14 พ.ค. 2020 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
พิชิตความโศกด้วยสัจจธรรม
ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตายอันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปสู่อำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ …
สรรพสัตว์ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ซึ่งติดตามตัวเรามาพร้อมๆ กับการลืมตาขึ้นมาดูโลก เหมือนดอกเห็ดที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับดินฉะนั้น เราทั้งหลายไม่สามารถหนีพ้นจากปากแห่งพญามัจจุราชได้ เหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จึงมองเห็นว่า ความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเพียงการย้ายที่อยู่อาศัย ไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมกับบุญบารมี หรือบาปอกุศลที่ได้ทำไว้ ผู้มีบุญมากก็ย้ายที่อยู่ไปสู่สุคติ ผู้มีบาปมากก็ต้องไปอาศัยอยู่ในอบายภูมิ เสวยวิบากกรรมในมหานรก
 
    หากเราไม่ประสงค์จะตายอีก มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ เราต้องแสวงหาหนทางที่ไม่กลับมาเกิดอีก นั่นคือ เราต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น เมื่อทำได้อย่างนี้ เราจะได้หลุดพ้นจากพญามัจจุราชได้
มีวาระพระบาลีที่ตรัสไว้ใน อนนุโสจิยชาดก ความว่า
“ตํ ตญฺเจ อนุโสเจยฺย  ยํ ยํ ตสฺส น วิชฺชติ
อตฺตานมนุโสเจยฺย  สทา มจฺจุวสํ ปตฺตํ
ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตายอันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ ผู้เศร้าโศกนั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตน ซึ่งจะต้องตกไปสู่อำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ”
มนุษย์ทั้งหลายที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วก็ข้องเกี่ยวอยู่กับการทำมาหากิน เรื่องครอบครัวและเรื่องต่างๆ อีกมากมาย เป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ที่จะแสวงหาความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะก็เลยห่างหาย และลบเลือนไป มนุษย์ส่วนมากจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพญามัจจุราช เพราะเหตุที่ประมาทไม่เจริญมรณานุสติ
แต่ถ้าเราได้ระลึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารอยู่เสมอๆ ว่า ในที่สุด ทุกชีวิตต่างบ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งนั้น จึงไม่ควรที่จะหลงยึดติดกับสังขารร่างกาย อันไม่เที่ยง เมื่อคิดได้อย่างนี้ เราก็จะหันมาแสวงหาสิ่งที่เที่ยงแท้ ที่เป็นอมตะ เป็นความสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปน คือ พระรัตนตรัย การแสวงหาอย่างนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพุทธบุตร คือ ทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์จะมีปกติตรัสเตือนให้หมั่นระลึกนึกถึงความไม่เที่ยงของสังขาร เพื่อให้ปลดปล่อยวางสิ่งไม่เที่ยงภายนอก แล้วจะได้มุ่งทำความบริสุทธิ์ภายในให้บังเกิดขึ้น
*เหมือนเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกผู้ที่ควรจะตรัสรู้ ได้ทอดพระเนตรเห็นกุฎุมพี (อ่านว่า กุ-ดุม-พี) คนหนึ่งเข้ามาในข่ายพระญาณ กุฎุมพีคนนี้ได้รับความตรอมตรมใจ เพราะการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก คือภรรยาได้เสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน จึงไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมรับประทานอาหาร และไม่ยอมประกอบการงานใดๆ ทั้งสิ้น กระสับกระส่ายทั้งวันทั้งคืน
พระบรมศาสดาทอดพระเนตรแล้ว ทรงดำริว่า "เว้นเราเสียแล้ว ไม่มีใครที่จะทำให้พราหมณ์นี้หมดความโศกได้"
 
    จึงเสด็จไปที่บ้านของพราหมณ์ พอกุฎุมพีเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ก็รีบจัดแจงปูลาดอาสนะรับเสด็จเป็นอย่างดี เมื่อทรงประทับนั่งแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า "ดูก่อนอุบาสก ท่านคิดอะไรอยู่หรือ" กุฎุมพีได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ ทรงทราบ
ครั้นได้สดับข้อความอย่างนั้นแล้ว พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า "อุบาสก ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกไปเป็นธรรมดา ไม่วันใดวันหนึ่งก็ย่อมจะแตกไป เมื่อมันแตกไปแล้วก็ไม่ควรที่จะเก็บมาเศร้าโศกอีก ต้องรู้จักปลดปล่อยวาง บัณฑิตทั้งหลายเมื่อภรรยาตายไป ก็ยังไม่เศร้าโศก เพราะรู้จักคิดและปล่อยวาง" แล้วพระพุทธองค์จึงทรงนำอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟังว่า...
 
    ในสมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักตักสิลา จนกระทั่งประสบความสำเร็จ จึงกลับมาบ้านเกิด
 
บิดามารดาของพระโพธิสัตว์บอกกับลูกชายว่า "พ่อกับแม่จะหาภรรยาให้ลูก"
แต่พระโพธิสัตว์ตอบปฏิเสธว่า "ลูกไม่ต้องการจะครองเรือนเลย แต่ปรารถนาจะออกบวช"
 
    เมื่อถูกบิดามารดารบเร้าบ่อยๆ จึงหาอุบายให้ช่างทองทำรูปหล่อทองคำขึ้นมารูปหนึ่ง พร้อมกับบอกท่านว่า หากได้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ลูกก็จะยอมแต่งงานด้วย บิดามารดาได้ฟังแล้วก็แสนจะดีใจ เพราะอยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา จึงส่งคนออกตามหาผู้หญิงที่คล้ายกับรูปทองคำนั้น
 
     ใจจริงของพระโพธิสัตว์แล้ว ไม่ต้องการจะมีครอบครัวเลย แต่ที่ทำอย่างนั้น เพื่อว่าจะได้มีข้ออ้างในการปฏิเสธการแต่งงาน ฝ่ายผู้บังเกิดเกล้าของท่านไม่ละความพยายาม ได้ส่งคนเที่ยวไปในชมพูทวีป เพื่อแสวงหากุมาริการูปงาม พร้อมกับกำชับว่า หากท่านทั้งหลายพบนางแล้ว ให้ใช้ทองคำนี้เป็นสินสอด แล้วนำนางมาสู่ตระกูลของเรา
 
    ในสมัยเดียวกันนั้น มีผู้มีบุญจุติลงมาจากพรหมโลก บังเกิดเป็นกุมาริกาในเรือนของพราหมณ์มหาศาล ผู้มีสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิในแคว้นกาสี นางอายุได้ ๑๖ ปี เป็นผู้ที่มีรูปสวยงามมาก บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า สัมมิลลหาสินี แต่ด้วยความที่เป็นผู้จุติลงมาจากพรหมโลก จึงทำให้ใจใสบริสุทธิ์มาก
เมื่อคณะพราหมณ์ ได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนั้น มหาชนที่เห็นรูปทองก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมธิดาของพราหมณ์จึงมายืนอยู่ที่นี่ พวกพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็เดินทางไปที่บ้านของเศรษฐีพร้อมกับสู่ขอธิดา ฝ่ายลูกสาวได้แจ้งให้พ่อแม่ทราบว่า ลูกไม่ปรารถนาจะครองเรือนเลย อยากจะประพฤติพรหมจรรย์ แต่ทั้งสองท่านก็ปฏิเสธความปรารถนาของนาง พร้อมกับยกนางให้กับผู้ที่สู่ขอ เพื่อให้ไปแต่งงานกับพระโพธิสัตว์
 
    ทั้งสองคนไม่มีความปรารถนาจะสมรสกันเลย แต่ขัดผู้มีพระคุณไม่ได้ จึงต้องทำตาม แม้กระนั้นก็ตาม หลังจากสมรสแล้ว เป้าหมายที่จะออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นยังอยู่ในใจตลอดเวลา แม้จะอยู่ห้องเดียวกัน นอนบนเตียงเดียวกัน ก็ไม่ได้แลดูกันด้วยอำนาจราคกิเลสเลยแม้เพียงครั้งเดียว
 
    เมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตลง พระโพธิสัตว์จึงปรึกษากับภรรยาว่า "นางผู้เจริญ ทรัพย์ที่เป็นของตระกูลพี่ทั้งหมด ๘๐ โกฏิ และตระกูลของเธออีก ๘๐ โกฏิ พี่ขอยกให้เธอครอบครองทั้งหมด ส่วนพี่จะออกบวชเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์"
 
    พอนางได้ฟังอย่างนั้น จึงกล่าวว่า "หากพี่บวช ฉันก็จะบวชด้วย"
 
    เมื่อตัดสินใจเด็ดเดี่ยวเช่นนั้นแล้ว ผู้มีบุญทั้งสองจึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด แล้วออกบวชเป็นดาบสและดาบสินี อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านทั้งสองบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์มายาวนาน จึงพากันเดินทางเข้ามาในนครพาราณสี เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เสพรสเค็มรสเปรี้ยว โดยอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน เนื่องจากนางดาบสินีซึ่งเป็นสุขุมาลชาติ พอฉันภัตตาหารที่เจือปนกัน ทำให้ล้มป่วยลงกะทันหัน พระโพธิสัตว์จึงค่อยๆ พยุงนางเดินมาจนกระทั่งถึงประตูพระนคร ให้นอนพักที่ศาลาหลังหนึ่ง ส่วนพระดาบสก็ไปบิณฑบาตเพื่อจะหาโอสถมารักษา แต่พอคล้อยหลังพระโพธิสัตว์ไปเท่านั้น นางก็สิ้นใจ
 
    มหาชนที่ผ่านไปผ่านมา พบเห็นดาบสินีนอนสิ้นใจ ต่างก็พากันสงสารในชะตากรรม พากันร้องไห้คร่ำครวญอยู่ที่ศาลาหลังนั้น ส่วนพระโพธิสัตว์กลับจากภิกขาจาร มาเห็นมหาชนคร่ำครวญกันอยู่ เมื่อรู้ว่าดาบสินีคู่ทุกข์คู่ยากสิ้นใจแล้ว ก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร ยังคงทำภัตกิจตามปกติ เพราะเป็นผู้ที่มีใจมั่นคง มองเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดาของสัตวโลก มหาชนเห็นอย่างนั้น จึงพากันถามด้วยความสงสัยว่า "ท่านดาบสเป็นอะไรกับนาง"
พระโพธิสัตว์ตอบว่า "เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์นางเป็นภรรยาของเรา"
 
    มหาชนก็ยิ่งแปลกใจที่ไม่เห็นพระโพธิสัตว์แสดงอาการเสียใจอะไร จึงถามว่า "แม้พวกข้าพเจ้า ยังทำใจไม่ได้ แต่ทำไมท่านไม่แสดงอาการเสียอกเสียใจอะไรเลย"
 
    ท่านดาบสได้ฟังดังนั้น จึงพูดให้ข้อคิดกับมหาชนว่า "ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่เกิดมา เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมตามแรงบุญที่ได้สั่งสมไว้ ผู้เป็นบัณฑิตจะใช้ปัญญาใคร่ครวญความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต แล้วเป็นผู้ไม่ประมาท อายุสังขารใช่จะติดตามเฉพาะหมู่สัตว์ที่ยืน นั่ง หรือนอนเท่านั้น แม้เวลาลืมตาหลับตา วัยก็เสื่อมไปเรื่อยๆ ชีวิตเหลือน้อยลงไปทุกที เราจึงควรที่จะไม่ประมาท ส่วนคนที่ตายไปแล้ว ก็เป็นอันตายไปแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะต้องเศร้าโศกถึงกันอีกต่อไป"
เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว มหาชนก็อนุโมทนาสาธุการ และช่วยกันฌาปนกิจสรีระของนาง จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็กลับไปยังป่าหิมพานต์ บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอภิญญาสมาบัติ แล้วได้เข้าถึงพรหมโลก
 
    เมื่อกุฎุมพีฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ก็สามารถพิจารณา เห็นสังขารไปตามความเป็นจริง จึงหายจากความเศร้าโศก และมีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุโสดาปัตติผล
เราจะเห็นว่าความเศร้าโศกนั้น เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อหมดทุกข์หมดโศก ปลดกังวลได้ ใจก็สบาย ในที่สุดก็ได้เข้าถึงธรรม ดังนั้น เราควรที่จะมีสติรักษาใจให้ผ่องใส อย่าให้ขุ่นมัว อย่าให้ความโศกเข้ามาแทรก ทำอารมณ์ให้สบาย ทำใจหยุดใจนิ่ง หากทำได้อย่างนี้ ชีวิตเราจะสมปรารถนาอย่างแน่นอน
 
    ดังนั้น ให้หมั่นเจริญมรณานุสติเป็นประจำ และหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำหยุดทำนิ่งควบคู่กันไปกับภารกิจการงานให้เป็นปกติ
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. อนนุโสจิยชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๖๙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา