11 พ.ค. 2020 เวลา 01:39
บ่อพักน้ำในห้วย เพื่อสูบน้ำเข้าฟาร์ม (ใจเกษตร EP21)
บ่อพักน้ำในห้วย
แปลงที่ดิน ของใจเกษตรฟาร์ม ติดห้วยแม่กระบาล มีน้ำไหลผ่านห้วยทั้งปี ซึ่งต้นน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำกระทะแตก อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย
ผมสังเกตวิธีการต่างๆ ของชาวบ้าน ของคนงาน และเจ้าของที่ดินคนเดิม ทุกวิธีการ รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต
พบว่าบ่อพักน้ำ ในแต่ละแบบ/แต่ละวิธี ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เช่น
1. ขุดเป็นบ่อเล็กๆ ล้อมด้วยมุ้งเขียว หรือใช้ตระกร้าพลาสติกแทนบ่อพัก
เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย แต่ไม่นาน บ่อก็ตื้นหรือมีทรายไหลเข้ามา ก็ต้องโกยทรายออกไปเรื่อยๆ แถมใช้ได้เฉพาะปั๊มหอยโข่ง ที่มีหัวกระโหลกดูดน้ำ ติดตั้งปั๊มซัมเมอร์สไม่ได้
2. ขุดบ่อขนาดใหญ่ ริมห้วย
เมื่อ 2 ปีก่อน อดีตคนงานของผม เสนอให้รถแบ็คโฮที่มีงานอื่น ซึ่งทำอยู่แถวนั้น ขุดบ่อขนาดใหญ่ระหว่างสวน 2 แปลง โดยแบ่งจ่ายค่าขุด คนละครึ่งกับเจ้าของสวนอีกแปลง
แต่เมื่อหน้าฝนผ่านไปเพียงฤดูเดียว น้ำในห้วยไหลแรง พัดทรายกลบบ่อ แบบไม่เห็นร่องรอยการขุดมาก่อนเลย (เสียเงิน ค่าความรู้ไป แต่ไม่ได้น้ำใช้)
ซากรองปูน และการขุดบ่อเล็กๆ
3. ฝังรองปูนลงไปในห้วย มีขอบรองปูนสูงกว่าระดับน้ำ เพื่อกันทรายลงไปในย่อ ซึ่งดูถาวรกว่าแบบขุดบ่อขนาดเล็ก พอบ่อเริ่มตื้น ก็โกยทรายออก ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่เมื่อเจอปีที่น้ำไหลแรงมาก มีฝนตกหนักๆ ก็พัดรองปูนคว่ำเสียรูปไปเลย
4. ฝังท่อ PVC ขนาด 4" ที่มีการเจาะรูให้น้ำเข้า ในอินเตอร์เน็ตแชร์กันเยอะ แต่ผมดูแล้ว วิธีนี้น่าจะเหมาะกับที่ลุ่มชุ่มน้ำ ไม่สามารถทนกระแสน้ำไหลแรงๆได้
ธนาคารน้ำ
จากข้อบกพร่องต่างๆ จำเป็นต้องออกแบบใหม่ สำหรับงานลักษณะนี้โดยเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาของวิธีการต่างๆที่กล่าวมา
จึงออกแบบโดย ใช้บ่อพักปูนแบบสามทาง ที่ใช้ทำระบบท่อระบายน้ำริมถนน แล้วทำการปรับแต่งต่อเติม สร้างเป็นบ่อพักน้ำโดยเฉพาะ ดังนี้
1. หล่อปูนขอบฝาบ่อ (ปรกติขอบฝา จะหล่อเมื่อวางบ่อพักทำถนนเสร็จแล้ว)
หล่อปูน ขอบฝา และฝาบ่อพัก
2. หล่อปูนฝาบ่อ โดยใส่ท่อ PVC 6" จำนวน 2 ท่อ (จะใช้ท่อ PVC 4" ก็ได้)
3. ทำโครงเหล็ก เพื่อรับแรงกดของทรายใต้ดิน
โครงเหล็กบ่อพัก
4. กั้นด้วยตระแกรงเหล็ก กันทรายกันหินเข้าบ่อ
กั้นด้วย ตระแกรงเหล็ก
5. นอกสุด กั้นด้วยมุ้งเขียวอีก 2 ชั้น ให้เฉพาะน้ำผ่านได้ แต่ทรายผ่านไม่ได้
กั้นด้วย มุ้งเขียว
6. เนื่องจากบ่อพักน้ำนี้ หนักมากๆ จึงใช้รถแบ็คโฮขุดหลุมทราย และยกบ่อพักนี้ด้วย
รถแบ็คโฮขุดหลุมทราย และยกบ่อพัก
การวางบ่อพัก จะเลือกดินที่เป็นทรายล้วน ถมรอบบ่อพัก (ทรายช่วยกรองให้น้ำใสสะอาด)
รถแบ็คโฮวาวบ่อพัก และถมด้วยทราย
7. ปิดด้วยฝาบ่อ ใช้มุ้งครอบฝาบ่อก่อนปิดฝาบ่อ
ติดตั้งปั๊มซัมเมอร์ส เดินท่อและสายไฟ
8. ติดตั้งปั๊มซัมเมอร์ส เดินท่อ 2" และสายไฟปั๊ม
ตำแหน่งที่วางบ่อพัก จะวางไว้ที่ขอบร่องน้ำของห้วย เพราะ
- ในช่วงที่แล้งหรือไหลน้อยที่สุด ก็ยังมีน้ำซึมเข้าบ่อทั้งปี
- ในช่วงที่น้ำไหลแรง เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสน้ำแรงๆที่กลางห้วย
โครงสร้างหลัก จมอยู่ใต้ดินเกือบทั้งหมดและหนักมากๆ หวังว่ากระแสน้ำช่วงน้ำไหลแรง จะทำอะไรบ่อพักนี้ไม่ได้
บ่อพักด้านใน มีความลึกเกิน 1 เมตร ซึ่งสามารถติดตั้งปั๊มซัมเมอร์ส ขนาดที่ใหญ่ที่สุดได้อย่างสบาย และติดตั้งปั๊มได้หลายตัวด้วย
ผ่านไปหลายๆปี มีความเป็นไปได้ที่ทรายจะค่อยๆเล็ดลอดไหลเข้าบ่อพัก จนทำให้บ่อพักค่อยๆตื้น หรือทำให้ความลึกภายในบ่อพักลดน้อยลง
จึงออกแบบให้สามารถใช้แรงงานคน เปิดฝาบ่อได้(ต้อง 2-3 คนจึงยกไหว) ให้คนงานลงไปในบ่อพัก แล้วโกยทราย/ตักทรายออกจากบ่อ
หวังว่าท่านผู้อ่าน ที่จำเป็นต้องใช้ปั๊มซัมเมอร์ส ดูดจากห้วยที่มีกระแสน้ำไหลแรงๆในหน้าฝน และไหลเอื่อยๆในหน้าแล้ง
ลงทุนมากครั้งเดียว แต่ดูแลรักษาง่าย และมีอายุใช้งานยาวนาน
สนใจเทคนิคจัดการน้ำ และการทำเกษตร
โปรดติดตาม ใจเกษตร EP ต่อไป
ได้ที่ Blockdit: www.blockdit.com/worklifewinwin

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา