บทสรุปของ Glucosamine
.
Glucosamine เป็นสารธรรมชาติที่พบและสร้างขึ้นในร่างกายมนุษย์โดยมีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก โดยร่างกายจะใช้สารนี้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนและนอกจากนี้ Glucosamine ยังเป็นหน่วยการสร้างของ hyaluronic acid ซึ่งทำหน้าที่คล้ายสารหล่อลื่นในข้อ
.
ซึ่งในอุตสาหกรรมยาเราสามารถผลิต Glucosamine ได้จากเปลือกของสัตว์ทะเล เช่น กุ้ง ปู และการผลิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเล
.
Glucosamine มีการนำมาใช้มีสองรูปแบบคือ Glucosamine #sulfate (ตัวหลักที่ใช้ในบ้านเรา) และ Glucosamine #hydrochloride
.
Glucosamine sulfate ในประเทศไทยถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง โรคกระดูกข้อต่อทั้งระบบปฐมภูมิ และ ทุติยภูมิ ในขณะที่บางประเทศขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริม (Supplement) และบางประเทศมีการจัดให้ Hydrochloride form เป็นยาและ Sulfate form เป็นอาหารเสริม
.
มีการกล่าวอ้างสรรพคุณของ Glucosamine ไว้มากมายหลายประการ โดยทั่วไปคือช่วยบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเสื่อมทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ข้อลื่นขึ้น เสียงในข้อหายไป ช่วยชะลอการเสื่อมของเข่า และลดอัตราการเปลี่ยนข้อเข่า
.
!!!!! แต่เมื่ออ้างอิงตามผลการศึกษาของ NIH Glucosamine/chondroitin Arthritis Intervention Trial (GAIT) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใช้จำนวนผู้ป่วยมากสุดในโลกคือ 1583 ราย (ปี 2006) กลับพบว่า Glucosamine #hydrochloride “ไม่มี” ผลในการบรรเทาอาการปวดข้อ ความแข็งตึง และการเคลื่อนไหวของข้อ ไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต (Quality of life) ของผู้ป่วยและไม่ลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด รวมถึงเมื่อติดตามผลในระยะยาวพบว่า ไม่ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อแต่อย่างใด แพทย์ที่ให้การรักษามีความพอใจในการรักษาต่ำและไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ใช้ยากับกลุ่มยาหลอก (Placebo) ได้
.
ส่วน Glucosamine #sulfate ก็มีผู้วิจัยที่ได้ทำการรวบรวมผลงานวิจัยคุณภาพดีจำนวน 25 เรื่อง (systematic review) ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนรวม 4963 ราย ก็พบว่ายาช่วยบรรเทาโรคข้อเสื่อมได้ “ไม่แตกต่าง” จากยาหลอก แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาไม่มีประสิทธิภาพ
.
ดังนั้นจึงในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมาทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกาจึงไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ให้ใช้ Glucosamine ในการรักษาโรคข้อเสื่อม
.
ในขณะที่ Glucosamine เคยเป็นที่นิยมมากในการใช้ในประเทศไทยเนื่องจากเคลมว่าใช้ในการรักษาหลายข้อบ่งใช้ เช่น ช่วยในการทำงานของข้อให้เป็นปกติ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อ เสริมสร้างข้อที่เสื่อม ต้านการอักเสบของข้อ เสริมสร้างน้ำเลี้ยงกระดูก กระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อน ช่วยเพิ่มการสร้างแคลเซียมในกระดูก เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพของยาแล้วพบว่ากลไกทั้งหลายยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ในมนุษย์ เอกสารกำกับยาของ Glucosamine ที่ขึ้นทะเบียน ในประเทศไทยจึงแสดงข้อบ่งใช้ที่เกินจริง (overclaim) เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สนับสนุน ข้อบ่งใช้จำนวนมากเหล่านั้น อย.จึงทบทวนทะเบียนยาใหม่ให้ระบุข้อบ่งใช้เท่าที่มีหลักฐานมายืนยันเท่านั้น
.
Glucosamine เป็นยาที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากแม้ว่าจะเป็นยานอกบัญชียาหลัก แต่ในหลายโรงพยาบาลก็มีมูลค่าการใช้ติด 1 ใน 5 อันดับที่สูงที่สุด การใช้ Glucosamine อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนาน 1 ปี มีค่าใช้จ่ายระหว่าง 2,700-13,000 บาทขึ้นกับผลิตภัณฑ์ (ส่วนผลวิจัยทางคลินิกระหว่าง Viartril-S กับ Glucosamine ที่ผลิตในประเทศก็ไม่พบความแตกต่างในทุกตัวชี้วัด) ซึ่งในประเทศไทยผลิตภัณฑ์จากบริษัท Rottapharm (Viartril-S) ซึ่งเป็นยาต้นแบบได้รับความนิยมสูงสุด
.
ดังนั้นการผลักภาระค่าใช้จ่ายยา Glucosamine มาให้กับงบเบิกจ่ายค่ารักษาของกระทรวงจึงไม่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าของประเทศไทย โดยมีค่าใช้จ่ายต่อปีสุขภาวะระหว่าง 7-26 เท่า (ขึ้นกับงานวิจัย) ของค่าใช้จ่ายต่อปีสุขภาวะที่ยอมรับได้ของไทย ด้วยหลักฐานและเหตุผลต่างๆ ข้างต้น คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ฯ จึงมีความเห็นว่า รัฐไม่ควรให้มีการเบิกจ่ายยา Glucosamine ในทุกรูปแบบ
.
ส่วนการซื้อหารับประทานเองคงห้ามกันไม่ได้ เอาเป็นว่าใครที่มีกำลังในการจ่ายหากไม่มีข้อห้ามใช้อะไรก็ไม่ได้เสียหายอะไรที่จะรับประทาน แต่ถ้าใครงบน้อยแล้วอยากได้จริงๆ ก็ลองพิจารณายี่ห้อ local หรือที่ผลิตในไทยเป็นทางเลือกเพราะประสิทธิภาพไม่ต่างกัน แต่หากวิเคราะห์จากบทสรุปที่ยกมาข้างต้นก็คงจะไม่จำเป็นต้องหามารับประทานให้เหนื่อยแล้วเพราะสุดท้ายก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงจริงๆ
.
ขอบคุณข้อมูลจาก เอกสารสรุปประเด็นข้อเท็จจริงและข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับกลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต ไดอะเซอเรน และไฮยาลูโรแนนชนิดฉีดเข้าข้อ. คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ ภายใต้คณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง. 2553.