23 พ.ค. 2020 เวลา 10:28 • ความคิดเห็น
ว่ากันไปตามภาษา(6): ภาษาไทยเอาไงดี
ตอนที่ผ่านๆมาเขียนถึงความสับสนในการใช้ภาษาอื่นในภาษาไทย ตอนนี้เอาเรื่องภาษาไทยนี่แหละ มีหลายมุมเลยทีเดียวให้พูดถึง บางมุมก็แค่ขำๆแต่บางมุมก็อยากจะให้ช่วยจริงจังกันหน่อยและบางมุมก็ถกเถียงกันได้เพลินๆ ว่าแล้วก็มาคุยกัน
เอามุมเบาๆกันก่อน ลองคิดดูเล่นๆในเรื่องของภาษาไทยที่เราพูดกันมาตั้งแต่เกิดก็พบว่าหลายๆคำ หากเจาะลึกลงไปแล้ว มันดูแปลกๆ หากเป็นชาวต่างชาติมาเรียนภาษาไทยแล้วก็คงจะงงๆอยู่ไม่ใช่น้อยเพราะว่าคำเหล่านั้นที่เวลาพูด แล้วเพราะว่าความหมายมันช่างกำกวมอย่างยิ่ง บางคำมีความหมายเหมือนกับดีแต่กลายเป็นร้ายไปเสีย อย่างนั้น บางคำก็ไม่แน่ใจว่าความหมายมันจะดีหรือจะร้ายดี ลองดูตัวอย่างคำเหล่านี้และพิจารณากันเล่นๆ สนุกๆกันดีกว่า
เริ่มต้นกันเลยด้วยคำแรกกับคำว่า “งามหน้า” คำนี้ไม่ได้แปลว่า “หน้างาม”หรือ “หน้าสวย”แต่กลับกลายเป็น เรื่องน่าอับอาย ใครมาบอกเราว่า “งามหน้าไหมล่ะแก” แทนที่จะเป็นคำชมกลับเป็นคำด่าไปเสียนี่
ต่อมาคำว่า “ตัวดี” “ปากดี” “มือดี” เหล่านี้ล้วนไม่ใช่คำชม เช่นมีคนมาเรียกหญิงคนหนึ่งว่า “นังตัวดี” แปลว่าคนนั้นคงไม่ดีแล้วแน่ๆ เพราะคำว่า คำนี้คือ นังตัวร้าย นั้นเอง
ในขณะเดียวกันคำว่า “ปากดี” ก็กลับหมายถึง “ปากไม่ดี”เพราะคำว่า “ปากดี” มักใช้เป็นสำนวนประชดประชัน
เวลาคนที่ชอบเถียงโดยเฉพาะตอนเด็กมาพูดต่อปากต่อคำกับผู้ใหญ่ก็จะถูกบอกว่า “ปากดีนักนะ” ก็เท่ากับว่า ปากไม่ดีนั่นเอง ส่วนคำว่า “มือดี” ก็กลับกลายเป็นพวกที่ใช้มือมาทำเรื่องร้าย เช่น มีมือดีมาขโมยเศียรพระ นั่นมันทำเรื่องที่ไม่ดีแท้ๆแต่ไฉนจึงเรียกว่ามือดีได้ อันที่จริงมันน่าจะใช้คำว่าไอ้พวกมือเน่า หรือ มือเสีย หรือมีอะไรก็ได้มาบรรยายต่อท้าการกระทำของคนเหล่านี้เพื่อให้รู้ว่าเป็นการร้ายไม่ใช่การดี จริงไหม
ส่วนคำว่าสวย อันที่จริงเป็นความหมายทางบวก แต่พอเอาคำว่า “สวย” เข้ามาใช้ ในบางประโยคหรือใน บางคำ ความหมายก็เปลี่ยนไป ไม่ได้สวยหรือเป็นไปในทางดี แต่กลับกลายเป็นทางลบที่ไม่เกี่ยวกับสวย แต่หมายความ “จะเจ็บตัวได้” เช่น “ ซ่านักนะแก มาเจอกับฉันหน่อยมั้ยรับรองสวยแน่” เตรียมใจไว้ได้เลยว่า มันจะ “ไม่สวย”แน่ แต่มันหมายถึงอาจจะเจ็บตัวได้
เคยมีมุกตลกว่าคนไทยทะเลากับฝรั่ง ฝรั่งอยู้ห้องด้านบนคนไปไทยอยู่ห้องด้านล่าง เถียงกันไปมาคนไทยอยากจะท้าฝรั่งว่า "ถ้าแน่จริง_งึลงมา เดี๋ยวสวยแน่" ความหมายแบบไทย แต่ไปแปลภาษาอังกฤษแบบตรงตัวว่า "if you sure , you come, will beautiful" ฝรั่งก็งงอะไรฟะ ลงไปสวยยังไงฟะเนี่ย -ฮา
ในทางกลับกันคำที่มีคำว่าร้าย ก็กลับไปมีความหมายในทางบวกเสียอีกเช่นคำว่า “ร้ายกาจ” กลับเหมือนกับว่า"เก่ง"หรือเชี่ยวชาญ ไม่ค่อยเห็นคนมาใช้คำว่าร้ายกาจในทางที่ไม่ดี หรือคำว่า “ทราม” ก็แปลว่าไม่ดี “เชย”ก็มีความหมายในทางลบแปลว่า ล้าสมัย แต่เอาสองคำนี้มารวมกัน เป็นคำว่า ทรามเชย กลับแปลว่า แปลว่าหญิงงามอันเป็นที่รัก คือมีความหมายที่ดีหรือมีความหมายเป็นบวกไป
ความน่างงของภาษาไทยยังไม่มีเท่านี้ นอกจากคำที่เหมือนจะมีความหมายเป็นลบแต่กลายเป็นบวกหรือ บวกกลายเป็นลบที่ยกตัวอย่างมาในตอนต้นแล้วก็ยังมีภาษาที่น่างงอีกประเภทหนึ่งคือเป็นการเลือกใช้พูดคำ แบบกำกวม คือไม่ยอมชี้ชัดว่าจะดีหรือไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง ตัวอย่างเช่นคำว่า “มิดีมิร้าย” ฟังแล้วก็แยกไม่ออกเลยว่า “ทำไม่ดี” คือ “ทำร้าย” หรือ “ทำไม่ร้าย”คือ “ทำดี” แต่ในการใช้คำว่าการกระทำมิดีมิร้าย มักหมายถึง การกระทำการลวนลามทางเพศหรือการข่มขืน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ มันเป็นการกระทำที่เป็นเรื่องร้ายหรือเป็นการกระทำที่ไม่ดีแท้ๆ แต่ก็น่างงว่าแล้วจะมากั๊กว่า เป็น“การกระทำมิดีมิร้าย” ไปทำไม
ต่อมาคำว่า “ข้อเท็จจริง” ที่มีทั้งคำว่า เท็จและจริงในคำเดียวกัน ดังนั้นมันควรจะเป็นจริงหรือไม่จริงกันแน่ แต่เวลาที่เราพูดถึงข้อเท็จจริง เราหมายถึงความจริงหรือเรื่องที่เป็นจริง
หรือคำบางคำที่เราจะสับสนไม่รู้ว่าจะใช้คำไหนกันแน่ถึงจะถูกต้อง ในภาษาอังกฤษมีคำว่า “register” ในภาษาไทยกลับมีความหลากหลายยิ่ง เพราะเรามีทั้งคำว่า จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน ลงทะเบียน และ ตีทะเบียน แม้จะคล้ายกันแต่ให้ค่าต่างกันในความรู้สึก เช่น รัฐบาลจะให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ นักศึกษาจะไปลงทะเบียนเรียน คู่แต่งงานใหม่จะไปจดทะเบียนสมรส มีการตีทะเบียนวัวควาย เป็นต้น ตรงนี้ก็คงไม่เป็นปัญหามากกับคนไทยมากในการพูดแต่จะเป็นปัญหามากหากจะต้องทำงานแปล
คราวนี้หากจะให้ลองวิเคราะห์ว่า ทำไมภาษาไทยถึงไม่ได้ใช้คำที่ตรงกับความหมายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆก็พอจะวิเคราะห์ได้อยู่แต่ ก่อนอื่นก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่านี่เป็นการวิเคราะห์หรือให้ข้อสังเกตเบื้องต้นโดยหลักการส่วนตัวไม่ได้เป็นหลักวิชาการแต่ประการใด ก็คือ เป็นไปได้ไหมว่าภาษาไทยนั้นได้สะท้อนความเป็นตัวตนของคนไทยที่แท้จริงที่เรามักจะ ไม่บอกความรู้สึกจริงๆ ถูกสอนให้เก็บความรู้สึกและให้เกรงใจ และมักจะพูดให้คนฟังตีความและเข้าใจไปเอง เช่นใครถาม “หิวมั้ย” ก็ตอบว่า “ไม่ค่ะ หรือไม่เท่าไหร่ หรือไม่เป็นไรค่ะ” ทั้งๆที่หิว แต่คนชวนจะต้องตั้งใจจริง และคาดเดาเอาเองว่าควรจะไปหาอะไรให้กินหรือไม่ ต่างกับฝรั่งบางชาติที่ถ้าเขาหิวแล้วและหิวมากด้วย เขาก็ตอบเลย “I’m starving” หิวจนไส้จะขาดอยู่แล้ว” เป็นต้น หรือบางครั้งคำว่า ตามสบาย หรือเอาที่สบายใจ ก็ไม่ได้เหมายความว่าจะให้สบายใจแบบนั้นจริงๆ โดยเฉพาะคำหลังที่หนักไปทางประชดมากกว่าคือแบบไม่ได้ชอบที่จะให้ทำแบบนั้นแต่ไม่รู้จะห้ามอย่างไร แบบนี้ถ้าคนรับสารกับคนสื่อสารเข้าใจไม่ตรงกันจะเป็นปัญหาแน่นอน
ก็เอาเป็นว่า ภาษาก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งก็คงจะสะท้อนความเป็นตัวตนของคนใน
สังคมนั้นๆ กันพอสมควร แต่ด้วยการที่ไม่ได้ถูกบอกให้พูดกันตรงๆหรือไม่ได้ฝึกมาให้ตรงไปตรงมา การพูดอ้อมๆเลย ทำให้หลายๆครั้งการสื่อสารมักจะไม่ชัดเจน นอกจากนั้นกลายเป็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่หากใครจะพูดตรงไป ตรงมาโดยไม่ต้องให้ตีความจะกลายเป็นคนที่ดูว่า “แรง” ทั้งๆที่คนพูดไม่ได้ใช้คำหยาบหรือไม่สุภาพเลย แต่การพูดตรงๆกลับเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้
นอกเหนือจากประเด็นภาษาน่างงในภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว เชื่อมโยงกับประเด็นวัฒนธรรม เราจะพบว่าในภาษาไทยอาจมีคำหลายคำที่บ่งบอกความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น คำว่า พ่อค้า กับ แม่ค้า ในกรณีพ่อค้าดูเหมือนว่ากิจการจะดูยิ่งใหญ่หรือมีอิทธิพล พ่อค้าใหญ่ พ่อค้าอาวุธ พ่อค้าคนกลาง ส่วนคำว่า แม่ค้าดูเหมือนการขายของเล็กๆกิจการเล็กแถมถูกนำมาถูกตั้งภาพลักษณ์แบบตายตัว (stereotype) ให้กับคนที่ปากจัดว่าพูดจาเหมือน “แม่ค้าในตลาด”หรือปากตลาด เป็นต้น
ยังมีกรณีของการใช้ความเป็นเพศตัดสินว่าเป็นที่มีมารยาทที่ดีหรือไม่ได้ด้วย เช่น ในการสรรพนามเรียกตัวเอง และผู้อื่น เวลาพูดคุยกัน ผู้ชายใช้คำว่า มึง กู คุยกันดูปกติ แต่ผู้หญิงใช้มักถูกมองว่าเป็นพวกที่ดูว่า ร้าย หรือคำสบถ ผู้หญิงสบถดูไม่ดีอาจถูกมาองว่าเป็นคนไม่ค่อยดีได้แต่ผู้ชายสบถก็ดูเป็นเรื่องปกติเรามักจะได้ยินคำว่า “ ผู้หญิงอะไรพูดจาแบบนี้”
แต่ก็มีบางคำก็เป็นคำที่แม่จะใช้คำของเพศหญิงนำหน้าแต่ไม่ได้ต้องแยกเพศ เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ และ แม่พิมพ์ เป็นต้น สำหรับคำว่าแม่พิมพ์นั้นแปลว่าเบ้าหลอมหรือแม่แบบ ต้นแบบ จึงนำมาใช้มาเรียกครู แต่ตอนนี้น่างงมากๆที่เห็นสื่อต่างๆพร้อมใจกันใช้ผิด เวลากล่าวถึงครูผู้ชายมีพาดหัวว่า พ่อพิมพ์ของชาติ คำนี้อยากจะให้จำไว้ไม่มี ถ้าจะใช้ผิดให้นึกถึงคำว่าแม่แบบ หรือแม่ทัพ เราไม่มีพ่อแบบ หรือ พ่อทัพ แม้คนเหล่านั้นจะเป็นผู้ชายก็ตาม
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยที่ทุกวันนี้มี คนจำนวนไม่น้อยเรียกว่า “ลืมให้ความสำคัญ”และ “ลืมภาคภูมิใจ" ที่เรามีภาษาของตัวเองใช้กันอยู่”และไม่พยายามที่จะใส่ใจที่จะให้ให้ถูกต้อง เคยมีผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนออกมากังวลเรื่องว่าเด็กพูดภาษาไทยกันไม่ชัด ไม่มีร เรือ ล ลิง หรือควบกล้ำกันเลย แต่อันที่จริงมาถึงตอนนี้จะพูดไปทำไมมีก็คิดว่าคงไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่พูดแบบไม่มีร.ล.หรือควบกล้ำผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมืองเองที่ออกสื่อกันอยู่ทุกวันก็ไม่เห็นว่าจะมีใครพูด ชัดพอจะเป็นแบบให้เด็กๆได้เลย แต่ที่แย่กว่าการออกเสียงไม่ชัดคือการใช้คำผิดความหมาย
ในอดีตผู้ประกาศข่าวหรือผู้ที่ออกสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ล้วนจะต้องพูดจาชัดเจน แต่ปัจจุบันก็หาคนที่ออกเสียง ชัดๆได้น้อยลงแม้กระทั่งครูบาอาจารย์ก็คงมีเฉพาะครูภาษาไทยกระมังที่พูดภาษาไทยชัดครูบาอาจารย์อื่นๆก็คงมีอยู่บ้างแต่ก็คงไม่มีใครจริงจังกับเรื่องนี้นัก
นอกจากจะกังวลเรื่องพูดไม่ชัดแล้วปัจจุบันดูเหมือนจะมีหลายๆคนก็เริ่มมีความกังวลเรื่องการใช้ ภาษาในอินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ ที่มีคำประเภท ครุคริ งุงิ มว๊ากกๆๆ ขอบจัย นะคร้า คุนพรี่ หรืออะไรทำนองนี้ โดยอาจหวั่นใจว่านี่เป็นความวิบัติทางภาษา นี่ยังไม่นับที่อยู่ก็มาถึงยุคที่คนจะสะกดคำง่าย คะ ค่ะ นะคะ กันผิดที่ผิดทางกันอีกต่างหาก ส่วนตัวแล้วคิดว่ากรณีต่างๆเหล่มนี้ อาจจะ ยังแก้ไขได้หรือไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะจะว่าไปแล้ว เรื่องการออกเสียงไม่ชัดอันถ้าตั้งใจจริงจังกับเรื่องนี้ ก็ฝึกออกเสียงกันใหม่ได้ จริงจังใส่ใจกับการสะกดให้ถูกต้องให้มากขึ้นก็ช่วยได้ หรือกรณีภาษาในกลุ่มสังคมออนไลน์ก็ถือว่าภาษาเฉพาะกลุ่ม ตราบเท่าที่เขา ยังใช้กันถูกกาละเทศะก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะใช้กันเฉพาะกลุ่มและคำเหล่านี้ก็เป็นกระแสมาแล้วก็ไปเพราะ ภาษาเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลได้และตราบเท่าที่ทุกคนแยกออกว่าอะไรคือภาษาคุยเล่นและอะไรคือภาษาทางการและรู้จักใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะเรื่องนี้ก็ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงนัก
แต่เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าสำหรับภาษาไทยและดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจนักก็คือก็เรื่องของการใช้ภาษาไทยไม่ถูกความหมายหรือการเอาคำบางคำมาใช้ไม่ถูกกับบริบทมากกว่าเพราะนี่หมายถึงการไม่เข้าใจภาษาไทยที่แท้จริงและนับวันผู้คนก็จะละเลยกับการใช้ให้ถูกต้อง ดูเหมือนว่าคนไทยนั้นรู้ภาษาไทยน้อยลงทุกวัน
ยกตัวอย่างที่พบตามสื่อ วันหนึ่งดูรายการโทรทัศน์เป็นการแข่งขันการประกวดร้องเพลง ดาราคนหนึ่งออกมา เชิญชวนผู้ชมว่าให้รีบมาดูการแข่งขันของ season (ฤดูกาล) นี้นะเพราะว่า “ เริ่มเข้มงวด” เข้ามาทุกที ใครมาเข้มงวดกับน้องหรือนี่ อันที่จริงในเรื่องเวลาเราก็ใช้กับว่า งวด เข้ามาทุกทีนั่นเอง และมีบางคนบอกว่า “โปรดติดตามอย่างกระชั้นชิด” แทนที่จะติดตามอย่างใกล้ชิด
“คือผมไม่อยากให้เขาจับจดอยู่กับเรื่องนี้เรื่องเดียว” นักแสดงรายหนึ่งตอบเมื่อถูกถามว่า ห่วงอะไรในตัว เพื่อนของเขาบ้าง อันที่จริงเขาคงจะหมายถึง “จดจ่อ” หมายถึงมุ่งหรือหมกมุ่นอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มากเกินไป ส่วน “จับจด” นั้นหมายถึงคนที่ทำอะไรไม่ได้นาน ทำอะไรไม่จริงจัง หรือไม่เอางานเอาการ ความหมายต่างจากคำว่าจดจ่ออย่างสิ้นเชิง
อีกครั้งหนึ่งก็ได้ยินดาราคนหนึ่ง ขอบคุณครูเนื่องในโอกาสวันครูว่า “ขอบคุณครูที่ได้เสี้ยมสอนผมมาจนทำ ให้มีวันนี้” ครูไปเสี้ยมสอนอะไรเธอหรือวันนี้เธอเป็นคนดีครูเขาคง “สั่งสอน” เธอมามากกว่ากระมัง ถ้าเสี้ยมสอนป่านนี้เธอคงเป็นโจรไปแล้วนะ หรือ “ดิฉันรู้สึกใจเต้นไม่เป็นระส่ำระสาย” เขาแค่ใจ” ใจเต้นไม่เป็นส่ำ” กันก็พอ ได้ยินในโทรทัศน์อีกเช่นกัน มีคนพูดว่า “ใจคอเราะร้าย” เฮ้อ! เขามีแต่ปากคอเราะร้ายกันนะ หรือคำพูดที่เหล่าตลกได้นำมาใช้เวลาได้เจอตัวจริงหรือต่อหน้าของใครก็บอกว่า"ได้เจอตัวเป็นๆ" แล้วทุกคนก็เอามาใช้แม้ไม่ใช่ตลกโดยไม่รู้ว่ากำลังใช้คำผิดอยู่ กลายเป็นใช้กันเป็นทั่วไป หรือคำว่า" มั่นหน้า" ที่หมายถึงมั่นใจในตัวเองมากๆว่าหน้าตาดี หรือ"งามไส้" ก็เป็นอีกหนึ่งคำจากภาษาตลกที่ก็ใช้กันจนชินปาก
เวลาพูดภาษาอะไรได้ไม่ดีเท่าที่ควรมีหลายคนบอกว่า “พูดภาษาอังกฤษไม่แข็ง” อันนี้เอาศัพท์ที่ใช้กับ ทักษะอื่นมาใช้ เช่นการขับรถไม่แข็ง ว่ายน้ำไม่แข็ง หมายถึง ไม่คล่อง หรือยังไม่เก่ง การที่บอกว่าภาษา ไม่แข็ง หรือไม่แข็งแรง หมายถึงอ่อน หรือ ทำได้ไม่ดี หรือไม่เก่ง หรือ ไม่ชัด หรือ ไม่ถนัด นั่นเอง ดังนั้นภาษาอังกฤษไม่ค่อยดีก็บอกไป ไม่น่าใช่ภาษาอังกฤษไม่แข็ง แต่คำนี้ถูกนำมาใช้กันจนเป็นที่แพร่หลาย ไปแล้ว หรือว่าเราจะเปลี่ยนมาใช้ตามนี้ดี
การที่นำเรื่องภาษามาพูดถึงนี้ตัวผู้เขียนเองก็ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ใช่นักภาษาศาสตร์และไม่ได้เรียนวิชาเอกภาษาไทยแต่ที่นำเอาเรื่องนี้มาพูดถึงเพราะคิดว่าภาษาไทยถือเป็นความภาคภูมิใจที่คนไทยทุกคนพึงมีเห็นหลายๆคนชอบกล่าวอ้างเวลาที่ตัวเองพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศไม่ได้ว่า “ ก็เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครนี่” นับเป็นข้ออ้างที่คล้ายกับว่าจะผูกพันและภูมิใจกับภาษาไทยมากๆ แต่เชื่อเถอะว่า คนที่อ้างแบบนี้ก็มักจะ ไม่ใช่คนที่เก่งภาษาไทย หรือรู้ภาษาไทยอย่างแตกฉาน แต่มักจะเป็นคนประเภทที่ไม่ใส่ใจที่จะเรียนภาษา เท่านั้นเองเลยใช้คำนี้มาอ้าง และคนเหล่านี้เองที่มักจะบ่นว่าเราก็เป็นคนไทยอยู่แล้วจะต้องเรียนภาษาไทยไป ทำไมด้วยเช่นกัน
ผู้เขียนเองเวลาเดินทางไปต่างประเทศที่คนไม่ค่อยรู้จักคนไทย เขาก็มักจะถามว่าประเทศเราพูดภาษาอะไร เพราะมักคิดว่าเราต้องใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคมภาษาใดภาษาหนึ่งแน่นอน แต่เราก็บอกไปด้วยความ ภาคภูมิใจว่าเรามีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนของตัวเอง รวมทั้งเรามีวรณคดีที่น่าสนใจยิ่ง การมีวรรณคดีนั้นแสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรมขั้นสูงไม่ใช่น้อยแต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้การเรียนรู้วรรณคดี กลับถูกละเลย
เขียนไปเขียนมาคล้ายว่าจะเป็นการบ่นแต่ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อจะได้ช่วยกันคิดต่อกันอีกหน่อยว่าเรื่อง ภาษาไทยของเรานี้ เราควรที่จะมาเข้มงวดกับการใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนเดิม หรือว่าจะปล่อยให้ไหลไปตาม กระแส มีภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศผสมกับศัพท์ใหม่ทางสังคมออนไลน์ หรือที่ใช้คำไม่ตรงกับความหมาย เดิมหากเป็นที่นิยมไปแล้วก็ใช้กันไปให้สะดวกปากสะดวกใจหรือว่า “เราจะเอาอย่างไรกันดี”//

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา