Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยว หา เรื่อง
•
ติดตาม
23 พ.ค. 2020 เวลา 00:22 • ท่องเที่ยว
จังหวัดโอะกินะวะ
พาเที่ยวโอกินาวะ ตอน ปราสาทซูริ..ราชวังแห่งริวกิว
พาเที่ยวโอกินาวะ ตอน ปราสาทซูริ..ราชวังแห่งริวกิว
สวัสดีค่ะ วันนี้ ขออนุญาตพาท่านไปเยี่ยมชมศูนย์กลางของ “ราชอาณาจักรหลิวจิ่ว” กันสักหน่อย
ได้ยินชื่อหลิวจิ่วกันแล้ว อาจจะงงกันสักนิดว่า อยู่ที่ไหนกันแน่ หลายท่านอาจจะเดาว่า อยู่ในเมืองจีน แต่ไม่ใช่ค่ะ ราชอาณาจักรนี้ เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค ชื่อหลิวจิ่วนี้ พบในบันทึกของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง แต่สำหรับคนญี่ปุ่น ออกเสียงเรียกเรียกราชอาณาจักรแห่งนี้ว่า ริวกิว นั่นแน่ ชักคุ้นกันขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ ราชอาณาจักรริวกิวนี้ แม้จะเคยเป็นราชอาณาจักรอิสระ แต่ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ด้วยชื่อว่า โอกินาวะ (Okinawa)
ใช่แล้วค่ะ วันนี้ เราจะพาท่านผู้อ่านไปเยือนโอกินาวะ โดยมุ่งเป้าไปที่ศูนย์กลางของเมือง คือ ปราสาทซูริ (Shuri Castle) ซึ่งในอดีตเก่าก่อน เคยเป็นทั้งพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ เป็นศูนย์กลางการเมือง การปกครอง และการศาสนา เนื่องจากองค์กษัตริย์ได้ใช้ปราสาทแห่งนี้เป็นสถานที่ว่าราชการ และประกอบศาสนกิจด้วย
ปราสาทซูริแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1237 บนยอดเขาทางฟากตะวันตกของเมืองนาฮะ (Naha-shi) ซึ่งเป็นเมืองหลวง และจะว่าไป ราชอาณาจักรริวกิวนี้ อยู่ห่างจากญี่ปุ่นค่อนข้างมาก คือ ต่ำลงมาจากเกาะคิวชู ซึ่งเคยเป็นดินแดนใต้สุดของญี่ปุ่นมาตั้ง 1,200 กิโลเมตร แต่ใกล้กับไต้หวันมากกว่า คือห่างกันแค่ 200 กิโลเมตร
จึงไม่แปลกเท่าไหร่ที่สมัยก่อนโน้น ญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับราชอาณาจักรริวกิว แต่ราชอาณาจักรริวกิวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีนมากกว่า โดยมีบันทึกว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1372 จีนและริวกิวมักจะส่งราชทูตไปมา เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกันอยู่เนืองๆ และเมื่อใดที่มีการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนกษัตริย์ จีนก็จะร่วมรับรองกษัตริย์พระองค์ใหม่ของริวกิวด้วย ดังนั้น ถ้าจะว่าไป ริวกิว ก็เป็นหนึ่งในรัฐบรรณาการของจีนนั่นเอง แต่จีนก็ให้สิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองแก่ริวกิว
นอกจากจีนแล้ว มีบันทึกว่า ราชอาณาจักรริวกิวได้มีสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อีกมาก โดยแต่งกองเรือออกไปติดต่อ หรือทำมาค้าขาย และหนึ่งในบันทึกก็ยังได้กล่าวถึง กรุงศรีอยุธยา ที่กองเรือจากริวกิวเคยมาเจริญสัมพันธไมตรีด้วย โดยผู้ที่ไปเยี่ยมชมปราสาทซูริ จะเห็นภาพวาดเส้นทางการเดินเรือออกไปยังอาณาจักรอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนในห้องจัดแสดงโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นห้องที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ผู้เขียนจึงไม่มีภาพนี้มานำเสนอแก่ท่านผู้อ่าน
ตอนนี้ เราลองมาย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ปัจจุบันคือเกาะโอกินาวะกันก่อน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1429 ที่โชฮาชิ (Sho Hashi) องค์ปฐมกษัตริย์ได้รวมรวมแผ่นดินแห่งนี้ สร้างเป็นราชอาณาจักรริวกิวขึ้นมา และนับตั้งแต่นั้น ปราสาทซูริก็ถูกใช้เป็นทั้งที่ประทับ และเป็นศูนย์กลางการว่าราชการด้วย
แต่ไม่นานหลังจากที่กษัติย์โชฮาชิมาประทับว่าราชการที่นี้ ซูริก็ถูกศัตรูรุกราน ปราสาทดั้งเดิมถูกทำลายลงด้วยพระเพลิงปี ค.ศ.1453 แต่ก็ได้บูรณะขึ้นมาใหม่ ทำให้หลังจากนั้น กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มา ก็ยังใช้ปราสาทแห่งนี้สืบต่อมานานถึง 450 ปี
อย่างไรก็ตาม การที่ปราสาทส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ ทำให้ไม่คงทนเหมือนปราสาททางยุโรปที่มักสร้างจากหิน ทำให้ปราสาทซูริถูกไฟไหม้ซ้ำในปี ค.ศ.1660 และอีกหนในปี ค.ศ.1709 แต่ก็มีการบูรณะต่อเติมมาเรื่อยๆ
และดังได้กล่าวแล้วว่า ปราสาทซูริ เป็นทั้งที่ประทับของกษัตริย์ (รวมถึงเหล่านางใน) และเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของราชอาณาจักรริวกิวมานานถึง 450 ปี แล้วหลังจากนั้นล่ะ ทำไมปราสาทแห่งนี้ไม่ได้เป็นศูนย์กลางการปกครองต่อไปอีก นั่นก็เพราะในปี ค.ศ.1879 อันตรงกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น ชาวอาทิตย์อุทัยได้เข้ามารุกราน และผนวกเอาราชอาณาจักรริวกิวให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น ทำให้ราชอาณาจักรริวกิวล่มสลายลง กลายเป็นเกาะโอกินาวะมาจนปัจจุบัน
ในช่วงเริ่มแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาปกครองโอกินาวะ ปราสาทซูริก็กลายเป็นของรัฐบาลญี่ปุ่นไปโดยปริยาย และเนื่องจากไม่มีการทำนุบำรุง ปราสาทเก่าแก่นี้จึงเสื่อมโทรมลงทุกวัน ครั้นในปี ค.ศ.1908 ชาวเมืองคงจะทนเห็นความทรุดโทรมของปราสาทแห่งนี้ไม่ไหว จึงได้ขอซื้อปราสาทกลับคืนมาจากรัฐบาลญี่ปุ่น
แต่พอซื้อมาแล้ว ก็ยังไม่มีเงินเพียงพอที่จะซ่อมแซม จนมาถึงปี ค.ศ.1923 ถึงได้เริ่มมีการบูรณะขึ้นอย่างจริงจัง จนสวยสดงดงามเฉกเช่นวันวาน และในอีก 2 ปีต่อมา คือ ค.ศ.1925 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกประกาศให้ปราสาทแห่งนี้เป็นสมบัติแห่งชาติ
ทว่า ปัญหายังถาโถมเข้าใส่ปราสาทซูริอีกอย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงต้นปี ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ได้ใช้ชั้นใต้ดินของปราสาทแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการรบ ทำให้ปราสาทซูริกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นเป้าหมายที่เรือรบอเมริกันระดมยิงระเบิดเข้าเป็นเวลา 3 วันเต็มๆ จนปราสาทมอดไหม้ไปอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นช่วงที่เรียกกันว่า สมรภูมิรบโอกินาวะ
ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทหารอเมริกันได้เข้ามาครอบครองพื้นที่โอกินาวะ ในช่วง ค.ศ.1957-1972 ก่อนจะส่งดินแดนแห่งนี้คืนให้ญี่ปุ่น พื้นที่ปราสาทซูริจึงถูกใช้เป็นมหาวิทยาลัยในระยะสั้นๆ แต่ระหว่างนั้น ก็ได้มีการบูรณะเรื่อยมา จนเมื่อปี ค.ศ.1992 การบูรณะปราสาทซูริก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี และกลายมาเป็นโบราณสถาน ในฐานะสมบัติแห่งชาติญี่ปุ่น ที่ได้เปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้
ก่อนที่อีกไม่นานต่อมา คือในปี ค.ศ.2000 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก ก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้หมู่โบราณสถานในหมู่เกาะริวกิวเป็นมรดกโลกลำดับที่ 11 ของญี่ปุ่น โดยปราสาทซูริ ก็รวมอยู่ในหมู่โบราณสถานที่ได้เป็นมรดกโลกนี้ด้วย
ปราสาทแห่งนี้ ไม่เหมือนปราสาทอื่นๆ ในญี่ปุ่น เพราะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนมากกว่า ทั้งสถาปัตยกรรมภายนอก และการตบแต่งด้านใน ที่เหมือนจะเลียนแบบมาจากพระราชวังต้องห้ามในจีน ไม่ว่าจะเป็นกำแพง หรือชายคา และมีการใช้สัญลักษณ์ของกษัตริย์เหมือนกับลูกพี่ คือ มังกร ที่เฉพาะในอาคารหลักของปราสาท มีมังกรตั้งวางเด่นอยู่มากถึง 33 ตัว ในขณะที่อิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมของริวกิวเองก็ปรากฎอยู่ด้วยเช่นกัน คือ มีการใช้หินของริวกิวในการก่อสร้างรากฐานปราสาท
อย่างไรก็ตาม ความที่ปราสาทซูริถูกทำลายลงไปหลายครั้งหลายครา แม้จะมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ ก็อาจจะไม่เหมือนของโบราณเสียเลยทีเดียว แต่เหล่าผู้ทำการบูรณะ ก็ได้สร้างปราสาทใหม่นี้ขึ้นมาโดยการรื้อฟื้นข้อมูลจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ทั้งจากรูปภาพที่เหลืออยู่ บวกเข้ากับความทรงจำของคนเก่าแก่ เพื่อทำให้ปราสาทแห่งนี้ฟื้นคืนเหมือนวันอันเก่าก่อนที่เคยรุ่งเรืองในฐานะพระราชวังขององค์กษัตริย์
บัตรเข้าชมปราสาทซูบัตรเข้าชมปราสาทซูริริ
เล่าเรื่องประวัติของปราสาทซูริมาอย่างยืดยาว ตอนนี้ ผู้เขียนขอแง้มประตูเข้าไปชมปราสาทซูริกันใกล้ๆ สักหน่อยนะคะ สำหรับผู้มาเยือนปราสาทแห่งนี้ สามารถเดินเข้ามาในทางเดินหลัก และมองเห็นบางส่วนของปราสาทได้ก่อนที่จะถึงจุดจำหน่ายตั๋ว เรียกว่า มีโชว์ให้เห็นเป็นน้ำจิ้มกันก่อนที่จะพิจารณาว่าจะควักกระเป๋าเข้าไปเยี่ยมชมด้านในหรือไม่ แต่เชื่อเลยว่า ค่าเข้าชมราคาเพียง 820 เยนนี้ ไม่แพงเลย กับการได้เข้าชมอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า ตอนที่ผู้เขียนไปเยือนปราสาทซูรินั้น ด้านหน้าอาคารหลัก คืออาคารไซเดน (Seiden) กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม เลยไม่ได้เห็นของจริง แต่ทางผู้ดูแลปราสาทก็ทำภาพพิมพ์อย่างดี เหมือนด้านหน้าตัวปราสาทจริงๆ มาวางบังการซ่อมแซมเอาไว้ ทำให้เหมือนได้เห็นเสมือนของจริงด้วย
ในตอนที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมปราสาทซูรินั้น ด้านหน้าของอาคารหลักกำลังบูรณะ แต่ได้มีการทำภาพพิมพ์เหมือนจริงมาปิดไว้แทนที่ ณ ตรงนี้ มีเสามังกรเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์
ด้านหน้าอาคารหลักนั้น เป็นที่โล่งกว้างค่ะ แต่มีลายเส้นตรงหลายเส้นอยู่บนพื้น ซึ่งก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นตำแหน่งแถวที่นั่งของบรรดาข้าราชบริพารในยามที่ต้องมาเข้าเฝ้า และรับพระบรมราชโองการต่างๆ จากองค์กษัตริย์ จะได้นั่งกันเป็นระเบียบเรียบร้อย และยังเป็นพื้นที่ที่ใช้ในยามที่ราชทูตจากจีนมารับรองการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ของราชวงศ์ริวกิวด้วย
ทำให้ลานด้านหน้าอาคารหลักนี้ มีความสำคัญมาก และปลายสุดของลานที่เป็นตัวปราสาทนั้น ด้านหน้ามีเสามังกรสูง 4.1 เมตรอยู่ 2 เสา อันเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ดังได้กล่าวมาแล้ว
ลานด้านหน้าปราสาทซูริ จะเห็นเส้นสีแดงตัดขาวเป็นแถวๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งที่ยืน และนั่งของเหล่าข้าราชบริพารในยามที่มาเข้าเฝ้า ส่วนตัวพระราชวัง มีทั้งสถาปัตยกรรมแบบจีน และแบบริวกิวผสมกัน
เมื่อนักท่องเที่ยวเดินผ่านลานด้านหน้าแล้ว จะต้องเดินไปตามทิศทางที่ผู้ดูแลปราสาทกำหนดเส้นทางเดินของนักท่องเที่ยวเอาไว้ นั่นคือ จะสามารถเข้าไปในอาคาร โดยต้องถอดรองเท้าก่อน แล้วถือรองเท้าของตัวเองเดินเข้าไปด้วย (ตรงนี้ เจ้าหน้าที่จะแจกถุงพลาสติคให่ใส่รองเท้าด้วยค่ะ)
เส้นแบ่งแถวเข้าเฝ้า ณ ลานด้านหน้าพระราชวัง
ด่านแรกๆ ที่จะได้ชม (ไม่สามารถถ่ายภาพได้) คือเอกสารเก่าแก่บันทึกเรื่องราวของราชอาณาจักรริวกิว รวมทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ที่เคยปกครองราชอาณาจักรนี้ ก่อนที่จะได้ชมสวนญี่ปุ่นที่ตบแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งมองเห็นได้จากห้องพักในอาคารหลักนี้ จากนั้นก็ยังจะได้เข้าชมโบราณวัตถุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราชลัญกร เครื่องใช้ราชสำนัก ฉลองพระองค์ (เสื้อผ้า) จากยุคก่อน ฯลฯ
พระมาลาจำลองที่จัดแสดงไว้ในปราสาทซูริ (ใหญ่กว่าพระมาลาจริง ๑.๒ เท่า)
ส่วนที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งของปราสาทซูริ คือ พระราชอาสน์ หรือพระที่นั่งเก้าอี้ของกษัตริย์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ชั้น 2 และถือเป็นความใจดีของผู้ดูแลปราสาท ที่เข้าใจนักท่องเที่ยว จึงเปิดส่วนนี้ให้ได้ถ่ายภาพงามๆ กัน ไม่ว่าจะถ่ายรูปพระราชอาสน์เอง หรือถ่ายตัวเองกับพระที่นั่งเก้าอี้โดยมีเจ้าหน้าที่คอยบริการเป็นช่างภาพให้ แต่ต้องเข้าแถวกันยาวนิดหน่อย
พระราชอาสน์ที่จัดแสดงไว้บนชั้น ๒ ของปราสาทซูริ มีมังกรเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกเช่นเคย
พระราชอาสน์สีแดงประดับทองนี้ อาจจะคล้ายกับพระราชอาสน์ของจีน ในแง่ที่เน้นสีแดงและทองเป็นหลัก แถมยังมีที่เท้าแขนเป็นรูปมังกรสีทองอร่ามเรือง แต่หากมองภาพรวมของพระที่นั่งเก้าอี้ทั้งหมด จะพบว่าค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์แบบริวกิวเอง ไม่เหมือนกับในราชสำนักไหน นอกจากนี้ ด้านหน้าพระราชอาสน์ทั้งซ้ายและขวา ยังประดับด้วยเสามังกรสีทอง ด้วยรูปลักษณ์เหมือนกับเสาด้านนอกอาคาร ประหนึ่งย่อส่วนกันลงมา
จากพระราชอาสน์นี้ องค์กษัตริย์ในอดีตได้เคยประทับทอดพระเนตรข้าราชบริพารของพระองค์ที่เข้าเฝ้ากันอยู่ ณ ลานด้านด้านนอกในวันที่ออกว่าราชการได้อย่างสะดวก
ถัดจากนั้น นักท่องเที่ยวอาจจะงงเล็กน้อย ที่เห็นพื้นอาคารบางส่วนเป็นกระจกใส ซึ่งเมื่อมองลงไปด้านล่าง จะเห็นฐานรากเก่าของปราสาทซูริ ซึ่งอยู่ต่ำลงไปจากตัวปราสาทปัจจุบัน 70 เซนติเมตร เนื่องจากในตอนที่มาบูรณะสร้างอาคารปราสาทซูริขึ้นมาใหม่หลังจากที่เคยถูกทำลายลงไปแล้วตั้ง ๔ หนนั้น เหล่าผู้บูรณะเห็นว่า ควรจะคงฐานรากเดิมเอาไว้เป็นโบราณสถานเพื่อการศึกษาด้วย จึงมิได้สร้างทับจนปิดบังของเก่าไปเสียทั้งหมด
พื้นใต้ปราสาทซูริในปัจจุบัน เป็นรากฐานปราสาทเก่า ที่ยังคงรักษาเอาไว้
ภาพจำลองการออกว่าราชการของกษัตริย์ริวกิว ที่เหล่าข้าราชบริพารจะมานั่งในตำแหน่งของตนที่ถูกกำหนดไว้ด้วยเส้นสีขาวแดง ณ ลานหน้าพระราชวัง
ด้านนอกตัวปราสาทเอง จนถึงทุกวันนี้ เหล่านักโบราณคดีก็ยังคงทำการขุดค้นเพื่อศึกษาโบราณสถานแห่งนี้อยู่ตลอดเวลา ปราสาทซูริ จึงเป็นทั้งมรดกโลกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับการเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีด้วย
สำหรับอาคารหลักของปราสาทซูริ สร้างขึ้นด้วยไม้ที่นำเข้าจากไต้หวัน ในขณะที่อาคารอื่นๆ ใช้ไม้มาจากภูเขาในละแวกนั้นเอง และภายในบริเวณปราสาท ยังมีศาลเจ้าอยู่หลายหลัง แต่ในปัจจุจัน ไม่ได้มีการเปิดให้เข้าชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แล้ว เช่นเดียวกับที่ประทับของพระราชินี และเหล่านางใน ที่ยังเป็นพื้นที่ปิดอยู่
ในงานด้านโบราณคดี ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ยังมีการศึกษา และขุดค้นใต้ปราสาทซูริกันอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มุมมองด้านประวัติศาสตร์นั้น และการเป็นสมบัติของชาติญี่ปุ่นนั้น ถือว่ายังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากชาวริวกิวดั้งเดิมเอง ก็ยังไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็ยังมองว่า ชาวริวกิวก็ไม่ใช่พวกของตัวเอง
ประกอบกับการที่ญี่ปุ่นผนวกเอาราชอาณาจักรริวกิวไปเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้ราชอาณาจักรริวกิวกลายเป็นสมรภูมิรบโอกินาวะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่มีผู้ไม่ชอบใจอยู่ ทำให้ยังอาจจะคงมีความขัดเคืองใจกันอยู่บ้าง หากมีการพูดกันในแง่มุมเหล่านี้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ในฐานะมรดกโลก ปราสาทซูริ หรือจะเรียกให้ชัดเจนว่า พระราชวังซูริแห่งราชอาณาจักรริวกิว ถือเป็นอีกหนึ่งในสถานที่สำคัญที่คู่ควรแก่การมาเยือนแน่นอนค่ะ
ประวัติศาสตร์
เที่ยวต่างประเทศ
ท่องเที่ยว
1 บันทึก
5
1
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยอาทิตย์อุทัย
1
5
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย