30 พ.ค. 2020 เวลา 12:28 • ธุรกิจ
LVD#63 : หลักบริหารครอบครัว ผู้คน และตนเองจาก "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" (Review หนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว (2/2))
สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้เราจะมาคุยกันต่อเป็นตอนที่สองกับหนังสือ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" ของคุณธนินท์ เจียวรนนท์ สำหรับตอนแรกที่ผ่านมา ผมได้สรุปข้อคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจ (สามารถไปอ่านย้อนหลังได้ตาม Link ท้ายบทความครับ) ตอนนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกัน เชิญติดตามครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
สำหรับเนื้อหาตอนนี้ผมจะเล่าถึงข้อคิดแบ่งเป็น 3 ส่วน แทนที่จะแบ่งเป็น 2 ส่วน อย่างที่บอกไว้ครั้งที่แล้วครับ ได้แก่ ปรัชญาบริหารครอบครัว ปรัชญาบริหารคน และปรัชญาบริหารตนเอง (ครั้งที่แล้ว ผมเรียนว่าสองส่วนแรกจะรวมเป็นส่วนเดียวกันเรียกว่าบริหารคน แต่ขอแยกน่าจะชัดกว่า) ซึ่งแล้วแต่เป็น soft skill ทั้งสิ้น แล้วข้อคิดด้าน soft skill ที่เราจะได้เรียนรู้จากคุณธนินท์จะลึกซึ้งและคมคายขนาดไหน ลองตามมาครับ
ปรัชญาบริหารครอบครัว
6. กฎเหล็กของครอบครัว
หากจะทำใหญ่ให้สำเร็จพื้นฐานต้องดี ความสามัคคีในครอบครัวถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจ ซึ่งผมเห็นด้วยมาก การที่เรามีครอบครัวที่สามัคคี ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจ รู้สึกได้รับการสนับสนุน ซึ่งมันช่วยให้เราสามารถเติมพลังบวกได้ตลอดเวลา โดยคุณธนินท์ได้วางกฎเหล็กเกี่ยวกับครอบครัวที่แฝงความคิดลึกซึ้งไว้ 4 ข้อ
(1) ลูกชายที่แต่งงานแล้วต้องออกจากบ้าน เพื่อป้องกันความแตกแยกระหว่างพี่น้อง
(2) ห้ามมิให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภรรยา บุตรสาว สะใภ้เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นคนจีนรุ่นโบราณเกินไปหน่อย ที่มีค่านิยมแบ่งแยกเพศสูง แต่นัยจริงของข้อนี้ คือ การเอาเครือญาติมาบริหารงานเป็นการปิดกั้นคนเก่งเข้ามาช่วยบริหาร
(3) รู้จักให้อภัยพี่น้อง เพราะการทำธุรกิจระหว่างพี่น้อง ย่อมมีความเห็นที่ขัดแย้งเป็นธรรมดา แต่ทุกครั้งที่ทะเลาะกัน ต้องคิดถึงคำว่า อภัย
(4) ไม่เห็นแก่ตัว อดทนและเสียสละ ถ้าในพี่น้องทุกคน คิดว่าจะทำอะไรก็เพื่อส่วนรวม พี่น้องและครอบครัวต้องได้ แล้วทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้
7. ฝึกเสียเปรียบให้เป็น
ข้อนี้เป็นข้อคิดต่อจากเรื่องครอบครัว โดยคุณธนินท์ยกตัวอย่างส่วนตัวว่า แม้ว่าคุณธนินท์จะลงแรงเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจได้ 100 แล้วตัวเราต้องได้ 70 (พี่น้องอีก 3 คนเอาไปอีกคนละ 10) แต่ต้องทำให้ได้ 400 แล้วตัวเราจะได้เพิ่มจาก 70 เป็น 100 เอง ซึ่งผลลัพธ์ของการคิดแบบนี้ก็มีต้นตอมาจากความคิดเรื่องสามัคคีและเสียสละเพื่อครอบครัวนั่นเอง
8. 1+1=1 หรือ 1+1=2
การปั้นคนเก่งในธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัว ต้องไม่ให้ลูกหลานไปบริหารธุรกิจที่ประสบความสําเร็จอยู่แล้ว เพราะถ้าลูกหลานบริหารได้ไม่ดี ธุรกิจนั้นก็อาจจะเสียหาย และถึงแม้ว่าจะบริหารได้ดี คนก็มองว่าไม่เก่งจริงแค่กินบุญเก่าพ่อแม่ และยังไม่เป็นการส่งเสริมคนเก่งๆให้ขึ้นมาช่วยบริหารด้วย แบบนี้เต็มที่ 1+1 ก็เท่ากับ 1
1
ดังนั้นจะให้ดี ต้องส่งลูกหลานไปบริหารธุรกิจเล็กๆก่อน ถ้าบริหารไม่ดี ต่อให้ถึงขั้นเจ๊งก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำได้ดี ลูกหลานก็ได้พิสูจน์ตัวเองเป็นที่ยอมรับ และเครือก็ได้ธุรกิจเพิ่มอีก แบบนี้ถึงเรียก 1+1 =2
ปรัชญาบริหารคน
9. สร้างคน คือ งานสำคัญของผู้นำ
ผมคิดว่าประเด็นนี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่อยากจะดึง highlight สำคัญจากความคิดคุณธนินท์ ออกมาเล่าให้ฟังครับ
(1) ทำไมบางคนมีลูกน้องมากมาย แต่ยังต้องมานั่งทำงานคนเดียว แล้วบ่นว่าเหนื่อย คำตอบคือ เพราะเขาคิดว่าลูกน้องทุกคนสู้เขาไม่ได้ ต้นตอเรื่องนี้มาจากการ focus จุดอ่อน เลยไม่ยอมเสริมจุดแข็ง
(2) ถ้ามัวแต่ focus จุดอ่อน ก็เสียทั้งคู่ หัวหน้าก็เหนื่อยไม่ได้ดั่งใจ ลูกน้องก็ไม่ได้พัฒนา
(3) พัฒนาคนไม่ได้ก็เป็นแค่ “เจ้านาย” ไม่ใช่ “ผู้นำ” ผู้นำต้องใจกว้าง ลูกน้องต้องเก่งกว่าเรา แล้วจะมีคนเก่งมากมายมาช่วยกันทำงาน
(4) สร้างคนแล้วต้องกล้าให้อำนาจ จำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด ไม่ผิด = ไม่ทำ สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่าผิดตรงไหน แก้ยังไง ถ้าทำเสียหายแล้วยังบอกว่าทำถูก โยนความผิดให้คนอื่น ไม่ทบทวนบทเรียน ปลดออกได้เลย
10. ลูกวัวไม่กลัวเสือ
อะไรคือ ลูกวัวไม่กลัวเสือ ความหมายของคำนี้มาจากการเปรียบเปรยของคุณธนินท์ที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ ที่เหมือนลูกวัวไม่กลัวเสือ คือมีความคิดสดใหม่ ไม่ยึดติดกับกรอบ ที่สำคัญไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือ การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสแสดงฝีมือ ต้องปรับ mindset ด้วย เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้ต้องการหัวหน้าหรือคนที่มาครอบความคิด ดังนั้นจะทำยังไงที่จะรวมเอาความคิดสดใหม่ กับประสบการณ์แบบไม่ครอบกรอบคิด เพื่อให้เกิดวิธีคิดใหม่ได้ ลูกวัวจึงเติบใหญ่ได้โดยไม่ต้องกลัวเสือ หรือไม่ถูกเสือกินซะก่อน
ปรัชญาบริหารตัวเอง
11. 8888
อันนี้ไม่ใช่เลขมงคลแต่ถ้าทำได้ก็เป็นมงคลต่อตนเองครับ ทุกๆวันเราควรทำ 8 ให้ได้ 4 อย่าง ดังนี้
แปดที่ 1 กินอิ่ม 80%
แปดที่ 2 นอนให้ได้ 8 ชั่วโมง
แปดที่ 3 เดิน 8,000 ก้าว
แปดที่ 4 ดื่มน้ำ 8 แก้ว
ทำงานหนักยังไง ก็ต้องอย่าลืมดูแลพลังงานส่วนตัวครับ ส่วนตัวผมเองยังทำไม่ได้ ทำได้แค่ แปดที่ 1 และแปดที่ 4 ครับ คงต้องพยายามดู
12. อุปนิสัยให้เครดิตผู้อื่น
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นตลอดเวลาที่อ่านหนังสือเล่มนี้ คือ เวลาคุณธนินท์พูดถึงเรื่องความสำเร็จอะไรก็ตาม แกจะกล่าวถึงชื่อคนอื่นตลอดทั้งเล่ม มีการให้เครดิตคนอื่นตลอดเวลา ตั้งแต่ครอบครัว พี่น้อง ครูในวัยเด็ก ผู้บริหารในองค์กร เกษตรกร หรือแม้แต่นักการเมือง ผมมองว่าไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่การให้เครดิตคนอื่นเช่นนี้ ไม่ได้ทำให้คุณค่าของความสำเร็จของเจ้าตัวลดลงเลย แต่กลับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการได้ใจคนรอบข้างอีกด้วย จริงๆ ความสำเร็จเป็นของแปลก ยิ่งแจกจ่ายเรายิ่งได้มากครับ
13. ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว
ข้อคิดสุดท้ายสำหรับหนังสือเล่มนี้ คือชื่อหนังสือนี่แหละครับ ซึ่งเอาจริงๆ ผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้มากเรียกว่าซื้อเพราะชื่อหนังสือและผู้แต่งเลย และผมตีความแบบนี้ครับ
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือความถ่อมตน
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือไม่ประมาท
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือความยืดหยุ่น
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือความทะเยอทะยาน
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือการเดินไปข้างหน้า
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว คือไม่ยึดติด
ถ้าสำเร็จแล้วจบ คือหยุดพัฒนา หยุดในยุคนี้คือถอยหลัง ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว จะดีใจหรือเสียใจก็มีเวลาแค่วันเดียว ชีวิตยังไงก็ต้องเดินหน้า ต่อไปอยู่ดี
บอกตรงๆว่าผมไม่ใช่แฟน CP หรือคุณธนินท์หรอกนะครับ แต่ผมชอบวิธีคิดและชื่อหนังสือเล่มนี้จริงๆ ไม่รู้ว่าอินไปไหมแต่ผมว่ามันล้ำลึกมากเลย บางเรื่องบางตอนในหนังสือ อาจจะดูง่ายเกินไป อาจจะดูพูดด้านเดียว ไม่รู้ว่า behind the scene เป็นยังไง แต่ถ้าพิจารณาอย่างปราศจากอคติ มันก็ยังแฝงด้วยข้อคิดที่ทรงคุณค่าอยู่ดี
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน (รววมถึงผมด้วย)เดินหน้าต่อไม่ว่าท่านจะเจออุปสรรคอะไรก็ตามนะครับ เพราะไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า มันก็จะผ่านไปอย่าไปยึดติดให้สถานการณ์ควบคุมเรา เหมือนความสำเร็จต่อให้มากแค่ไหน ก็ดีใจได้วันเดียวครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
P. S. สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก ผมแนบ LINK ไว้ด้านล่างครับ
LVD 63: คมความคิดจากความสำเร็จ 50ปี แต่ก็ดีใจได้วันเดียว (Review ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว (1/2))
โฆษณา