Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธุรกิจและกฎหมาย by Kuroba
•
ติดตาม
12 พ.ค. 2020 เวลา 06:46 • การศึกษา
CHAPTER 10
ทำอย่างไรเมื่อต้องติดคุก ( ฟรี ? )
ภาพประกอบจาก : google.com
" อันดับแรกผมขอเกริ่นนำในกรณีติดคุกฟรี ก่อนนะครับ
จากข้อมูลที่เรียบเรียง เพื่อเป็นสาระความรู้กับเพื่อนๆที่อ่านบทความ "
📍 สิทธิที่ต้องบอกต่อ! ติดคุกฟรีรัฐมีเงินเยียวยา
ปัญหาคนติดคุกฟรีถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลอันดับต้นๆปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย
สาเหตุหลักๆคือการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี ทั้งกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันทั้งกรณีที่เจ้าตัวไม่มีหลักทรัพย์ประกัน
ในอดีตการติดคุกฟรีถือเป็น 'คราวเคราะห์' เพราะไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายใดบัญญัติให้การเยียวยากรณีดังกล่าว
ในปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมและสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญาขึ้นมาเยียวยากรณีดังกล่าว
กองทุนยุติธรรมจะให้ความช่วยเหลือทั้งการป้องกันโดยให้เงินประกันแก่ผู้มีรายได้น้อยและการเยียวยาโดยการให้เงินชดเชยแก่ผู้ที่ถูกฝากขังในชั้นสอบสวนแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง รวมทั้งชดเชยกรณีที่ผู้ถูกคุมขังต้องรับโทษเกินคำพิพากษาของศาลด้วย
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญาจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีแต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์
Cr.
www.ilaw.or.th
ภาพจาก : https://map.longdo.com/node/830274
📚 ขอแนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย
1. จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก
2. จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
3. ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ
4. ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย
5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ
อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลยครับ ที่.....
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา สำนักงานที่ว่านี้อยู่ที่ ชั้น 25 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 โทรศัพท์ 0-2502-8083, 0-2502-6539
‼️ ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี
มิฉะนั้นหมดสิทธิ.....นะ...👮🏻♂️
Cr. ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์
ภาพจาก : https://prachatai.com/journal/2019/05/82339
💥 เมื่อ “ติดคุก” ต้องทำอย่างไร " กรมราชทัณฑ์ " ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
สิ่งที่กำหนดว่าจะได้อยู่คุกไหน ก็คือ
1. ท้องที่ที่ทำความผิด
ถูกส่งฟ้องที่ศาลไหนก็ถูกจำคุกที่เรือนจำประจำศาลนั้น
2. สถานะของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีจะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษต่างๆ เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง แตกต่างไปจากผู้ต้องขังที่คดีเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วน ผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย ก็อาจได้รับการพิจารณาส่งตัวไปยังทัณฑสถานเปิดต่างๆ
3. ความรุนแรงของคดี
- ถ้าจำคุกนาน จะถูกส่งไปยังเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งได้แก่ เรือนจำกลางต่างๆ เช่น เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางประจำเขต
- ถ้าโทษไม่สูง ก็จะถูกขังที่เรือนจำจังหวัด หรือเรือนจำอำเภอ
- ถ้าถูกกักขังแทนค่าปรับ จะถูกขังที่สถานกักขัง เช่น สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดต่างๆ
4. ประเภทของความผิด
ผู้ทำผิดคดีเสพยาเสพย์ติดจะถูกคุมขังในเรือนจำที่ทำหน้าที่บำบัดการติดยา ซึ่งได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษต่างๆ เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง (เนื่องจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษมีไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดบางส่วนก็ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำทั่วไป มีวิธีการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่เรียกว่า "ชุมชนบำบัด"
5. ลักษณะของตัวผู้ต้องขังเอง เช่น
- อายุไม่เกิน 25 ปี จะอยู่ในทัณฑสถานวัยหนุ่ม ผู้ต้องขังหญิงถูกส่งเข้าทัณฑสถานหญิง
- ผู้ต้องขังป่วย ถูกส่งเข้า ทัณฑสถานโรงพยาบาล
ภาพจาก : กรมราชทัณฑ์
💥 เช็คอินเข้าคุกวันแรก
วันแรกที่ผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ ดังนี้
1. ตรวจสอบประวัติ
ประวัติของผู้ต้องขังจะถูกส่งมาที่เรือนจำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียดพร้อมๆกับการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังเป็นคนเดียวกันกับที่ระบุไว้ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. พิมพ์ลายนิ้วมือ
เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะนอกจากการสัมภาษณ์แล้ว การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องขังเพื่อ ตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเรือนจำรับผู้ต้องขังไม่ผิดตัว
3. ถ่ายรูป บางเรือนจำอาจถ่ายรูปผู้ต้องขังในวันแรกที่เข้ามา แต่บางเรือนจำอาจรอทำในวันถัดไป
4. ทำบัญชีฝากของมีค่า
เรือนจำจะเก็บของมีค่าทั้งหมดของผู้ต้องขังไว้และออกใบรับฝากให้ผู้ต้องขังเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรับคืนภายหลัง
5. ตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวที่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าเรือนจำ
เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งต้องห้ามปะปนอยู่ โดยเฉพาะยาเสพย์ติด สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้าเรือนจำได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า สบู่ แปรงและยาสีฟัน เป็นต้น
6. พิจารณาจัดหาที่ๆเหมาะสมที่จะให้ผู้ต้องขังอยู่
โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ในแดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ มีผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพก็จะส่งไปพักที่สถานพยาบาลของเรือนจำ
ภาพจาก : https://thestandard.co/news-thailand-thonburi-remand-prison-1st-place-apply-nelson-mandela-regulation/
💥 สิทธิของผู้ต้องขัง
1. สิทธิที่จะได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการและเพียงพอต่อความต้องการ
( กรมราชทัณฑ์รับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ ทุกวัน ฟรี ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคุกจนถึงวันสุดท้าย 🤭 )
1
📍อาหารมื้อแรกในเรือนจำ
ปัญหาของผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำในวันแรกๆก็คือ ความไม่คุ้นเคยกับรสชาติของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสารที่ใช้นั้นเป็นข้าวสารกล้อง 5% ที่เรียกกันว่าข้าวแดง (ยกเว้นในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเรือนจำบางแห่งที่จะหุงข้าวขาวให้กับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ป่วย)
ในกลุ่มผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ปัญหาเรื่องอาหารก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นเรือนจำทุกแห่งจึงอนุญาตให้ผู้ต้องขังซื้ออาหารจากร้านค้าของเรือนจำมารับประทานได้ โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีสิทธิ์ใช้เงินที่ฝากไว้ในบัญชีของตนในการซื้ออาหาร และของใช้ประจำวันได้วันละไม่เกิน 200 บาท
ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ โรงครัวของเรือนจำจะต้องเตรียมอาหารให้กับผู้ต้องขังทั่วไป ผู้ต้องขังที่เป็นอิสลาม และผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติ
2. สิทธิที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ
ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะมีเสื้อผ้าของตนเองจากญาติที่นำมาให้ ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้า ผ้าห่ม และของใช้ประจำตัว ทางเรือนจำจะรับผิดชอบจัดหาให้
3. สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ
เรือนจำทุกแห่งได้พยายามจัดเรือนนอนให้ผู้ต้องขังได้พักอาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอยู่แล้ว แต่คนติดคุกมีมากเกินไป ทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด
4. สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าทีพยาบาลคอยให้การบำบัดรักษาโรคให้กับผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะมีการพิจารณาส่งตัวออกรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก หรือ ส่งตัวมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่กรุงเทพ
5. สิทธิที่จะได้รับการติดต่อกับญาติและทนายความ
ทนายความมีสิทธิ์ขอเข้าพบผู้ต้องขังได้ตามความจำเป็น ส่วนญาติก็สามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามวันเวลาที่เรือนจำกำหนด ปัจจุบันนี้เรือนจำหลายแห่งได้เพิ่มจำนวนวันที่ญาติสามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้มากขึ้น บางเรือนจำอนุญาตให้เยี่ยมได้ทุกวันทำการ ผู้ต้องขังที่พักรักษาตัวอยู่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ถึงตัวภายในโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถเดินออกไปเยี่ยมญาติได้ตามปกติ
1
6.สิทธิที่จะประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของผู้ต้องขัง
ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาต่างๆสามารถประกอบพิธีการทางศาสนาได้ โดยทางเรือนจำจะมีอนุศาสนาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำและอำนวยความสะดวก
7. สิทธิที่จะรับและส่งจดหมายติดต่อกับบุคคลภายนอก
นอกจากสิทธิที่จะรับ-ส่งจดหมายแล้ว ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ได้มีนโยบายให้ผู้ต้องขังสามารถรับ-ส่ง E-mail กับญาติ และแม้กระทั่งสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับญาติได้ตามระเบียบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้
8. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ผู้ต้องขังมีสิทธิที่จะอ่านหนังสือและวารสารในห้องสมุดของเรือนจำ และรับชมรายการข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงต่างๆจากโทรทัศน์ที่เรือนจำจัดให้
ภากจาก : https://www.posttoday.com/social/general/581957
💥 พื้นที่การนอนของผู้ต้องขัง
1.พื้นที่นอนของผู้ต้องขัง 1 คนตามมาตรฐานสากล คือ 7.5 ตารางเมตร ต่อคน
2. ส่วนในประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน ซึ่งเป็นขนาดที่พอจะยอมรับได้ ถ้าการระบายอากาศในห้องนอนอยู่ในเกณฑ์ดี
แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 3 เท่า คือ เฉลี่ยแล้ว ผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร ซึ่งหมายความว่าถ้าผู้ต้องขังมีส่วนสูง 170 เซนติเมตรก็จะมีเนื้อที่นอนกว้างเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นการจะนอนให้หลับสบายจึงเป็นไปไม่ได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติด
ภาพจาก : https://mgronline.com/local/detail/9590000128656
💥 ทางลัดออกจากคุกให้เร็วกว่าปกติ
1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล - น่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับผู้ต้องขังที่คดียังอยู่ใระหว่างการ พิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มากและเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง
2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น - ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วจะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม "ชั้น" ของผู้ต้องขัง ดังนี้
- ชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน
- ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน
- ชั้นดี ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน
เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ
ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำและความตั้งใจ ในการฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น
3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ - ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ - ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและมีโทษจำคุกเหลือไม่มากอาจได้รับการพิจารณา ให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะอีกด้วย
5. การขอพักการลงโทษ - เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ
- ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
- ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้
- ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ
Cr. ติดคุกต้องทำอย่างไร สาระความรู้จากกรมราชทัณฑ์
ถ้าสาระบทความมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ช่วยกดไลค์ กดแชร์เป็นกำลังใจ ❤️
กับผู้จัดทำด้วยนะครับ /// กฎหมายจอมโจร by kuroba ///
12 บันทึก
22
7
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
- กฎหมายและเหตุการณ์ -
12
22
7
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย