9 พ.ค. 2020 เวลา 10:04 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า cheap
1.
คำว่า cheap ที่แปลว่าถูก เป็นคำง่ายๆ ที่หลายคนรู้จักดี
นอกเหนือจากความหมายว่าถูก ซึ่งมีความหมายทางบวกแล้ว
คำว่า cheap ยังมีความหมายว่า
คุณภาพต่ำ ได้มาง่ายๆ หยาบคาย และไร้ศีลธรรม ซึ่งมีความหมายทางลบได้อีกด้วย
คำว่า cheap เป็นศัพท์พื้นๆที่ดูไม่น่าสนใจอะไรมากนัก
แต่คำพื้นๆคำนี้ถ้าเราลองค้นหาประวัติความเป็นมาของคำนี้
เราอาจจะเจอเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจซ่อนอยู่ก็ได้
ถ้าใครเคยไปลอนดอน เมืองแม่ของภาษาอังกฤษ
ก็อาจจะเคยไปแถวๆถนนที่ชื่อ Cheapside มาแล้ว (แถวๆ มหาวิหารเซนต์พอล และ Bank of England)
ถนน Cheapside ปัจจุบัน
นอกจากถนน Cheapside แล้ว ที่ลอนดอนยังมีถนนที่ชื่อ Eastcheap อีกด้วย และไม่ใช่แค่ลอนดอน แต่ถนนที่มีคำว่า cheap ยังพบได้หลายเมืองทั่วอังกฤษ
คำถามที่น่าสนใจคือ คำว่า cheap ที่อยู่ในชื่อของถนนเหล่านี้ มีความหมายว่าอะไร ?
เริ่มต้นเราก็คงต้องเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีตกันอีกครั้ง ...
2.
คำว่า cheap ในภาษาอังกฤษ เชื่อว่ามีประวัติที่มายาวนานกว่า 2,000 ปี
โดยคำนี้ถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษ จากภาษาเจอร์มานิก (Germanic หรือภาษาเยอรมันโบราณ) อีกทีนึง
เชื่อว่าคำนี้ในภาษาเจอร์มานิก ก็รับมาจากภาษาลาตินอีกต่อหนึ่ง
(ภาษาลาตินและภาษาเจอร์มานิก เป็นเหมือนลูกพี่ลูกน้องกัน คือมีบรรพบุรุษร่วมกัน)
โดยคำว่า cheap มาจากคำว่า caupo ในภาษาลาติน (เคาโป) ซึ่งแปลว่า พ่อค้าเล็กๆ หรือพ่อค้าในตลาด
การที่ภาษาเจอร์มานิกนำคำว่าพ่อค้าจากลาตินไปใช้
ก็เหมือนบอกเราให้รู้กลายๆว่า พ่อค้าชาวโรมันก็มีการทำการค้ากับชนเผ่า(อนารยชน)เยอรมันบ้างเช่นกัน ไม่ใช่จะมีแต่ทำสงครามกันเท่านั้น
ภาพวาดชนเผ่าเยอรมันรบกับทหารโรมัน (ภาพจาก weaponsandwarfare.com)
คำว่า caupo นี้ยังเป็นรากที่มาของคำว่า Kaufen ที่แปลว่า ซื้อขาย
และคำว่า Kaufmann ที่แปลว่าพ่อค้า ในภาษาเยอรมันด้วย
คำว่า caupo ยังซ่อนตัวอยู่ในชื่อเมือง Copenhagen ของเดนมาร์ก
คำว่า โคเปนเฮเกนมาจากคำในภาษา นอร์สโบราณ (ภาษาของชาวสแกนดิเนเวียน ไวกิ้ง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเจอร์มานิกเหมือนกัน) ว่า køber + havn ซึ่งก็คือ Caupo (พ่อค้า) + haven (ที่แปลว่าท่าเรือในภาษาอังกฤษ)
2
เมืองโคเปนเฮเกน จึงแปลตรงตัวได้ว่า เมืองท่าที่มีพ่อค้าเดินทางมาค้าขายกันมากมาย
ซึ่งก็ทำให้เราพอจะนึกภาพออกว่าเมืองนี้ในสมัยโบราณคงจะมีตลาดใหญ่ที่เรือจากที่ต่างๆนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมากมาย
ภาพวาดเมือง Copenhagen ในอดีต
3.
กลับมาที่คำว่า cheap ในภาษาอังกฤษกันครับ
คำว่า cheap เมื่อแรกเข้ามาในภาษาอังกฤษก็มีความหมายว่า พ่อค้า เช่นกัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปคำว่า cheap ในภาษา Old English ก็มีความหมายเปลี่ยนไป
จากเดิมที่หมายถึง “พ่อค้า" ก็เริ่มไปมีความหมายถึง “ตัวสินค้า”
ทำให้เกิดสำนวนโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้วอย่าง
good cheap ที่แปลว่า ฉลาดซื้อ หรือได้ของดี อะไรประมาณนั้น และ
dear cheap ซึ่งถ้าในปัจจุบันฟังดูแปลก เพราะ dear แปลว่าแพง cheap แปลว่าถูก
แต่สำนวนนี้จริงๆมีความหมายว่า ของแพง ของดี ของหายาก ของหรู
และด้วยความหมายของ cheap ที่แปลว่า สินค้านี้เอง
ที่ต่อมานำไปสู่ชื่อของถนน Cheapside
ซึ่งหมายถึงถนนที่มีสินค้าขายมากมาย หรือ ถนนที่มีตลาด นั่นเอง
ภาพของถนน Cheapside ในอดีต
และด้วยความที่ถนน Cheapside ใน city of London อยู่ทางทิศตะวันตก
ถนนที่มีตลาดอีกแห่งหนึ่ง จึงมีชื่อว่า Eastcheap เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจว่าพูดถึงถนนเส้นไหน
4.
ต่อมาในศตวรรษที่ 17 คำว่า cheap ก็มีความเปลี่ยนไปอีกครั้ง
อาจจะเป็นเพราะ cheap ที่แปลว่าสินค้า มักใช้กับสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดชาวบ้านทั่วๆไป
คือเป็นสินค้าราคาไม่แพง ไม่หรู
คำว่า cheap จึงมีความหมายเปลียนแปลงจาก “สินค้า” กลายเป็น “สินค้าราคาถูก”
หลังจากนั้นไม่นานคำว่า cheap ที่เป็นคำนาม ว่า “สินค้าราคาถูก”
ก็เริ่มนำไปใช้เป็น adjective และ adverb มากขึ้น
คือ ใช้ไปบรรยายว่า ของนั้นเป็นของ “ราคาถูก”
จากนั้นก็เดาต่อได้ไม่ยากว่า cheap เริ่มถูกนำไปใช้บรรยายว่า
ของนั้น ตลาด หาง่าย คุณภาพไม่ดี
จากที่ใช้บรรยายสิ่งของก็ถูกนำไปใช้บรรยายคน และกริยาของคนว่า
เป็นคนที่ได้มาง่ายๆ กริยาไม่ดี ไร้ศีลธรรม อะไรประมาณนี้
5
ทุกวันนี้ โคเปนเฮเกนไม่ใช่เมืองท่าจนๆ แต่เป็นเมืองที่ไดรับการจัดอันดับว่าน่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ถนนที่ชื่อ Cheapside ในลอนดอนก็ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นย่านตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมระหว่าง Bank of England และ London Stock Exchange
แต่ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ หรือเข้าใจที่มาของคำศัพท์
เราก็จะเข้าใจได้ว่า หลายอย่างที่ดูไม่สมเหตุสมผลในปัจจุบัน
มันก็อาจจะมีเรื่องราวที่สมเหตุสมผลซ่อนอยู่ได้เหมือนกัน
ขนาดคำศัพท์พื้นๆง่ายที่มีตัวอักษรเรียงกัน 5 ตัว
ก็ยังมีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราว ซ่อนอยู่ได้เลยครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ถ้าชอบประวัติศาสตร์และรากที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller ของผม 2 เล่ม
ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ
ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา