8 พ.ค. 2020 เวลา 08:15
ประวัติศาสตร์ใน "หลวงปู่ทวดฯ" (๒)
.
“เมืองไทรบุรี” นั้นตามประวัติด้านหนึ่งเล่าว่า เป็นหัวเมืองประเทศราชของไทยมาแต่ครั้งโบราณ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อเมืองมะละกาเริ่มเรืองอำนาจ ผู้นำมะละกาได้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ผู้นำของไทรบุรีซึ่งผู้ครองเมืองต้นวงศ์ตระกูลล้วนบ่งบอกถึงเชื้อสายความสัมพันธ์กับไทยที่ร่วมวัฒนธรรมอิทธิพลฮินดู-พุทธ จึงได้หันไปเป็นมิตรกับมะละกา เจ้าเมืองไทรบุรีนับตั้งแต่องค์ที่ ๗ เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
กล่าวกันว่าระหว่างสมัยปลายสมัยอยุธยา เมืองไทรบุรียังเป็นประเทศราชของไทย แต่ลุล่วงถึงปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ ครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ ศูนย์อำนาจของไทยที่อยุธยาสลายตัวลง เมืองไทรบุรีจึงแยกตัวเป็นอิสระ และปฏิเสธศูนย์อำนาจใหม่ของไทย ไทยจึงต้องใช้กำลังบีบบังคับยึดครองเมืองไทรบุรีในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ ลักษณะการปกครองเมืองไทรบุรีระยะแรก ระหว่างพุทธศักราช ๒๓๒๘-๒๔๓๙ อยู่ในรูปแบบการจัดการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชของไทย เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ห่างไกลกัน แต่มีพันธสัญญาต่อกันว่าทั้ง ๒ ฝ่ายต้องมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกัน
"ภาพหลวงปู่ทวดฯ" ครั้งผู้เขียนตามรอยเก็บข้อมูลฝั่งประเทศมาเลเซีย
กระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ รัฐบาลไทยถูกคุกคามทางอธิปไตยจากมหาอำนาจตะวันตก ช่วงลัทธิจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นกำลังรุ่งโรจน์ ต่อมาจึงเป็นที่มาซึ่งผู้นำรัฐบาลไทยขณะนั้นยอมลงนามในอนุสัญญาลับปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ส่งผลให้อังกฤษสามารถรักษาอำนาจและอิทธิพลในแหลมมลายู และด้วยผลอนุสัญญาลับนี้เองที่ต่อมารัฐบาลไทยต้องยก เมืองไทรบุรี เมืองเปอร์ลิส หมู่เกาะลังกาวี ในมณฑลไทรบุรี และดินแดนส่วนอื่นที่นอกเหนือจากมณฑลไทรบุรีคือ เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู และเขตตอนใต้เมืองรามัน ให้แก่รัฐบาลอังกฤษ
ต่อมามณฑลไทรบุรีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ เมืองไทรบุรี เมืองเปอร์ลิส หมู่เกาะลังกาวี ตกอยู่ในอธิปไตยของอังกฤษ ภายหลังเมื่อรัฐบาลอังกฤษมอบเอกราชให้หัวเมืองมลายูของอังกฤษ คือ รัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส จึงตกเป็นของสหพันธรัฐมาเลเซียดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
“สกรรจ์ จันทรัตน์” ให้รายละเอียดไว้ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ ว่า อาณาบริเวณของมณฑลไทรบุรี ทำเลตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกเกือบสุดคาบสมุทรมลายู มีอาณาเขตทิศเหนือจดเมืองตรังในมณฑลภูเก็ต เมืองพัทลุง และเมืองสงขลา ในมณฑลนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช ในมณฑลนครศรีธรรมราช และเมืองปัตตานี มณฑลปัตตานี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดรัฐเประในสหพันธรัฐมาเลย์ หรือรัฐเประในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียปัจจุบัน ทิศตะวันตกจำนวน ๑ ใน ๓ ทางตอนใต้จดสมารังไพรของรัฐปีนังใน เสตรท เสตเติลแมนต์ หรือในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียปัจจุบัน
๒ ใน ๓ ทางตอนเหนือของมณฑลไทรบุรี เป็นชายฝั่งทะเลช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งเกาะต่างๆ ด้านฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู เช่น หมู่เกาะลังกาวี หมู่เกาะตะรุเตา เป็นต้น ปัจจุบันดินแดนมณฑลไทรบุรีบางส่วนอยู่เขตประเทศไทย แต่ดินแดนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ส่วนที่อยู่ในประเทศไทยคือบางส่วนของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ส่วนที่อยู่ในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย คือ รัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) และรัฐเปอร์ลิส (ปะลิส)
นี่คือประวัติศาสตร์ของเมืองไทรบุรีที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของ “ท่านลังกา องค์ท่านดำ” หรือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” อันต่อมายังเกี่ยวพันถึง “วัดช้างให้” แห่งเมืองปัตตานี ซึ่งตามตำนานเล่าว่าหลังจากพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิดีเพื่อสร้างเมืองให้น้องสาวชื่อ “เจ๊ะสิตี” ซึ่งเป็นน้องสาวได้ครอบครอง หลังพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาว และมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางกลับไปยังพื้นที่ที่ช้างบอกให้ครั้งแรก จึงตกลงหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่าและปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” และได้มอบถวายวัดช้างให้แก่ “ท่านลังกา” ครอบครองอีกวัดหนึ่ง
ร่องรอยอารยธรรมฮินดู-พุทธ ในบูจังวัลเลย์ รัฐไทรบุรี (เคดะห์)
เรื่องราวของพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี จึงเป็นตำนานที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่สำคัญ ๒ แห่งด้วยกันสถานที่แรก คือ “เมืองปัตตานี” สำหรับแห่งที่สอง คือ “วัดช้างให้” ซึ่งกลายเป็นสมญานามของ “หลวงปู่ทวด”
ข้อมูลทางประวัติศาสตร์สะท้อนว่า วัดช้างให้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นสมัย “พระมหาธรรมราชา” และเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดช้างให้ก็คือ หลวงปู่ทวดนั่นเอง โดยปัตตานีนั้นเชิงประวัติศาสตร์นับได้ว่าเป็น “เมืองท่าและเมืองทอง” เป็นเมืองมหานครที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมานับพันปี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในนามของ “ลังกาสุกะ” หรือชื่อที่ชาวเมืองเรียกคือ “โกตามะลิฆัย-โกตามหาลิฆา-โกตามลิไฆย” หรือชาวจีนเรียกเพี้ยนไปเป็น “ลัง-ยา-สิ่ว” และอินเดียเรียก “อิลังคาโศกะ” พลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ภายหลังต่อมาถึงได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี
โฆษณา