14 พ.ค. 2020 เวลา 06:00 • การเมือง
หยุดใจเพื่อให้เป็นไทจากอารมณ์
ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้ เพราะการร้องไห้คร่ำครวญ บัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวในสิ่งทั้งปวง แต่จะบากบั่นเพื่อให้ได้ประโยชน์ ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถ ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต หมั่นบำเพ็ญทาน และการปฏิบัติให้เหมาะสมและจะระลึกอยู่เสมอว่า บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ …
ในสังคมปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในโลกธรรม ๘ ประการ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีสรรเสริญ มีนินทา นี้เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลก ผู้ที่ยังติดข้องอยู่ในโลก ก็ต้องตกอยู่ในสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น พระบรมศาสดา ท่านได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต บรรลุกายธรรมอรหัตแล้ว จึงไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย ใจท่านเป็นหนึ่ง มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ใจหยุดในหยุดอยู่ในกลางของกลางตลอดเวลา
 
    พอเข้าถึงธรรมที่ละเอียดตรงนั้น ก็มีพระมหากรุณาธิคุณ ประกาศอมตธรรมไปยังสรรพสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรม ได้รับรู้รับทราบว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวงเป็นอย่างไร อริยสาวกที่เป็นอนุพุทธะ รู้ตามพระพุทธเจ้าก็มีมากมายก่ายกอง ที่ได้เข้าไปถึงจุดแห่งความสุขที่แท้จริง ความเต็มเปี่ยมของชีวิต ดังนั้น ใครที่มีธรรมะอยู่ในหัวใจ แม้เวลามีความทุกข์บังเกิดขึ้น เมื่อเข้าถึงธรรมะ ทุกข์นั้นก็จะหมดไป จะไม่หวั่นไหวในทุกข์ จะมีแต่ความสุขที่สมบูรณ์มาแทนที่
พระนารทเถระ ท่านได้กล่าวธรรมภาษิตบทหนึ่ง ไว้ในนารทสูตรว่า
"ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ อันใครๆ ย่อมไม่ได้ เพราะการร้องไห้คร่ำครวญ บัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวในสิ่งทั้งปวง แต่จะบากบั่นเพื่อให้ได้ประโยชน์ ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถ ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต หมั่นบำเพ็ญทาน และการปฏิบัติให้เหมาะสมและจะระลึกอยู่เสมอว่า บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่"
คนมีบุญมีปัญญา จะสอนตนเองอยู่เสมอ ให้ทำในสิ่งที่สมควร และมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะพิจารณาทำสิ่งนั้นอย่างรอบคอบ ไม่ให้ผิดพลาดเสียหาย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง แม้สุดวิสัยเกิดการผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ แต่จะรีบปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
 
    ความเศร้าโศกนี่เป็นเหมือนลูกศรที่แหลมคมที่ปักในกลางใจเรา ทั้งเจ็บปวด ทุรนทุราย ความเศร้าโศกเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น เกิดจากการพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก หรืออยากได้แต่ไม่ได้ดั่งใจ เป็นต้น ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน ขาดสติ ความโศกจะเข้ามาในใจ ทำให้ใจเฉาไม่มีชีวิตชีวา หมดอาลัยในชีวิต ไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว จากเดิมที่เคยเป็นคนที่เข้มแข็งที่สุด ก็กลายเป็นคนที่อ่อนแอที่สุดไป จากที่เคยมีความสุข ก็เป็นคนที่มีความทุกข์
 
    หากยังไม่รีบถอนลูกศร คือ ความโศก ที่ตรึงแน่นในจิตใจออกไป ประโยชน์ที่ดีงามทั้งหลายก็จะล่วงเลยไป ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการทำความดีไปอย่างน่าเสียดาย
 
    เมื่อเราประสบกับภาวะเช่นนี้ ต้องรู้จักแสวงหาบัณฑิต สนทนาธรรมกับท่านผู้รู้ เพื่อให้เกิดปัญญา จะได้พบทางออกที่ถูกต้อง
เหมือนในสมัยหนึ่ง *ในพระนครปาตลีบุตร มีพระราชาทรงพระนามว่า มุณฑะ ทรงครองราชย์มายาวนาน ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อยู่ร่วมกันอย่างสุขสบาย เป็นอยู่อย่างนี้มายาวนาน พระองค์มีมเหสีผู้เลอโฉมทรงพระนามว่า พระนางภัททาราชเทวี ทรงพรั่งพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี สมกับที่เป็นพระราชเทวีผู้เปี่ยมด้วยบุญบารมี พระนางเป็นที่รักของพระราชา ประหนึ่งแก้วตาดวงใจ
จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์อันเศร้าสลดขึ้น คือ พระนางภัททาราชเทวีเสด็จทิวงคตอย่างกะทันหัน โดยที่ใครๆ ไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะพระราชา พอพระองค์ทรงทราบข่าวการทิวงคตของมเหสีผู้เป็นที่รัก ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยเป็นที่สุด หมดอาลัยในราชสมบัติ ไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร และไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเลยแม้แต่อย่างเดียว
พระราชารับสั่งกับมหาอำมาตย์ชื่อ โสการักขะ ว่า "ท่านจงยกพระศพของมเหสีของเรา ลงในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมัน เพื่อรักษาสรีระของพระนางไว้ เราปรารถนาจะยลโฉมของพระมเหสีนานๆ"
 
    มหาอำมาตย์ก็ทำตามพระราชประสงค์ แต่เนื่องจากอำมาตย์เป็นผู้ที่รู้จักคิด จึงดำริในใจว่า "พระราชาของเราเป็นที่พึ่งของพสกนิกร ตั้งแต่พระเทวีทิวงคตแล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่พระธรรมนี้แหละ จะดับความโศกของพระราชา ทำให้หันกลับมาปกครองแผ่นดินให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป"
พอคิดได้ดังนี้ จึงคิดหาสมณพราหมณ์ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต ที่พอจะแสดงธรรมแก่พระราชาได้ ท่านทราบว่า พระนารทเถระเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีปฏิภาณเป็นเลิศและเป็นอริยบุคคลแล้ว พระคุณเจ้านี่แหละ ที่จะโปรดพระราชาของเราได้ จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาขอให้เสด็จไปฟังธรรมจากพระเถระ จะได้ดื่มรสพระธรรม ซึ่งจะเป็นธรรมโอสถ เป็นโอสถทิพย์ที่จะมารักษาแผลใจของพระราชาให้หายได้
พระราชาเห็นว่า การเข้าหาสมณะผู้สงบและรับฟังธรรมะจากท่าน คงจะทำให้ใจสงบขึ้นมาได้ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปอารามที่พระนารทเถระจำพรรษาอยู่ พระเถระได้แสดงธรรมให้พระเจ้ามุณฑะว่า "ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในโลกนี้มีฐานะอยู่ ๕ ประการ ที่สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ ฐานะ ๕ อย่างนั้นคือ
๑.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีความแก่
๒.ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีความเจ็บป่วย
๓.ขอความตายอย่าได้บังเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า
๔.ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของเราอย่าได้สิ้นไปเลย
และประการที่ ๕.ขอสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของเรา อย่าฉิบหายไป
    ฐานะทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่พิจารณารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ก็จะทำให้ตัวเราเป็นทุกข์ แต่อริยสาวกผู้ได้สดับรับฟังข้อความแห่งธรรมนี้ พิจารณาเห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยง พิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ อริยสาวกผู้นั้นจะไม่มีความโศก ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง"
เมื่อพระนารทะแสดงธรรมจบลง พระเจ้ามุณฑะก็กลับได้สติคืนมา ด้วยรสแห่งธรรมที่พระเถระได้เทศน์ให้ฟัง เป็นเหมือนน้ำอมฤตที่ชโลมใจให้สงบชุ่มเย็น ใจที่เคยแห้งผากก็กลับชุ่มชื้นขึ้น เมื่อทรงตรองตามก็รู้แจ้งเห็นจริงอย่างที่พระเถระกล่าว ทำให้พระองค์ระงับความเศร้าโศกที่บังเกิดขึ้นได้ รับสั่งให้ถวายพระเพลิงศพของพระมเหสี แล้วตั้งพระทัยใหม่ให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม หันกลับมาบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ นำความสุขสงบร่มเย็นมาสู่อาณาประชาราษฎร์ดังเดิม
เราจะเห็นว่า พิษของความเศร้าโศกนั้น ไม่ใช่ของพอดีพอร้าย เป็นความทุกข์ทรมานอย่างที่สุด เป็นเครื่องบั่นทอนสิ่งที่ดีในชีวิตของเรา หากไม่รู้จักวิธีการถอนลูกศร คือ ความโศก ออกจากใจ เราจะได้รับทุกข์เจียนตาย ดังนั้น เราต้องรู้จักฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงแหล่งกำเนิดแห่งความสุข ที่ความโศกเข้าไปไม่ถึง นั่นคือพระธรรมกายภายในตัวของเรานั่นเอง ถ้าเข้าถึงพระธรรมกายได้ เราจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เราไม่เคยผิดหวังเลยในชีวิต เราจะไม่มีความโศกเศร้าเสียใจอยู่ในใจเลย เพราะทุกข์ทั้งหลายจะดับไปหมด เหมือนคบเพลิงที่จุ่มลงไปในน้ำอย่างนั้น
เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าถึงธรรมกาย เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้แจ่มแจ้ง และจะซาบซึ้งด้วยตัวของเราเองว่า ธรรมกายนั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของชีวิต ยามใดที่เรามีทุกข์ก็ช่วยขจัดทุกข์โศกโรคภัยทั้งหลายได้ เมื่อมีสุขก็เพิ่มเติมความสุขให้มากขึ้นไปอีก เราจะไม่มีความซึม เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม เมื่อใจของเราหยุดนิ่งอยู่ในกลางพระธรรมกาย จะมีแต่ความสุขสดชื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นสุขในทุกอิริยาบถ
 
    ถ้าหากเราปรารถนาความสุขที่แท้จริง สุขทั้งวันทั้งคืน ก็ให้เอาใจหยุดนิ่งอยู่ตรงกลางธรรมกายให้ได้ หยุดใจไว้ที่กลางแล้วเราจะสมปรารถนาในทุกอย่าง จะได้รับรสแห่งธรรมที่แท้จริงที่เลิศกว่ารสทั้งปวง ที่จะทำให้เราไม่ต้องเศร้าโศกอีกต่อไป เพราะเราถอนลูกศรแห่งสังสารวัฏได้แล้ว
ดังนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดให้นิ่งไว้ เพราะความโศกไม่มีในใจที่หยุดนิ่ง เมื่อหยุดใจได้จะเป็นไทจากอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น เราจะไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๘ ใจจะสงบหยุดนิ่งผ่องใสเยือกเย็น ประดุจใจของพระอริยเจ้า จะเกิดปัญญาบริสุทธิ์ ที่จะเอาชนะอุปสรรคและปัญหาต่างๆ จะพบทางออกของชีวิตที่ดี ถูกต้องและปลอดภัย เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพบเจอปัญหาอุปสรรคอะไรก็แล้วแต่ อย่าหวั่นไหว อย่ามัวเสียใจท้อแท้ใจ ให้หันกลับมาหยุดนิ่ง เอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว ตั้งสติให้ดีที่ศูนย์กลางกาย หยุดนิ่งลงไป แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น อานุภาพแห่งบุญและอานุภาพแห่งพระธรรมกายที่ไม่มีประมาณ ที่สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกาย จะช่วยให้เราเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย เราจะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย และมีชัยชนะกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
*มก. นารทสูตร เล่ม ๓๖ หน้า ๑๑๕

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา