Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
แม่มีความคิดว่า....
•
ติดตาม
7 พ.ค. 2020 เวลา 04:17 • ปรัชญา
EP. 4 #ฆราวาสธรรม ขันติ จาคะ
ครอบครัวอบอุ่น : การสร้างรากฐานครอบครัว
บทที่ ๑ ตอนที่ ๒/๒
💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝💝
เราพูดถึง สัจจะ ทมะ ไปแล้ว วันนี้มาต่อด้วย ขันติกับ จาคะ กันค่ะ
🌺 ๓. ขันติ แก้ปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง
ขันติ แปลว่า ความอดทน
ความอดทนหน้าตาแบบนี้😂
ทำไมต้องอดทน?
เพราะการที่คนใดคนหนึ่งจะได้ความดีมาเพิ่มให้แก่ตนเองนั้น จะต้องเอาความอดทนแลกมาทั้งนั้น
เมื่อเกิดเป็นคนแล้ว จะต้องอดทนต่ออะไรบ้าง ?
คำตอบ คือ เรื่องที่ต้องอดทนให้ได้ มีอยู่ ๔ เรื่องด้วยกัน ได้แก่
๓.๑) ต้องอดทนต่อธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนทั้งแดดที่แผดเผา ทั้งลมทั้งฝนที่โหมกระหน่ำ เป็นต้น
๓.๒) ต้องอดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อสภาพสังขารร่างกาย ที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ทนฝืนความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่โวยวายคร่ำครวญจนเกินเหตุ
🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎🍎
๓.๓) ต้องอดทนต่อการกระทบกระทั่ง คือ อดทนคนอื่น
เพราะความจริงแล้ว เราต้องยอมรับว่า เราเองยังมีข้อบกพร่องที่ทำไปแล้ว ยังรู้สึกขัดใจ ไม่ได้ดังใจตัวเองหลายอย่าง ยิ่งเวลาทำงานเร่งรีบ ต้องการความปราณีตมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยังมีเรื่องขัดใจตัวเองจนได้
การที่หลายครั้งเราเองก็ยังไม่ค่อยถูกใจตัวเอง นั่นคือข้อบกพร่องที่กลายเป็นนิสัยไม่ดี แล้วเราสังเกตุไม่เห็น ยังมีอยู่อีกมาก
ข้อบกพร่องของภรรยาสามี ของลูกเราก็มี บวกกับข้อบกพร่องของตนเองเข้าไปอีก ยังไงก็ต้องกระทบกระทั่งกัน
เพราะฉะนั้น สามีภรรยาอยู่บ้านหลังเดียวกัน ถึงแม้ว่าเขาจะดีแสนดีอยู่ยังไง ก็ต้องมีข้อบกพร่องอยู่ดี ถ้าเราคิดว่าอดทนไม่ได้ " ก็อย่าคิดใจอ่อนไปแต่งงาน"
แต่เดี๋ยวนี้มีบางคนหลังจากแต่งงานกันไปแล้วมักชอบใช้คำว่า "สิทธิส่วนบุคคล" พอแต่งงานกันแล้วก็ยังไปทำเอกสารแบ่งทรัพย์สมบัติ เตรียมแยกกันแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าคิดว่าจะทนกันไม่ได้ตั้งแต่แรกอย่างนี้ แล้วไปแต่งทำไม
โบราณถึงสั่งนักสั่งหนาว่า ถ้าตกลงปลงใจจะเป็นสามีภรรยากันแล้ว "ลิ้นกับฟันต้องกระทบกันแน่"
เพราะฉะนั้น คู่ครองของเราจะดีวิเศษอย่างไร เรื่องกระทบใจต้องมีกันแน่ ถ้าคิดว่าทะเลาะกันแล้วจะไม่ทนกัน อย่ามาแต่งงานกันเลย
แต่ถ้าทำใจได้ คิดว่าจะทนทั้งเขา และญาติฝ่ายเขาให้ได้ ก็ต้องคุยกันให้ดีว่าจะทนกันอย่างไร มากกว่าจะไปคุยเรื่องอื่น
คำถามที่ควรจะถามกันก่อนแต่งงาน ก็คือ "คุณแน่ใจหรือว่าจะทนฉันได้" ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทนกันได้ อย่าแต่งงานกันเลย
เดี๋ยวจะก่อทุกข์ก่อบาปจากคู่รักกลายเป็นคู่แค้นในภายหน้า เราแยกกันตรงนี้เถิด นี่ควรเป็นคำถามที่ทั้งคู่ควรถามใจตัวเองก่อนแต่งงาน
ดังนั้น แทนที่จะไปถามว่าแหวนหมั้นกี่กะรัต เงินสดเท่าไหร่ เรือนหอกี่ล้าน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความมั่นคง สิ่งที่ต้องถามคือ
"คุณแน่ใจหรือว่าจะทนฉันได้"
แล้วถ้าคิดให้มากไปกว่านั้น บุคคลที่ต้องอดทนไม่ใช่เฉพาะคู่ของตน แต่ยังต้องอดทนญาติของตนเองในแต่ละฝ่าย พ่อแม่พี่น้องตนเองในแต่ละฝ่าย
ซึ่งล้วนแล้วแต่ตัดไม่ได้ขายไม่ขาด ต้องทนต่อการกระทบกระทั่งไปจนตลอดชีวิต
ถามให้ดีก่อนตัดสินใจนะคะ☺
🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑🍑
๓.๔) ทนกิเลส คือ การอดทนต่อนิสัยไม่ดีของตนเอง
กิเลส มันเป็นเชื้อโรคร้ายของใจที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เวลามันกำเริบขึ้นมา มันคอยบีบคั้น บังคับ กัดกร่อน ให้เราทำความชั่วต่างๆนานาได้โดยไม่ละอาย
แล้วพอเราไปทำเข้า กิเลสมันก็ปล่อยให้เรารับทุกข์ รับโทษ รับทัณฑ์ เป็นความเดือดร้อนสารพัด เป็นเหตุให้เราต้องมานั่งเสียใจ นั่งตำหนิการกระทำของตัวเองในภายหลัง
คนที่ทนกิเลสบีบคั้นไม่ไหว ก็กลายเป็นคนที่มีนิสัยไม่ดีติดตัวมากมาย สุดท้ายก็กลายเป็นคนเกียจคร้านการงาน ขาดความรับผิดชอบ ในที่สุดคนๆ นั้นก็หมดความดี ไปติดอบายมุขอีกสารพัด
"อบายมุข" เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่คอยกระตุ้นกิเลส ให้กำเริบเสิบสานและลุกลามใหญ่โตอยู่ในใจ จนกลายเป็นสันดานชั่ว แก้ได้ยาก
อบายมุขที่ร้ายกาจที่สุด คือ การคบคนพาล เพราะคนพาลเป็นตัวแพร่เชื้อเลวให้แก่บุคคลรอบข้างอย่างไม่ปราณีใคร
เพราะกิเลสในใจของเขาได้บีบคั้นให้ตัวเขาตกเป็นทาสของการทำความชั่วต่างๆ นานาโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายใดๆ
การคบคนพาลก็เหมือนกับการรับเอาเชื้อโรคร้ายทางใจเข้ามาเพิ่มในตัวเอง นิสัยดีๆที่เคยมีอยู่ในใจก็จะถูกกิเลสทำลายลง แล้วเปลี่ยนเป็นนิสัยไม่ดีขึ้นมาแทน
ทำหน้าแบบนี้แล้วกิเลสจะกลัวนะคะ😆
🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐🍐
เพราะว่ากิเลสมีผลต่อนิสัยดีๆ เช่นนี้ ความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัวในข้อนี้ จึงขึ้นอยู่กับเราที่ต้องอดทนต่อกิเลสให้ได้ ด้วยการฝึกฝนตนเอง ผ่าน ๒ เรื่องนี้อย่างเข้มงวดคือ
๑) อดทนต่อการควบคุมนิสัยไม่ดีของตัวเองไม่ให้ระบาดไปติดคนอื่น เพราะหากอดทนข้อนี้ไม่ได้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ก็เหมือนยิ่งก่อกรรมทำเวรต่อกันและกัน ความร้าวฉาน ความสามัคคี แบ่งพรรคแบ่งพวกกลั่นแกล้งกันในครอบครัวก็จะตามมา
๒) อดทนต่ออบายมุข ๖ คือ การดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวในสถานบันเทิงเริงรมย์ การเล่นพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร และการเกียจคร้านต่อหน้าที่การงาน เพราะหากอดทนข้อนี้ไม่ได้ เศรษฐกิจในครัวก็จะพัง ตั้งหลักตั้งฐานไม่ได้
แต่ถ้าทุกคนในครอบครัวฝึกฝนความอดทนต่อกิเลสด้วยการอดทน ๒ เรื่องนี้ได้ นิสัยของตัวเองก็จะดีขึ้น เศรษฐกิจของครอบครัวก็ย่อมมั่นคง
พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นคนดีย่อมไปมาหาสู่ ปิดประตู จากคนภัย คนพาล และอบายมุขต่างๆ ให้ห่างไปจากครอบครัว
ดังนั้น ครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ คนในบ้านจะต้องมี " ขันติ เป็นนิสัยข้อที่ ๓"
ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสกันนะคะ
🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍🍍
🌺 ๔. จาคะ แก้ปัญหาความเห็นแก่ตัว
จาคะ แปลว่า ความเสียสละ
มี ๓ ประเภทได้แก่
๑) สละสิ่งของ
๒)สละความสะดวกสบาย
๓)สละอารมณ์ที่บูดเน่า ไม่เอามาเก็บฝังใจและเป็นพื้นฐานไปสู่การทำสมาธิ
ความเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจต่อการอยู่ร่วมกัน นึกถึงส่วนรวมของครอบครัวเป็นใหญ่
ชีวิตการแต่งงานต้องอาศัยความเสียสละต่อกันและกันเป็นอย่างมาก ไม่อย่างนั้นไม่มีทางประคับประคองครอบครัวได้
แล้วยิ่งถ้าครอบครัวใดนอกจากไม่เสียสละ แต่กลับจ้องเอารัดเอาเปรียบกันเองในครอบครัวแล้ว ถึงอยู่ด้วยกัน ก็เหมือนคนบ้านแตกสาแหรกขาด
ความเสียสละขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงชีวิตเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทั้งสามีภรรยา ต้องคำนึงความสุขส่วนรวมในครอบครัวมากกว่าความสุขส่วนตัวตามลำพังเป็นสำคัญ
พื้นฐานการเลี้ยงชีวิต คือ ปัจจัย ๔ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนการใช้เงินทองซื้อหาปัจจัย ๔ ก็คือ ต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง "ความอยากได้เอาแต่ใจ" กับ "ความจำเป็นของครอบครัว"
ถ้าแยกแยะความจำเป็นกับความอยากได้ไม่ออก ชีวิตครอบครัวก็มีแต่ร้าวฉานซึมลึกลงไปทุกๆวัน ในที่สุด ก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีฝ่ายหนึ่งถูกเอาเปรียบและฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ตัว แล้วก็ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน
ยกตัวอย่างเช่น
ครอบครัวที่มีอยู่ด้วยกันสองคนสามีภรรยา ยังไม่มีลูก แล้วรายได้สองคนรวมกันก็มีขีดจำกัด แค่ค่าน้ำหอมหรูๆ ของภรรยา ค่าเหล้า ค่าไวน์ของสามี ก็กระทบกระเทือนกับค่ากินค่าอยู่ทั้งเดือนทันที
ความรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น เพราะแยกแยะไม่ได้ว่า อะไรเป็นความอยากส่วนตัว และอะไรเป็นความจำเป็นสำหรับครอบครัว
น้ำหอมแพงๆ ไม่ใช่ของจำเป็น แต่เป็นของฟุ่มเฟือย เหล้า ไวน์ ก็เป็นอบายมุข เป็นของทำลายสุขภาพ เป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของสังคม
เพราะฉะนั้น ถ้าทั้งสามีและภรรยามองไม่ออกว่า ของพวกนี้ไม่ใช่ความจำเป็น นั่นคือ "ความเห็นแก่ตัว เป็นหายนะของครอบครัว"
น้องยังเสียสละให้หนูเลย
🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒🍒
ชีวิตแต่งงานเป็นชีวิตที่มีงบประมาณจำกัดในเรื่องส่วนตัว ต้องอาศัยความเสียสละเป็นพื้นฐานในการอยู่รวมกัน
แต่ถ้าปล่อยให้การจับจ่ายใช้สอยล่วงล้ำเข้าไปในเรื่องส่วนตัวกันมาก สามีภรรยาก็จะไม่ร่วมกระเป๋าสตางค์กันแล้ว
นั่นก็เท่ากับเตรียมแยกทางตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีใครนึกถึงค่าใช้จ่ายส่วนรวมในครอบครัวเลย แล้วจะไปแต่งงานด้วยทำไม
เพราะฉะนั้น ถ้ามองของฟุ่มเฟือยเป็นของจำเป็นเมื่อไหร่ งบประมาณในบ้านจะขาดทันที และนั่นคือ ความเห็นแก่ตัว ที่ก่อปัญหาการอยู่ร่วมกันตามมาอีกมาก
การแต่งงานไม่ใช่เรื่องล้อเล่น สนุกสนานตามอารมณ์หนุ่มสาว เพราะทันทีที่เริ่มต้นแต่งงาน ความรับผิดชอบ ความเปลี่ยนแปลง ความอดทน และความเสียสละ จะตามมาทันที
ดังนั้น คนที่คิดจะแต่งงานต้องคิดให้ดีในสองเรื่องนี้ว่า คู่ชีวิตของตนเองมีความพร้อมแค่ไหน คือ
๑) คู่ชีวิตของเราสามารถฝากผี ฝากไข้ ฝากชีวิตไว้ด้วยได้หรือไม่
๒)คู่ชีวิตของเรามีความรู้ ความสามารถ และความดีมากพอ ที่จะเลี้ยงครอบครัวให้สุขสบาย เลี้ยงลูกหลานให้เป็นคนดีได้หรือไม่
เพราะสองเรื่องนี้ คือความเสียสละขั้นพื้นฐานของการเป็นครอบครัว
ส่วนมาก เดี๋ยวนี้เวลาแต่งงานกัน จะแต่งตามความต้องการส่วนตัว มากกว่าจะมาคำนึงถึงเหตุผลสองข้อนี้ ทำให้พอแต่งงานมาแล้วจึงต้องเจอปัญหาต่างๆ นานามากมาย บางรายรุนแรงถึงกับลงไม้ลงมือฆ่าแกงกันก็มี
สำหรับใครที่ยังไม่ได้แต่งงาน หรือกำลังเตรียมจะแต่งงาน ต้องพิจารณาให้มากว่า เมื่อสามีภรรยาแต่งงานกันมาแล้ว ชีวิตนี้ต้องพึ่งกันได้
ถึงคราวป่วย คราวแก่ ต้องดูแลกันได้ การแต่งงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งความเสียสละต่อกันอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ก็คือ เมื่อถึงคราวให้กำเนิดลูกขึ้นมา ทั้งสามีภรรยายิ่งต้องเสียสละต่อกันและกันเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของการให้เวลาลูก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเตรียมตัวมาก่อนแต่ก่อนแต่งงานแล้ว
พ่อ แม่ คือ ต้นแบบแรกของลูก
🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈🍈
คนที่พร้อมจะเป็นพ่อแม่คน เขาจะพิจารณาตัวของเขาเองก่อนว่า เราเองก็มีความรู้ ความสามารถ และความดีที่ได้จากการฝึกฝนตนเองมาตลอดชีวิต
เนื่องจากเราเองก็ต้องตาย ในยามแก่ชรา เราก็ต้องได้คนดีมาดูแล ถ้าจะแต่งงานมีครอบครัว ก็ต้องเอาความรู้ ความสามารถและความดีของเราที่มีมาสร้างทายาทดีๆ
เกิดมาในโลก แล้วเราก็จะถ่ายทอดความรู้ ความดีให้แก่เขา เขาจะได้สามารถยืนหยัดอยู่ในโลกนี้ได้ต่อไป
การแต่งงานไม่ใช่มุ่งเรื่องความสุขทางเนื้อหนังมังสา ของพวกนี้มันไม่จีรังยั่งยืน
แต่เพราะส่วนมากมุ่งเอาความเอร็ดอร่อยทางเพศ ถึงได้อย่าร้างกันเป็นว่าเล่น เพราะของพวกนี้มีได้เฉพาะในวัยหนุ่มสาว
พื้นฐานการใช้ชีวิตหลังแต่งงาน ต้องอาศัยความเสียสละต่อกันและกันมากๆถ้าเห็นแก่ตัวกันเมื่อไหร่ เดี๋ยวได้ฆ่า ได้แกง ได้หย่าร้างกันทุกที
การเสียสละในฐานะคู่ชีวิตนี้ เป็นการเสียสละเพื่อการดูแลทั้งทางกายและทางจิตใจ คือ เลี้ยงกายและเลี้ยงใจให้ดี แล้วชีวิตแต่งงานจะไม่มีฆ่าแกงกัน
"เลี้ยงกาย" คือ การใช้เงินทองในครอบครัว พึงจับจ่ายใช้สอยเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก แบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ เสียสละความสุขสบายส่วนตัว
"เลี้ยงใจ" คือ การรู้จักถนอมน้ำใจกันในยามปกติ รู้จักให้กำลังใจกันในยามเผชิญอุปสรรค รู้จักเตือนสติห้ามปรามกันในยามประมาท และมีความซื่อสัตย์ต่อกันอย่างเสมอต้น เสมอปลาย
คู่ชีวิตที่เลี้ยงกายและเลี้ยงใจมาด้วยกันอย่างนี้ ย่อมมีการเสียสละเพื่อส่วนรวม ทั้งสละสิ่งของ สละความสะดวกสบาย สละอารมณ์ที่บูดเน่า บรรยากาศดีๆ ปรองดองสามัคคี จึงมีอยู่มากมายในครอบครัว
ดังนั้น ครอบครัวจะมีรากฐานมั่นคงอยู่ได้ คนในบ้านจะต้องมี "จาคะ เป็นนิสัยข้อที่๔"
สร้างบรรยากาศในบ้านให้สดชื่น ด้วยรอยยิ้มกันนะคะ😁😁😁
จากฆราวาสธรรม ทั้ง๔ข้อนี้ ใครก็ตามที่กำลังคิดจะมีคู่ครอง กำลังจะแต่งงาน กำลังสร้างครอบครัว หรือมีปัญหาครอบครัว ต้องยึดหลัก ฆราวาส คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นหัวใจครอบครัว
เป็นหัวใจสำคัญ ที่สมาชิกในครอบครัวจะต้องมีอยู่ประจำตัว รากฐานครอบครัวจึงจะสามารถวางได้มั่นคงตั้งแต่เริ่มแรก
แล้วปัญหาต่างๆในครอบครัว ทั้งปัญหาความหวาดระแวง ปัญหาความโง่เขลา ไม่ทันโลก ทันคน ปัญหาความเบื่อหน่ายกันเอง ปัญหาความเห็นแก่ตัว
ก็จะไม่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้อย่างแน่นอน หัวใจของครอบครัวย่อมยังคงเต้นอยู่ต่อไป
...........................ส.ผ่องสวัสดิ์............................
👨👩👧👦👨👩👧👦👨👩👧👦👨👩👧👦
วันนี้เขียนยาว หวังว่าจะคุ้มกับการรอคอยนะคะ
ขอบคุณทุกๆท่านที่ติดตามอ่านค่ะ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับใครสักคน😊
แล้วแม่จะรีบมาลงต่อค่ะ
📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝📝
บันทึก
13
21
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ถ้า...อยากมีครอบครัวอบอุ่น: ตอนแรก - ล่าสุด
13
21
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย