6 พ.ค. 2020 เวลา 07:40
ประวัติศาสตร์ใน “หลวงปู่ทวดฯ” (๑)
.
เนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๕๖๓ วันสำคัญทางพระพุทธศานา จึงขอถือโอกาสเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระอริยสงฆ์รูปหนึ่งให้ฟัง หนึ่งในรากโพธิ์ร่มไทรของผู้นับถือศาสนาพุทธ นั่นก็คือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” แห่งวัดวัดราษฎร์บูรณะ หรือ “วัดช้างให้” ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทุกวันนี้บรรยากาศภายในวัดช้างให้อาจเงียบเหงาไปบ้าง หากเทียบกับอดีตที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศตั้งใจมาสักการะหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด อย่างไรก็ตาม สิ่งน่าสนใจประการหนึ่งซึ่งยังคงมั่นอยู่เสมอ คือเรื่องราว “รากเหง้าประวัติศาสตร์” สะท้อนความเกี่ยวโยงผูกพันกันของผู้คนและแผ่นดิน
ความต่อเนื่องจากเรื่องเล่าสมัย “สมเด็จเจ้าพะโคะ” หรือ “หลวงพ่อทวดฯ” โละหายจากวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ถิ่นกำเนิด กาลครั้งนั้นมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้น ณ เมืองไทรบุรีหรือ “เคดะห์” ยุคสมัยที่คนมลายูเมืองไทรบุรีส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาพุทธ ภิกษุชรารูปนี้นับเป็นปราชญ์ทางธรรมและเชี่ยวชาญทางอิทธิพลอภินิหารเป็นยอดเยี่ยม ชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมาก
 
ในทางประวัติศาสตร์ “โลกมลายู” นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าความจริงแล้ว ‘เคดาห์’ ‘เคดะห์’ ‘กือดะห์’ หรือ “ไทรบุรี” ซึ่งหลวงปู่ทวดฯ ไปปรากฏกาย เป็นส่วนหนึ่งของ “ลังกาสุกะ” (Langkasuka) อาณาจักรมลายูเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองสุดบนฝั่งตะวันออกของ “คาบสมุทรมลายู” ก่อตั้งตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑ หรือต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒ (ระหว่าง ค.ศ. ๘๐-๑๐๐) หรืออาจตั้งมาก่อนคริสตศักราช เติบโตเป็นรัฐขนาดใหญ่ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมบนเส้นทางคาบสมุทร ระหว่างอ่าวสยามกับมหาสมุทรอินเดีย ศูนย์กลางตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร “ตรงบริเวณจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวไว้เช่นนั้น
หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
วันโมฮัมหมัด ซักฮิร์ บิน อับดุลลอฮฺ เขียนไว้ใน “ตาริค ปาตานี” (Tarikh Patani) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๙ ว่า “พระราชาผู้ทรงปกครองอาณาจักรลังกาสุกะนี้นับถือศาสนาฮินดู พราหมณ์ ราชธานีอยู่ที่เมืองเคดะห์ในปัจจุบัน เราไม่ทราบว่าราชอาณาจักรนี้เกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่สืบทอดกันมาว่า ราชอาณาจักรลังกาสุกะ เกิดก่อนคริสตกาล (ศักราช) คนจีนที่มาค้าขายในดินแดนแห่งนี้ได้กล่าวถึงราชอาณาจักรลังกาสุกะเช่นกัน พวกเขาบอกว่า ราชอาณาจักรลังกาสุกะเริ่มมีพระราชา หลังจากพระเยซูประสูติ ๒๐๐ ปี”
นอกจากนี้ มีการตั้งสมมติฐานอีกมากมายเกี่ยวพันกับความเป็น “ปาตานี” หรือ “ปัตตานี” ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุจีนที่เดินทางมายังดินแดนแห่งนี้ เช่นเอกสาร Hsu Kao Seng Cuan บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศจีน ช่วงคริสตศักราชที่ ๘ พระภิกษุจูนาโลโต ต้องการเดินทางไปยังอาณาจักร Leng Chieh Hsiu ที่ภิกษุทั้ง ๓ คือ อี้หลัง ฉีหงาน และ อี้ฉวน แล่นเรือจากจีนผ่านฟูนันมาถึงทะเลของ Lang Chia Shu (หมายถึง ลังกาสุกะ) และได้ทอดสมอที่นั่น พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระราชา และได้รับความเอื้อเฟื้อจัดที่พำนักอย่างเหมาะสม เรื่องราวเกี่ยวกับพระภิกษุของจีนและพุทธศาสนาที่ลังกาสุกะมีมาอย่างต่อเนื่อง การเดินทางจากจีนไปอินเดียมักจะแวะพักที่ลังกาสุกะ ในขณะที่ภิกษุรูปอื่นบางส่วนเดินทางต่อไปยังอินเดีย แต่ภิกษุบางรูปมาพำนักอยู่จนกระทั่งมรณภาพที่ลังกาสุกะ เช่น ภิกษุ อี้ หัว ฯลฯ
แน่นอนว่า บนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้แต่ต่างยุคสมัย ย่อมหมายรวมถึง “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” อีกรูปหนึ่งอยู่ด้วย
บันทึกของท่านฟากิฮฺ อาลี ใน Tarikh Patani ตอนหนึ่งจารึกไว้ว่า ทายาทของพระราชาแห่งลังกาสุกะที่เมืองเคดาห์ ให้อำนาจแก่ปาตานีในการปกครองเมืองฝั่งตะวันออก เพื่อจะได้ทำการค้าขายกับจีน เขมร บูกิส ชวา และบาหลี และกล่าวว่า “มีช้างสำหรับขนสินค้า มีทางข้ามเขาไปยังเคดาห์ อยู่ที่เคดาห์ไปถึงปาตานี เดินทางด้วยช้างใช้เวลาหนึ่งเดือนกับยี่สิบห้าวัน การเดินทางไม่เร็วและไม่ช้า เพราะหยุดพักให้ช้างได้กินอาหารและพักผ่อน” และ “อาณาจักรลังกาสุกะนี้ ครอบคลุมถึงนครศรีธรรมราช (Legor) และสงขลา (Singgora) เมืองท่าที่สำคัญอยู่ที่ปาตานี แต่เราไม่ทราบชัดว่า ตั้งอยู่ตรงไหน เพราะปาตานีสมัยนั้นยังไม่มีชื่อ ปาตานี”
“ลังกาสุกะ” หรือ “เคดะห์” กลายเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับเรือที่ผ่านไปมาระหว่างอินเดียและจีนในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ และมีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ทั้งกษัตริย์และพลเมืองนับถือศาสนาฮินดู พราหมณ์ และพุทธ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ จึงถูกครอบคลุมด้วยอำนาจของ “อาณาจักรศรีวิชัย” กระทั่งชื่ออาณาจักรลังกาสุกะถูกบันทึกไว้เป็นครั้งสุดท้ายโดยพ่อค้าชาวอาหรับในปี ค.ศ. ๑๕๑๑ หลังจากนั้นจึงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ และมาปรากฏอีกครั้งยุคสมัยใหม่ในชื่อ “ปาตานี” และ “ไทรบุรี” ศูนย์กลางการปกครองเมืองต่างๆ ทางชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก ถือกันว่า “ปาตานี” เป็นอาณาจักรมลายูที่มีความต่อเนื่องมาจาก “อาณาจักรลังกาสุกะ” ผู้คนนับถือศาสนาแตกต่างกันไป ทั้ง “มลายูอิสลาม” “มลายูพุทธ” หรือ “มลายูจีน” ก่อนที่ต่อมาผู้คนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม หลังกษัตริย์ได้เปลี่ยนศาสนาจาก “พุทธศาสนานิกายมหายาน” มารับนับถือ “ศาสนาอิสลาม” และเกี่ยวพันกับความเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” ผ่านจารึกทางประวัติศาสตร์ในหลากหลายมุมมองและปัญหา
วัดช้างให้ - ปัตตานี
โฆษณา