16 พ.ค. 2020 เวลา 08:00 • ประวัติศาสตร์
ปล่อยวางในสรรพสิ่ง
สิ่งที่ได้เห็นได้ยินและได้ทราบทุกอย่าง ที่คนเหล่าอื่นหลงติดใจ สำคัญผิดคิดไปว่าเป็นจริงเป็นจัง ตถาคตเป็นผู้คงที่ในสิ่งเหล่านั้น หมู่ชนติดใจข้องอยู่ในสิ่งใด พระตถาคตทรงรู้เห็นในสิ่งนั้น แต่ความติดใจไม่มีแก่ตถาคตเลย …
วันคืนล่วงไปๆ สรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า รถราบ้านช่อง คนสัตว์สิ่งของ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เหมือนต้นไม้ที่เราเคยเห็นต้นเล็กๆ ไม่นานก็เจริญเติบโตขึ้น แผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผล ให้ความสดชื่นแก่ทุกชีวิต แต่ไม่นาน ดอกไม้ที่ดูสวยสดงดงามเหล่านั้น ก็เหี่ยวแห้ง ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม เราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ควรหาโอกาสเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้แก่ตนเองด้วยการฝึกฝนใจ ให้หยุดนิ่งทุกวัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน กาฬกสูตร ว่า
"สิ่งที่ได้เห็นได้ยินและได้ทราบทุกอย่าง ที่คนเหล่าอื่นหลงติดใจ สำคัญผิดคิดไปว่าเป็นจริงเป็นจัง ตถาคตเป็นผู้คงที่ในสิ่งเหล่านั้น หมู่ชนติดใจข้องอยู่ในสิ่งใด พระตถาคตทรงรู้เห็นในสิ่งนั้น แต่ความติดใจไม่มีแก่ตถาคตเลย"
ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เที่ยง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน ไม่ช้าก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ถูกต้อง ลิ้มรส สัมผัส ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระแก่นสารอะไรทั้งนั้น แต่ชาวโลกทั่วไปยังยึดมั่นถือมั่นหลงใหลเพลิดเพลิน ทำให้มีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง วนเวียนกันอยู่ เดี๋ยวกลุ้มใจ เดี๋ยวดีใจ เพราะไม่รู้จักการปล่อยวาง ไม่มีอุเบกขาธรรมในสิ่งเหล่านั้น
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นแจ้งสิ่งเหล่านี้ จึงได้ปล่อยวาง ไม่ยินดียินร้าย ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารเหล่านั้น ใจของพระพุทธองค์ผูกพันอยู่กับพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว ใจของท่านติดแน่นอยู่ในกลางกายภายใน มีความสุขในการเสวยนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นบรมสุขล้วนๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัตภายใน ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม พระพุทธองค์ทรงไม่หวั่นไหว ไม่สนใจไม่ยินดียินร้ายในเรื่องราวเหล่านั้นเลย
*ในสมัยที่พระบรมศาสดาใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงเดินทางไปเมืองกุสินารา ขณะที่ประทับอยู่ใต้โคนไม้แห่งหนึ่ง ได้มีพราหมณ์ชื่อ ปุกกุสะ มาเข้าเฝ้า แล้วเล่าถึงความประทับใจที่มีต่ออาฬารดาบส ให้พระพุทธองค์ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งอาฬารดาบส นั่งสมาธิ(Meditation)อยู่ที่โคนไม้ ขณะนั้นมีขบวนเกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม เดินทางผ่านมา เสียงดังประหนึ่งว่าแผ่นดินไหว แต่ท่านดาบสยังนั่งสงบนิ่งอยู่ในอรูปฌานสมาบัติ ไม่ได้ใส่ใจในเสียงขบวนเกวียนเหล่านั้นเลย
พอขบวนเกวียนผ่านไป ท่านพราหมณ์จึงถามอาฬารดาบสว่า "ได้เห็นขบวนเกวียนที่ผ่านไปไหม"
ท่านดาบสก็บอกว่า "ไม่เห็นและไม่ได้ยินอะไรเลย"
ปุกกุสะจึงชื่นชมอาฬารดาบสว่า "เป็นผู้มีอุเบกขาธรรมปล่อยวางในสรรพสิ่ง"
เมื่อพระบรมศาสดาได้สดับแล้ว ก็ตรัสเล่าถึงความที่พระพุทธองค์เป็นผู้มีอุเบกขาธรรมเช่นกัน โดยตรัสถึงสมัยที่ประทับอยู่ที่เมืองอาตุมา กำลังเดินจงกรมอยู่ในโรงสีข้าว ตอนนั้นได้เกิดพายุใหญ่ ฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบฟ้าผ่าลงมา เป็นระยะๆ ชาวนาสองคนพี่น้องและวัวอีกสี่ตัวถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตทันที ที่ข้างๆ โรงกระเดื่องนั้น
เมื่อฝนหยุดตก มหาชนพากันไปช่วยเก็บศพของชาวนาและวัวที่ตายเอาไปเผา ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จออกจากโรงกระเดื่อง เพื่อเดินจงกรมที่กลางแจ้ง
 
พระพุทธองค์ตรัสถามมหาชนว่า "มาชุมนุมทำอะไรกันที่นี่"
ชาวบ้านจึงกราบทูลว่า "เมื่อสักครู่นี้เอง ขณะที่ฝนตกหนัก ฟ้าได้ผ่าชาวนาสองพี่น้องและวัวอีกสี่ตัวตายหมด แล้วพระองค์ประทับอยู่ที่ไหนเล่า"
พระบรมศาสดาตรัสว่า "เราเดินจงกรมอยู่ที่นี่เอง"
"แล้วพระองค์ไม่ได้ยินเสียงฟ้าผ่าหรือ"
"เราไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย"
ชาวบ้านทูลถามด้วยความสงสัยว่า "พระองค์บรรทมหลับอยู่หรือเปล่า ถึงไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้"
พระบรมศาสดาตอบว่า "เราไม่ได้หลับ ยังคงรู้สึกตัว เป็นผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา"
 
    ที่ทรงตอบอย่างนั้น เพราะเมื่อใจหยุดนิ่งเข้าสู่ภายในแล้ว จะไม่ได้ใส่ใจในสิ่งนอกตัวเลย เนื่องจากว่าไม่มีอะไรที่จะน่ายินดียิ่งไปกว่าใจที่หยุดนิ่งอยู่ภายใน
เมื่อปุกกุสะได้ฟังเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์นี้แล้ว ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ที่ทรงมีอุเบกขาธรรม มีพระทัยสงบ หยุดนิ่ง ไม่สะดุ้งหวั่นไหว แม้กระทั่งเสียงฟ้าผ่าฟ้าร้อง ปุกกุสะจึงขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ และประกาศตนเป็นอุบาสกไปจนตลอดชีวิต
เพราะฉะนั้น ใจที่หยุดนิ่ง จะทำให้เราเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในทุกสิ่งทุกอย่าง หยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็เกิดจากใจที่หยุดนิ่งตรงกลางกายนี่เอง เพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่ง เป็นพระอรหันต์ คำว่า หยุด จึงเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ สมควรจะได้รับการสืบทอดให้เป็นมรดกของโลกอย่างแท้จริง เพราะ หยุด คำนี้เป็นคำที่ทำให้ชาวโลกได้พบกับสันติสุขภายใน พบกับพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของมนุษยชาติ
ดังนั้น ไปช่วยกันสถาปนาบ้านกัลยาณมิตรให้เกิดขึ้นมากๆ เพื่อให้ชาวโลกทุกคนได้มีโอกาสมาฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จะได้เข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงพระธรรมกาย สันติสุขที่แท้จริงจะได้บังเกิดขึ้น
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
*มก. ปุกกุสมัลลบุตร เล่ม ๑๓ หน้า ๒๙๙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา