4 พ.ค. 2020 เวลา 02:49 • ข่าว
FOCUS : ประเด็นน่าสนใจวันนี้
1. ความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และอัตราเงินฝืดกำลังโจมตีกันเอง ขณะที่ Coronavirus มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 3,500,000 คนแล้ว
แม้จะมีทั้งภัยพิบัติจากโรคระบาด ความตาย และการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจ แต่เหตุผลเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเลิกคิดถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะตามมาในอนาคต
ความกังวลเหล่านี้ มาจากมาตรการอัดฉีดเงินอย่างมหาศาลของรัฐบาล ที่จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากพ้นช่วง COVID-19 ไป
ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้มีอำนาจทางกฎหมายแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังกังวลเกี่ยวกับ "ภาวะเงินฝืด" ในปัจจุบันมากกว่าเรื่องในอนาคต
ณ ขณะนี้ Coronavirus ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 240,000 คน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 3,500,000 คนไปเรียบร้อยแล้ว และยังมี Active Case อยู่อีกกว่า 2,100,000 คน
โดยรวมแล้ว Coronavirus ได้แพร่ระบาดในกว่า 212 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก
ผลที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ ได้ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างมาก สภาพคล่องจำนวนมหาศาลได้หายไปจากระบบ รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้ามาอุ้มตลาดไว้
แก่นแท้ของสาเหตุครั้งนี้เริ่มมาจากการ Lockdowns ในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคบริการอย่างเช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การบิน ขาดสภาพคล่องโดยทันที กล่าวคือเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นเอง
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งสัญญาณครั้งแรกผ่านราคาหุ้นต่าง ๆ ของภาคอุตสาหกรรมการบริการ และเมื่อเสริมเข้ากับความกังวลด้านความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนทั่วโลกแล้ว จึงได้ทำให้ผู้คนเริ่มไม่ใช้จ่ายเงินที่มีอยู่
ดังนั้นแล้ว 2 ปัจจัยหลักที่กล่าวมาคือ
1. มาตรการ Lockdowns
2. ความกังวลของผู้คน
เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดีว่า "สภาพคล่องในตลาดจะไม่เกิดขึ้นในเวลานี้"
แน่นอนว่าวิธีแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ย่อมตัดสินใจไปตามสิ่งที่พวกเขาเชื่อและมองเห็น ซึ่งก็คือการอัดฉีดสภาพคล่องเทียม* เข้าไปในระบบ รวมถึงการปล่อยกู้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะสินเชื่อเกรดต่ำ
* ขอเรียกว่าสภาพคล่องเทียม เพราะเงินเหล่านี้ไม่ได้มาจากการใช้จ่ายใน Real Sectors จริง ๆ และจะต้องถูกนำออกจากระบบไปอยู่ดีในภายหลัง
วิธีการเหล่านี้ของรัฐบาล ไม่เคยมีการยืนยันว่ามันจะใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุด มันจะช่วยให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ดูเลวร้ายเท่ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (หัวใจสำคัญของระบบทุนนิยม หรือแม้แต่ตลาดหุ้น ถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค)
โดยสรุปแล้วก็คือ มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในขณะนี้ สามารถใช้แก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น และมันจะส่งผลกระทบในระยะยาวที่มหาศาล
ปัญหาใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนได้ก่อตัวขึ้นมาทันที หลังจากการอัดฉีดเงินอย่างมหาศาลของรัฐบาล
"คุ้มหรือไม่? สำหรับผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้"
การสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก และนั่นเป็นสาเหตุที่ยิ่งตอกย้ำว่า
"สภาพคล่องจะไม่กลับมาในระยะเวลาอันสั้น" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
"มีแนวโน้มสูงมากที่การฟื้นตัวกลับเป็นปกติจะใช้เวลานาน"
ปัญหาที่สองไม่เกี่ยวกับจิตใจของผู้คน แต่จะเกี่ยวกับกลไกราคาของตลาดโลกในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อผู้คนกลับมาใช้จ่ายเงินตามปกติ และมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในระบบจากการอัดฉีดก่อนหน้านี้ จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย (สมการ MV = PQ)
Comment : ใครงงสมการ MV = PQ ตามไปอ่านบทความนี้ได้เลยครับ https://www.blockdit.com/articles/5e9077cd6803a318ea1108ab
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือเหตุผลที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องในอนาคต โดย IMF ได้คาดการณ์ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะมีอัตราเงินเฟ้อมากกว่า 5% เมื่อสิ้นสุดปี 2021
เมื่อกลับมามองที่ปัจจุบัน เราจะพบว่า "ภาวะเงินฝืด" กำลังมีอำนาจอยู่เหนือปัจจัยอื่นอย่างมาก เนื่องจาก Demand ในตลาดได้พังทลายลง
สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก เช่น การลดลงอย่างมากของราคาน้ำมันดิบ หรือแม้แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
นั่นจึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มกล่าวว่า "อัตราเงินเฟ้อสูงในอีก 2-3 ปี ไม่น่าจะเป็นไปได้"
มาถึงตรงนี้ World Maker อยากชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงจุดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังเถียงกัน ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือภาวะเงินเฟ้อเลยแม้แต่น้อย แต่เขากำลังเถียงกันในเรื่องของ "ระยะเวลาที่จะเกิด" ต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายทางการเงินของ FED ในอนาคต
ความเคลื่อนที่ไหวล่าสุดที่น่าสนใจในตลาดก็คือ ธนาคาร BNP Paribas ของยุโรปซึ่งถือครองทรัพย์สินกว่า 4.5 แสนล้านดอลลาร์ ได้ทำการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภท Commodities มากกว่าปริมาณที่กำหนดเอาไว้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และขณะเดียวกันก็เริ่มเทขายสินทรัพย์ประเภท Bonds
Comment : เป็นที่รู้กันว่าสินค้าประเภท Commodities นั้นใช้ต่อกรกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมาก (ต่อกรเงินฝืดได้ดีเช่นกันแต่ดีไม่เท่าเงินเฟ้อ)
2. ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ สูงกว่าเดิม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐฯ ได้มีการสร้างงานเกิดขึ้นถึง 23 ล้านตำแหน่ง แต่คาดการณ์ล่าสุดบอกเราว่า ทั้งหมดที่ทำมา อาจพังทลายลงได้ภายในเดือนเดียว
Bloomberg Survey ได้เปิดเผยคาดการณ์ล่าสุด ซึ่งระบุว่าตลาดกำลังจับตามองการว่างงานถึง 21 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1939 เลยทีเดียว ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 16% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1948
แน่นอนว่าอัตราการว่างงานนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับค่า GDP ของประเทศ ดังนั้นแล้วจึงมีแนวโน้มสูงที่ค่า GDP ของสหรัฐฯ ในปีนี้จะออกมาติดลบรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้เช่นกัน
นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg กล่าวว่า "การปลดล็อกทางเศรษฐกิจกำลังเริ่มต้นขึ้นด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ความปั่นปวนทางด้านอาชีพจะยังคงอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยหลายเดือน ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 20%"
Comment : ตรงนี้ World Maker มองว่าจะมีการปรับคาดการณ์ใหม่อีกหลายรอบเลยทีเดียวครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา