Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE FREE SPIRIT'S STORIES
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2020 เวลา 06:57 • ความคิดเห็น
ว่ากันไปตามภาษา(5): ภาษาไทยกับลาวเว้ากันม่วนแท้
"คนไทยบ่ฮู้ชาว คนลาวไม่รู้ยี่สิบ" เป็นสำนวนที่พูดถึงความต่างกันระหว่างภาษาไทย
กับภาษาลาว ที่ดูเหมือนจะคล้ายกันแต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายคำที่เวลาพูดไปก็อาจเข้าใจผิดกันได้
ไม่แค่กับกับภาษาอังกฤษหรือกับภาษาอื่นที่มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงเท่านั้นที่ทำให้เป็นปัญหาในการสื่อสาร ภาษาเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างลาวที่คนไทยมักจะคิดว่าภาษาของเราใกล้กันมากจนไม่ต้องใช้ “ล่าม”นี่แหละ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่มากมาย ก็เพราะด้วยความใกล้กันนี่เองหลายคนลืมระมัดระวังว่า ถึงเราจะพูดภาษาที่เกือบจะเดียวกัน แต่หลายคำก็ไม่เหมือนกัน จึงมีคำพูดข้างต้นที่ยกมา “คนไทยบ่ฮู้ซาว คนลาวไม่รู้ยี่สิบ”
ปัจจุบันคนลาวอาจรู้ยี่สิบแล้วแต่คนไทยอาจยังมีน้อยคนอยู่รู้จัก “ซาว” และอย่างคำว่า “ล่าม”ที่พูดถึงไปนั้น หากเป็นภาษาลาวแล้วจะใช้ว่า นายพาสา ( นายภาษา) ดังนั้นแม้จะเข้าใจกันได้ในระดับหนึ่ง แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในความเหมือนนั้นก็มีความต่างกันอยู่เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนใจและระมัดระวัง ในการใช้ภาษากันให้มาก มาดูตัวอย่างกความสับสนในการใช้ภาษาระหว่างคนไทยกับคนลาวกัน
มีบางเรื่องที่เหตุการณ์ที่เจอกับตัวเอง และเกิดขึ้นกับเพื่อนฝูงที่เผลอไผลใช้คำไปแบบลืมว่าลาวไม่ได้พูดแบบนี้ หรือเพื่อนลาวเองก็ลืมไปว่าไทยไม่ได้พูดแบบนี้ ยกตัวอย่างตัวเอง วันหนึ่งในขณะที่ได้ไปประชุมที่หลวงพระบาง หลังประชุมเลิกก็ออกท่องหลวงพระบางยามราตรี กับน้องชาวลาว เธอเป็นคนที่ค่อนข้างทันสมัยและพูดภาษาไทยได้ดี ถ้ามาไทยก็พูดภาษาไทยกันแต่เวลาที่อยู่ที่ลาวนั้นบางเราก็พูดภาษาลาวกันเป็นส่วนใหญ่แต่บางครั้งก็อาจจะพูดภาษาไทยปนไปบ้างบ้างตามความสะดวกปากของแต่ละคนแต่ดูว่าไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร เราก็เข้าใจกันได้ดี
หลังจากที่เดินเลาะเลียบริมโขงชื่นชมความงามตามธรรมชาติเต็มที่แล้ว เวลาล่วงเลยมาเกือบดึกดื่น กำลังจะกลับที่พักบังเอิญเห็น ร้านที่มีลักษณะเป็นแบบ ผับ การจัดร้านค่อนข้างแตกต่างกับร้านกินดื่ม ทั่วไปในหลวงพระบางก็อยากจะลองเข้าไปและหาอะไรดื่มในนั้นสักเล็กน้อ ก็เลยคุยกับน้องเขาว่า “เข้าไปลองดูอะไรในร้านนี้กันหน่อยดีมั้ย” ตอนนี้เราใช้ภาษาไทย แต่น้องเขาถามมาเป็นภาษาลาวว่า “แล้วเอื้อยจะกินหยัง”
“พี่อยากจะดื่มไวน์สักแก้วนึง” ตอบเป็นภาษาไทย
น้องทำหน้าตกใจแล้วถามว่า “แก้วหนึ่งเลยบ่ บ่เมาตายบ๊อนี่” เป็นภาษาลาว ผู้เขียนทำหน้างงเล็กน้อยก็แค่แก้วเดียวจะเมาอะไร ว่าแล้วก็คิดขึ้นได้ว่า “ อ้อ พี่หมายถึง จอก เดียว”
แล้วเราก็หัวเราะกันผู้เขียนพูดต่อไปว่า “เอ่อ พี่พูดภาษาไทยอยู่นะ” แต่น้องเขาบอกว่า “พอดีตอนนี้อยู่เมืองลาว น้องก็เลยคิดเป็นลาวเด๊” ว่าแล้วก็ขำๆกันไป
นี่คือคำง่ายๆว่า แก้ว ในภาษาลาวหมายถึง ขวด ในภาษาไทย น้องถึงตกใจว่าพี่จะไปดื่มวิสกี้เป็นขวดๆก็ เมาตายกันพอดี แต่ถ้าจะเอาแค่ “แก้ว” ในภาษาไทยนั้นในภาษาลาวเรียกว่า “จอก” มีคนไทยพลาดมาเยอะ แล้วเวลาไปสั่งเครื่องดื่มแบบนี้ เพราะไปบอกว่าเอากี่แก้วก็ได้มาเท่านั้นขวดนั่นเอง
อันที่จริงในคำที่เรียกไม่เหมือนกันไปเลยนั้นอาจจะไม่สร้างความสับสนเท่ากับคำที่มีใช้กันทั้งสองภาษา แต่ความหมายกลับแตกต่างกันออกไป เช่น คำไหนเรียกว่าอะไรเราก็ไปเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ อย่าง “ซาว” แปลว่า “ยี่สิบ” ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแต่คำที่จะส่งผลให้เข้าใจผิดกันได้นั้นจะอยู่ที่คำที่มีใช้กันทั้งสองภาษา แต่ความหมายในแต่ละภาษานั้นต่างกันออกไป เหมือนคำว่า “แก้ว” กับ “จอก” ที่ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นตอนต้น คำลักษณะนี้ยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้น ในยามที่พูดคุยกันนั้นพี่น้องทั้งสองฝั่งนั้นในระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้นไม่ว่า เราจะใช้สำเนียงใดก็แล้วแต่ ก็ต้องให้แน่ใจว่า ขณะนี้กำลังใช้คำไทยหรือคำลาวอยู่
ยกตัวอย่าง หากจะพูดว่า คนๆนี้เป็นคน “เจ้าชู้” ต้องให้แน่ใจว่ากำลังพูดภาษาลาวหรือภาษาไทยอยู่ ความหมายภาษาลาวหมายถึง “รูปงาม” หรือหน้าตาดี “คนผู้นี้เจ้าซู้แท้” ในคำลาวเป็นคำชมว่า คนๆนี้รูปหล่อหรือหน้าตาดี แต่ถ้าเป็นคำภาษาไทยกลับหมายถึง คนที่มากรักหรือมีแฟนหลายคน ชอบเกี้ยวพาราสีไปเรื่อย หรือบอกว่าคนผู้นั้นเป็น “ดุ” คำลาว ดุ หรือดุหมั่น หมายความว่า เขาเป็น “คนขยัน” แต่ภาษาไทยคือ เป็นคนเคร่งเครียด น่าเกรงขาม หรือ ถ้าเป็นสัตว์ หมายถึง ร้ายกาจ เช่น สุนัขดุ หรือ เสือดุ เป็นต้น
วันหนึ่งเจอคนลาวที่กำลังข้ามฝั่งมาหนองคายบอกว่า “กำลังจะไปโฮงหมอไปปัว พะยาด” คนไทยคงเข้าใจดีว่า โฮงหมอ คือ โรงพยาบาล ปัว คงต้องไปหาคำศัพท์ แปลว่า รักษา แต่ พยาธิ นี่สิอาจไม่ใช่คำเดียวกันเสียแล้ว มีรุ่นน้องคนหนึ่งเคยบอกว่า “พี่คนลาวนี่เขาคงกินอาหารไม่สุกนะ เห็นเป็นพยาธิกันเยอะเชียว” ผู้เขียนก็ถามว่า “รู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นพยาธิกันเยอะ” เขาตอบว่า “ก็เห็นถามใครจ่อใครก็บอกว่าไปปัวพยาธิกันทั้งนั้น”
“ โถ่เอ้ย น้องเอ้ย พยาธิ ( พะยาด) นี่ คนลาวเขาหมายถึง โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ถ้าจะให้เดา คำนี้ดั้งเดิมอาจจะเหมือนคำไทยที่นำมาจากภาษาบาลีคือ โรคาพยาธิ แต่คนไทยตัดเอาว่า โรค ส่วนคำว่า พยาธิ เอามาหมายถึง ตัวพยาธิเท่านั้น (อันนี้เป็นการเดาโดยผู้เขียนเอง)
มีตัวอย่างความสับสน งงๆ ทางภาษานั้นมีเรื่องราวอีกมากมายจะเสนอพอขำๆอีกสัก 2-3 ตัวอย่าง เรื่องคำลาวที่มาใช้ในไทยแล้วเป็นที่งุนงงของคนไทยอยู่ไม่ต่างกับที่คนไทยไปใช้ในลาวอยู่เช่นกัน มีเรื่องอยู่ว่า สุภาพสตรีลาว 2 คนได้เข้ามาสัมมนาในกรุงเทพฯ แล้วมาพักอยู่โรงแรมที่ทางที่ประชุมจัดให้ และ ตามปกติก็มักจะให้พักกันสองคน
ทั้งสองพอเข้าไปในห้องก็คิดว่าอยากจะได้ถุงพลาสติคมาใส่เสื้อผ้าที่จะไว้ใส่ซักแต่พอดีที่ห้องนั้นไม่มีก็เลยโทร ศัพท์ลงไปบอกพนักงานว่า “ ช่วยเอา “ถุงยาง”มาที่ห้อง 406 หน่อย ดูเหมือนว่า ปลายสายอึ้งไปไปสักพัก แล้ว ถามว่า “ถุงยางหรือครับ เอากี่อันครับ” “เอามาสัก สอง สามถงนั่นแหละ” ปลายสายอึ้งๆไปอีกครั้ง พอดีกับเพื่อนที่อยู่ร่วมห้องนึกขึ้นได้ว่า “เอ้อ คำไทยเพิ่นว่า ถุงพลาสติค”คนที่กำลังโทรศัพท์อยู่ก็เลยบอกไป ว่า
“ อ้อๆ ถุงพลาสติค” ปลายสายก็เลยบอกมาว่า “อ๋อ ครับๆ” แล้วสองสาวก็มานั่งขำกันเมื่อรู้ว่า ถุงยาง ในภาษาไทยนั้นหมายถึง “ถุงยางอนามัย” ไม่ใช่ถุงพลาสติด ทั้งสองคนตอนหลังมาคุยกันบอกว่า คนรับสายคงงงนะ แม่หญิงลาวสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้วมาของถุงยางนี่ มันแปลกๆนะ เพื่อนที่นั่งอยู่ด้วยกันก็บอกว่า "แล้วแถมจะเอาหลายอันอีกนะ" (ฮา)
มีเพื่อนผู้ชายชาวลาวมานั่นในร้านอาหารไทย อากาศร้อนมากเลยบอกกับเด็กเสิร์ฟว่า “เอาผ้าอนามัยให้แน” เด็กเสิร์ฟงงมากพี่ชายคนนี้อยู่มาขอผ้าอนามัย ตอนหลังก็พูดเพิ่มเติมอีกว่า “ เอาผ้าอนามัยเช็ดหน้าน่ะ” เอ้า! ยิ่งไปกันใหญ่ และแล้วเด็กเสิร์ฟก็ถึงบางอ้อ เมื่อเขาชี้ไปที่เด็กเสิร์ฟอีกโต๊ะหนึ่งกำลังเอา "ผ้าเย็น"ให้กับลูกค้าแล้วว่า "อันนั้นน่ะ" อ๋อ " ผ้าเย็น"เด็กรำพึง
บางทีมีคำที่เราคิดไม่ถึงว่ามันจะมีความหมายที่แตกต่างออกไปอย่างมากมาย เช่นในยามที่ผู้นำเดินทาง ออกเยี่ยมเยียนราษฎรเราอาจจะเห็นในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ลาวว่าระหว่างการเดินทาง “นายกรัฐมนตรีได้มีการโอ้ลมกับเด็กน้อย” คนไทยฟังอาจตกใจว่า ทำไม่ต้องไป โอ้โลม เด็ก ซึ่งในคำว่า โอ้โลมความจริงตามคำศัพท์นั้นแปลว่า พูดจาเอาอกเอาใจ แต่หลายครั้งในภาษาวรรณคดีมักใช้คำว่า โอ้โลมปฎิโลม ซึ่งหมายถึงพูดเชิงเกี้ยวพาราสีให้ใจอ่อน ในขณะที่ภาษาลาวนั้นหมายถึง “การพูดจ”า หรือภาษาทางการคือ “ปฎิสัณฐาน” เท่านั้น
คำว่า “พัวพัน” ในคำภาษาลาวเราอาจจะเห็นประโยคที่ว่า การพัวพันต่างประเทศ ในขณะที่ภาษาไทย นั้นจะได้เห็นประโยคที่ว่า คนนั้นมีส่วน “พัวพัน” กับเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือพัวพันกับคดีนี้ ดังนั้นคำว่า พัวพัน ในภาษาไทยกับภาษาลาวนั้นจึง ไม่เหมือนกัน เพราะในภาษาลาวนั้นมีความหมายถึง “การติดต่อสัมพันธ์” แต่ภาษาไทยจะหมายถึง “การเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”
แม้กระทั่งเรื่องของอาหารที่คนไทยหรือคนลาวก็กินข้าวเหมือนกัน แต่ว่าเอาเข้าจริงพอปรุงไปเป็นอาหารแล้ว คำเรียกที่เหมือนกันแต่สิ่งที่ออกมานั้นอาจต่างกันได้ มีตัวอย่างการใช้คำไทยในลาวที่ก็สร้างความสับสนเช่นกัน
นักวิจัยไทยกลุ่มหนึ่งมีภารกิจเข้าเก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เนื่องจากอยู่ในชนบท ก็ต้องไปอาศัยชาวบ้านอยู่ แม่เฒ่าเจ้าของบ้านก็ถามว่า ตอนเช้าพรุ่งนี้จะกินอะไรดี กลุ่มนักวิจัยก็เกรงใจ เจ้าของบ้านก็บอกว่า เอาง่ายๆก็ได้แม่เฒ่าขอเป็น “ข้าวต้ม”ก็แล้วกัน ฟังคำตอบแล้วแม่เฒ่าก็ มึนตึ้บ มันง่ายตรงไหนนี่! แต่ด้วยความที่จะต้องต้อนรับขับสู้ ก็เลยบอกว่า เอา ถ้างั้นจะต้องออกไปหาตัดใบกล้วย มาห่อข้าวต้มก่อน เดี๋ยวมืดแล้วจะตัดไม่เห็น และต้องแช่ข้าวเหนียวไว้ก่อนด้วย ได้ฟังอย่างนั้นคนต้องการกินก็เริ่มงงๆว่า ทำไม่ต้องแช่ข้าวเหนียวด้วยล่ะ อ๊ะ แล้วทำไมต้องไปตัดใบตอง แม่เฒ่าก็บอกว่า “เอ้า ก็จะเอามาห่อข้าวต้ม” คราวนี้คนจะกินก็ชักแหม่งๆก็เลยถามว่า ข้าวที่ใส่น้ำเยอะแล้วต้มน่ะเรียกว่า อะไร “ เอ๋า นั่นมันข้าวเปียกจะกินข้าวเปียก ติ่” ชาวไทยกลุ่มนั้นก็เลยถึงบางอ้อ ว่า ข้าวต้มที่อยากกินน่ะที่อยากกินน่ะ คนลาวเขาเรียกว่า “ข้าวเปียก” แต่ที่เรียกว่า ข้าวต้ม นั้น สำหรับภาษาลาวนั้นหมายถึง ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัด จากจะกินง่ายๆพูดผิดไปคำเดียวจะทำความลำบากให้เขาเสียแล้ว
อีกคำที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกันมาแล้ว คำว่าขวา ออกเสียงภาษาลาวและคนอีสานก็ออกเสียงว่า" ขัว" แต่คำว่า " ขัว" ในภาษาลาวมีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ สะพาน วันหนึ่งเพื่อนชาวลาวกับชาวไทยอีสานไปเที่ยวกัน เพื่อนไทยบอกให้ลาวดูหลังให้ด้วยเพราะจะถอยหลัง
" ขัวๆ " คนลาวบอก เพื่อนไทยก็หักขวา " ขัวๆๆ" คนลาวเสียงดังขึ้น เพื่อนไทยก็หักขวาอีก " ระวังขัว!" ลาวตะโกนคราวนี้ไม่ทันจบคำ " โครม!" เพื่อนไทย อ้าว! มีสะพาน เป็นหยังบ่บอก คนลาวก็บอกว่า "อ้าว! ก็บอกอยู่เด๊ว่ามีขัวๆ" คนไทย " เอ๋า ก็นึกว่าให้เลี้ยวขัว" (ฮา)
นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยในเรื่องในความเหมือนที่มีความต่างกันอยู่ของภาษาไทยและลาว ไม่แน่ใจว่า นี่มันจะเป็น “ภาษาพาเพลิน หรือภาษาน่างง” ดีนะนี่ แต่ที่แน่ๆคืออย่าชะล่าใจว่าพูดภาษาคล้ายกัน แล้วจะเข้าใจกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ภาษาด้วยความ ระมัดระวังยิ่ง//
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ว่ากันไปตามภาษา
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย