13 พ.ค. 2020 เวลา 03:09
ประวัติศาสตร์ใน “หลวงปู่ทวดฯ” (๕ ประวัติชีวิตฉบับย่อ)
.
ลุพุทธศักราช ๒๑๒๕ ปลายรัชสมัยพระมหาธรรมราชา
ณ คาบสมุทรสทิงพระอันกว้างใหญ่ไพศาล ยุคสมัยที่พระราชอาณาจักรสยามเวลานั้นมี ‘กรุงศรีอยุธยา’ เป็นราชธานี และ ‘สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช’ ซึ่งเป็นพระราชบิดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้นครองราชย์ได้ ๑๓ ปี เด็กทารกเพศชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันศุกร์เดือน ๔ ปีมะโรง ณ บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล
นับจากนั้นมา วิถีชีวิตของเด็กทารกคนนี้ที่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ว่า ‘เด็กชายปู’ ได้เติบใหญ่ตามวัย และสัมผัสแลผ่านเหตุการณ์สำคัญของเหตุบ้านการเมือง ในยุคกรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนผ่านกาลสมัยกันถึงเกือบ ๑๐ แผ่นดิน พร้อมกับสร้างตำนานอันเพริศแพร้วพิสดารในบรรณพิภพ
พุทธศักราช ๒๑๓๑ เมื่อเด็กชายปูอายุ ๗ ปี พ่อแม่ได้นำไปถวายให้เป็นลูกศิษย์วัดกับท่านสมภารจวงแห่งวัดดีหลวง และเมื่ออายุ ๙ ขวบ มีการเปลี่ยนรัชกาลจากพระมหาธรรมราชาเป็นแผ่นดิน ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ แลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕ เมื่อเด็กชายปูอายุได้ ๑๐ ปี
วัดพะโคะ สงขลา
อายุครบ ๑๕ ปีในปีพุทธศักราช ๒๑๓๙ เด็กชายปูบรรพชาเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดกุฎีหลวง และศึกษาพระธรรมวินัยที่ ‘วัดสีหยัง’ หรือวัดสีคูยังในอดีต คล้อยหลังเพียง ๒ ปี คือเมื่อพุทธศักราช ๒๑๔๑ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เจ้าเมืองอุชงคตนะ หรืออุยองตะหนะ ตามกฎมณเฑียรบาลที่ออกในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ มอบหมายให้ ‘ลักปหม่าหน’ หรือ ‘ลักษมณะ’ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นแม่ทัพเรือ ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองนครศรีธรรมราชก่อน แต่ไม่สำเร็จ จึงยกกลับไปตีเมืองพัทลุงที่พะโคะซึ่งสมัยนั้นยังเป็นดินแดนในคาบสมุทรสทิงพระ ได้เผาวัดวาอารามบ้านเรือนราษฎร เก็บกวาดเอาทรัพย์สินเงินทองผู้คนไปเป็นจำนวนมาก
สถูปอาจารย์จวง หลวงลุงของหลวงปู่ทวดฯ
พุทธศักราช ๒๑๔๒ อายุ ๑๗ ปี สามเณรปูเดินทางไป ‘ลิกอร์’ หรือ ‘เมืองนครศรีธรรมราช’ เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ หัวเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญที่สุดของหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยนั้น เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยยังสำนักพระครูกาเดิมแห่ง ‘วัดเสมาเมือง’ อีก ๓ ปีต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ.ศ. ๒๑๔๕ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้รับฉายา ‘เจ้าสามิราม’ ต่อมาไม่นานจึงจาริกเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา กระทั่งสร้างตำนาน ‘เหยียบน้ำทะเลจืด’ ณ ท้องทะเลเขตน่านน้ำชุมพร
พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
เมื่อมีการผลัดแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง จากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นแผ่นดิน ‘พระเอกาทศรถ’ ปีพุทธศักราช ๒๑๔๘ พระสามิรามบวชเป็นพระภิกษุได้ ๔ พรรษา เกี่ยวพันกับเหตุการณ์มากมายสุดพรรณนา กระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์’ และ ‘พระสังฆราชคุรูปมาจารย์’ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และหากพิจารณาตามเอกสารหลักฐาน ‘หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ น่าจะเดินทางจาริกรุกขมูลกลับวัดพะโคะในสมัยนี้นี่เอง
วัดเสมาเมือง และสถานที่อุปสมบท ณ ท่าแพ นครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม อีกกระแสหนึ่งก็ว่า จากปีพุทธศักราช ๒๑๕๓ เป็นต้นมา เมื่ออายุ ๒๙ ปีและบำเพ็ญภาวนาเป็นพระภิกษุได้ ๘ พรรษา ได้อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมานับตั้งแต่ผลัดแผ่นดินจากรัชสมัยพระเอกาทศรถเป็น ‘พระศรีเสาวภาคย์’ และเริ่มแผ่นดิน ‘พระเจ้าทรงธรรม’ จากปี ๒๑๕๓-๒๑๗๗
ปีพุทธศักราช ๒๑๗๑ เมื่ออายุ ๔๗ ปี ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมสู่แผ่นดิน ‘สมเด็จพระเชษฐาธิราช’ ซึ่งครองราชย์ถึงปี ๒๑๗๒ โดยรัชสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราชตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๑๗๑ พวก ‘อุยองตะหนะ’ ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองนครศรีธรรมราชอีกคราหนึ่ง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ยกกองทัพออกไปตั้งค่ายสู้รบกับพวกโจรสลัดอย่างแข็งแรงเป็นเวลานานถึง ๗ วัน ๗ คืน จนกระทั่งพวกโจรสลัดล่าถอยไป
เวลานั้น ‘สมเด็จพระราชมุนีฯ’ ครองเพศบรรพชิตได้ ๒๖ พรรษาแล้ว และพำนักอาศัยอยู่ ณ วัดบริเวณชานเมืองกรุงศรีอยุธยา กระทั่งลุสู่พุทธศักราช ๒๑๗๒ อายุย่าง ๔๘ ปี ‘พระอาทิตยวงศ์’ ขึ้นครองราชย์ แต่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ เกิดการผลัดแผ่นดินเป็นแผ่นดิน ‘พระเจ้าปราสาททอง’ จากปี ๒๑๗๒-๒๑๙๙ และนับจากปี ๒๑๙๙ เมื่ออายุ ๗๙ ปี มีการผลัดแผ่นดินอีกครั้ง จากแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองเป็น ‘เจ้าฟ้าไชย’ ‘พระศรีสุธรรมราชา’ กระทั่งเป็นแผ่นดิน ‘พระนารายณ์’ ซึ่งเริ่มจากปี ๒๑๙๙-๒๒๓๑
ภาพเล่าประวัติชีวิตหลวงปู่ทวดฯ ในอุโบสถ
ในห้วงเวลาแห่งรัชสมัยแผ่นดิน ‘พระเจ้าปราสาททอง’ นี้เองที่ ‘สมเด็จพระราชมุนีฯ’ จาริกรุกขมูลกลับสู่มาตุภูมิ และได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะหรือ ‘วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ’ จนสำเร็จลุล่วง ด้วยพลังศรัทธาจากมวลประชาชนจึงได้พร้อมกันขนานนามท่านขึ้นใหม่ เรียกขานกันว่า ‘สมเด็จเจ้าพะโคะ’
คล้อยหลังไม่นานที่สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีฯ ครองสมณเพศประจำพรรษาอยู่วัดพะโคะ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระจันทร์เต็มดวงส่องรัศมีสว่างไสวทั่วฟ้า สมเด็จพระราชมุนีฯ พร้อมด้วยสามเณรน้อยรูปหนึ่งได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยการเข้าฌาณดังเช่นที่ชาวใต้เรียกกันว่า ‘โล๊ะ’ ด้วยอำนาจแห่งบุญบารมีและอภินิหารที่ได้สั่งสมตลอดอายุขัยแห่งเพศบรรพชิต
ต่อมามีคำร่ำลือว่า ท่านได้ไปปรากฏที่วัดไทรบุรี รัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) โดยชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘ท่านองค์ดำ’ หรือ ‘ท่านลังกา’ กาลต่อมาจึงเกิดตำนาน ‘วัดช้างให้’ จังหวัดปัตตานีนับจากปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากความเกี่ยวพันกับ พระครูวิสัยโสภณ หรือ ‘พระอาจารย์ทิม ธฺมมธโร’ เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ แห่ง ‘วัดราษฎร์บูรณะ’ หรือวัดช้างให้ ซึ่งขณะนั้นครองตำแหน่งเจ้าอาวาสได้เพียง ๔ เดือนก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และอีกท่านหนึ่งคือ ‘นายอนันต์ คณานุรักษ์’ ต้นธารแห่งการสร้างพระบูชารุ่นแรกของหลวงปู่ทวดในปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ และรุ่นต่อๆ มา ที่สร้างคุณอภินิหารเป็นที่เลื่องลือมาตราบกระทั่งทุกวันนี้
หลวงพ่อทวด หรือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
โฆษณา