3 พ.ค. 2020 เวลา 07:55 • สุขภาพ
ทำไมอเมริกาที่มีระบบการแพทย์ดีที่สุดในโลกถึงคุมโควิดสู้ไทยไม่ได้
มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อบกินส์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ได้จัดลำดับประเทศที่มีระบบการแพทย์ดีที่สุดพร้อมรับมือโรคระบาดไว้ดังนี้
สหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความพร้อมสูงสุดทางด้านการแพทย์ อังกฤษอยู่ในลำดับที่ 2 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6
เรามาดูสภาพการระบาดของไวรัสโควิด ในขณะนี้ (3 พฤษภาคม 2563)
เกิดอะไรขึ้นกับอเมริกา ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
ประเทศอเมริกาที่มีระบบการแพทย์ที่ดีที่สุด กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ตายมากที่สุดในโลก กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโควิด
คำตอบคือ...
อเมริกาเก่งด้านการค้นคว้าวิจัยตัวยาใหม่ๆ วิธีการรักษาโรคใหม่ๆ บริษัทยา, Bio-technology และการแพทย์ ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกจำนวน 31 บริษัท เป็นบริษัทอเมริกาถึง 17 บริษัท มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Johnson&Johnson ก็เป็นบริษัทอเมริกา
หากใครป่วยเป็นโรคแปลกๆ ต้องการวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ล้ำยุค และมีสตางค์พร้อมจ่าย เดินทางไปรักษาที่อเมริกาจะไม่ผิดหวัง มีโรงพยาบาลชั้นเยี่ยม หมอชั้นยอด ตัวยาดีๆ รออยู่ แต่ก็ต้องพร้อมรับใบเสร็จค่ารักษาที่สูงจนน่าตื่นตะลึงเช่นกัน
อังกฤษที่ได้รับยกย่องว่า มีระบบการแพทย์ดีเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็มีลักษณะคล้ายอเมริกา ที่เน้นด้านการค้นคว้าวิจัยตัวยาและวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ และมีค่ารักษาที่แพงมาก เพียงแค่ไปขอใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพแข็งแรงสามารถขึ้นเครื่องบินได้ (Fit to Fly) ซึ่งแพทย์ก็วัดอุณหภูมิ ใช้หูฟังจิ้มฟังการหายใจของปอด ใช้เวลาตรวจราว 5 นาที ไม่มีแม้แต่การจับชีพจร วัดความดัน คิดค่าตรวจ 5,000 บาท (130 ปอนด์) และคิดค่าพิมพ์ใบรับรองแพทย์อีก 1,500 บาท (40 ปอนด์) ทั้งที่จริงๆ ก็มีแบบฟอร์มข้อความมาตรฐานอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่แค่พิมพ์ชื่อ วันเดือนปีเกิดใส่ลงไปเท่านั้น อุดฟันธรรมดาที่คลินิกหมอฟันริมถนน ซี่ละ 12,000 บาท
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมฝรั่งจำนวนมากบินมารักษาโรค ทำฟันที่ประเทศไทย เพราะรวมค่าเครื่องบินแล้วก็ยังถูกกว่ารักษาในประเทศตนเองมาก โดยคุณภาพการรักษาที่ใกล้เคียงกัน
บิล คลินตัน
ความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพในอเมริกา
เมื่อบิล คลินตัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2536 ฮิลลารี่ คลินตัน ซึ่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ประกาศว่าตนตั้งใจจะทำงานสร้างระบบประกันสุขภาพในชาวอเมริกัน
แต่ตลอด 8 ปี ที่อยู่ในอำนาจก็ทำได้เพียงเล็กน้อย เพราะเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสและวุฒิสภา คุมโดยพรรคริพับริกันฝั่งตรงข้าม และอิทธิพลของบริษัทยาขนาดใหญ่มีมาก
ต่อด้วยยุคของประธานาธิบดีบุช (คนลูก) อีก 8 ปี ตามมาด้วยยุคของประธานาธิบดีโอบามา อีก 8 ปี จึงทำระบบประกันสุขภาพที่เรียกว่า Obama Care ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยการเจรจาต่อรองกันมากมาย ซึ่งก็ทำได้เพียงบางส่วน ยังมีชาวอเมริกันอีกร่วม 30 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพ ที่มีประกันสุขภาพก็ยังต้องจ่ายเอง 40 % บ้าง 60 % บ้าง ตามประเภทของประกัน
พอมาถึงยุคทรัมป์ ก็ประกาศว่าตั้งใจจะยกเลิก Obama Care โดยสรุปอเมริกาใช้เวลา 27 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน ก็ยังทำระบบประกันสุขภาพไม่ได้ถึงไหน
คนอเมริกัน ถ้าป่วยขนาดต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ๆ ค่ารักษาจะแพงมากเป็นล้านบาท หรือหลายล้าน จำนวนมากต้องขายบ้านขายรถ หมดเนื้อหมดตัวกลายเป็นคน Homeless ก็มี
ผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาลต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอนรักษาตัว 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายจะจ่ายบิลค่ารักษาราว 2-3 ล้านบาท แม้คนที่มีประกันก็ต้องจ่ายเองเป็นล้านบาท หายจากโควิดอาจช็อกตายเพราะบิลค่ารักษาแทน
ผู้ป่วยโควิดที่ไปโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จึงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก ไม่ไหวแล้วจริงๆ อัตราการตายจึงสูง ส่วนผู้ติดเชื้อที่อาการยังไม่มาก ก็จะอยู่บ้านเพราะกลัวค่ารักษาพยาบาล และเป็นตัวแพร่เชื้อระบาดในชุมชนต่อไป ทำให้อเมริกา lockdown มาเป็นเดือนแล้ว ผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันก็ยังเกิน 30,000 คน
แปลกที่รัฐบาลอเมริกามานั่งแก้ปัญหาปลายเหตุ ใช้เงินมหาศาลเกือบ 100 ล้านล้านบาทกู้เศรษฐกิจ ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยประกาศนโยบายรักษาโควิดฟรี ให้ผู้ติดเชื้อทุกคนกล้าไปโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ คุมการระบาดให้อยู่ ซึ่งถ้าทำเนิ่นๆ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดก็จะไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำไป ประชาชนก็จะไม่ต้องป่วย ต้องตายมากๆ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็ว แม้เป็นประเทศอภิมหาอำนาจ แต่ผู้บริหารประเทศไม่เก่ง บริหารมั่วๆ ก็นำความเสียหายให้ประเทศและประชาชนได้มาก
2
โดยสรุปคือ ระบบการแพทย์ของอเมริกาและอังกฤษออกแบบไว้สำหรับการทำกำไร การดูแลรักษาคนมีสตางค์ที่พร้อมจ่ายแพงๆ ไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อดูแลประชาชนโดยรวมทั้งหมด เมื่อเกิดโรคระบาดไปถึงคนจำนวนมาก จึงเกิดโกลาหลในระบบการแพทย์ ดูแลไม่ไหว คุมการระบาดไม่อยู่ ป่วยมาก ตายมาก
ระบบสาธารณสุขประเทศไทย
ในปี พ.ศ.2520 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเป้าหมายการทำงานโดยสรุปเป็นสโลแกนว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543” (Health for All by the Year 2000) ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็รับฟังเป็นสโลแกนโก้ๆ แต่ประเทศไทยได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในขณะที่อาตมาภาพเรียนอยู่ที่คณะแพทย์จุฬาฯ เราได้มีการคุยหารือเรื่องนี้กันมาก บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศได้ระดมความคิดกันขนานใหญ่ว่า เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้
เราได้วิเคราะห์กันถึงปัญหาของสังคมไทย และสรุปสาเหตุเป็นวัฏจักรทางลบของ 3 องค์ประกอบ คือ “ โง่ จน เจ็บ ”
เพราะโง่...จึงทำให้ยากจน และเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
เพราะจน...จึงทำให้ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ทำให้โง่และเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
เพราะเจ็บ...จึงทำให้ยากจน และขาดโอกาสทางการศึกษา
บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศ จึงตัดสินใจมุ่งมั่นว่า เราจะต้องช่วยกันทะลายวัฏจักรโง่ จน เจ็บ นี้ให้ได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่เรารับผิดชอบโดยตรง คือ การดูแลสุขภาพประชาชน
อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน ประสานงานป้องกันโรคระบาด การส่งต่อผู้ป่วย โดยให้ชุมชนเป็นผู้คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติครบและมีจิตอาสา โดยมีแรงจูงใจคือ การให้เกียรติ การยอมรับจากชุมชน และสิทธิในการรักษาพยาบาลของตัวอสม. และครอบครัว
ผ่านการบ่มสร้าง ทำงานมากว่า 40 ปี ปัจจุบันเรามีอสม.ทั่วประเทศอยู่ราว 1,040,000 คน แต่ละคนดูแลประชาชนในพื้นที่ราว 8 – 15 ครัวเรือน (ในเขตเมืองจะมีเฉพาะในชุมชนแออัด) เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นระบบ ครอบคลุมทุกหย่อมบ้านอย่างนี้ เป็นสิ่งที่อเมริกา อังกฤษและประเทศทางตะวันตก ไม่มี
เมื่อถึงคราวเกิดโรคโควิดระบาด เครือข่ายอสม.ที่เข้มแข็งนี้ ก็ได้แสดงศักยภาพให้โลกเห็น ระบบสาธารณสุขของไทยมีโครงข่ายที่สามารถดูแลไปถึงประชาชนทุกครัวเรือนในประเทศ คำแนะนำ ข้อปฏิบัติที่ทางการกำหนด ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชนทั้งหมดอย่างเป็นระบบ
ระบบประกันสุขภาพของไทย
การรวมพลังความคิดสติปัญญาของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยเพื่อทะลายวัฏจักร โง่ จน เจ็บ ได้สุกงอมและบรรลุผลสำเร็จครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2544 เมื่อทางรัฐบาลเห็นด้วยและผลักดันนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นระบบประกันสุขภาพแบบครอบคลุมประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ และใช้เวลาเพียง 1 ปี ตั้งแต่กำหนดนโยบาย ทดลองใช้ในบางพื้นที่ ขยายผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพราะเป็นยุคที่การเมืองเข้มแข็ง
สิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพยายามทำมา 27 ปียังไม่สำเร็จ แต่ประเทศไทยใช้เวลาเพียง 1 ปี สร้างระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกได้สำเร็จ แม้องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศยกย่องเป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศ
สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่า คนไทยมีศักยภาพ ถ้าเราตั้งใจทำอะไรจริงๆ แล้วสามัคคีช่วยกันทำ เราทำได้ ทำได้อย่างดีที่สุดด้วย
ผู้ป่วยโควิดทุกคนในไทย สามารถรับการรักษาฟรีจนหาย ไม่ว่าอาการจะหนักเบา ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ผู้ป่วยโรคต่างๆ ในไทยที่มีสตางค์ก็สามารถเลือกไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนที่มีบริการดีระดับโลก มีห้องพิเศษอยู่ แต่แม้คนยากคนจน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็สามารถไปหาหมอที่โรงพยาบาล อาจไม่ได้อยู่ห้องพิเศษ ต้องอยู่ห้องผู้ป่วยรวม คุณภาพการบริการไม่ดีเท่าโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องจ่ายแพง แต่คุณภาพในการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก นี้คือสิ่งที่ประชาชนทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษไม่เคยได้รับ
โดยสรุป ระบบสาธารณสุขของไทยออกแบบมาเพื่อ ดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคนทั้งประเทศ เราจึงสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิดได้ผลดี จนได้รับคำยกย่องจากองค์การอนามัยโลกและสื่อของประเทศต่างๆ มากมาย
2
อย่าประมาท
หากเปรียบเป็นการชกมวย 12 ยก ตอนนี้เราเพิ่งอยู่ราวยก 3 เท่านั้น ถ้าประมาทการ์ดตกเมื่อใด มีสิทธิ์พลาดท่าถูกชกน็อคได้ทุกเมื่อ ขอให้ดูตัวอย่างสิงคโปร์ ที่เมื่อ 1 เดือนก่อนยังได้รับยกย่องเป็นตัวอย่างในการควบคุมการระบาด แต่ประมาทนิดเดียว ตอนนี้ยอดคนติดเชื้อสูงสุดในอาเซียน เกิน 17,000 คนไปแล้ว กลายเป็นตัวอย่างของความผิดพลาด
สิ่งที่น่าห่วงมากๆ คือ การที่รัฐบาลอนุญาตให้ขายเหล้าได้อีกครั้ง แม้บุคลากรทางการแพทย์คัดค้าน ก็ไม่ฟัง ไม่มีใครสามารถบอกคนเมาให้นั่งห่างกัน 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยเวลาคุยกันในวงเหล้าได้ ตรงนี้อาจเป็นจุดพลาดที่ทำให้โควิดกลับมาระบาดระลอก 2 ในไทย แล้วต้อง lockdown รอบใหม่ ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดทำการอีก คนลำบากเดือดร้อนทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลเอาใจธุรกิจน้ำเมา มากกว่าเอาคนทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง
ความหวังจึงฝากไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ที่มีอำนาจประกาศห้ามจำหน่ายสุราของมึนเมาในพื้นที่ตนเอง
และขอให้ทางรัฐบาลทบทวนนโยบายเรื่องนี้อีกครั้ง
ขอคุณพระศรีรัตนตรัยปกปักรักษาประเทศไทยและชาวโลกทั้งปวง
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา