Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยว หา เรื่อง
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2023 เวลา 10:45 • ท่องเที่ยว
ศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมันกุ
เที่ยวญี่ปุ่น ศาลเจ้า ดาไซฟุ เทนมังกุ
วันนี้ จะพาไปเที่ยวศาลเจ้าที่โด่งดังมีสาขามากมายทั่วญี่ปุ่นค่ะ เป็นศาลเจ้าที่มีความเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง ซึ่งหากเราศึกษาเรื่องราวในอดีต ก็จะได้พบว่า มีข้าราชการ หรือนักการเมืองดีๆ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำงาน ทว่าถูกรังแก ถูกเนรเทศ หรือแม้แต่ถูกกุดหัวไปจำนวนมากในแทบทุกประเทศ เพราะในเวลาที่มีคนดีนั้น ก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจจะโอนเอนไปทางไหน หูหนัก หูเบาเพียงไร
ในบรรดาคนดีที่ถูกรังแกนั้น มีท่านหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ หลังจากมีโอกาสได้ไปเยือนศาลเจ้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น คือศาลเจ้า “ดาไซฟุ เทนมังกุ (Dazaifu Tenmangu)” ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของข้าราชการผู้สามารถ แต่ไม่อาจต้านทานต่อการถูกข่มเหง
ศาลเจ้าในลัทธิชินโตที่เมืองดาไซฟุ จังหวัดฟูกุโอกะนี้ ถูกสร้างขึ้นบนหลุมฝังศพของ สุงาวาระ มิชิซาเนะ (Sugawara Michizane) “คนดี” ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่แหละค่ะ
สุงาวาระ มิชิซาเนะ ข้าราชการน้ำดี ผู้กลายเป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา
แม้ในยามมีชีวิต มิชิซาเนะ จะถูกรังแก แต่หลังอสัญกรรม ท่านก็ได้รับยกย่องให้เป็นเทพผู้คู่ควรแก่การสักการะบูชา จากคนธรรมดา กลายเป็นเทพเจ้า เพราะความดีงามที่ไม่เคยพ่ายแพ้ แม้ศัตรูจะยิ่งใหญ่กว่าในยามมีชีวิต แต่ “ทองแท้” ยิ่งใหญ่นิรันดร์กาล
เรามาว่ากันถึงเรื่องราวชีวิตมิชิซาเนะก่อนที่จะได้รับการบูชาให้เป็นเทพกันว่า ทำไมถึงได้รับการยกย่องมากนัก มิชิซาเนะนั้น ถือกำเนิดในกรุงเกียวโต เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.845 เป็นทายาทของครอบครัวนักวิชาการในตระกูลที่จงรักภักดีต่อจักรพรรดิอย่างสูง บิดาคือสุงาวาระ โคเระโยชิ (Sugawara Koreyoshi) เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนที่สอนลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก ส่วนคุณปู่คือ สุงาวาระ โน คิโยโตโม (Sugawara Kiyotomo) เป็นข้าราชการในสำนักพระราชวัง มีหน้าที่เป็นครูสอนประวัติศาสตร์ให้เด็กหนุ่มที่จะเข้ารับราชการ
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ได้เติบโตมาในวงการการศึกษา ทำให้มิชิซาเนะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่อุทิศชีวิตให้กับการเล่าเรียนเป็นอย่างมาก และประสบความสำเร็จสมความตั้งใจ ในวัยเพียง 5 ขวบ ก็สามารถแต่งบทกวีชื่นชมต้นพลัม (บ๊วย) ที่ปลูกอยู่ในสวนของครอบครัวได้
“ดอกแดงของพลัมช่างงามนัก ปรารถนาจักให้แก้มงามตามอย่างเจ้า” กลายเป็นบทกลอนที่โด่งดังบทแรกของเด็กน้อยมิชิซาเนะ และหลังจากนั้นก็ยังมีผลงานสืบต่อเนื่องมาอีกเรื่อยๆ จนอายุได้ 11 ปี มิชิซาเนะก็สามารถแต่งกวีในสไตล์จีนโดยใช้ตัวอักษรจีนที่ว่ากันว่ายากแสนยากได้ และตลอดชีวิตของท่าน ก็ได้แต่งบทกวีรวมเล่มขึ้นมาอีกมากมาย แพร่หลายไปทั่วประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ในวัย 25 ปี มิชิซาเนะได้เข้ารับราชการในสำนักพระราชวัง ในตำแหน่งนักวิชาการ ภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิเซอิวา (Emperor Seiwa) ด้วยความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาจีน และความรู้ด้านวรรณกรรม ทำให้มิชิซาโนะได้ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้ร่างคำสั่งทางการ และจดหมายโต้ตอบสำหรับเจ้าหน้าที่ในวัง และยังทำงานด้านการทูตด้วย ในขณะที่กิจการของครอบครัว คือโรงเรียนที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อนั้น มิชิซาโนะก็ดูแลต่อมาอย่างไม่บกพร่อง ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นนักวิชาการ และนักการศึกษาของเขาโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ
ต่อในในปี ค.ศ.886 ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิโคโก (Emperor Kōkō) มิชิซาโนะถูกส่งตัวออกไปห่างจากศูนย์กลางการปกครอง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการจังหวัดซานุกิ (Sanuki) ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกล ว่ากันว่าเป็นเพราะเขาเป็นข้าราชการที่ไม่มีเจ้าใหญ่นายโตให้การสนับสนุนอย่างดีพอ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เป็นผู้ว่าเมืองซานุกิอยู่นั่นเอง ภาวะการต่อสู้ทางการเมืองที่เกียวโตก็ขมึงเกลียวขึ้น สมเด็จพระจักรพรรดิอูดะ (Emperor Uda) ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน เกิดขัดแย้งกับก๊วนการเมืองของ ฟูจิวาระ โมโตสึเนะ (Fujiwara Mototsune) กลุ่มการเมืองสำคัญที่พยายามทำตัวเหนือองค์จักรพรรดิ
และในจังหวะนั้น ก็เริ่มมีคนพูดถึงมิชิซาเนะ ในขณะที่ตัวเขาเองก็ได้ส่งจดหมายชี้แจงการทำงานของตัวเองมาให้สมเด็จพระจักรพรรดิอูดะ จนสมเด็จพระจักรพรรดิตัดสินพระทัยครั้งสำคัญในการสนับสนุนมิชิซาเนะ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มิชิซาเนะกลายเป็นศัตรูคู่แค้นของก๊วนฟูจิวาระ และมีเรื่องมีราวกันต่อมา
ค.ศ.890 สมเด็จพระจักรพรรดิอูดะได้ดึงตัวมิชิซาเนะกลับมาจากบ้านนอก เข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองที่เกียวโต ในขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิพยายามอย่างมากในการกอบกู้พระราชอำนาจจากเงื้อมเงาของตระกูลฟูจิวาระที่เป็นผู้สำเร็จราชการ
ในช่วงนั้น ข้าราชการ และนักการเมืองที่อยู่คนละขั้วกับพวกฟูจิวาระได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมารับตำแหน่งใหญ่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมิชิซาเนะที่มีตำแหน่งเปรียบประหนึ่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ราชทูตที่ติดต่อกับราชวงศ์ถัง และอีกหลายตำแหน่ง เรียกว่า ตอนนี้ดวงดาวแห่งความสำเร็จจับจ้องไปที่มิชิซาเนะอย่างแจ่มชัด
แต่หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอูดะผ่านไปแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิไดโกะ (Emperor Daigo) ได้ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.897 ตอนนี้เองที่ดวงดาวแห่งความสำเร็จของมิชิซาเนะสั่นคลอน เพียงไม่กี่ปีในแผ่นดินของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ กลุ่มฟูจิวาระที่เก็บงำความแค้นมานานได้โอกาสผงาดขึ้นมาแทนที่ การแข่งขันทางการเมืองที่วุ่นวาย บวกกับการใส่ร้ายป้ายสี มิชิซาแนะจึงกระเด้งกระดอน หลุดออกไปจากวงโคจรในพระองค์ ถูกโยกย้าย ลดตำแหน่ง และส่งไปทำงานยังบ้านป่าไกลโพ้นถึงดาไซฟุ
ซึ่งในปัจจุบันนี้เอง ก็ยังถือว่าเป็นจังหวัดที่ห่างไกลจากเมืองหลวง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงช่วงปี ค.ศ.901 ที่มิชิซาเนะเดินทางไปถึง ในตอนนั้น ดาไซฟุคงจะเป็นแดนกันดารที่เหมาะกับการเนรเทศคนที่ไม่ต้องพระประสงค์เอาจริงๆ
จากศูนย์กลางการปกครองที่เกียวโต จากพิษการเมืองที่รุมเร้า มาสู่ดาไซฟุ ที่คิวชู มิชิซานะที่เคยอู้ฟู่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล กลับกลายเป็นข้าราชการเล็กๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างขัดสนที่ดาไซฟุ
แต่ถึงกระนั้น มิชิซาเนะก็ไม่เคยลืมการศึกษาร่ำเรียนเขียนอ่าน เขายังคงใช้ชีวิตแบบนักวิชาการผู้ใฝ่รู้ เป็นนักการศึกษาที่ได้รับการยกย่อง เป็นแบบอย่างที่ดีที่ผู้คนชื่นชมว่า มิชิซาเนะเป็นนักวิชาการที่บริสุทธิ์ทั้งกาย ใจ และการประพฤติปฏิบัติสมฐานะ ที่สำคัญ ไม่เคยคิดโกรธ เกลียด หรือแก้แค้นศัตรูที่ทำลายอนาคตของเขา
มิชิซาเนะดำรงตนเป็นนักการศึกษาจนถึงวันสิ้นอายุขัย ด้วยวัยเพียง 58 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม ปี ค.ศ.903 ที่มิชิซาเนะถึงแก่อสัญกรรมนั้น มีผู้ติดตามที่จงรักภักดีและเพื่อนบ้านไม่กี่คนที่ได้โอกาสเข้าร่วมขบวนแห่ศพอันโศกเศร้า โลงศพของนักวิชาการเรืองนามถูกใส่ไว้ในเกวียนเทียมวัว และในตอนนี้นี่เองค่ะ ที่ตำนานความเป็นเทพของมิชิซาเนะได้เริ่มต้นขึ้น
มีเรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมาว่า วัวที่ลากเกวียนบรรทุกศพของมิชิซาเนะที่เดินเอื่อยๆ มาแต่โดยดีนั้น จู่ๆ ก็ติดดิสก์เบรค หยุดเดินอย่างกระทันหัน แม้ใครจะชักจูงให้เดินต่อไปทางไหน พ่อวัวตัวเขื่องก็ไม่ยอมขยับ ผู้ร่วมขบวนแห่ศพจึงเชื่อกันว่า เป็นประสงค์ของอาจารย์ที่อยากอยู่ตรงนี้ไปนิรันดร์ ว่าแล้วก็เลยทำการฝังศพมิชิซาเนะในจุดที่วัวหยุดเดินนั่นเอง
และปัจจุบัน บริเวณนี้ก็กลายเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ “ดาไซฟุ เทนมังกุ” ที่มีคนมาเยือนจำนวนมาก โดยเฉพาะเหล่านักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่อยากประสบความสำเร็จด้านการเรียน ที่นิยมมาขอพรจากมิชิซาเนะ ที่ได้รับการยกย่องให้กลายเป็นเทพแห่งการศึกษาที่คนทั้งประเทศนับถือ และนอกจากศาลเจ้าหลักที่ดาไซฟุนี้แล้ว ยังมีศาลเจ้าย่อยๆ ที่เป็นสาขา หรือเป็นที่สักการะเพื่อบูชาเทพองค์นี้กระจายอยู่อีกหลายแห่ง
ถึงตอนนี้ มิชิซาเนะ ได้รับการนับถือทั่วประเทศญี่ปุ่น ในฐานะเทพแห่งวรรณกรรม เทพแห่งการประดิษฐ์ตัวอักษร ในนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ เทนมัง-เทนจิน (Tenman-Tenjin) การมาสักการะศาลเจ้าดาไซฟุ หรือศาลเจ้าอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายของเทนมัง-เทนจิน จึงเป็นการสักการะ “ร่างเทพ” ของมิชิซาเนะ ผู้ (เคย) แพ้ แต่ไม่พ่ายไปตลอดกาล
ศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ มีเนื้อที่ราว 12 ตารางกิโลเมตร มีอาคารหลักขนาดใหญ่คือฮอนเด็น (Honden) เป็นศาลเจ้าหลักที่สร้างขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.905 หรือ 2 ปีหลังอสัญกรรมของมิชิซาเนะ นอกจากนี้ยังมีอาคารที่ใหญ่ถูกสร้างในปี ค.ศ.919 แต่ถูกทำลายจากไฟไหม้ในช่วงสงครามพลเรือน ส่วนศาลเจ้าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1591 และขณะนี้ได้รับการยกย่องเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ
ด้านหน้าศาลเจ้า ดาไซฟุ เทนมังกุ
ด้านหน้าของศาลเจ้าหลัก มีสระน้ำที่สร้างสรรให้เป็นรูปตัวอักษรญี่ปุ่นที่แปลว่า หัวใจ ก่อนที่ผู้มาเยือนจะเดินเข้าไปถึงศาลเจ้าหลัก จะต้องข้ามสะพาน 2 สะพาน ที่ด้านล่างมีเกาะเล็กๆ กลางน้ำ สื่อความหมายถึง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ด้านหน้าศาลเจ้า ดาไซฟุ เทนมังกุ
ผู้มาเยือนศาลเจ้านี้ นิยมไปเยี่ยมๆ มองๆ รูปหล่อวัวตัวใหญ่ สัญลักษณ์แทนเจ้าวัวลากโลงศพที่มาหยุดเดินที่นี่ และลูบคลำไปตามตัววัว เชื่อกันว่าจะมีโชค หรือเรียนดีขึ้น วัวหลายตัวที่นี่เลยขึ้นเงา เลื่อมวับเป็นประกายอยู่ตลอดเวลา เพราะมีคนมาลูบไล้ไม่เว้นแต่ละวัน
รูปหล่อวัว ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญของของบริวารมิชิซาเนะ มีจำนวนหลายตัวภายในศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ
รูปหล่อวัว ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญของของบริวารมิชิซาเนะ มีจำนวนหลายตัวภายในศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ
นอกจากนี้ สิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาสักการะศาลเจ้าแห่งนี้คือการไปชมต้นพลัม หรืออูเมะ (ume) ในภาษาญี่ปุ่น ศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุเป็นสถานที่ซึ่งปลูกตันพลัมไว้มากถึงราว 6,000 ต้น หลากหลายถึง 197 สายพันธุ์ โดยต้นที่สำคัญที่สุด และมีผู้ไปชื่นชมอยู่เสมอเรียกว่าโทบิอูเมะ (Tobiume) หรือ “ต้นพลัมบินได้” ซึ่งปลูกอยู่ด้านขวาของศาลเจ้าหลัก
อันว่าพลัมบินได้นี้ เกิดมาจากตำนานที่เล่าขานกันว่า ตอนที่อาจารย์มิชิซาเนะถูกขับออกจากเกียวโตนั้น ต้นพลัมต้นนี้โหยหาท่านเป็นอย่างมาก และด้วยความคิดถึงอย่างแรงกล้า พลัมนี้ถึงกับถอนรากตัวเอง ก่อนจะโบยบินตามนายมาถึงดาไซฟุ เพื่อที่จะได้อยู่กับคนที่รักนับถือไปนานแสนนาน
อย่างไรก็ตาม มีอีกตำนานที่อาจจะไม่ซึ้งใจ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่า คือ พลัมต้นนี้เกิดจากเมล็ดที่มิชิซาเนะเอามาจากเกียวโต แล้วเมื่อมาอาศัยที่ดาไซฟุ ก็ได้หย่อนเมล็ดนี้ปลูกต้นไม้สำคัญ อันเป็นพืชพรรณที่ท่านรักขึ้น และว่ากันว่า หากสังเกตให้ดี แม้จะมีต้นพลัมหลายพันต้นในบริเวณศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ แต่ “โทบิอูเมะ” จะเป็นต้นแรกที่มักจะออกดอกก่อนใครเพื่อนในช่วงเดือนมกราคม ก่อนที่ต้นอื่นๆ จะทยอยผลิดอกออกตามพี่ใหญ่มาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม
ตามบันทึกกล่าวว่า ไม่เพียงต้นพลัมที่เกียวโตจะคิดถึงมิชิซาเนะ ในทางกลับกัน มิชิซาเนะเองก็คิดถึงต้นไม้แสนรักนี้มาก และได้ประพันธ์บทกวีขึ้นมาว่า “เมื่อลมตะวันออกพัดมา ดอกพลัมบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมกระจาย แม้พลัมต้องจากเจ้านาย แต่ขออย่าได้ลืมผลิใบ”
ต้นพลัมบินได้ ที่ตำนานเล่าขานว่า โบยบินติดตามเจ้านายมาจากเกียวโต สู่ดาไซฟุ
ด้านในศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ
แผ่นไม้สำหรับเขียนคำอธิษฐานประจำศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ
แผ่นไม้สำหรับเขียนคำอธิษฐานประจำศาลเจ้าดาไซฟุ เทนมังกุ
ย้อนไปกล่าวถึงช่วงที่มิชิซาเนะถึงแก่อสัญกรรมใหม่ๆ แม้การเสียชีวิตของท่านค่อนข้างจะเป็นการจากไปอย่างเดียวดาย แต่หลังจากนั้น เหมือนกับว่าผู้มีอำนาจทั้งเกียวโตจะได้รับรู้ถึงความโศกเศร้าที่สรรพสิ่งมีต่อการสูญเสียคนดีคนสำคัญ
เพราะจู่ๆ ลมฟ้าอากาศก็แปรปรวน เกิดภัยพิบัติและความแห้งแล้งขนาดหนักมาเป็นแขกเยือนเกียวโตจนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า อาคารหอว่าราชการในพระราชวังถูกฟ้าผ่าหลายหน เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและน้ำท่วมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทั้งหมดนี้กล่าวกันว่า เกิดจากการดลบันดาลของพวกภูตผีปีศาจที่เกียวโต ซึ่งพากันโกรธแค้นที่มีการขับไล่มิชิซาเนะไปยังถิ่นกันดาร จนสิ้นอายุขัยอย่างขัดสน
ถึงตอนนี้ ทางสำนักพระราชวังน่าจะได้ยินข่าวลือที่ว่า พวกภูติผีเริ่มเล่นงานเพราะเรื่องของมิชิซาเนะ ประกอบกับมีนักพยากรณ์ที่ออกทำนายทายทักว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะมิชิซาเนะถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ทั้งสำนักพระราชวังและกลุ่มผู้มีอำนาจเกรงกลัว แต่จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ทันการณ์แล้ว จะเรียกตัวมิชิซาเนะกลับมาก็ไม่ได้
ว่าแล้ว สำนักพระราชวังก็จัดการ "ลบ" ประวัติที่เคยขับไล่ข้าราชการน้ำดี ทำพิธีคืนตำแหน่งให้มิชิซาเนะผู้วายชนม์ แถมยังสร้างศาลเจ้าชินโต ชื่อ คิตาโนะ เทนมังกุ (Kitano Tenman-gu) ขึ้น เพื่ออุทิศให้แก่มิชิซาเนะผู้ล่วงลับ และกลายกลับเป็นเทพเจ้า
ปัจจุบันนี้ ทุกวันที่ 4 สิงหาคมของทุกปี จะมีการจัดเทศกาล คิตาโนะ มัตซูริ (Kitano-matsuri) ขึ้นที่ศาลเจ้าคิตาโนะ เทนมังกุ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของมิชิซาเนะ และจะมีพิธีกรรมเกี่ยวกับวรรณกรรมไปด้วยในตัว
ศาลเจ้าคิตาโนะ เทนมังกุ ที่เกียวโต
ผู้เขียนได้เดินทางไปทั่วญี่ปุ่น มีโอกาสสักการะศาลเจ้าที่สร้างขึ้นอุทิศแก่สุงาวาระ มิชิซาเนะมาแล้วหลายแห่ง และในความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนไม่ได้มองมิชิซาเนะในฐานะเทพเจ้า แต่ไปไหว้ท่านเพื่อรำลึกถึงคนดี ด้วยความนิยมชมชอบว่า คนเรานั้น หากมีดีจริง แม้จะตกระกำลำบาก หรือถูกกลั่นแกล้งอย่างไร แต่ความดีที่แท้จะไม่แพ้ภัย แม้อาจต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายแล้ว ความดีจะชนะในบั้นปลายเสมอ ขอเพียงยึดมั่นในความดีนั้นไว้ เหมือนเช่นสุงาวาระ มิชิซาเนะ คนดีในความทรงจำ นิรันดร์กาล
ประวัติศาสตร์
เที่ยวญี่ปุ่น
เที่ยวต่างประเทศ
บันทึก
2
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยอาทิตย์อุทัย
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย