้อมูลจากเวบต่างประเทศ แล้วนำมาร้อยเรียงในมุมใหม่ๆ
ยกตัวอย่างจากบทความเรื่อง " มาเฟียในวงการหนังฮ่องกง กับหลิวเต๋อหัว พระเอกในโลกจริงของหนังเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ "
เริ่มแรกของการเขียนบทความนี้ ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับหนังเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ เพราะปีนี้เป็นปีที่หนังเรื่องนี้มีอายุครบ 30 ปี ซึ่งผมใช้วิธีการขยายเรื่องให้กว้างไปครอบคลุมถึงชีวิตของหลิวเต๋อหัว ซึ่งเมื่อค้นข้อมูลแล้วพบว่าเหตุที่ชีวิตรักของเขาถูกปิดบังมานาน เพราะมีความเกี่ยวพันกับมาเฟียในวงการหนังฮ่องกง
ผมจึงรวมร่างทั้งประวัติความรักของหลิวเต๋อหัว หนังเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ และมาเฟียในวงการหนังฮ่องกงเข้าด้วยกัน โดยนำข้อมูลประวัติแกงค์มาเฟียฮ่องกงมาจากเวบไซด์ต่างประเทศ แต่ก็มีข้อมูลจากเวบไทยประกอบด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ทำให้มุมมองการนำเสนอบทความนี้ มีความแตกต่างจากบทความอื่นๆที่เขียนเรื่องประวัติความรักของหลิวเต๋อหัวหรือหนังเรื่องผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ
นี่คือเคล็ดลับ 5 ข้อ เพื่อสร้างงานเขียนที่แตกต่างและน่าสนใจ
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อแบ่งปันวิธีการเขียนสำหรับเพื่อนๆทั้งมือใหม่และเก่า เนื้อหาในบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคนในการต่อยอดงานเขียนของตัวเอง
ผมคิดว่าการเขียนบทความก็มีส่วนคล้ายกับการทำหนัง
ผู้เขียนเปรียบเสมือนผู้กำกับซึ่งต้องถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้น่าสนใจ
ความล้มเหลวของผู้กำกับคือการสร้างหนังที่น่าเบื่อ หนังที่ผู้ชมเดาเรื่องได้ง่าย รู้ตอนจบตั้งแต่ต้นเรื่อง
เช่นเดียวกันหากคุณอยากเป็นนักเขียนที่ดี ก็ควรหลีกเลี่ยงการเขียนบทความที่เดาง่าย ซ้ำซาก และไม่ควรวนซ้ำอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ
เรื่องการเขียนงานที่ซ้ำซากผมว่าไม่ใช่เฉพาะคนอ่านที่เบื่อ คนเขียนเองก็เบื่อด้วยเหมือนกัน ช่วงนึงผมถึงกับไม่อยากเขียนไปเลยเพราะรู้สึกว่างานของตัวเองซ้ำซาก ย่ำอยู่กับที่
ดังนั้นเมื่อเขียนงานไประยะหนึ่งแล้ว คุณควรหาเรื่องใหม่ มุมใหม่ วิธีการใหม่ๆมาเขียนบ้างเพื่อให้คนอ่านเดาทางไม่ถูก และนั่นจะทำให้บทความของคุณน่าตื่นเต้นและน่าสนใจอยู่เสมอ
การจะทำแบบนี้ได้ต้องอาศัยคำวิจารณ์จากคนอ่าน หรือ การสนทนากับผู้อื่นบ้างเพื่อพัฒนางานเขียน
ถึงตรงนี้ผมก็อยากให้ผู้อ่านสบายใจในการวิจารณ์งานเขียนของผม หากเห็นว่างานเขียนของผมมีอะไรที่เป็นจุดด้อยหรือต้องปรับปรุงก็บอกกันได้ ผมยินดีรับฟังและแก้ไข อย่าคิดว่าตนเองประสบการณ์น้อยแล้วไม่กล้าวิจารณ์ คุณสามารถวิจารณ์งานของผมในฐานะผู้อ่านเพื่อสะท้อนจุดบกพร่องให้ผมทราบได้
ผมอยากเชิญชวนนักเขียนทุกคนให้มาร่วมกันสร้างบทความใหม่ๆ บทความที่แตกต่างและน่าสนใจ บทความยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน...นอกจากคุณ
หากทำได้อย่างนี้ผมรับรองเลยว่าผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าแน่นอนครับ
" ถ้าคุณหัวเราเยาะฉันเพราะฉันประหลาดไม่เหมือนใคร
ฉันก็จะหัวเราะเยาะคุณ ที่คุณไม่มีอะไรแตกต่างจากคนอื่นๆ "
เลดี้ กาก้า
ภาพประกอบจาก : https://pixabay.com
โฆษณา