16 พ.ค. 2020 เวลา 06:00 • ท่องเที่ยว
จิตสะอาดปราศจากธุลี
ผู้มีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ปราศจากกิเลสอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ล้างบาปได้แล้ว บัณฑิตเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาป …
การขจัดกิเลสอาสวะเป็นจุดมุ่งหมายของผู้ที่แสวงหาทางหลุดพ้น เพราะตราบใดที่กิเลสยังครอบงำจิตใจอยู่ ชีวิตจะต้องระทมทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว หากเรายังหาสาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ เราก็เปรียบเสมือนคนไข้ที่ถูกโรครุมเร้าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดก็ไม่มีความสุข
 
    วิธีที่จะทำให้เราค้นพบสาเหตุแห่งการพ้นทุกข์และดับทุกข์นั้นได้ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดกิเลส เครื่องเศร้าหมองให้หมดไปจากใจได้ เป็นทางดำเนินของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย หากบุคคลใด สามารถดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ บุคคลนั้นจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า
“กายสุจึ วาจาสุจึ   เจโตสุจิมนาสวํ
สุจึ โสเจยฺยสมฺปนฺนํ   อาหุ นินฺหาตปาปกํ
ผู้มีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ปราศจากกิเลสอาสวะ
ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ล้างบาปได้แล้ว บัณฑิตเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาป”
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ มีใจปราศจากธุลี หมดจดจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งหยาบ และละเอียด ซึ่งเป็นใจที่ผ่องแผ้วใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ใจของท่านหวั่นไหว หรือเศร้าหมองได้
กิเลสประกอบด้วยราคะความกำหนัดยินดี โทสะความขัดเคืองขุ่นข้องหมองใจและโมหะความลุ่มหลงมัวเมา สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะครอบงำ บังคับบัญชาจิตใจของท่านได้อีกต่อไป ใจของท่านจึงสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว หรือเหมือนผลตาลสุกที่หลุดออกจากขั้ว และมีความสว่างไสวไม่มีประมาณ ดังอาทิตย์อุทัยที่ส่องแสงให้ความสว่างแก่โลกหล้า
เหมือนพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธองค์ ที่ถึงจะถูกยักษ์มิจฉาทิฏฐิที่มีกำลังมหาศาล มาทุบตีศีรษะท่านด้วยความคะนองก็ตาม แต่ความขุ่นเคือง ขัดใจ หรือโกรธแค้น ไม่ได้อยู่ในใจของท่านแม้เพียงน้อยนิดเลย เรื่องดังกล่าวมีอยู่ว่า
*ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ท่านไปพำนักอยู่ที่กโปตกันทราวิหาร วันนั้นเป็นคืนเดือนหงาย พระสารีบุตรท่านเพิ่งปลงผมใหม่ๆ ก็นั่งทำสมาธิ(Meditation)อยู่กลางแจ้ง เผอิญมียักษ์สองตนเหาะผ่านมา ยักษ์ตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนอีกตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ พอเห็นพระสารีบุตรนั่งอยู่อย่างนั้น ยักษ์มิจฉาทิฏฐิซึ่งในอดีตเคยผูกอาฆาตพระสารีบุตรไว้ จึงบอกกับเพื่อนยักษ์ว่า "นี่เพื่อน เราจะทุบศีรษะของสมณะองค์นี้นะ"
 
    ยักษ์สัมมาทิฏฐิได้ห้ามว่า "อย่าทำอย่างนั้นเลย สมณะนั้นมีคุณธรรมสูงส่ง อีกทั้งยังมีฤทธิ์และอานุภาพมาก"
 
    ยักษ์สัมมาทิฏฐิ ได้เตือนเพื่อนอยู่อย่างนี้ถึงสามครั้ง แต่ยักษ์อันธพาลไม่ยอมเชื่อ ได้ตรงรี่เข้าไปตีศีรษะของพระสารีบุตรเต็มแรง
 
    พระโมคคัลลานะ ท่านมีตาทิพย์ มองเห็นยักษ์กำลังตีศีรษะของพระสารีบุตร จึงได้เข้าไปหาพระสารีบุตร แล้วถามว่า "ท่านสารีบุตร ท่านยังพออดทนได้หรือ ท่านรู้สึกเจ็บปวดอะไรบ้างหรือเปล่า"
 
    พระสารีบุตรตอบว่า "ท่านโมคคัลลานะ ผมยังพออดทนได้ ยังพอให้อัตภาพดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่ที่ศีรษะของผมรู้สึกกระเทือนเล็กน้อยเท่านั้น"
พระโมคคัลลานะรู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงกล่าวชมพระสารีบุตรว่า "น่าอัศจรรย์จริง ท่านสารีบุตร ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริงๆ เพราะยักษ์ตนนี้มีกำลังมหาศาล ขนาดที่ว่าสามารถทุบช้างที่สูงถึงแปดศอก จมลงในดินได้ในชั่วพริบตา หรือจะทำลายยอดเขาใหญ่ให้พินาศก็ยังได้ แต่ท่านกลับไม่เป็นอะไรเลย เพียงแต่รู้สึกไม่สบายนิดหน่อยที่ศีรษะเท่านั้น"
เมื่อพระสารีบุตรฟังคำนั้นแล้ว ได้กล่าวชื่นชมพระโมคคัลลานะว่า "อาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์จริงที่ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้เห็นยักษ์ตนนั้น ส่วนผมไม่เห็นแม้เพียงฝุ่นในบัดนี้"
 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สดับการสนทนาของพระเถระทั้งสองนั้นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงเปล่งอุทานว่า "จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเคือง จิตของผู้นั้นได้รับการอบรมเป็นอย่างดีแล้ว จึงไม่มีความทุกข์"
ส่วนยักษ์เมื่อทุบตีศีรษะของพระสารีบุตรแล้ว ความเร่าร้อนพลันบังเกิดขึ้นในร่างกายของตน ไม่อาจดำรงตนอยู่บนอากาศได้ จึงตกสู่พื้นดินในขณะนั้นเอง มหาปฐพีหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ที่รองรับเขาสิเนรุสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่อาจรองรับอกุศลที่ยักษ์ได้ทำไว้ จึงแหวกช่องให้เปลวไฟพลุ่งขึ้นมาจากอเวจีมหานรก หอบเอายักษ์ตนนั้น ซึ่งกำลังทุรนทุราย ให้ลงไปสู่มหานรกในขณะนั้นเอง
เราจะเห็นว่า ผู้ที่ฝึกฝนอบรมใจของตนเองมาอย่างดีแล้ว ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบกายให้เป็นทุกข์ แต่ความทุกข์นั้น ไม่อาจกระเทือนเข้าไปสู่ใจของท่านได้เลย เพราะใจท่านบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลสใดๆ มาเกาะกินใจได้ จึงไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง และไม่มีความแค้นเคือง ส่วนปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ถ้าพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศลต่อผู้บริสุทธิ์เข้า ก็จะได้รับผลกรรมอันน่าสะพรึงกลัว เป็นเวลายาวนาน
ดังนั้น การทำบาปด้วยความคึกคะนอง แม้จะเพียงเล็กน้อย อย่าได้คิดทำ เพราะจะเป็นการสั่งสมกิเลสให้พอกพูนยิ่งขึ้น ซึ่งหากเมื่อใดที่กิเลสเข้ามาเกาะกินจิตใจ เมื่อนั้นใจของเราจะขุ่นมัว เศร้าหมองและมืดมนในที่สุด เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านตั้งใจทำความดี สร้างบุญบารมีกันต่อไป เพราะบุญจะเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์และเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอต่อเนื่อง และต้องตั้งใจทำกันอย่างจริงจังและหมั่นสังเกตแก้ไข ปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา อย่าลืมว่าประสบการณ์ ทุกๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมนั้น มีคุณค่าเสมอ เป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เรารู้ว่า กาย วาจา และใจของเรา บริสุทธิ์เพียงใด ในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว ต้องฝึกใจให้หยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายอยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนลมหายใจเข้าออก โดยปรับอารมณ์ให้สบายและเบิกบานอยู่เสมอ เพราะสภาพใจที่จะเข้าถึงธรรมได้ ใจต้องสดชื่น เบิกบาน
การทำใจให้เบิกบานแช่มชื่น เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกฝนให้ติดเป็นนิสัย เมื่อมีเรื่องราวอะไรมากระทบใจ ความขุ่นมัวจะอยู่ในใจของเราได้ไม่นาน อาจจะอยู่เพียงชั่วครู่เดียว หรือไม่มีอยู่เลย หากฝึกใจได้อย่างนี้ จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัยแก่เรา คอยขจัดปัดเป่าสิ่งที่จะทำให้เกิดความเครียด ความขัดเคืองใจ หรือความขุ่นข้องหมองใจทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
เมื่อตั้งใจฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งต่อไป สักวันหนึ่งจะต้องเข้าถึงพระธรรมกาย และพระธรรมกายนี่แหละ คือ เป้าหมายของชีวิต เป็นที่พึ่งอันประเสริฐที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา เมื่อเข้าถึงแล้ว แม้อยู่เพียงลำพังเราก็ไม่ว้าเหว่ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้ เพราะใจใสสว่างอยู่ภายใน รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย แม้แตกกายทำลายขันธ์ไป ก็ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย เพราะรู้ว่ามีสุคติเป็นที่ไป ดังนั้น ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
*มก. ชุณหสูตร เล่ม ๔๔ หน้า ๔๒๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา