3 พ.ค. 2020 เวลา 00:00 • ไลฟ์สไตล์
สนทนาธรรมตามกาล
ภิกษุผู้รื่นรมย์ยินดีในธรรม ไตร่ตรองพิจารณาธรรม และระลึกถึงธรรมอยู่เป็นนิตย์ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม …
บนเส้นทางแห่งการสร้างบารมีนั้น ทุกคนควรเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ประดับประคองให้กำลังใจกันและกัน และแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีต่อกันโดยสม่ำเสมอ เพราะการสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความรู้ทางธรรมตามกาลอันควร จะยังจิตของผู้พูดและผู้ฟังให้เป็นกุศล
ทั้งยังได้ฝึกไหวพริบปฏิภาณ เกิดความแตกฉานทางปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นให้หมั่นศึกษาธรรมะ และหาโอกาสสนทนาธรรมกับผู้รู้อยู่เสมอ เพื่อจะได้นำมาปฏิบัติให้เกิดความรู้แจ้ง จะได้เป็นปัญญาบารมีของเราต่อไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
"ธมฺมราโม ธมุมรโต ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกุขุ สทฺธมฺมา น ปริหายติ
ภิกษุผู้รื่นรมย์ยินดีในธรรม ไตร่ตรองพิจารณาธรรม
และระลึกถึงธรรมอยู่เป็นนิตย์ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม"
วิชชาในพระพุทธศาสนา เป็นศาสตร์ที่นำไปสู่การรู้แจ้ง และเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสุขพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ หากบุคคลใดมีความยินดีในธรรม หมั่นตรึกระลึกถึงธรรม ใคร่ครวญพิจารณาธรรมนั้นให้เข้าใจ และได้น้อมนำธรรมะมาปฏิบัติอยู่เสมอ บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป
การจะเป็นผู้แตกฉานในธรรมได้นั้น นอกจากจะต้องศึกษาค้นคว้าธรรมะจากตำราแล้ว จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย รวมไปถึงการสนทนาธรรมกับผู้รู้จะช่วยให้เกิดปัญญาแตกฉานยิ่งขึ้น การสนทนาธรรมจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ผู้สนทนาต้องพูดแต่เรื่องที่เป็นความจริง ที่มีประโยชน์ ใช้ถ้อยคำไพเราะ ถูกกาล สมานสามัคคี และมีจิตเมตตา ต้องเป็นวาจาที่ยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น ประดุจดอกบัวที่ชูช่อขึ้นเหนือน้ำ ทั้งผู้พูดและผู้ฟังก็ร่าเริง เบิกบานในธรม สนทนาแต่เรื่องที่เป็นไปเพื่อทำให้ใจหยุดนิ่ง และเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายจากความกำหนัด ยกใจขึ้นสู่กระแสแห่งธรรม ให้ใจยินดีในพระนิพพาน ถ้าเลือกสนทนากันในเรื่องที่เป็นบุญกุศล เรื่องที่ต่อเติมความบริสุทธิ์ ใจก็จะหยุดนิ่ง กลับเข้ามาสู่ต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ได้อย่างง่ยดายและรวดเร็ว ดวงปัญญาทั้งที่เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญจะบังเกิดขึ้น ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิ รู้เห็นและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การสนทนาธรรมตามกาลเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า เป็นอุดมมงคลของชีวิต
ในสมัยพุทธกาล พระอริยสาวกผู้เลิศในด้านต่างๆ เมื่อถึงคราวมีโอกาสพบปะกัน จะพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำใจหยุดนิ่ง หรือสนทนาธรรมะที่ได้ศึกษามาให้กันและกัน
*ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์มาก มีดอกสาละบานสะพรั่ง กลิ่นของดอกไม้หอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ ช่วงนั้นพระมหาโมคคัลลานะได้เข้านิโรธสมาบัติในที่หลีกเร้นแห่งหนึ่ง ครั้นออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ท่านก็คิดว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ เราควรจะไปหาพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม จึงชวนพระมหากัสสปะเดินทางไปด้วยกัน ขณะนั้นพระอนุรุทระกำลังนั่งอยู่ในที่พัก ก็ได้เห็นพระเถระ ๒ รูป เดินไปทางที่พักของพระสารีบุตร คิดว่า คงจะต้องมีการสนทนาธรรมเป็นแน่ จึงลุกขึ้นเดินตามพระเถระทั้งสองไปด้วย
พระอานนท์ ได้มองเห็นพระมหาเถระเหล่านั้นเดินตามกันไป ดูงดงามน่าเลื่อมใส ก็ปรารถนาจะฟังธรรมด้วย จึงชักชวน พระเรวตะ ออกติดตามไปด้วย เมื่อพระเถระทั้งหมดไปถึงที่พักของพระสารีบุตรแล้ว พระสารีบุตรได้ทักทายพระอานนท์ก่อนว่า “ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง หอมฟุ้งดังกลิ่นทิพย์อย่างนี้ ท่านคิดว่าป่าโคสิงคสาลวัน จะงดงามด้วยภิกษุเช่นไรหนอ”
 
    พระอานนท์ตอบว่า “ป่าโคสิงคสาลวันพึงงดงามด้วยภิกษุผู้ทรงสุตตะ ทรงจำธรรมะมาก และเป็นผู้ประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ แสดงธรรมอันแจ่มแจ้งแก่บริษัทสี่ เพื่อถอนอนุสัยกิเลสให้หมดสิ้น ป่าโคสิงคสาลวันจะงดงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
 
    จากนั้น พระสารีบุตรได้ถามพระเถระแต่ละรูปไปตามลำดับ พระเรวตะตอบว่า “ภิกษุผู้มีความยินดีในความหลีกเร้น ปฏิบัติเจโตสมถะ ไม่เหินห่างจากฌาน และเจริญวิปัสสนา จะทำให้ป่าโคสิงคสาลวันงดงามยิ่งนัก”
 
    พระอนุรุทธะ ตอบว่า “ภิกษุผู้ตรวจดูโลกธาตุพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุ เห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังจุติและอุบัติขึ้นในจักรวาลทั้งหลาย ยังจิตให้สังเวชในวัฏฏภัย เจริญวิปัสสนา พึงทำให้แจ้งซึ่งโลกุตรธรรม จะทำให้ป่านี้งดงามยิ่ง”
 
    พระมหากัสสปเถระ ผู้บำเพ็ญธุดงควัตรเป็นปกติ ตอบว่า “ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงดงามด้วยภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลและไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ หมั่นประกอบความเพียร และถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ”
 
    พระมหาโมคคัลลานะ ตอบว่า “ป่าโคสิงคสาลวันจักงดงามด้วยภิกษุผู้กล่าวอภิธรรมกถา ถามตอบซึ่งกันและกัน โดยไม่หยุดพักเลย” จากนั้นพระมหาโมคคัลลานะได้ถามพระสารีบุตรกลับบ้าง
 
    พระสารีบุตรตอบว่า “ภิกษุในศาสนานี้ ไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต แต่ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ เมื่อภิกษุนั้นหวังจะเข้าสมาบัติใด ในเวลาไหน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเช้า เที่ยง หรือเย็น ก็สามารถเข้าสมาบัตินั้นๆได้ดังใจปรารถนา เปรียบเหมือนพระราชาหรืออำมาตย์ ที่มีผ้ามากมายหลากสีอยู่ในหีบ เมื่อต้องการจะห่มผ้าสีใด ผืนไหน ในเวลาใด ก็ทำได้ดังใจทุกประการ ป่าโคสิงคสาลวันจะงดงามด้วยภิกษุเช่นนี้แหละ”
 
    เมื่อพระเถระผู้ทรงคุณธรรมทุกรูป ได้สนทนาถึงป่าโคสิงคสาลวันอันงดงาม ด้วยวัตรปฏิบัติต่างๆของพระภิกษุแล้ว พระสารีบุตรจึงออกความเห็นว่า “พวกเราต่างตอบตามปฏิภาณของตนกันแล้ว เราไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกราบทูลเรื่องนี้ให้พระองค์ทรงพยากรณ์กันเถิด แล้วเราจะได้จดจำสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเอาไว้”
 
    ทุกรูปพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาถึงที่ประทับ โดยพระสารีบุตรเป็นผู้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดที่ได้สนทนาธรรมกัน และทูลถามถึงว่า ถ้อยคำของพระเถระรูปไหนเป็นสุภาษิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสชมพระเถระทุกรูปว่า วาจาของพระเถระทุกรูปต่างเป็นสุภาษิตเหมือนกัน เพราะทุกรูปปฏิบัติได้ตามปฏิปทาที่ตนเองพูด จากนั้นพระองค์ทรงพยากรณ์ว่า...
 
    “ภิกษุในศาสนานี้กลับจากบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ตราบนั้นเราจะไม่ลุกจากที่เลย ดูก่อนสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงดงามด้วยภิกษุเห็นปานนี้แล”
 
    พระเถระทุกรูปได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว ต่างพากันชื่นชมยินดีเป็นที่สุดว่า พระดำรัสของพระพุทธองค์ เป็นการอนุเคราะห์ภิกษุผู้มาในภายหลัง ที่จะได้น้อมนำมาปฏิบัติตาม ในการปรารภความเพียรเจริญสมาธิภาวนาว่า หากยังไม่บรรลุธรรม ก็จะไม่ลุกจากที่ ซึ่งถ้าหากใครเป็นคนจริง ปฏิบัติจริงได้อย่างนี้ ก็จะมีดวงตาเห็นธรรม หลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างแน่นอน
 
    จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่พระอรหันต์ที่ท่านหมดกิเลสอาสวะแล้ว ท่านยังหมั่นสนทนาธรรมกัน เพราะต่างก็ทราบว่า การพูดคุยสนทนาธรรมเป็นประจำ จะเป็นทางมาแห่งปัญญา และความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป ดังนั้นขอให้หมั่นพูดคุยธรรมะ หรือเรื่องราวที่ยกใจเราเข้าสู่การปฏิบัติ หมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง เพื่อให้เข้าถึงธรรม
 
    ใครมีความรู้ หรือมีเทคนิคที่ดีในการฝึกฝนตนเองอย่างไร ก็ให้นำมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เมื่ออยู่บ้านก็ควรหาโอกาสปฏิบัติธรรมและสนทนาธรรม พร้อมหน้าพร้อมตากัน บ้านของเราก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกายกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. มหาโคสิงคสาลสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๒๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา