15 พ.ค. 2020 เวลา 13:25 • ประวัติศาสตร์
ทำไมภาษาอังกฤษเรียกข้าวโพดว่า corn และ maize ก็ได้ ?
1.
วันก่อนเขียนว่าทำไม คำลักษณะนามของข้างโพดในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า ear (ใครยังไม่ได้อ่าน อ่านจากลิงก์นี้ได้ครับ)
วันนี้เลยขอเขียนเกี่ยวกับคำว่าข้าวโพดต่ออีกเล็กน้อย
ถ้าไปอเมริกาแล้วอยากกินข้าวโพด เราควรบอกคนขายว่าอยากกิน corn (คอร์น) ถ้าพูดว่า maize (เมซ) คนขายอาจจะมองนิดๆ แต่เขาก็รู้ว่าคุณต้องการอะไร
ถ้าไปอังกฤษแล้วอยากกินข้าวโพด เราควรบอกคนขายว่า maize เพราะถ้าพูดว่า corn คนขายจะมองนิดนึงแต่เขาก็รู้ว่าคุณต้องการอะไร
คำถามคือ ทำไมสิ่งที่เราเรียกว่าข้าวโพด
American English นิยมเรียกว่า corn
ส่วน British English นิยมเรียกว่า maize
แน่นอนครับ คำถามนี้อธิบายได้ด้วยประวัติศาสตร์
2.
ย้อนเวลากลับไปในอดีต
กลับไปก่อนที่ชาวตะวันตกจะเดินทางไปพบทวีปอเมริกาเสียด้วยซ้ำ
ที่ทวีป(ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า) อเมริกากลาง ชาวพื้นเมือง (ที่ปัจจุบันเรานิยมเรียกว่าชาวอินเดียนแดง) ค้นพบพืชป่าตระกูลหญ้าชนิดหนึ่งที่พวกเขาเรียกว่า teosinte (ธีโอซินเท่)
ประมาณ 6 พันปีที่แล้วพวกเขาก็นำหญ้าป่าชนิดนี้มาปลูกแล้วคัดเลือกพันธุ์มาเรื่อยๆ ทำไปทำมา เลือกพันธุ์ไปเลือกพันธุ์มา
จากเมล็ดข้าวเล็กๆ ของหญ้าป่าก็กลายมาเป็นฝักข้าวโพดที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้
2
จากนั้นมาข้าวโพดก็กลายเป็นหนึ่งในธัญพืชหลักของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกากลาง
1
ภาพเปรียบเทียบ Teosinte และ ข้าวโพด (สังเกตขนาด)
หลายพันปีต่อมา ....
3.
ชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งเดินเรือไปพบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก
พวกเขาตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยเห็น
สัตว์ พืช ผลไม้ รวมถึงคนพื้นเมืองล้วนแล้วแต่แปลกตาไปหมด
เจออะไรก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
กินอะไรก็ไม่รู้จัก
เรียกอะไรก็เรียกไม่ถูก
แต่ก็อยากจะเอากลับไปเล่าให้ชาวยุโรปคนอื่นฟัง จึงต้องหาทางเรียกชื่อสิ่งที่เห็น
1
ภาพวาดคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส โดย John Vanderlyn
บางครั้งพวกเขาก็ตั้งชื่อสิ่งที่เห็นขึ้นมาเองเฉยๆ ตามลักษณะหน้าตาของสิ่งนั้น เช่น ผลเสาวรส พวกชาวยุโรปก็เรียกว่า passion fruit เพราะหน้าตาของดอกมีลักษณะคล้ายมงกุฎหนามที่ทหารโรมันใส่บนพระเศียรของพระเยซู (passion of the christ ซึ่งแปลว่าความทนทุกข์ของพระเยซู)
1
แต่สิ่งของแปลกๆใหม่ๆ ที่พบมีเยอะเกินกว่าสมองจะครีเอทีฟไหว
ดังนั้นวิธีที่ง่ายกว่าคือ ถามคนท้องถิ่นว่าเขาเรียกสิ่งนั้นว่าอะไรแล้วเรียกตามเขา
1
เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสซึ่งเป็นชาวอิตาลีแต่เดินเรือให้กษัตริย์ของสเปนมาเจอข้าวโพดก็ถามคนท้องถิ่นว่านี่คืออะไร
ชาวพื้นเมืองก็บอกว่า นี่คือ mahiz (มา-ฮิซ) ชาวสเปนจึงพยายามออกเสียงตาม และเรียกข้าวโพดว่า maiz (หม่า-อิซ)
จากนั้นนักเดินเรือชาวสเปนก็ขนข้าวโพดจำนวนมากขึ้นเรือเพื่อนำไปเป็นเสบียงบ้าง แจกจ่ายกันเองบ้าง คำว่า maiz จึงแพร่กระจายไปทั่วในหมู่นักเดินเรือชาวสเปน
ต่อมาเมื่อนักเดือนเรือชาวอังกฤษมาพบข้าวโพดก็ถามชาวสเปนว่า สิ่งนี้เรียกว่าอะไร ชาวสเปนก็หันมาตอบว่า หม่า-อิซ
ชาวอังกฤษก็ตอบกลับไปว่า ขอบใจพวกนายมากนะ
นับจากนั้นมาชาวอังกฤษก็เรียกข้าวโพดตามที่พวกเขาได้ยินว่า maize (เมซ)
1
4.
คราวนี้เรามาดูกันบ้างว่าทำไมชาวอเมริกันจึงเรียกข้าวโพดว่า corn
สำหรับคำถามนี้ เราต้องย้อนเวลากลับไปไกลนานกว่าคำว่า maiz อีกหลายพันปี
เรื่องราวน่าจะเริ่มต้นขึ้นประมาณสักห้าหรือหกพันปีที่แล้วในหมู่คนที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่เรียกว่า Proto-Indo European หรือ PIE (เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นได้ว่า ยังไม่ได้โพสต์เรื่องเกี่ยวกับภาษา PIE เลย วันหลังจะเล่าให้ฟังนะครับ ถ้าไม่อยากพลาดอย่าลืมกดติดตามเพจไว้นะครับ)
1
เมื่อใดก็ตามที่คนซึ่งใช้ภาษา Proto-Indo-European เจออะไรที่เป็นเมล็ดเขาจะเรียกมันว่า *ger หรือ *gher (ออกเสียงประมาณ เกอหรือเกอร์)
จากรากศัพท์คำนี้ต่อมาก็กลายมาเป็นคำว่า granum (เกรนุ่ม) ในภาษาลาติน
หลังจากนั้นคำว่า granum ก็แยกไปสองทาง
ทางแรกแตกสายไปทางตระกูลภาษาเจอร์มานิก (Germanic หรือตระกูลภาษาเยอรมัน) กลายเป็น kurnum (เคอร์นุ่ม) แล้วกลายเป็น korn (คอร์น) ในภาษา Old Saxon ซึ่งยังมีความหมายเดิมว่า ธัญพืช
อีกทางหนึ่งไปทางภาษาฝรั่งเศสโบราณ จาก granum กลายเป็น grein หรือ grain
ภาษาอังกฤษโบราณที่ใช้บนเกาะอังกฤษซึ่งมีรากที่มาจากทั้งภาษา Saxon และฝรั่งเศส จึงรับมาทั้งคำว่า corn และ grain ซึ่งทั้งคู่ต่างก็แปลว่า ธัญพืช
ต่อมาคำว่า corn ที่หมายถึงธัญพืชหรืออะไรก็ได้ที่เป็นเมล็ดก็เริ่มมีความหมายที่แตกต่างกันไป
โดยคำนี้จะขึ้นกับว่าธัญพืชหลักของคนถิ่นนั้นคืออะไร เช่น
1
corn ของชาวอังกฤษจะหมายถึง ข้าวสาลี (wheat)
corn ของชาวสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์จะหมายถึง โอ๊ต (oat)
เมื่อชาวอังกฤษเดินทางมาเห็นชาวอินโดนิเซียปลูกข้าวเจ้ากันเยอะ ก็พูดว่า corn ของชาวอินโดนิเซียคือ rice หรือ rice corn
corn คำเดียวกัน จึงมีความหมายต่างกันไปตามธัญพืชกินเป็นหลักของท้องถิ่นนั้น
5.
ต่อมาเมื่อชาวอังกฤษกลุ่มแรกๆ ย้ายไปตั้งรกรากในทวีปอเมริกาก็ได้พบกับข้าวโพด
จริงอยู่ว่าภาษาอังกฤษมีคำว่า maize สำหรับเรียกข้าวโพดอยู่แล้ว แต่คำนี้ก็รู้จักจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนเดินเรือหรือคนที่รวยพอจะได้กินอาหารเมืองนอก
ชาวบ้านชาวอังกฤษทั่วไปกว่าจะได้เห็นอาหารเมืองนอกอย่างข้าวโพดก็เมื่อต้องเดินทางย้ายถิ่น (หนีความจน) มาอยู่ทวีปอเมริกาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมาเห็นข้าวโพดซึ่งเป็นธัญพืชหลักของคนทวีปอเมริกาจึงเรียกข้าวโพดว่า Indian corn
ในลักษณะนี้จะคล้ายกับที่คนไทยเราเรียกธัญพืชหรืออะไรที่เป็นเมล็ดว่า ‘ข้าว' ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ หรือแม้แต่ maize ที่เป็นเม็ดใหญ่ๆ สีเหลืองเราก็ยังเรียกว่า ข้าวโพด
จากคำว่า Indian corn ชาวอังกฤษในอเมริกา เรียกไปเรียกมาก็สั้นจนเหลือแค่คำเดียวสั้นๆว่า corn อย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้
6.
พอเราเข้าใจรากศัพท์เหล่านี้แล้ว ยังทำให้เราเข้าใจ corn อีกคำที่น่าสนใจ
ทุกๆวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญคือ St. Patrick’s day วันเฉลิมฉลองนักบุญ St. Patrick นักบุญอุปถัมภ์ของประเทศไอร์แลนด์
ชาวไอริชในอเมริกา (และพัทยา) จะฉลองกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ เริ่มกันตั้งแต่ใส่ชุดสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำชาติ ร้องเพลงพื้นบ้านที่มีรากมาจากภาษาเคลท์ กินอาหาร Irish breakfast ซึ่งประกอบไปด้วยขนมปัง สตูว์ และมันฝรั่ง
นอกเหนือจากนั้นก็ยังกินอาหารที่มีชื่อว่า corned beef
corned beef เป็นเนื้อเค็มสีแดงๆ ที่กินร่วมไปกับกะหล่ำปลีดอง โดยที่ไม่มีข้าวโพดเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย
corned beef
ชาวไอริชในประเทศไอร์แลนด์รู้จัก corned beef กันดีแต่ไม่ใช่ประเพณีของพวกเขาที่จะกิน corned beef ในวันระลึกถึงเซนต์แพทริค
คนที่กิน corned beef ในวัน St. Patrick มีแต่ชาวไอร์แลนด์ในอเมริกา (และพัทยา)
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชาวไอร์แลนด์ที่อพยพมานิวยอร์กในยุคแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพที่มีฐานะยากจนมาก
corned beef ถือว่าเป็นเนื้อที่มีราคาถูก เพราะ corned beef ในแบบดั้งเดิมนั้นคือการนำเศษเนื้อที่มีราคาถูกมารวมกันแล้วแช่หมักในเกลือและดินประสิว
เกลือที่ใช้ในการหมักนี้จะมีลักษณะเป็นเกล็ดๆ ซึ่งชาวไอริชกลุ่มแรกๆ ที่อพยพมายังเรียกสิ่งที่เป็นเมล็ดเช่นนี้ว่า corn salt แปลว่าเกล็ดของเม็ดเกลือ
คำว่า corn ในชื่อ corned beef จึงไม่ได้หมายถึง ข้าวโพด
แต่หมายถึง เกลือที่เป็นเม็ดๆ นั่นเองครับ
และทั้งหมดนี้ก็คือประวัติศาสตร์เล็กๆน้อยที่ซ่อนอยู่ในคำว่า
corn และ maize ครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ถ้าชอบประวัติศาสตร์และรากที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller ของผม 2 เล่ม
ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ
ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา