6 พ.ค. 2020 เวลา 02:09 • การศึกษา
Insight : ระบบการเงินโลกอาจเปลี่ยนไปหลังจากนี้ การอนุมัติงบประมาณครั้งใหญ่ที่สุดจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในระบบทุนนิยม
หลังจากการระบาดของไวรัสจบลง ตลาดการเงินโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากผู้มีอำนาจทั้งหลายกำลังวางรากฐานใหม่ให้แก่เศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกลายเป็นหัวใจหลักของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ในอีกหลายปีข้างหน้า
(ข้อความข้างบนนี้ Bloomberg เป็นคนพูดเอง)
มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ดูเหมือนจะมีออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเสนอเงินกู้ให้แก่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ในระดับที่คาดไม่ถึง โดยกล่าวว่า "พวกเขากำลังช่วยพยุงค่าใช้จ่ายรายเดือนของธุรกิจต่าง ๆ"
อุตสาหกรรมสายการบิน, การขุดเจาะน้ำมันดิบ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ กำลังอยู่ในช่วงที่มีการแจกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือไปยังบริษัทต่าง ๆ ขณะที่ธนาคารหลายแห่งกำลังถูกสถานการณ์บีบบังคับให้จำเป็นต้องหยุดจ่ายเงินปันผลแก่ลูกค้า
ปัจจุบัน สังคมเริ่มมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาล และวิธีการที่จะสร้างรายได้จากหนี้สาธารณะ (พูดง่าย ๆ คือต้องหาทางทำเงินจากหนี้ที่มีอยู่ให้ได้)
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายไป เทียบกับขนาด GDP ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ และประเทศทางฝั่งยุโรป มีการใช้จ่ายผ่านงบประมาณของรัฐบาลสูงมาก
มาตรการช่วยเหลือหลายล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ มีจุดหมายเพียงอย่างเดียวก็คือ "การยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ไม่ใช่กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression)"
หมายเหตุ : วิกฤตเศรษฐกิจโลกจะมีความรุนแรงเรียงได้ดังต่อไปนี้ Recession -> Great Recession -> Depression -> Great Depression ซึ่งตอนนี้ World Maker คิดว่าเรากำลังอยู่ในภาวะ Great Recession แล้ว
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เปรียบเสมือนดาบ 2 คม ที่จะส่งผลกระทบต่อกลไกความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมโลกอย่างมาก เนื่องจากราคาสินค้าในตลาด ซึ่งเคยถูกขับเคลื่อนไปโดย "การค้าเสรี" ที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน ได้ถูกแทนที่ด้วยอิทธิพลทางการเงิน จากมือที่มองเห็นได้ของผู้มีอำนาจทางกฎหมายโลก
"นี่เป็นโอกาสดี หากรัฐบาลและธนาคารกลางจะไม่ยอมลดบทบาททางการเงินของตนเองลง เมื่อวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว"
Comment : พูดให้เข้าใจง่ายคือ "มันเป็นจึงหวะที่ดีมาก ๆ หากรัฐบาลและธนาคารกลาง กำลังต้องการเข้ายึดครองระบบการเงินโลกให้มากกว่าเดิม"
ประวัติศาสตร์ตลอดช่วง 200 ปีที่ผ่านได้บอกเราเอาไว้ว่า
"มาตรการเหล่านี้จะใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน จนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย"
ณ ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นที่เสื่อมลงของผู้บริโภค ได้เริ่มปรากฎหลักฐานขึ้นมาในภาค Real Sectors แล้ว โดย World Maker ขอนำเสนอเป็นกราฟให้เห็นภาพชัด ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
จากภาพเราจะเห็นได้ว่า การลงทุนในภาค Real Sectors เริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 แล้ว โดยมีจุดสังเกตในอดีตที่ World Maker อยากให้ทุกท่านได้ลองดูก็คือ
"ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2007 ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2009"
จะเห็นได้ว่าการลงทุนในภาค Real Sectors ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต Subprime ในปี 2008 เสียอีก
แล้วมันหมายความว่าอย่างไร ?
ลองเปรียบเทียบกราฟในช่วง Q1 2007 - Q1 2009 กับกราฟในช่วง Q1 2019 ดูสิครับ แล้วลองคิดต่อไปว่าแนวโน้มในปี 2020 จะเป็นอย่างไร? โดยให้คิดเสียว่า Coronavirus จะระบาดไปอีกถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย
เมื่อคิดแบบนี้แล้ว คำถามต่อไปก็คือ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต ? หรือเรากำลังอยู่ในจุดสุดท้ายของวิกฤตแล้วกันแน่ ?
อย่าลืมว่าในอดีต ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตใหญ่ กราฟจะดิ่งลงไปต่ำสุดในอีกอย่างน้อย 1 ปีหลังจากเริ่มเกิดวิกฤตแล้ว (ขัดกับความคิดเห็นของหลาย ๆ สำนักในปัจจุบัน ที่ออกมาบอกว่าตลาดได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว)
ภาพด้านล้างนี้แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Real GDP ในไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสัดส่วนของการลดลงที่มากที่สุดเกิดมาจาก "ภาคการบริโภค (Counsumption)"
ขณะเดียวกันนั้นเอง ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฎออกมา และแสดงออกได้อย่างชัดเจนว่าผู้คนกำลังมีความกังวลอย่างมาก ในเรื่องความปลอดภัยของชีวิต โดยยอดการซื้อกักตุนอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษเลยทีเดียว (ตามภาพด้านล่าง)
สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนเป็นญี่ปุ่น ?
Deutsche Bank ได้มีมุมมองที่เปิดกว้างไปไกลกว่าวิกฤตในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า "มันจะไม่มี Fixed Income ที่เกิดขึ้นจากตลาดเสรีอีกต่อไป"
"ความผันผวนของตลาดปรากฎชัดขึ้น ขณะที่ผู้มีอำนาจทางการเงิน กำลังพัฒนาโลกใหม่ โดยการควบคุม Yield Curve *" นักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank กล่าว
* การควบคุม Yield Curve หรืออัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่าง ๆ นั้น ในอดีตที่ผ่านมาทำได้ยาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ถึงจะสามารถกำหนดราคาของสินทรัพย์นั้น ๆ ได้ แต่ในปัจจุบัน FED และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้าควบคุมตลาดโดยตรง ผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดหุ้น รวมถึงหุ้นของบริษัทเอกชนภายในประเทศ (ซึ่งการเข้าซื้อโดยตรงเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน)
แน่นอนว่าญี่ปุ่น ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากว่า 20 ปีแล้ว โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการที่ GDP ของญี่ปุ่นไม่เจริญเติบโตเลยในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สังเกตได้จากภาพด้านล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เคยทำ New High ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา
ซึ่งนั่นหมายความว่า "หากคุณนำเงินไปซื้อพันธบัตร หรือหุ้นญี่ปุ่นไว้เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เงินของคุณก็ยังเท่าเดิม และเผลอ ๆ อาจจะน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ" (เรื่องนี้น่าเจ็บปวดมากครับ ในสายตาของนักลงทุน)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan, BOJ) ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาก็ได้กระทำการเช่นเดียวกันกับ FED ซึ่งก็คือการเข้าซื้อหนี้สาธารณะ (เช่น หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน) รวมถึงการพิมพ์เงินออกมารองรับเศรษฐกิจภายในประเทศไว้อย่างมหาศาล และนั่นทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ถือครองทรัพย์สินภายในประเทศอยู่ด้วยอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับธนาคารประเทศอื่น
โดยเมื่อเทียบกับ FED, ECB และ BOE จะพบว่า BOJ ถือครองทรัพย์สินอยู่สูงกว่าธฯาคารกลางเหล่านี้ถึง 30-40% เมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ในประเทศนั้น ๆ และสิ่งที่เราต้องคิดต่อไปก็คือ การเกิด Coronavirus จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากแค่ไหนต่อจากนี้? (ได้ข่าวว่าเจอ Second Wave อยู่ด้วย)
คำถามชวนให้คิด : เป็นไปได้หรือไม่ ? ที่จากพฤติกรรมของ FED, ECB และ BOE ในปัจจุบัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในอนาคต (โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป) กลายเป็นเหมือนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
"หลังจากการระบาดของไวรัสเสร็จสิ้นลง เศรษฐกิจโลกกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นเหมือนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น" Kazuo Momma ผู้ซึ่งรับผิดชอบมาตรการทางการเงินของ BOJ กล่าว
"การหาทางออกจาก Balance Sheet ที่พุ่งทะลุเพดาน และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนติดดิน หรือแม้แต่ระดับติดลบ จะเป็นความท้าทายอย่างแรงกล้า สำหรับธนาคารกลางต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปอีกหลายปี"
Comment : อันนี้สมาชิก BOJ ผู้มีประสบการณ์ออกมากล่าวเตือนเองนะครับ ดังนั้น World Maker จึงยกให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าขบคิดอย่างมาก
ขณะนี้ ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แห่งของโลก (FED, ECB และ BOE) กำลังเข้าซื้อและถือครองสินทรัพย์ต่าง ๆ ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้โดยรวมแล้ว ธนาคารกลางทั้ง 3 แห่งนี้ "กำลังถือครองสินทรัพย์ในตลาดหุ้นมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก" คิดเป็น 4 เท่าของระดับในช่วงปี 2008
ยิ่งไปกว่านั้น งบประมาณต่าง ๆ ได้ขยายตัวไปไกลกว่าการเข้าซื้อพันธบัตรภายในประเทศของธนาคารกลางเหล่านั้น โดยอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนกำลังได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ในรูปแบบของเงินบริจาค และเงินกู้
สายการบินต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ได้รับเงินช่วยเหลืออย่างมหาศาลเช่นกัน ขณะที่ FED นำตัวเองเข้ามายังตลาดและตัดสินใจเข้าซื้อพันธบัตรของบริษัทเอกชน รวมถึงการพยุงสินเชื่อของบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น Boeing Co.
สำนักข่าว Reuters รายงานหัวข้อที่น่าสนใจซึ่งระบุว่า "สายการบินต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กำลังผลาญเงินกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จากการระบาดของ Coronavirus" โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ยอดจองเที่ยวบินสุทธิของสายการบินต่าง ๆ ลดลงเกือบ 100%
2. เที่ยวบินกว่า 80% ถูกยกเลิกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
3. จำนวนผู้โดยสารจริงลดลง 95% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
4. Boeing Co. เตรียมปลดพนักงาน 16,000 ตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้
5. GE Aviation เตรียมปลดพนักงาน 13,000 ตำแหน่ง
6. United Airlines เตรียมปลดพนักงานด้านการจัดการและบริหารอย่างน้อย 3,450 คน หรือประมาณ 30% ของพนักงานทั้งหมด นอกจากนี้ยังเตรียมลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานอีกหลายพันคน
7. Spirit AeroSystems บริษัท Supplier ด้านการบิน เตรียมปลดพนักงาน 1,450 ตำแหน่ง
ทางฝั่งอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ ก็ยังดูน่าเป็นห่วงอย่างมาก แม้ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปัจจุบันจะปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าระดับ 24$/บาร์เรลแล้วก็ตาม แต่จงระลึกไว้เสมอว่าต้นทุนของบริษัท Shale Oil ในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 40 $/บาร์เรล
สำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ นั้น แน่นอนว่าทั้งหมดกำลังเผชิญอยู่กับข้อกำจัดในการฟื้นตัว เนื่องจากในหลายประเทศได้มีมาตรการที่สั่งห้ามการ Buybacks และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ทำให้บริษัทไม่สามารถออกมาตรการใด ๆ ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้
หลักฐานสำคัญหลายชิ้นเริ่มปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าตลาดหุ้นในปัจจุบัน ไม่ได้ขยับไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัจจัยพื้นฐานเลยแม้แต่น้อย โดยจะสังเกตได้จากภาพด้านล่างนี้ว่าราคาของตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่หลายประเทศยังอยู่ในมาตรการ Lockdowns (กล่าวคือเศรษฐกิจในภาค Real Sectors ยังไม่เดินหน้าจริง ๆ และผู้คนก็ยังไม่ได้นำเงินไปลงทุนจริง ๆ)
Comment : สำหรับใครที่งงว่าตลาดหุ้นมันขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบนั้นไม่ยากเลย นั่นก็เพราะการเข้าไปอุ้มตลาดโดยธนาคารกลางต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วยังไงล่ะครับ
ซึ่งก็เป็นอย่างที่ World Maker เคยอธิบายไปในบทความเมื่อวานนี้ ว่าวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ ถึงแม้จะใช้แก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ "แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ตัวเลขที่ออกมาไม่ดูเลวร้ายเท่ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น"
และที่ธนาคารกลางต่าง ๆ จำเป็นต้องทำแบบนี้ นั่นก็เพราะต้องการให้ "ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา" เนื่องจาก "หัวใจของระบบทุนนิยม ถูกขับเคลื่อนไปด้วยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค"
ภาพด้านล่างต่อไปนี้ คือรูปแบบของการหดตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดภาวะตลาดหมีขึ้นในช่วงปีต่าง ๆ โดยสีแดงสดเป็นรูปแบบการหดตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนสีแดงเข้มเป็นรูปแบบการหดตัวของเศรษฐกิจในช่วง Great Depression ปี 1929
หลังจากดูภาพนี้แล้ว World Maker อยากให้ผู้อ่านลองคำนวณกราฟที่จะเกิดขึ้นต่อไป ของวิกฤตครั้งนี้ดูครับ และอยากให้ย้ำคำตอบของตัวเองอีกครั้ง ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงต้นของปีวิกฤต หรือช่วงปลายของวิกฤตแล้วกันแน่ ?
อีกประเด็นคือเรื่องของ Yield Cruve Control ซึ่ง FED ได้ให้ค่ำมั่นว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงแต่จะซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ให้มากเท่าที่จำเป็นสำหรับการพยุงตลาดเท่านั้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจกับคำพูดของ FED โดยจะสังเกตได้จากภาพด้านล่างนี้
เราจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี นั้นลดลงน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วน 12 เดือนของ S&P 500 ที่ร่วงลงไปอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และพุ่งกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น
โดยสรุปแล้วก็คือ ตลาดหุ้นในปัจจุบัน กำลังถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก เนื่องจากการเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ของโลก รวมถึงรัฐบาลของพวกเขา
และนั่นทำให้ปัจจัยของความผันผวนในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านของมูลค่า ปริมาณ ขนาด และโมเมนตัม ดังที่แสดงให้เห็นในภาพด้านล่างนี้
ขณะเดียวกันนี้เอง ทรัมป์ได้ออกมาประกาศยืนยัน ในวันอังคารที่ผ่านมา ว่าสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประเทศ แม้ว่าจะมีชาวอเมริกันป่วย และเสียชีวิตจาก Coronavirus มากขึ้นก็ตาม
ผู้คนบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบ ใช่หรือไม่ ?
"ใช่" ทรัมป์ตอบ
ผู้คนบางกลุ่มจะได้รับผลกระทบ "อย่างหนัก" ใช่หรือไม่ ?
"ใช่" ทรัมป์ตอบ
"แต่เรามีความจำเป็นจะต้องเปิดประเทศ และเราจะเปิดอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้"
เขากล่าวเสริม
ทรัมป์ได้แสดงความเห็นต่อไป ว่าในขณะนี้เศรษฐกิจได้เกิดความขุ่นมัวที่มากขึ้นของภาวะถดถอย และมีขาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคนต้องตกงาน
นอกจากนั้น เขายังได้สนับสนุนให้ผู้คนในประเทศ เมินเฉยต่อมาตรการ Social Distancing และ Lockdowns โดยได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า
"ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความปลอดภัย"
คำถามชวนให้คิด : ในปัจจุบัน ทรัมป์และฝ่ายบริหารของเขา กำลังเป็นห่วงเรื่องอะไร ? ระหว่างเศรษฐกิจ หรือชีวิตของผู้คน ?
ส่วนภาพด้านล่างนี้ จะแสดงให้เห็นถึงคาดการณ์อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศในวันที่ 8 พฤษภาคม 2020 เวลา 19.30 น. (อีก 2 วัน)
โดยมีคาดการณ์ไว้ว่าวิกฤตในครั้งนี้จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 28.2% และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะถือเป็นอัตราการว่างงานที่สูงกว่าวิกฤต Great Depression เมื่อปี 1929 เสียอีก
คำแนะนำสำหรับนักลงทุนที่จะลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ : ท่านควรศึกษา และพินิจ พิเคราะห์ ปัจจัยของความเสี่ยงทั้งหมด ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน หากจะลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันประเภท Shale Oil และกลุ่มกองทุนที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากเกินไป
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา