24 พ.ค. 2020 เวลา 14:43 • การศึกษา
ชีวิตหลังกุมารี: การเปลี่ยนผ่านจากร่างอวตารเทพเจ้าสู่สามัญชน
ที่มา Narendra Shrestha/EPA)
จากบทความที่แล้วเล่าเรื่องของกุมารีที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวเนปาลแล้ว คราวนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงบทสัมภาษณ์ของเด็กหญิงที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกุมารีและชีวิตของเธอหลังจากพ้นวาระ
รัชมิลา ศากยะ อายุปัจจุบันคือ 42 ปี รัชมิลาเคยดำรงตำแหน่งกุมารีหลวงเมื่อเธออายุได้ 4 ปี และพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 10 ปี จากหนังสือของเธอเรื่อง From Goddess to Mortal: The True Life Story of Kumari เธอเล่าว่าเธอจำเรื่องราวในเมื่อครั้งเธอรับตำแหน่งไม่ค่อยได้เพราะยังเด็กมาก เธอจำได้ว่าเธอจะต้องกินอาหารคนเดียวในห้องที่ยกพื้นสูง เพื่อนเล่นของเธอมีเพียงลูกๆ ของพี่เลี้ยงเท่านั้น และในสมัยก่อนนั้นตัวเธอได้เรียนหนังสือน้อยมากเพราะชาวเนปาลเชื่อว่ากุมารีเป็นร่างประทับของเทพเจ้าจึงมีความรู้ในทุกเรื่อง
หลังจากที่เธอพ้นวาระ รัชมิลามีปัญหาในการปรับตัว ในช่วงแรกๆ ครอบครัวของเธอยังคงกราบไหว้บูชาเธอในฐานะกุมารี หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ให้เธอเริ่มฝึกฝนงานบ้านต่างๆ ที่เธอไม่เคยได้มีโอกาสทำเลยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกุมารี รัชมิลาเล่าว่าเธอยังจำความรู้สึกตกใจที่รู้ว่าต้องนอนห้องเดียวกันกับพี่สาว ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีคนเข้ามาเยี่ยมเยียนสักการะเหมือนทุกวัน และเธอรู้สึกว่าบ้านของเธอเล็กมากเมื่อเทียบกับการ์ที่เธอเคยอยู่
รัชมิลาต้องเรียนรู้แม้กระทั่งวิธีการใส่รองเท้า การเดินบนพื้น การเลือกชุดใส่เอง ซื้อชอคโกแลตด้วยตัวเอง (เพราะตอนเป็นกุมารีมีแต่คนนำมาถวาย 😁) และที่สำคัญที่สุดคือการเข้าสังคมและการสร้างมนุษยสัมพันธ์ (ตอนเป็นกุมารีมักจะสั่งผู้คนทำโน่นนี่ซะส่วนใหญ่ และไม่ค่อยจะมีใครปฏิเสธคำสั่งของเธอสักเท่่าไหร่) รัชมิลาจำได้ว่าเมื่อเธอกลับเข้าโรงเรียน เธอทำคะแนนวิชาความรู้ทั่วไปพร้อมกับเด็กๆ 5 ขวบ และเธอได้คะแนนเพียง 17% เท่านั้น
ปัจจุบันรัชมิลาเป็นกุมารีคนแรกที่จบมหาวิทยาลัยและมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เธอทำอาชีพนักพัฒนาซอฟแวร์และยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญของการศึกษาของกุมารี เธอยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนให้กุมารีรุ่นหลังๆ เกี่ยวกับปรับตัวก่อนกลับไปใช้ชีวิตแบบคนปกติ
รัชมิลา ศากยะ // ที่มา nepalitimes.com
รัชมิลาทิ้งท้ายว่า กุมารีทำให้เธอรู้สึกมีสองชีวิต มีสองตัวตน เธอภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเธอมีโอกาสได้เป็นกุมารีหลวงแห่งกรุงกาฏมาณฑุ
พรีติ ศากยะ เด็กสาวอายุ 22 ปีเคยได้ทำหน้าที่สำคัญคือการเป็นกุมารีหลวงของกรุงกาฏมาณฑุ เธอต้องจากครอบครัวมาพำนักอยู่ที่การ์ทันทีเมื่อรับเลือกให้เป็นกุมารีหลวงตั้งแต่อายุ 3 ปี พรีติเล่าว่าการเป็นกุมารีทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญเพราะผู้มาสักการะมักจะนำขนมและของเล่นมาถวายอยู่เสมอ แต่เธอเองก็ต้องแลกกับการที่มีโอกาสออกจากการ์เพียง 13 ครั้งต่อปี หนึ่งในโอกาสที่เธอได้ออกไปเจอโลกภายนอกคืองานเทศกาลสำคัญอย่างงานอินทรา ยาตราที่จะมีการให้พรกับกษัตริย์และแห่กุมารีหลวงไปรอบเมือง พรีติที่รับหน้าที่เป็นกุมารีหลวงจะต้องนั่งอยู่บนราชรถเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วันเพื่อให้พรแก่ชาวเนปาลที่พยายามเบียดเสียดกันเพื่อได้รับโอกาสที่จะได้ใกล้ชิดกุมารีให้มากที่สุด พรีติอยู่ในราชรถโดยที่ไม่ได้กินอะไรเลยหรือแม้แต่จะลงไปเข้าห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าเธอมีพลังจากเทพ ตัวเธอเองเล่าให้ฟังว่าเธอเองรู้สึกสงบนิ่ง ไม่รู้สึกหิวหรือเหนื่ิอยแม้จะต้องอยู่ในราชรถหลายชั่วโมงก็ตาม
ขบวนราชรถของกุมารีในเทศกาลอินทรา ยาตรา กุมารีจะต้องนั่งในราชรถนานกว่า 6-7 ชั่วโมง // ที่มา Reuters: Navesh Chitraker
พรีติพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 11 ปี ถึงแม้ว่าจะเป็นการพ้นตำแหน่งก่อนที่ประจำเดือนครั้งแรกของเธอจะมา แต่เพราะการคัดเลือกกุมารีต้องใช้เวลาเตรียมการหลายปีและชาวเนปาลเชื่อว่าหากกุมารีมีประจำเดือนขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นจะไม่เป็นมงคลต่อบ้านเมือง คณะผู้ดูแลและคัดเลือกกุมารีจึงให้เธอพ้นจากตำแหน่ง
เมื่อถึงเวลาที่พรีติจะต้องออกจากการ์ เธอร้องไห้อย่างหนักเพราะความผูกพันกับพี่เลี้ยง ทุกคนที่การ์เปรียบเสมือนครอบครัวของเธอ การเปลี่ยนผ่านจากกุมารีผู้มีความสำคัญกับทุกคนแม้กระทั่งกษัตริย์ (พรีติทำหน้าที่ให้พรแก่กษัตริย์เนปาลทั้งหมด 7 ครั้ง) กลายมาเป็นเด็กหญิงธรรมดาคนหนึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับเธอมาก พรีติรู้สึกกลัวการออกไปนอกบ้านเพียงลำพังเพราะตลอดช่วงเวลาการเป็นกุมารีของเธอนั้น เธอไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับใครเมื่ออยู่นอกการ์ นอกจากนี้เวลาเดินเธอยังรู้สึกเหนื่อยง่าย และเมื่อถึงเวลาที่เธอกลับไปเรียน จากชีวิตการเป็นกุมารีที่มีแต่ผู้คนเทิดทูนบูชากว่า 8 ปี เมื่อกลับมาเป็นสามัญชนคนธรรมดานั้น พรีติถูกคุณครูว่ากล่าวเนื่องจากเรียนไม่ทันเพื่อน (กุมารีจะเรียนอ่านเขียนภาษาอังกฤษและบวกเลขพื้นฐานเท่านั้น เพราะความเชื่อที่ว่าเป็นองค์อวตารจากเทพเจ้า มีความรอบรู้ในทุกเรื่อง) อีกทั้งเธอยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนๆ เรื่องรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างอวบ พรีติที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นในขณะนั้นรู้สึกว่าตนเองบอบช้ำทางจิตใจเป็นอย่างมากเพราะเธอไม่เคยได้ยินคำพูดเหล่านี้เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นกุมารี แต่ในที่สุดเธอก็สามารถปรับตัวได้โดยมีแม่ของเธอคอยช่วยเหลือ ทุกวันนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนจำได้ว่าเธอเคยเป็นกุมารีหลวง และเธอเองก็สามารถใช้ชีวิตปกติแบบคนธรรมดาทั่วไปและกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยตามความใฝ่ฝันของเธอที่อยากทำงานธนาคารในอนาคต
ซ้าย: พรีติเมื่อครั้งยังเป็นกุมารี/ ขวา: พรีติเมื่อปี 2019 อายุ 21 ปี (ที่มา Reuters และ ABC News)
มาธินา ศากยะ อดีตกุมารีหลวงองค์ผู้รับตำแหน่งต่อจากพรีติ มาธินาดำรงตำแหน่งกุมารีถึง 9 ปีตั้งแต่เธออายุเพียง 3 ปี และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเมื่ออายุ 12 ปี เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุมารีมากขึ้น มาธินาจึงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ มากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไป เธอสามารถปรับตัวและเรียนรู้การเข้าสังคมค่อนข้างดี ทั้งครอบครัวและโรงเรียนต่างก็พยายามช่วยเหลือมาธินาในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากนี้ ถึงแม้สังคมรอบตัวและเพื่อนที่โรงเรียนของเธอจะยังมีสายตาของความหวั่นเกรงเด็กหญิงผู้เคยเป็นร่างอวตารของเทพเจ้าอยู่บ้างในตอนแรก แต่มาธินาสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ไม่ยาก มาธินาเป็นเด็กที่ใฝ่รู้ และชอบทำกิจกรรมต่างๆ ที่เธออาจไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยมากนักในช่วงการดำรงตำแหน่งกุมารี เช่น วาดรูป ทำอาหาร
บน: มาธินา ศากยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกุมารีหลวงหลวง// ล่าง: มาธินาและเพื่อนๆ ที่โรงเรียน (ที่มา GettyGOPEN RAI/AFP/Getty Images)
เนปาลมีความเชื่อเกี่ยวกับหญิงที่เคยรับตำแหน่งกุมารีว่าชายใดที่แต่งงานกับอดีตกุมารีจะทำให้วงศ์ตระกูลประสบกับเคราะห์ร้าย และตัวเองก็จะต้องตายภายใน 6 เดือนหลังจากแต่งงาน เพราะความเชื่อที่ว่ากุมารีเคยเป็นร่างประทับของเทพีตาเลจู อดีตกุมารีบางส่วนจึงเลือกที่จะครองตนเองเป็นโสดไปตลอดชีวิต บางส่วนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาแต่งงานมีครอบครัว แต่จะไม่เปิดเผยตนเองว่าเคยเป็นกุมารีมาก่อน
อนิตา ศากยะ อดีตกุมารีที่ไม่ต้องการแต่งงาน/ ที่มา nepalitimes.com
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความกังวลของพ่อแม่ต่อชีวิตของลูกหากได้รับตำแหน่งกุมารีทั้งด้านการศึกษา การปรับตัวของลูกหลังรับตำแหน่ง หรือแม้แต่การแต่งงานมีครอบครัว จึงส่งผลให้ในปัจจุบันพ่อแม่ตระกูลศากยะเริ่มจะไม่ค่อยส่งตัวลูกสาวเพื่อการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกุมารี และการค้นหาเด็กหญิงที่มีลักษณะดีทั้ง 32 ประการก็ยากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเนปาลจึงออกกฎหมายให้กุมารีทุกองค์ต้องได้รับการศึกษามากขึ้นกว่าคณิตศาสตร์พื้นฐานและการหัดเขียนภาษาอังกฤษ และยังมีเบี้ยเลี้ยงให้กับอดีตกุมารีราวๆ 16,000 รูปี (หรือราวๆ 4,200 บาท) ต่อเดือนไปตลอดชีวิต
โฆษณา