5 พ.ค. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ทรงทำผู้มุ่งร้ายให้แพ้ภัยตัวเอง"
1
อัคคิเวสนะ ! ท่านสำคัญว่าอย่างไร ในข้อที่ท่านกล่าวว่า ‘รูปเป็นตัวตนของเรา’ ดังนี้, ก็อำนาจของท่านอาจเป็นไปได้ในรูปนั้นว่า ‘รูปจงเป็นอย่างนี้ ๆ เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้น ๆ เลย’ ดังนี้หรือ ?
สัจจกอัคคิเวสนะ ได้ทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้นดอก พระโคดม !”
อัคคิเวสนะ ! ท่านจงใคร่ครวญ, ใคร่ครวญแล้วจึงกล่าวแก้. คำหลังของท่านไม่เข้ากันได้กับคำก่อน คำก่อนไม่เข้ากับคำหลังเสียแล้ว. อัคคิเวสนะ ! ท่านจะสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง, พระโคดม !”
อัคคิเวสนะ ! สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นส่อทุกข์หรือส่อสุข ?
“ส่อทุกข์, พระโคดม !”
สิ่งใดไม่เที่ยง ส่อทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า ของเรา เป็นเรา เป็นตัวของเรา ดังนี้ ?
“ไม่ควรเลย, พระโคดม !”
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีการถามตอบ โดยทำนองเดียวกันนี้.)
อัคคิเวสนะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ตัวท่านติดทุกข์แล้ว เข้าถึงทุกข์แล้ว จมเข้าในทุกข์แล้ว ท่านจักเห็นทุกข์นั้นว่า ‘นั่นของเรา นั่นเป็นตัวเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา’ ดังนี้ เชียวหรือ ?
“ทำไมจะไม่เป็นเช่นนั้นเล่า, พระโคดม !”
อัคคิเวสนะ ! เปรียบเหมือนบุรุษต้องการไม้แก่น เที่ยวหาไม้แก่นถือเอาขวานถากที่คมกริบเข้าไปในป่า เห็นกล้วยต้นใหญ่ ต้นตรง ยังไม่ทันจะตกเครือ ยังไม่ตั้งปลีในภายใน. เขาตัดกล้วยต้นนั้นที่โคน แล้วตัดยอดปอกกาบแล้ว ก็ยังไม่พบแม้แต่กระพี้ แก่นจักมีมาแต่ไหน, ฉันใดก็ฉันนั้น, อัคคิเวสนะ ! ท่านถูกเราซักไซ้ สอบถาม ทบทวนในคำของท่านเอง ก็เป็นผู้มีถ้อยคำว่างเปล่าละลายไป. อัคคิเวสนะ ! ท่านได้ป่าวประกาศในที่ประชุมชนเมืองเวสาลี ว่า “ข้าพเจ้าไม่มองเห็นสมณะ หรือพราหมณ์ใด ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ แม้ปฏิญญาตนเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ที่ถ้าข้าพเจ้าโต้วาทะด้วยวาทะแล้ว จักไม่เป็นผู้ประหม่าตัวสั่นระรัว มีเหงื่อไหลจากรักแร้ ไปได้เลย, เพราะถ้าแม้ข้าพเจ้า โต้วาทะด้วยวาทะ กับเสาที่เป็นของไม่มีจิตใจ เสานั้นก็จะต้องสั่นสะท้าน, ป่วยกล่าวไปไย ถึงสัตว์ที่เป็นมนุษย์” ดังนี้. แต่มาบัดนี้ เหงื่อเป็นหยด ๆ ตกลงแล้วจากหน้าผากของท่าน ถูกผ้าห่มแล้วลงถูกพื้น, ส่วนเหงื่อในกายเราเดี๋ยวนี้ ไม่มีเลย.
________________________________
๑. บาลี จูฬสัจจกสูตร มู.ม. ๑๒/๔๒๙/๓๙๘. ตรัสแก่สัจจกนิครนถบุตร
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๕
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๔๑๙ - ๔๒๑
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา