23 พ.ค. 2020 เวลา 12:28 • ธุรกิจ
LVD#62 คมความคิดจากความสำเร็จ 50ปี แต่ก็ดีใจได้วันเดียว (Review ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว (1/2))
สวัสดี​ครับ​ทุกท่าน​ วันนี้ผมอยากจะมาชวนคุยถึงหนังสือที่ผมพึ่งอ่านจบไปมาดๆ นั่นก็คือ หนังสือเล่มดังของเจ้าสัวใหญ่แก่งอาณาจักร ซี พี คุณธนินท์ เจียรวนนท์ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" โดยหนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์​และข้อคิดของท่านตลอดการทำงานมากกว่า 50 ปี เพื่อสร้างอาณาจักร CP อย่างที่เรารู้จักกัน ซึ่งถือว่าไม่ง่ายเลยที่เราจะได้รับข้อคิดจากบุคคล​ระดับนี้ และนี่คือองค์ความคิดของเศรษฐ​ีอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่ถูกกลั่นมากกว่า 80 ปี ลองตามมาดูครับ
1
คือมันอย่างนี้ครับ...
สำหรับการแชร์ข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากครับ แต่เพื่อความกระชับผมจะขอสรุปออกมาเป็น 13 ข้อคิด โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ปรัชญาธุรกิจ ปรัชญาครอบครัวและบริหารคน และ ปรัชญาชีวิตส่วนตัว ในหนังสือไม่ได้แบ่งตามนี้ อันนี้ผมแบ่งของผมเอง ลองพิจารณา​ดูครับ
ปรัชญา​ธุรกิจ
1. ต้องครบวงจร
ครบวงจร ถือเป็นหนึ่ง signature ของการทำธุรกิจของ CP เลยก็ว่าได้ โดยหลักคิดนี้มีต้นกำเนิดจากความคิดที่ว่า ในประเทศกำลังพัฒนา​ (ไทยก็ใช่นะครับ)​ เกษตรกรมักจะไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี​ ไม่มีเงินทุน ไม่มีตลาด ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง ธุรกิจของพวกเขาเลยต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ​ และรับความเสี่ยงจากความผันผวน​ทั้งหมด แนวคิดธุรกิจครบวงจรจึงเกิดขึ้น เพราะถ้าเกษตรกรโตไม่ได้ก็ไม่ทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีผลผลิต​และสินค้า และก็ไม่มีการขายและธุรกิจ​ในที่สุด ถ้าพิจารณา​ให้ดี CP เป็นธุรกิจแรกๆในไทยที่ให้ความสำคัญกับการสร้าง Ecosystem มากๆตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้ว ผ่าน Platform ที่เรียกว่า Contract Farming ที่สร้าง Win Win Win solution
- เกษตรกรได้รับเทคโนโลยีและไม่ต้องรับความผันผวน​ด้านราคาจากการประกันราคา
- CP ได้สินค้าที่มีมาตรฐานและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- ผู้บริโภคก็จะได้สินค้าราคาถูกลงจาก Economy of Scale
"ระบบครบวงจรเป็นการแบ่งหน้าที่ให้คนที่ไม่มีทุน ไม่มีตลาด ไม่มีเทคโนโลยี​ แต่มีแรงงาน มีที่ดิน ก็มาออกที่ดิน ออกแรงงาน และให้คนมีทุนมาออกทุน มีเทคโนโลยี​มาออกเทคโนโลยี​ และเป็นผู้หาตลาด"
2. หลัก 3 ประโยชน์
หลัก 3 ประโยชน์ มาจาก สังคม(ประเทศ)​ได้ประโยชน์​ ประชาชน​ได้ประโยชน์ บริษัท​จึงได้ประโยชน์
โดยแกนกลางของหลักการนี้ คือ ความจริงใจ เพราะการที่เราจะเข้าไปทำธุรกิจใหม่ คำว่า "ใหม่"อาจจะไม่ค่อย friendly กับคนเก่าเท่าไร ดังนั้น ต้องให้สังคมรับรู้ว่า สังคมเองที่จะได้ประโยชน์ เพราะถ้าสังคมหรือคนไม่ให้ความสนับสนุน​ธุรกิจก็ไม่มีวันเติบโต และยังโดนต้านด้วย
คุณธนินท์​เล่าว่า ตอนที่ CP เข้าไปช่วยรัฐบาลจีนแก้ปัญกาเรื่องการพัฒนา​เกษตรสมัยใหม่ CP เช่าที่ดินจากรัฐบาลแบะจัดสรรให้เกษตรกร​ถึง 1,600 ครัวเรือน โดยสมัยนั้น การกู้ต้องมีเงินทุนส่วนตัวถึง 30% CP ได้เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงิน 15% และ CP จะจัดสรรเงินทุนอีก 15% การระดมทุนโครงการนี้จึงเกิดขึ้นได้
สำหรับผมหลัก 3 ประโยชน์ จะดูอุดมคติไปหน่อย แต่ผมว่ามองอีกแง่หนึ่ง มันคือต้นแบบของกลยุทธ์​แบบ Freemium อย่างหนึ่งนะครับ การให้ก่อนเพื่อดึง user หรือเกษตรกรมาเข้า platform นั่นเอง สุดท้ายต้องดูว่าคนที่เข้ามาใน platform อยู่ได้ในระยะยาวใหม พัฒนาเป็นการตลาดแบบ Inclusive ซึ่งผมมองว่าข้อนี้ CP ก็ทำได้ดีครับ
3. โอกาสไม่รอตอนเราพร้อม
เรื่องหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้ผมในหนังสือเล่มนี้คือ ทราบว่า CP เป็นบริษัท​ต่างชาติแห่งแรกที่ได้ใบอนุญาต​ประกอบธุรกิจ​ในประเทศจีน ในวันที่ทุกคนยังมองว่า จีนไม่พร้อม แต่คุณธนินท์​กลับมองว่า ก็ต้องเข้าไปสร้างความพร้อมให้จีน ทำให้ CP เป็นหนึ่งใน Partner สำคัญของจีนตั้งแต่นั้นมา ถ้าจีนพร้อม แล้ว CP อยากจะลงทุนตอนนั้น ก็อาจจะไม่ได้ลงทุน ดังนั่น จังหวะจึงสำคัญที่สุด
เช่นเดียวกับ 7-11 ครั้งเริ่มต้น บริษัทแม่ที่ US ก็วิเคราะห์ว่าไทยยังไม่พร้อม เพราะมองว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยต่ำเกินไป แต่คุณธนินท์มองว่า ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ชุมชนเรามีความหนาแน่นกว่า ค่าครองชีพเราก็ต่ำกว่า รายได้ 10us ใช้ที่ไทยได้ของมากดว่า 20เท่า ดังนั้น ที่ US มีคนเข้าร้าน 1 คน ที่ไทยจะมี 10 คน วิธีคิดนี้ทำให้ 7-11 ถือกำเนิดขึ้น ไม่ต้องรอพร้อมแต่ต้องเข้าใจโจทย์และสถานการณ์​จริงๆ ผมสรุปเป็นสมการข้างล่างครับ
ความไม่พร้อม + ความเข้าใจ = โอกาส
4. บทเรียนจากวิกฤติ ต้นแบบ Fail Forward
คุณธนินท์​เล่าถึงครั้งวิกฤติ​ค่าเงินบาท​ ตอนนี้หนี้ของ CP ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ​ เรียกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่หนี้ บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้มี 3 ข้อครับ
1. ตัดสินใจต้องเร็ว ตัดขายธุรกิจบางส่วน ตอนนั้น CP เลือกขายโลตัสและแม็คโคร เพื่อรักษาธุรกิจหลัก
2. ต้องขยายธุรกิจที่เหลืออยู่ด้วย CP ไม่หยุดขยายสาขา 7-11 เพราะมองว่าเป็นอนาคต สองข้อแรกรวมกันเท่ากับ ลดภาระพร้อมกับสร้างรายได้ จึงจะแก้หนี้ได้
3. มีหนี้ต้องคืน เพราะ Credit สำคัญที่สุด ข้อนี้ตรงตัวครับ เสียเงินเหลือเครดิตยังกลับมาได้ เสียความน่าเชื่อถือ​ยังไงก็ดำเนินธุรกิจยาก
5. กำไรจากอากาศ​หลัก 3 สูง หนึ่งต่ำ
ประสิทธิภาพ​ช่วยให้เราสามารถดึงกำไรจากอากาศได้ เพราะประสิทธิภาพ​ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย ของชิ้นเดิมขาย 100 ต้นทุน 50 กำไรก็ 50 แต่ต้นทุนเหลือ 30 กำไรก็กลายเป็น 50+20 และ +20 คือกไรจากอากาศ​ที่มาจากประสิทธิภาพ​ แล้วประสิทธิภาพ​มาจากไหน ก็มาจากเทคโนโลยี​ เทคโนโลยี​ย่อมเกิดจากการลงทุน เมื่อเทคโนโลยีดีขึ้น คุณภาพก็สูงขึ้น ต้นทุนก็ต่ำลง
3 สูง 1 ต่ำ เท่ากับ ลงทุนสูง เทคโนโลยีสูง คุณภาพ​สูง ต้นทุนต่ำ
สำหรับวันนี้ ผมขอจบที่ปรัชญา​ด้านธุรกิจเท่านี้ก่อน จริงๆในหนังสือยังมีเรื่องอีกมากที่ทรงคุณค่า​มากๆ บางท่านอาจรู้สึกว่าเนื้อหาบางส่วนมันเรียบง่ายมากเกินไป ผมเชื่อว่าในชีวิตการทำงานจริงๆของคุณธนินท์​คงมีรายละเอียดมากกว่านี้มากๆๆ​ เพียงแต่ท่านย่อยมาเป็นรูปแบบให้พวกเราย่อยง่ายแล้ว สูงสุดก็คืนสู่สามัญ​ เพราะทำจริงจึงอธิบายได้ง่ายครับ
ตอนหน้าเราจะมาคุยถึงข้อคิดด้านที่เป็น soft skill กับปรัชญา​ครอบครัวและบริหารคน และปรัชญา​ชีวิตส่วนตัว รับรองว่าลึกล้ำครับ อย่างที่บอกไม่ง่ายที่คนอายุ 80 อีกทั้งประสบความเร็จ​ระดับนี้จะมากลั่นความคิดให้เราฟังนะครับ ดังนั้น ต้องไม่พลาดตอนต่อไป โปรดติดตามครับ
Happy​ Learning
ขอบคุณ​ครับ​
ชัช​ฤทธิ์​
โฆษณา