17 พ.ค. 2020 เวลา 16:11 • การศึกษา
กุมารี เทพเจ้าที่มีชีวิตของเนปาล
กุมารีแห่งเนปาล // ที่มา fteemalaysia.com
วันนี้เป็นวันหยุดพักผ่อนหลังจากการต่อสู้กับการบ้านของลูกมาทั้งอาทิตย์ เลยมีเวลาว่างมานั่งอ่านเรื่องราวของประเทศเนปาล ทำให้นึกถึงตอนที่ไปประเทศเนปาลค่ะ (แต่เพราะว่าเอา hard drive ทิ้งไว้ที่ออฟฟิต เลยจำเป็นต้องหารูปในอินเตอร์เน็ตมาประกอบบทความนี้แทนค่ะ)
ถ้าพูดถึงเนปาล คนส่วนใหญ่คงนึกถึงการได้มีโอกาสขึ้นไปปีนยอดเขาหิมาลัยสักครั้ง แต่จริงๆแล้วเนปาลเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจมากๆ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและการใช้ชีวิต ฉันกับเพื่อนโชคดีที่ได้ไปกาฏมาณฑุก่อนการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.8 ริกเตอร์เมื่อปี 2015 แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ทำลายศาสนสถานที่สำคัญของเนปาลไปอย่างน่าเสียดาย
ภาพเปรียบเทียบบริเวณจัตุรัสดูบาร์ ก่อนและหลังการเกิดแผ่นดินไหว// ที่มา zerohedge.com
หนึ่งในสถานที่ที่ฉันตั้งใจไปมากคือ การ์ (Ghar) ตึกสามชั้นสร้างด้วยอิฐผสมไม้ซึ่งเป็นที่ประทับของกุมารีหรือเทพเจ้าที่มีชีวิตของเนปาล
เนปาลเป็นประเทศที่มีเทศกาลสำหรับบูชาเทพเจ้าเยอะมากเพราะมีเทพเจ้าหลายองค์ กุมารีคือเทพเจ้าที่มีชีวิตที่ชาวเนปาลมีความเชื่อว่าเป็นร่างประทับของเทวีตาเลจูหรือที่เรารู้จักกันว่าเจ้าแม่กาลี(Kali) หรือ กาลิกา เจ้าแม่ตาเลจูจะอยู่ในร่างเด็กหญิงก่อนมีประจำเดือนเท่านั้น
เทพีตาเลจูหรือเจ้าแม่กาลี
ในขณะที่เราสองคนยืนงงกันอยู่หน้าการ์พร้อมกางแผนที่ในมือ ไกด์ทัวร์ที่เป็นชาวเนปาลปรี่เข้ามาถามว่าต้องการให้เป็นไกด์ส่วนตัวพาไปสถานที่ต่างๆ หรือไม่ พร้อมกับประโยคสำคัญที่ฉันตกลงจ้างทันทีคือตัวเค้าสามารถพาไปดูกุมารีตัวจริงด้วย เพราะเค้ารู้จักกับพี่เลี้ยงของกุมารี (วงในมากๆ)
ต้องขอเท้าความให้ฟังก่อนว่าโดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวอย่างเราจะไม่สามารถเข้าพบกุมารีแบบใกล้ชิดได้ และกุมารีจะไม่สามารถออกนอกการ์ได้ ยกเว้นวันเทศกาลเท่านั้น มีเพียงบางครั้งที่กุมารีจะโผล่มานั่งที่ระเบียงหรือมองมาจากหน้าต่างเพื่อดูผู้คนเดินผานไปผ่านมา ซึ่งก็แล้วแต่โชคของเราจริงๆ
บริเวณด้านหน้าของการ์ที่เจอคุณไกด์ชาวเนปาล ในบางครั้งกุมารีก็จะโผล่หน้ามาจากหน้าต่างด้านบนสีทองเพื่อมองดูคนที่เดินผ่านไปมาค่ะ // ที่มา outshineadvanture.com
ไกด์ทัวร์พาพวกเราเข้าไปที่การ์ (เราสามารถเข้าไปได้ในบริเวณจำกัด ไม่สามารถเดินรอบๆ ได้เพราะเป็นที่ประทับของกุมารี) ด้านในของการ์เป็นไม้และมีพื้นที่เป็นลานว่างขนาดไม่ใหญ่มาก มองไปด้านบนมีระเบียงและหน้าต่างไม้ยาวเป็นแถว มีนั่งท่องเที่ยวและคนเนปาลรออยู่กลุ่มใหญ่ที่ลานว่างด้านล่าง ไกด์สาธยายประวัติของกุมารีให้เราฟัง พร้อมทั้งบอกข้อห้ามต่างๆ อาทิเช่น เราไม่สามารถถ่ายรูปกุมารีได้
ตอนที่เข้าไปด้านในของการ์ บรรยากาศก็จะคล้ายๆ แบบนี้ค่ะ แต่ไม่รู้ว่ากุมารีจะโผล่มาที่หน้าต่างไหนกันแน่// ที่มา ttnote.com
ฉันรออยู่อึดใจนึง ไกด์ทัวร์ของฉันก็ตะโกนถามผู้ชายที่เดินผ่านหน้าต่างด้านบนเป็นภาษาเนปาลี (ฉันงงนิดหน่อยว่าทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ นี่วังของกุมารีนะ หรือไกด์จะเป็นคนวงในที่แท้ทรู!!!!) แล้วไกด์หันมาบอกเราว่ากุมารีจะออกมาแล้ว แต่ออกมาแป๊บเดียวเท่านั้น
เรารออย่างใจจดใจจ่อ ชั่วครู่ก็เห็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่งกายด้วยชุดสีแดงโผล่หน้าจากหน้าต่างบานกลางชั้นบนสุดพร้อมทั้งโปรยใบไม้แห้งลงมา แล้วก็หายไป
ฉันและเพื่อนออกจะงงนิดหน่อยเพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ฉันรู้ว่าการกระทำของกุมารีมีความหมายเลยถามไกด์ว่าการโปรบใบไม้แห้งแปลว่าอะไร ไกด์ทัวร์บอกว่า วันนี้กุมารีออกมาแค่นี้แหละและการโปรยใบไม้ไม่ได้มีความหมายอะไร (จริงรึเปล่า เริ่มไม่แน่ใจในตัวไกด์)
แต่ถึงจะเจอกุมารีแค่ชั่วอึดใจ ฉันก็รู้สึกพอใจมาก ก่อนหน้านี้ฉันเคยอ่านเรื่องของกุมารีแล้วก็รู้สึกสนใจ จนทำให้ฉันได้เดินทางไปเนปาล และได้เจอกุมารีตัวจริงตามที่ตั้งใจไว้ ฉันจึงอยากจะเล่าเรื่องราวของกุมารีให้อ่านกัน และฉันคิดว่าถ้าอ่านจบ ผู้อ่านอาจจะมีความรู้สึกหน่วงๆ แบบฉันที่ใจนึงฉันเคารพในความเชื่อของชาวเนปาล แต่อีกใจก็สงสารเด็กหญิงที่ต้องมาแบกรับภาระหน้าที่ที่เกินวัยของตัวเอง
อย่างที่เล่าในเบื้องต้น ชาวเนปาลเชื่อว่ากุมารีคือร่างอวตารของเทพีตาเลจูหรือเจ้าแม่กาลีนั่นเอง กุมารีจะต้องเป็นเด็กหญิงบริสุทธิ์ที่มาจากสกุลศากยะ (Shakya) เท่านั้น (เชื่อกันว่าสกุลศากยะสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันกับพระพุทธเจ้า) การเลือกกุมารีบางครั้งเริ่มคัดเลือกกันตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ดังนั้นการที่ลูกสาวบ้านไหนได้รับเลือกให้เป็นกุมารีจะถือว่าเป็นเกียรติมากๆ สำหรับวงศ์ตระกูลของตนเอง แต่เกียรตินี้ก็ต้องแลกกับการที่พ่อแม่จะต้องห่างจากลูกนานประมาณ 7-8 ปีเป็นอย่างต่ำและวัยเด็กของลูกจะถูกพรากไปเพราะการรับหน้าที่กุมารีจนกระทั่งเธอมีประจำเดือนครั้งแรก หรือเสียเลือดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เพราะเชื่อกันว่าเด็กหญิงจะหมดความบริสุทธิ์และเทพีตาเลจูจะละจากร่างนี้ไปทันที
กุมารีไม่ได้มีแค่องค์เดียว แต่จะมีตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนกุมารีหลวงจะอยู่ที่กาฏมาณฑุเท่านั้น กุมารีองค์ปัจจุบันได้รับเลือกในปี 2017 คือกุมารีทริชนา ศากยะ อายุเมื่อขณะได้รับเลือกคือ 3 ขวบเท่านั้น กุมารีทริชนาถูกเลือกมาเพื่อแทนที่กุมารีองค์้เก่าที่มีอายุ 12 ปีขณะพ้นจากตำแหน่ง
เรื่องเล่าของกุมารี
ในประเทศอินเดียมีประเพณีเกี่ยวกับกุมารีมากกว่า 3,000 ปีแล้ว (ใช่ค่ะ อ่านถูกแล้วว่าเป็นอินเดีย เนปาลกับอินเดียเปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้องค่ะ พึ่งพาอาศัยกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน) ประเพณีนี้ได้ถูกเผยแพร่จากอินเดียมาที่เนปาลราวๆ คริสตวรรษที่ 6 แต่มีการลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับกุมารีและวิธีการคัดเลือกรากๆ ศตวรรษที่ 13 เท่านั้นเองค่ะ
ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับกุมารีก็มีหลากหลายเวอร์ชั่น แต่ขอหยิบมาเล่าให้ฟัง 2 เวอร์ชั่นที่มีการพูดถึงมากที่สุด เวอร์ชั่นแรกเล่าไว้ว่า ย้อนกลับไปในสมัยกษัตริย์ไตรโลกยะ ในราชวงศ์มัลละ วันหนึ่งในขณะที่พระองค์กำลังเล่นทอยลูกเต๋ากับเทวีตาเลจูผู้ซึ่งเป็นเทวีปกป้องรักษาราชวงศ์ พระองค์ทรงหลงใหลในความงดงามของเทวีตาเลจูเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าเทวีตาเลจูก็อ่านความคิดของพระองค์ออก จึงเกิดความไม่พอใจและไม่กลับมาเล่นลูกเต๋ากับพระองค์อีก พระเจ้าไตรโลกยะรู้สึกเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงพยายามสวดมนต์อ้อนวอน ในที่สุดเทวีตาเลจูจึงยกโทษให้แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าพระองค์ต้องการจะพูดคุยกับนางอีก นางจะไม่อยู่ในร่างของเทวีตาเลจูให้พระองค์เห็น แต่จะอยู่ในร่างเด็กสาวบริสุทธิ์ในสกุลศากยะ และพระองค์จะต้องออกจากพระราชวังไปสักการะนางที่อยู่ในร่างของเด็กหญิงเท่านั้น
ภาพวาดของเทวีตาเลจูและพระเจ้าจะยะปรากาชเล่นทอยลูกเต๋า รูปนี้ถูกเก็บไว้ที่ Nepal Art Council ค่ะ
อีกเวอร์ชั่นหนึงก็เป็นเรื่องราวคล้ายๆ กันว่า ในสมัยพระเจ้าจะยะปรากาช มัลละ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มัลละ พระองค์เป็นพระสหายกับเทวีตาเลจู ซึ่งทั้งสองพระองค์จะต้องเล่นทอยลูกเต๋าด้วยกันทุกคืนโดยมีข้อแม้ว่าพระเจ้าจะยะปรากาชจะต้องไม่บอกผู้ใดเกี่ยวกับเรื่องของนางแม้กระทั่งพระชายาของพระองค์ แต่แล้ววันหนึ่งพระชายาของพระองค์แอบตามพระองค์เพราะสงสัยว่าพระเจ้าจะยะปรากาชนัดพบกับใครกันหนอทุกคืน เมื่อพระชายาของพระองค์ทรงเห็นเทวีตาเลจูเข้า เทวีตาเลจูจึงโกรธมาก และปรากฏตัวให้พระองค์เห็นในนิมิตว่า หากพระองค์ต้องการพบนางหรือต้องการให้นางปกปักษ์รักษาบ้านเมือง พระองค์จะต้องออกตามหานางให้เจอจากบรรดาชาวเนวาร์ (สกุลศากยะ) ทั้งหมด เพราะนางจะอวตารไปสิงสถิตย์อยู่ในร่างของเด็กหญิงสกุลศากยะเท่านั้น
ชาวเนปาลเลือกกุมารีอย่างไร
กุมารีต้องสืบเชื้อสายมาจากสกุลศากยะ โดยจะคัดเลือกกันตั้งแต่เด็กอายุแค่เพียง 2-3 ขวบ กุมารีในภาษาเนปาลแปลว่าบริสุทธิ์ ดังนั้นกุมารีจะถูกคัดเลือกโดยสังฆราชและโหรหลวงอย่างพิถีพิถัน (ในสมัยครั้งเนปาลยังมีกษัตริย์นั้น พระองค์จะทรงเข้าร่วมคัดเลือกด้วย แต่การปกครองในปัจจุบันที่นำโดยลัทธิเหมาก็ยังให้คงประเพณีนี้เอาไว้) เด็กหญิงจะถูกนำมาตรวจสอบลำดับญาติว่าเป็นสกุลศากยะแท้จริงหรือไม่ แล้วตรวจสอบดวงชะตาและความพร้อมทั้งร่างกาย ด้านจิตใจและอารมณ์ โดยเด็กหญิงจะต้องมีร่างกายที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินทั้งปวง มีฟันครบ 20 ซี่และมีลักษณะดี 32 ประการ เช่น สุขภาพดี ผิวพรรณดี ไม่มีจุดไฝ กระ ไม่มีกลิ่นตัว รูปร่างเหมือนต้นกล้วย ขาเหมือนขากวาง หน้าอกเหมือนสิงห์ ลำคอเหมือนหอยสังข์ น้ำเสียงสดใสและอ่อนหวานเหมือนเป็ด ผมและดวงตามีสีดำสนิท มีมือและเท้าเล็ก มีอวัยวะเพศที่กระชับได้รูป และที่สำคัญที่สุดคือไม่เคยมีเลือดออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บหรือด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม
กุมารีจะต้องมีจิตใจที่ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด หลังจากตรวจสอบความพร้อมทางร่างกายแล้ว ก็จะให้เด็กหญิงเข้าไปอยู่ในห้องมืดและมีภาพวาดน่ากลัว มีผู้ชายใส่หน้ากากหน้าตาดุร้ายน่ากลัวมาร่ายรำหลอกล่อให้ตกใจกลัว และให้เข้าไปในห้องที่เต็มไปด้วยซากควายและแพะจำนวน 108 ตัวที่ถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยเจ้าแม่กาลี (ถามว่าทำไมต้องเป็นควาย ชาวเนปาลนับถือวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ วัวสามารถเดินร่อนตามถนนไปทั่วเมืองได้เลยไม่มีใครว่าอะไร เพื่อนคนเนปาลเคยบอกว่าถ้าขับรถชนวัวตายได้รับโทษสูงกว่าขับรถชนคนอีก อ้อที่สำคัญ ที่เนปาลไม่ดื่มนมวัวนะคะ นมที่ดื่มกันเป็นนมควายค่ะ รสชาติก็คล้ายๆ กันแต่จะมีกลิ่นคาวกว่านิดหน่อยค่ะ)
ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ได้ ก็จะมาถึงขั้นตอนต่อมาค่ะ ขั้นตอนนี้จะให้เด็กหญิงเข้าไปอยู่ในห้องมืดที่เต็มไปด้วยหัวแพะและหัวควายที่ถูกตัด หากผ่านพ้นคืนนี้ไปได้โดยไม่แสดงถึงความหวาดกลัวหรือมีเสียงร้องซักแอะ ก็จะหมายความว่ามีเทพีตาเลจูประทับร่างอยู่ในตัว เพราะเทวีตาเลจูจะไม่หวั่นไหวหรือหวาดกลัวต่อสิ่งใด และเด็กหญิงจะได้ไปต่อค่ะ
ขั้นตอนสุดท้ายคือเด็กหญิงจะต้องสามารถเลือกหยิบของส่วนตัวของกุมารีองค์ก่อนจากกองเครื่องประดับได้อย่างถูกต้อง (ถ้าเป็นร่างประทับของเทพีตาเลจูจริงจะต้องจำของใช้ในร่างอวตารที่แล้วได้นั่นเอง) ถ้าผ่านการทดสอบทั้งหมด ก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นกุมารีองค์ต่อไป
หลังจากได้รับเลือกแล้ว ก็จะเป็นการชำระร่างกายจนบริสุทธิ์เพื่อให้เหมาะแก่การเป็นที่ประทับของเทพีตาเลจู พระในศาสนาพุทธระดับสูงจะร่ายมนตราชำระล้างจุดสำคัญ 6 จุดในร่างกาย ได้แก่ ดวงตา ลำคอ หน้าอก สะดือ อวัยวะเพศ และช่องคลอด โดยเชื่อกันว่าพลังศักดิ์สิทธิ์จากเทพีเตลาจูจะค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในร่างของเด็กหญิง และร่างกายจะค่อยๆมีสีแดงระเรื่อขึ้นเรื่อยๆ
อัคนีจักษุหรือตาที่สามของกุมารี // ที่มา nepaliaustralian.com
เด็กหญิงในฐานะกุมารีในตอนนี้ก็จะได้แต่งกายเต็มยศทั้งชุดและเครื่องประดับที่มีสีแดงและสีทอง กุมารีจะต้องทำผมเป็นมวยทรงโมลีและแต่งหน้าที่มีความหมายทางสัญลักษณ์ โดยมีจุดสำคัญที่สุดคือดวงตาที่สามตรงหน้าผากอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้รู้แจ้งในสรรพสิ่ง เรียกว่าอัคนีจักษุหรือตาไฟ การดูแลกุมารีปัจจุบันจะมีผู้ดูและทั้งหมด 11 คนส่วนมากจะเป็นพระญาติ และพี่เลี้ยงจากวังกุมารี
กุมารี Samita Bajracharya เมื่อครั้งที่ยังเป็นกุมารีในปี 2007 // ที่มา BBC. com
หลังจากนั้นเด็กหญิงคนนี้จะไม่มีชื่อเรียกอีกต่อไป เพราะเธอจะเป็นที่เรียกขานในนาม กุมารี........
หน้าที่ของกุมารี
ทุกวันกุมารีจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อแต่งตัว ในตอนสายต้องขึ้นบัลลังค์รับเครื่องสังเวยจากนักบวช พระสงฆ์ และต้องให้พรแก่ผู้ที่มาสักการะ หลังจากนั้นจึงเรียนหนังสือ (ในสมัยก่อนกุมารีไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ปัจจุบันทางรัฐบาลมีกฎให้กุมารีทุกพระองค์ต้องได้รับการศึกษา แต่จะเป็นการเรียนโดยมีคุณครูมาสอนที่การ์เท่านั้น ไม่สามารถไปโรงเรียนได้) โดยบทเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการสอน บวก ลบ คูณ หาร และการคัดตัวอักษรภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่ากุมารีเป็นเทพเจ้าจึงมีความรอบรู้ในทุกเรื่อง
กุมารีต้องเรียนหนังสือที่การ์เท่านั้น // ที่มา Getty image
กุมารีจะมีหน้าที่หลักๆคือเป็นองค์ประธานในพิธีกรรมต่างๆ 13 ครั้ง นั่นแปลว่ากุมารีจะมีโอกาสที่จะออกมาสู่โลกภายนอกเพื่อพบเจอกับผู้คนเพียงแค่ 13 ครั้งต่อปีเท่านั้น โดยมีพิธีสำคัญก็คือ เทศกาลกุมารี หรือ พิธีขอฝน จะจัดระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม ของทุกปีเป็นเวลา 20 วัน ในวันสุดท้ายของเทศกาลกุมารีจึงจะออกมาให้ประชาชนได้เห็น
ชาวเนปาลมีความเลื่อมใสในตัวของกุมารีเป็นอย่างมาก มีความเชื่อว่าแค่กุมารีเหลือบตามองก็จะทำให้คนๆ นั้นโชคดีแล้ว ดังนั้นจึงมีชาวเนปาลมารอขอเข้าสักการะกุมารีทุกวัน แต่จะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้เข้าสักการะ ผู้ที่เข้าสักการะจะรินน้ำลงที่บาทของกุมารีและนำน้ำใต้บาทนั้นไปดื่มกิน โดยมีความเชื่อว่าเป็นน้ำทิพย์ที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้โดยเฉพราะโรคที่เกี่ยวกับเลือดและประจำเดือน ผู้ที่เข้าเฝ้ากุมารีมักจะนำอาหารและเครื่องสักการะต่างๆ มาถวาย หากกุมารีไม่ปฏิเสธเครื่องสักการะนับว่าเป็นสิริมงคลของผู้เข้าสักการะ
ชาวเนปาลเข้าสักการะกุมารี // ที่มา nepaliaustralian.com
ในช่วงระหว่างการเข้าสักการะ กิริยาอาการของกุมารีจะถูกจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการทำนายชะตาของผู้เข้าพบ ยกตัวอย่างเช่น
หากกุมารีร้องไห้หรือหัวเราะเสียงดัง แปลว่าจะเจ็บป่วยอย่างหนักหรือเสียชีวิต
หากกุมารีน้ำตาไหลหรือขยี้ตา แปลว่าผู้นั้นใกล้จะเสียชีวิตแล้ว
หากกุมารีหยิบอาหารที่ถวาย แปลว่ากำลังจะเสียทรัพย์
หากกุมารีมีท่าทีสงบนิ่งตลอดการเข้าสักการะ นั่นแปลว่าพรที่ขอไว้จะสมปรารถนา
กุมารีกับการชี้ชะตาผู้ปกครองบ้านเมือง
ในงานเทศกาลอินทรา ยาตรา ซึ่งเป็นเทศกาลที่กุมารีจะประทับอยู่บนราชรถขนาดใหญ่เป็นเวลา 3 วัน โดยขบวนราชรถนี้จะแห่ไปรอบเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าสักการะกุมารีอย่างใกล้ชิด ในสมัยที่เนปาลยังปกครองระบอบกษัตริย์กุมารีหลวงจะมีหน้าที่สำคัญในพิธีการเจิมติกาสีแดงลงบนพระนลาฏของพระมหากษัตริย์ในวันแรกของเทศกาล การเจิมติกามีความหมายว่า ตาเลจู ภวาณี เทพผู้พิทักษ์บรรพกษัตริย์ได้อนุญาตให้กษัตริย์องค์นั้นๆ ปกครองบ้านเมืองต่อไปอีกหนึ่งปี นอกจากนี้ในทุกปี กษัตริย์จะต้องมาเข้าสักการะกุมารีที่การ์เพื่อขอพรโดยการจุมพิตที่เท้าของกุมารีอีกด้วย
ชาวเนปาลเชื่อกันว่า การที่ระบบกษัตริย์ของเนปาลล่มสลายลงเนื่องมาจากกุมารี ณ ขณะนั้นป่วยด้วยอาการของโรคผิวหนัง และจำต้องพ้นสภาพการเป็นกุมารี จึงทำให้ไม่มีเทพเจ้าประจำเมืองปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐแล้ว ผู้นำรัฐบาลก็ยังคงต้องเข้าสักการะกุมารีเพื่อขอพร ไม่เช่นนั้นรัฐบาลชุดนั้นๆ ก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพื่อมาบริหารประเทศ
กฎและข้อห้ามของกุมารี
หลังจากการแต่งตั้งให้เป็นกุมารี เท้าของกุมารีห้ามสัมผัสพื้นดิน ดังนั้นเวลาที่กุมารีจะเดินทางไปไหน จะต้องมีคนอุ้มหรือขึ้นเสลี่ยงไปเท่านั้น ซึ่งคนอุ้มสามารถเป็นเพศชายก็ได้ หรือหากจำเป็นต้องเดิน จะต้องมีผ้าขาวชนิดพิเศษปูพื้นก่อนเดิน
เท้าของกุมารีห้ามแตะพื้น หากเดินทางไปไหนจะต้องมีคนอุ้มหรือนั่งเสลี่ยงเท่านั้น
กุมารีจะไม่ใส่รองเท้าแต่จะทาสีแดงที่เท้า เพราะชาวเนปาลเชื่อว่าการได้สัมผัสเท้าของกุมารีจะทำให้ความกังวลใจและโรคภัยไข้เจ็บหายไป
เท้าของกุมารีจะถูกทาด้วยสีแดง // ที่มา nepaliaustralian.com
กุมารีไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ ยกเว้นครอบครัว พระพี่เลี้ยง และเพื่อนสนิทที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกหลานของพระพี่เลี้ยง
ครอบครัวของกุมารีจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ไม่บ่อยนัก และจะต้องทำอย่างเป็นทางการ
ข้อห้ามสำคัญคือกุมารีไม่สามารถออกนอกการ์ ได้ในยามพระอาทิตย์ขึ้น กุมารีจะออกได้ก็ต่อเมื่อมีงานวันสำคัญต่างๆที่จะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจของกุมารีเท่านั้น ดังนั้นในบางครั้งกุมารีจะมานั่งที่ระเบียงของการ์เพื่อดูผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา
.
.
.
เนื่องจากกุมารีจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากผู้คนรอบตัว แต่การถูกแยกจากครอบครัวและสังคม อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด ต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาทุกวัน แถมยังต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และข้อบังคับในวัยที่ควรจะได้วิ่งเล่นอย่างอิสระเสรีนั้นจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหลังจากกลับไปสู่สังคมอย่างไร
ตอนหน้าจะเล่าถึงชีวิตของกุมารีและความเชื่อต่างๆ หลังจากพ้นจากตำแหน่งนะคะ
หากชื่นชอบบทความ อย่าลืมกดติดตามหรือกดไลค์เพื่อเป็นกำลังใจนะคะ// ยินดีน้อมรับคำติชมค่ะ
ปิดท้ายด้วยรูปวัวในกาฏมาณฑุที่เล่าให้ฟังด้านบนว่าวัวสามารถทำอะไรก็ได้ในเนปาลค่ะ
จะนอนที่นี่ก็ได้น๊า// ที่มา Nepal.org
.
วัวคุ้ยกินขยะก็ไม่มีใครไล่ค่ะ // ที่มา iynf.orf
ที่มาภาพหน้าปก
โฆษณา