21 พ.ค. 2020 เวลา 03:07 • ประวัติศาสตร์
ที่มาของ "เพดานโชกเลือด" แห่งเกียวโต
ปราสาทฟุชิมิ คือหนึ่งในสถานที่ ที่หลงเหลือจากยุคสงครามกลางเมืองญี่ปุ่น (ยุคเซ็งโงกุ ราวกลางศตวรรษที่ 15 - ต้นศตวรรษที่ 17) สงครามกลางเมืองญี่ปุ่นสิ้นสุดลงหลังโทกุงาวะ อิเอยาสึ ขึ้นเป็นปฐมโชกุนแห่งตระกูลโทกุงาวะ
แต่ก่อนที่โทกุงาวะ อิเอยาสึ จะแต่งตั้งระบอบโชกุนขึ้นมาได้นั้น ตัวเขาเองต้องกำจัด "กลุ่มผู้ให้การสนับสนุน" โทโยโตมิ ฮิเดโยริ บุตรชายวัย 5 ขวบของ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ เสียก่อน
- โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ -
https://www.fun-japan.jp/th/articles/9406
โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1537 จังหวัดนาโงยะ (บ้านเกิดเดียวกับโอดะ โนบุนางะ) ในชนชั้นชาวนาที่แสนยากจน
หลังจากโนบุนางะถูกลอบสังหาร ฮิเดโยชิได้ยกทัพเพื่อแก้แค้นให้แก่นายของตน ในฐานะผู้ที่สามารถแก้แค้นให้แก่โอดะ โนบุนางะได้สำเร็จ ทำให้ฮิเดโยชิได้รับการยกย่องและขึ้นมามีอำนาจ
ค.ศ. 1583 ฮิเดโยชิได้สร้างปราสาทโอซาก้าเพื่อเฉลิมฉลองที่ตนสามารถสืบสานงานของโนบุนางะ นั่นคือการรวบรวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ โดยปราสาทโอซาก้า มีขนาดใหญ่กว่าปราสาทอาซุจิ ของโนบุนางะหลายเท่า
ปราสาทโอซาก้า - (https://th.japantravel.com/places/osaka/osaka-castle/38)
ปราสาทอาซุจิ - (https://samurai-world.com/azuchi-castle/)
ค.ศ. 1598 ฮิเดโยชิล้มป่วยลง แม้ว่าจะมีผู้สืบทอดแล้ว นั่นคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ (ซึ่งอายุเพียงห้าปี) แต่เขาเกรงว่าหากว่าตนเสียชีวิตโดยที่บุตรชายอายุยังน้อย อาจถูกไดเมียวคนอื่นแย่งชิงอำนาจ จึงได้ก่อตั้ง "คณะผู้สำเร็จราชการแทน" ขึ้นมา
โทโยโตมิ ฮิเดโยริ บุตรชายของ ฮิเดโยชิ - (https://en.wikipedia.org/wiki/Toyotomi_Hideyori)
ประกอบด้วยไดเมียวผู้ทรงอำนาจที่สุดในเวลานั้นจำนวนห้าท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ "โทกุงาวะ อิเอยาสึ" นั่นเอง
นอกจากผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังมี "คณะบริหาร" ที่จะทำหน้าที่บริหารงานอีก 5 คน หนึ่งในนั้นคือ "อิชิดะ มิตสึนะริ"
โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1598 ที่ปราสาทฟุชิมิ เมืองเกียวโต ด้วยอายุ 61 ปี
- โทกุงาวะ อิเอยาสึ -
โทกุงาวะ อิเอยาสึ เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1542 ที่ปราสาทโอกาซากิ (เมืองโอกาซากิ จังหวัดไอจิในปัจจุบัน)
ค.ศ. 1560 อิเอยาสึ เข้าสวามิภักดิ์ต่อโอดะ โนบุนางะ
หลังจาก โอดะ โนบุนางะ ถูกลอบสังหารที่วัดฮนโน ฮิเดโยชิจึงขึ้นมามีอำนาจในฐานะผู้แก้แค้นให้แก่โนบุนางะได้สำเร็จ
โอดะ โนบุนางะ - (https://en.wikipedia.org/wiki/Oda_Nobunaga)
ฮิเดโยชิตั้งใจจะรวบรวมญี่ปุ่นและตั้งตนเป็นผู้ปกครองเสียเอง แต่การครองอำนาจไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะยังมีโทกุงาวะ อิเอยาสึเป็นก้างขวางคอ เนื่องจาก อิเอยาสึเป็นข้ารับใช้คนสำคัญของโนบุนางะ มีผู้ให้ความเคารพนับถือและมีกำลังพลมาก
ฮิเดโยชิและอิเอยาสึ กระทบกระทั่งและมีการรบพุ่งกันอยู่เนืองๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว อิเอยาสึก็ถูกเนรเทศให้ไปอยู่แถบคันโตอันห่างไกลกันดาร โดยมีปราสาทเอโดะเป็นฐานที่มั่น
สมรภูมิโคะมะกิ และ นะงะกุเตะ ที่ฝ่ายอิเอยาสึและฮิเดโยชิต่างใช้กำลังรบพุ่งกัน เพื่อตัดสินว่าใครจะสืบทอดตำแหน่งต่อจากโนบุนางะ - (https://senjp.com/komaki/)
ค.ศ. 1598 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่อสัญกรรม เหลือบุตรชายคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ อายุเพียงห้าปี สืบทอดตระกูล ฮิเดโยชิผู้ซึ่งเกรงว่าบุตรชายของตนจะถูกบรรดาไดเมียวแก่งแย่งอำนาจไป จึงได้แต่งตั้งให้ไดเมียวที่มีกำลังมากที่สุดจำนวนห้าคนเป็นผู้สำเร็จราชการแทน หนึ่งในนั้นคือ โทกุงาวะ อิเอยาสึ
และให้ได้เมียวทั้งห้า กระทำการสัตย์สาบานว่าจะคอยช่วยเหลือฮิเดโยริ บุตรชายของตนจนกว่าจะเติบใหญ่
- ความวุ่นวาย -
เมื่อฮิเดโยชิถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว เกิดความระแวงสงสัยและการคาดการณ์ว่าอิเอยาสึจะยึดอำนาจ จึงเกิดกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนเด็กชายฮิเดโยริ วัย 5 ขวบ นำโดย "อิชิดะ มิตสึนะริ" ผู้เคยเป็นคนรับใช้ของฮิเดโยชิ นั่นเอง มิตสึนะริตั้งฐานทัพที่ปราสาทโอซาก้า
อิชิดะ มิตสึนะริ - (https://samurai-world.com/ishida-mitsunari-1560-november-6-1600/)
เพราะอิเอยาสึเป็นขุนพลและไดเมียวเก่าแก่ ทำให้เป็นคนกว้างขวางและมีพรรคพวกจำนวนมาก เขายกทัพเข้ายึดปราสาทฟุชิมิที่เคยเป็นบ้านของ ฮิเดโยริ วัย 5 ขวบ
เวลาต่อมาไม่นาน มิตสึนะริ ปลุกปั่นกำลังกบฎในแถบทางเหนือ ทำให้อิเอยาสึต้องนำกองกำลังออกไปปราบ ทิ้งปราสาทฟุชิมิไว้ให้ "โทริอิ โมโตตาดะ" ลูกน้องคนสนิท และซามูไรเพียง 2,000 นาย เฝ้าดูแล
โทริอิ โมโตตาดะ - (https://en.wikipedia.org/wiki/Torii_Mototada)
หลังอิเอยาสึจากไปแล้ว หารู้ไม่ว่า มิตสึนะริ นำทัพกว่า 40,000 นาย แอบย่องมายังปราสาทฟุชิมิ หมายยึดปราสาทกลับคืน
- ทะเลเพลิงเหนือปราสาทฟุชิมิ -
ณ ปราสาทฟุชิมิ ที่เหลือกองพลน้อยเพียง 2,000 นาย มีม้าเร็วส่งข่าวมาเตือน โทริอิ โมโตตาดะ ว่า มิตสึนะริหลอกให้อิเอยาสึนำทัพออกไปปราบกบฏ เพื่อที่ตนจะได้ยกคนมาตีชิงปราสาทคืน ไพร่พลของมิตสึนะริมากมายมหาศาลกว่า 40,000 นาย
https://www.badassoftheweek.com/mototada
เมื่อโมโตตาดะทราบข่าว ก็หาได้หวาดกลัวหรือหนีเอาตัวรอดไม่ เขาสั่งให้คนของตนตั้งทัพภายในปราสาทเพื่อรอรับการโจมตีจากมิตสึนะริ
16 กรกฎาคม ค.ศ. 1600 มิตสึนะริบุกมาถึงปราสาทฟุชิมิ สั่งการให้โมโตตาดะถอนกำลังออก แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คุมเชิงนานนับสัปดาห์
12 วันผ่านไป เกิดการทรยศหักหลังขึ้นภายในปราสาทฟุชิมิ เปิดทางให้คนของมิตสึนะริลอบเข้ามาวางเพลิงภายในปราสาท
https://www.badassoftheweek.com/mototada
1 สิงหาคม ค.ศ. 1600 โทริอิ โมโตตาดะ เหลือไพร่พลเพียง 300 นาย กับซามูไรอีกเพียง 70 กว่าคน ได้หนีกระเสือกกระสนไปในส่วนของปราสาทที่ยังไม่ไหม้ไฟ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็ถูกพลปืนของมิตสึนะริไล่ต้อนจนมุม
โทริอิ โมโตตาดะ ชักดาบออกมาสู้อย่างเสือจนตรอก เขาประกาศว่า "หากจะยึดปราสาทนี้ไป ก็จงข้ามศพข้าก่อนเสียเถิด" โมโตตาดะเสียชีวิตในการสู้รบ ถูกตัดหัวบั่นคอในห้องนั้นเอง
ฝ่ายกำลังพลที่เหลือ เมื่อเห็นโมโตตาดะพลีชีพ ต่างก็ชักอาวุธออกมากระทำ "เซปปุคุ" - คว้านท้องตัวเองเพื่อมิให้ศัตรูจับเป็นเชลยให้เสียเกียรตินักรบ เลือดของพวก ไหลนองทั่วพื้นปราสาทฟุชิมิ
https://www.history.com/news/what-is-seppuku
- ปฐมโชกุนแห่งตระกูลโทกุงาวะ -
หลายสัปดาห์ต่อมา โทกุงาวะ อิเอยาสึ ยกไพร่พลกว่า 90,000 นาย ลงมาบดขยี้ทัพของมิสึนะริ ณ สมรภูมิ เซกิงาฮาระ ผลของการรบครั้งนั้น ฝ่ายอิเอยาสึได้รับชัยชนะ ส่วน อิชิดะ มิตสึนะริ ถูกประหารชีวิต
เซกิงาฮาระ เป็นสมรภูมิที่มีความสำคัญที่สุด เป็นการสู้รบระหว่างซามูไรอย่างมหึมาครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และทำให้ โทกุงาวะ อิเอยาสึ มีอำนาจเหนือญี่ปุ่นอย่างเบ็ดเสร็จ ปราศจากไดเมียวผู้ใดที่สามารถต่อต้านอำนาจของเขาได้อีก
สมรภูมิ เซกิงาฮาระ - (https://th.wikipedia.org/wiki/โทกูงาวะ_อิเอยาซุ)
หลังจากนั้น โทกุงาวะ อิเอยาสึ ก่อตั้งระบอบการปกครองแบบ "โชกุน" ขึ้นมา
ระบอบโชกุนเปรียบได้กับระบบฟิวดัล หรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ในยุคกลางของทวีปยุโรป ที่จะมีไดเมียว (เจ้าเมือง) หลายตระกูลทำหน้าที่เป็นเจ้าผู้ครองที่ดินและทรัพยากรต่างๆ มีประชาชนทำการเกษตรและแบ่งปันผลผลิตให้กับไดเมียว รวมทั้งเป็นกองกำลังให้กับไดเมียวด้วย
ทั้งหมดนี้ ไดเมียวต้องนำผลผลิตและกำลังคนมาสนับสนุนโชกุนที่เมืองเอโดะ เริ่มต้นยุคสมัยที่ถูกเรียกขานกันในนามเอโดะ ในขณะที่จักรพรรดิก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการปกครองที่ไม่มีอำนาจในการสั่งการ และครองราชย์อยู่ที่เกียวโต
ระบอบโชกุนเป็นระบอบในการปกครองของญี่ปุ่นนานกว่า 268 ปี (ค.ศ. 1600-1868)
โทกุงาวะ อิเอยาสึ และขุนนางทั้ง 16 คน - (http://www.myjapanesehanga.com/home/artists/unsen/the-complete-sixteen-divine-generals-of-the-tokugawa)
- จากพื้นปราสาท สู่เพดานวัดในเกียวโต -
ปราสาทฟุชิมิในปัจจุบัน - (https://www.japanvisitor.com/japan-city-guides/japanese-castles/fushimi-castle)
หลังการพลีชีพของโทริอิ โมโตตาดะ พร้อมนักรบอีก 370 คน ในปราสาทฟุชิมิ วีรกรรมของพวกเขาก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วแคว้นเขตคาม และอิเอยาสึก็ไม่เคยลืมเลือนความซื่อสัตย์และความกล้าหาญของพวกเขาเลย
ปี 1623 อิเอยาสึ สั่งให้รื้อซากปราสาทฟุชิมิที่ยังไม่ไหม้ไฟ เพื่อนำวัสดุออกไปใช้ในการสร้างอาคารอื่นๆ
ในตอนแรก แผ่นไม้ส่วนพื้นของห้องโถงปราสาทที่อาบไปด้วยเลือดนั้น ได้ถูกตัดแบ่งเป็นส่วน และเก็บรักษาไว้กว่า 20 ปี ที่วัดย่อยแห่งหนึ่งในสังกัดวัดนันเซนจิ
วัดนันเซนจิ, เกียวโต - (https://www.japanvisitor.com/japan-city-guides/japanese-castles/fushimi-castle)
30 ปีต่อมาจึงถูกแจกจ่ายไปยังวัด 7 แห่ง คือ เกนโคอัน โชเดนจิ โยเกนอิน โฮเซนอิน เมียวชินจิ และจินโนจิ ที่เมืองยาวาตะ และวัดโคโชจิ ที่เมืองอุจิ ทางใต้ของเกียวโต
วัดเกนโคอัน - (https://www.discoverkyoto.com/places-go/genko/)
แผ่นไม้ที่แจกจ่ายไป ได้รับการประกอบขึ้นใหม่เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร และเพื่อให้วิญญาณของผู้เสียสละทั้งหลายได้ไปสู่สุคติ จึงได้เปลี่ยนตำแหน่งพื้นไม้มาทำเป็นเพดาน รู้จักกันในชื่อ "ชิเทนโจ" หรือ "เพดานเลือด" นั่นเอง
ปัจจุบันวัดในเกียวโตสี่แห่งที่ยังเห็นร่องรอยคราบเลือดนี้ได้ คือวัดเกนโคอัน โชเดจิ โยเกนอิน และ วัดโฮเซนอิน โดยรอยที่ชัดเจนที่สุด เป็นรอยเท้าเปื้อนเลือดที่วัดเกนโคอัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา