7 พ.ค. 2020 เวลา 14:31 • การศึกษา
จำนองที่ดินไว้ 1 แปลง ภายหลังได้นำไปแบ่งแยกเพิ่มอีก 8 แปลง... ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงที่แบ่งแยกได้หรือไม่?
เรื่องมีอยู่ว่า มีลูกหนี้ชื่อว่าลุงฉ่ำได้นำที่ดินของตนแปลงหนึ่งไปจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้เงิน จำนวน 1,000,000 บาทแก่เจ้าหนี้
เนื่องจาก ลุงฉ่ำแกมีลูกถึง 8 คน (สงสัยแกจัดถั่งเช่าหลังอาหาร) แกกลัวว่าหากเป็นอะไรไปลูก ๆ ของแกจะทะเลาะกันเพื่อแย่งสมบัติ แต่พอคิดไปคิดมาสมบัติที่มีอยู่ก็เหลือเพียงที่ดินแค่แปลงเดียว แถมยังติดจำนองอีกต่างหาก
1
Cr. pixabay
แกนึกขึ้นมาได้ว่าที่ดินถึงแม้จะติดจำนองก็ยังขอแบ่งแยกได้ จึงรีบไปยังสำนักงานที่ดินเพื่อขอแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงเล็ก ๆ อีก 8 แปลง (รวมแปลงเก่าอีก 1 แปลง = 9 แปลง) เพื่อที่จะได้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูก ๆ ของแกทุกคน
ลุงฉ่ำนี่ช่างรอบคอบและห่วงใยลูก ๆ เหลือเกิน แต่เสียอย่างเดียว คือ แกลืมคืนเงินให้แก่เจ้าหนี้!!
เมื่อไม่คืนเงินก็หนีไม่พ้นที่จะถูกฟ้อง โดยเจ้าหนี้ได้ฟ้องบังคับจำนองเอากับที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่รู้ว่าที่ดินได้ถูกนำมาแบ่งแยกเพิ่มอีก 8 แปลงแล้ว จึงเขียนในคำฟ้องว่าขอบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ xxx ซึ่งเป็นเลขที่โฉนดเก่าก่อนที่จะถูกแบ่งแยกเพียงแปลงเดียว
Cr. pixabay
(เผื่อใครยังไม่ทราบ..เวลาแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลาย ๆ แปลงดังเช่นคดีนี้ สำนักงานที่ดินจะออกเลขโฉนดให้ใหม่ เช่น เดิมโฉนดเลขที่ 8888 เมื่อแบ่งแยกเพิ่มอีก 8 แปลงแล้วก็จะได้เลขที่โฉนดใหม่ เช่น 0001 – 0008 และ 8888 ซึ่งเป็นฉบับเดิม เป็นต้น)
ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดีและให้บังคับจำนองเอากับที่ดินเลขที่ xxx ซึ่งเป็นเลขที่เก่าก่อนแบ่งแยก ถ้าหากไม่พอชำระหนี้จึงให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่น..
ปัญหาจึงเกิดขึ้นในเวลาที่จะบังคับคดีเพื่อเอาที่ดินขายทอดตลาดใช้หนี้ เพราะลุงฉ่ำแกได้ไปร้องคัดค้านว่า...
Cr. pixabay
- เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอากับที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกใหม่ทั้ง 8 แปลง โดยอ้างว่าเป็นที่ดินคนละแปลง ซึ่งตอนฟ้องก็ไม่ได้ขอให้บังคับจำนองที่ดินทั้ง 8 แปลงนี้
- ในคำพิพากษาไม่ได้ระบุให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 8 แปลงไปพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ xxx (โฉนดเก่า)
- การบังคับคดีจะต้องเรียงไปตามลำดับ เจ้าหนี้จะบังคับเอากับที่ดินแปลงใหม่ทันทีไม่ได้
เห็นข้อต่อสู้ของลุงฉ่ำแล้วคิดว่าเป็นยังไงบ้างครับ มีสิทธิชนะหรือไม่ ลองทายกันเล่น ๆ ก่อนอ่านบรรทัดต่อไปนะครับ
เรื่องนี้ศาลเห็นว่า...
1. แม้จะมีการแบ่งแยกที่ดินที่จำนองโฉนดเลขที่ xxx (โฉนดเก่า) ออกเป็นหลายแปลงเป็นโฉนดเลขที่ xxx1 – xxx8 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีก็ตาม
2. เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ตกลงยินยอมให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินที่จำนองออกไปโดยปลอดจากการจำนอง “ต้องถือว่าการจำนองยังครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนที่แบ่งแยกออกไปด้วยกันอยู่นั่นเอง”
3. โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำนองที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกออกไปจากที่ดินที่จำนองอย่างทรัพย์ที่จำนองได้
4. การที่โจทก์บังคับจำนองเอากับที่ดินโฉนดเลขที่ xxx1 – xxx8 ด้วย จึงไม่ใช่เป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลย อันจะทำให้การบังคับคดีไม่เป็นไปตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8314-8315/2551
Cr. pixabay
Reference:
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 717 “แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง...”
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา