6 พ.ค. 2020 เวลา 12:27 • ปรัชญา
“ภัยและอุปสรรค ของผู้ปฏิบัติธรรม”
การงานใดใด จะสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายได้
ย่อมต้องพบเจอกับอุปสรรคไม่มากก็น้อย
ในการปฎิบัติธรรมก็เช่นกัน
ภัยและอุปสรรคในการปฎิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ
ที่ผู้ปฏิบัติธรรมและผู้ที่มีความสนใจที่จะเริ่มปฎิบัติธรรม
ควรศึกษาทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญ
ที่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างมาก
ผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ทำให้การปฎิบัติธรรมไม่เจริญก้าวหน้า
บางคนหลงผิด กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปมาก
บางคนหลงผิด จนปัจจุบันขณะยังไม่รู้ตัวเลยก็มี
คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากที่เมื่อพบของดีแล้ว
แต่ไม่รู้จักวิธีใช้อย่างถูกต้อง จนทำให้เกิดโทษภัยมากกว่าการได้รับประโยชน์
✏️✍️
วันนี้ฉันได้รวบรวม ’ภัยและอุปสรรคของผู้ปฎิบัติธรรม’
ไว้ในบทความนี้ ขอใช้ภาษาง่ายๆ และไม่ลงลึกใน
รายละเอียดมากนัก เพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไปค่ะ
(เนื้อหาค่อนข้างเฉพาะทาง)
ความคิดเห็นส่วนตัว แนะนำให้ศึกษา 1️⃣ - 4️⃣
ไว้เป็นความรู้พื้นฐานบ้าง แต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
เช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกิเลสมากในขณะที่ปฎิบัติ
บางคนอ่านตำรามากแล้วหลงยึดติด เมื่อปฏิบัติ
จิตชอบคิดว่า ต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้
เกิดเป็นโลภะ ทำให้ฟุ้งซ่านไม่อยู่ในปัจจุบันขณะ
การปฎิบัติธรรมจึงไม่ก้าวหน้า
การมีครูบาอาจารย์ทางธรรมที่มีความรู้ให้คำปรึกษา ในการปฏิบัติ (หรือมีการสอบอารมณ์เป็นระยะ)
เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ อันนี้แนะนำเลยค่ะ
1️⃣ นิมิต
นิมิต เป็นภาพต่าง ๆ ที่เกิดจากอำนาจกิเลส
ที่เข้ามาขัดขวางไม่ให้จิตเกิดสมาธิและมีสติสัมปชัญญะมี 5 แบบ คือ (จำง่ายๆว่าภาพล้อ ล่อ หลอก ลวง ล้าง)
1) ภาพล้อ คือ ภาพอีกภาพที่เหมือนกันกับตัวเรา
(บางคนเรียกกายทิพย์) เวลาเราทำอะไรก็จะทำตามเราหรือบางครั้งเราอาจนึกคิดให้ภาพนั้นทำอะไรก็ได้
2) ภาพล่อ คือ ภาพนิมิตที่เกิดจากความประณีต
ของจิต สร้างมโนภาพอันสวยงาม ให้ชวนหลงใหลเพลิดเพลิน เช่น การเห็นสวรรค์ เห็นวิมานเห็นเทวดานางฟ้า เป็นต้น
3) ภาพหลอก คือ ภาพนิมิตที่น่ากลัวต่างๆ ทำให้รู้สึกตกใจหรือกลัว เช่น การเห็นสัตว์ร้าย เห็นใบหน้าที่น่ากลัวจะเข้ามาทำร้าย เห็นสถานที่ที่น่ากลัว เป็นต้น
4) ภาพลวง คือ นิมิตที่ตรงข้าม (เป็นปฏิภาค) กับนิมิตจริง เช่น การเห็นนรก เห็นสวรรค์ อยากเห็นอะไรก็เห็นได้ การเห็นเหล่านั้นอาจเป็นนิมิตจริงอันเกิดจากสมาธิปัญญาหรืออาจเป็นภาพลวงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ล้วนแล้วแต่ไม่ก็ควรเข้าไปหลงยึดติดหลงใหลเพลิดเพลินยินดีด้วยกันทั้งสิ้น
5) ภาพล้าง เป็นเหตุที่มาจากสิ่งภายนอกเพื่อเข้ามาขัดขวางการปฎิบัติธรรม เช่น เปรตแสดงตนมาขอส่วนบุญ เห็นปีศาจ อสุรกาย ยักษ์มาร มาแสดงตน เห็นเจ้ากรรมนายเวรเก่า เป็นต้น
2️⃣ นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ คือ ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี
เป็นอุปสรรคที่ทำให้ปฏิบัติธรรมไม่ได้หรือ
ทำให้ล้มเลิกความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม ได้แก่
1) กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ รูป รส
กลิ่น เสียง และสัมผัส
2) พยาบาท คือ ความไม่พอใจ ความผูกโกรธ ปองร้ายผู้อื่น
3) ถีนมิทธะ ความมีจิตหดหู่ท้อแท้ ความขี้เกียจ
4) อุทธัจจะกุกกุจจะ คิดฟุ้งซ่านและความรำคาญหงุดหงิดใจ
5) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความไม่แน่ใจ
ในผลการปฏิบัติ
3️⃣ วิปัสสนูกิเลส ๑๐
วิปัสสนูกิเลส ๑๐ คือ กิเลสที่ทำให้เกิดความหลงผิด
ในการปฏิบัติ โดยกิเลสจะเข้ามาแต่งจิตในขณะปฎิบัติทำให้เพลิดเพลินยินดีพอใจและหลงคิดว่าตนได้
บรรลุธรรม หรือหลงผิดไม่ปฏิบัติให้เจริญก้าวหน้า
1) โอภาส คือ แสงสว่าง เกิดแสงสว่างต่างๆ ทำให้เกิดความยินดีพอใจ
2) ญาณ คือ ความหยั่งรู้ เกิดความยินดี
ในความรู้ที่แก่กล้า
1
3) ปีติ คือ ความอิ่มใจ เกิดความยินดีใน
ความอิ่มใจ ปิติมี 5 ชนิด คือ
▫️ ขุททกาปีติ มีอาการขนลุกซู่ตามตัวและศีรษะ
▫️ ขณิกกาปีติ มีอาการคันเหมือนมีมดไต่ไรคลาน ยุบๆ ยิบๆ ตามหน้า ตามร่างกาย
▫️โอกกันติกาปีติ มีอาการเหมือนโต้คลื่น
ตัวโยก ตัวโคลง
▫️ อุพเพงคาปีติ มีอาการเหมือนตัวเบา ตัวลอยสูงขึ้น บางครั้งมีสัปหงก โงกข้างหน้า โงกข้างหลัง
▫️ ผรณาปีติ อาการเย็นซาบซ่านวูบวาบไปทั่วกาย
4) ปัสสัทธิ คือ ความสงบเย็น ยินดีในความสงบใจอย่างมาก
5) สุข คือ ความสุขสบายใจ ความยินดีพอใจในความสบายอกสบายใจ
6) อธิโมกข์ คือ ความน้อมใจเชื่อ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มีศรัทธาแก่กล้า
7) ปัคคาหะ คือ ความเพียรที่เกินพอดี
เกิดความพอใจในความเพียรอย่างแรงกล้า
8) อุปัฏฐาน คือ มีสติแก่กล้า มีความยินดีในการระลึกรู้ทันอารมณ์ต่างๆ ได้ดี
9) อุเบกขา คือ ความมีจิตเป็นกลาง รู้สึกพอใจในความนิ่งเฉยมาก
10) นิกันติ คือ มีความพอใจ มีความยึดมั่น ชอบใจ ในวิปัสนูกิเลสทั้ง 9 ประการที่ได้กล่าวมา
4️⃣ พญามาร ๕
1) ขันธมาร ได้แก่ ขันธ์ ๕ ( รูปนาม)
คือ มีอาการปวดเมื่อย เจ็บปวดต่างๆ นานา อยู่เสมอ
2) กิเลสมาร ได้แก่ กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘
มีอำนาจครอบงำจิตไปต่างๆนานา ทำตามอารมณ์นั้นๆ
3) อภิสังขารมาร ได้แก่ ความคิดและการปรุงแต่งเกินพอดี เช่น การผูกพัน อาลัยในสิ่งที่ดีอย่างมาก
หรือชั่วอย่างหนัก จนไม่ยอมปล่อยวาง
4) มัจจุราชมาร ได้แก่ ความตายย่อมเกิดขึ้นได้
ทุกขณะ ไม่เคยเว้นให้กับผู้ใด จึงไม่ควรประมาท
5) เทวปุตตมาร ได้แก่ เทวดาที่มีกิเลสหยาบหนา
มีจิตอิจฉาริษยา มิให้ผู้ปฏิบัติตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ หรือ เจ้ากรรมนายเวร อมนุษย์ ที่ผูกเวรกันมา
คอยเบียดเบียน จึงควรแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล
ไปให้ตามสมควร
5️⃣ สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ ๑๐ คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจ
ให้หลงอยู่ในวัฏฏะ มี 10 ประการ
1) สักกายะทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕
(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง
2) วิจิกิจฉา คือ มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ในการปฏิบัติ คือ มีความสงสัยในการปฏิบัติว่าจะไม่มีผลจริง)
3) สีลัพพตปรามาส คือการถือศีลไม่จริงจัง
สักแต่ว่าถือ ทำตามๆ กันอย่างงมงาย
4) กามราคะ คือ มีความยินดีในกามคุณ ๕
คือ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส
5) ปฏิฆะ คือ มีความกระทบกระทั่งในใจ
ทำให้ไม่พอใจ เป็นโทสะแบบเบาๆ
6) รูปราคะ คือ มีความพอใจในรูปธรรม
พอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
7) อรูปราคะ คือ มีความพอใจในนามธรรม
คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือ อรูปฌาน
8) มานะ คือ มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน
หรือคุณสมบัติของตน (รู้สึกว่าเราดีกว่าเขา
เสมอเขา เลวกว่าเขา)
9) อุทธัจจะ คือ มีความฟุ้งซ่าน
10) คือ อวิชชา คือ มีความไม่รู้จริง หลงพอใจ
ในกามคุณ กำหนัดยินดีในกามคุณ เรียกว่า อุปาทาน
🔸 พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ
หมดสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส
🔸 พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ
กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย
🔸 พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อแรกได้หมด
🔸 พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ
น้อมรำลึกในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เนื่องในวันวิสาขบูชา🙏🙏🙏
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ❤️💚
#กระเรียนน้อย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา