23 พ.ค. 2020 เวลา 16:35
เจตน์จำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา
Free Will is Exist or is it just an Illusion
Episode 1
https://danielmiessler.com
ปัญหาเจตน์จำนงเสรี Free Will นักปรัชญาตะวันตกสองพวกที่มีมุมมองเรื่องนี้ต่างกัน กลุ่มแรกคือพวก Determinism หรือนิยตินิยม ลัทธินี้มีความเห็นว่า มนุษย์ไม่มีเจตน์จำนงเสรีในการตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่างๆ เพราะว่าการตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งต่างๆของเรานั้นเกิดขึ้นจากการได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบตัว กำหนดให้เราต้องตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวนี้เป็นแบบจักรกลนิยม(Mechanism) นั่นคือเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การเลือกตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์แต่ละครั้งจึงต้องมีสาเหตุชักนำมาก่อนเสมอ ตัวแทนของแนวคิดสายนี้ คือนักปรัชญาชาวอังกฤษในตำนาน โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ในขณะเดียวกัน นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส สายอัตถิภาวะนิยม(existentialism) ผู้มีชื่อเสียงอย่าง ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) จัดเข้ากลุ่มที่สองคือพวก Indeterminism หรืออิสรวิสัยนั้น กลับมองว่า มนุษย์มีเจตน์จำนงเสรี และถูกสาปให้มีเสรีภาพซะด้วยซ้ำ เราเป็นอิสระแม้แต่ในสภาวการณ์ที่เราเข้าใจว่าเราถูกบังคับซึ่งในสถานการณ์นั้นก็ยังมีอิสระอยู่เสมอ ตั้งข้อสังเกตพบว่า แนวคิดของ โทมัส ฮอบส์ มีอิทธิพลในทาง กฎหมาย สังคมวิทยา และอาชญาวิทยาในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่สอดคล้องกับคำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท และ อิทัปปัจยตา ของพุทธศาสนาที่เหมือนต้องการจะบอกว่า มนุษย์ไม่มีเจตน์จำนงเสรี กับคอนเซปต์ที่ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” คือคำอธิบายสภาพจิตใจของมนุษย์ ที่ผลักดันให้มนุษย์ คิด พูด และทำนั่นเอง
2
ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre)
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
"เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” ประโยคที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือกรรม” เจตนาคือ คำว่า Will ถ้าแปลประโยคนี้เป็นภาษาอังกฤษ คือ I call the human will as action ซึ่งดูเหมือนในทรรศนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จะมีแนวคิดว่า เงื่อนไขที่จะทำให้เป็นกรรม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์และสัตว์โดยสมมุติก็ตาม จะต้องมีอำนาจในการคิดด้วยตนเองก่อน เพราะถ้าหากว่ามนุษย์เราเป็นหุ่นยนต์ ถูกตั้งระบบเซตโปรแกรมไว้ ก็ไม่ควรได้ชื่อว่าทำกุศลหรืออกุศลกรรม เพราะเรานั้นไม่ได้เลือก แต่เพราะว่าถูกป้อนเซตโปรแกรมให้ทำ พระพุทธองค์จึง ทรงมองว่าเมื่อมนุษย์มีความสามารถในการเลือกและตัดสินใจ จงใจ ตั้งใจริเริ่มโดยตนเอง เมื่อกระทำไปโดยเจตนาแล้วเกิดเป็นกรรม ดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบการกระทำ
จะเห็นได้ว่าเจตนา หรือคำว่า Will นี้ ในทางพุทธปรัชญามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดการดำเนินชีวิตของเรา ในการเลือกที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อันจะมีผลติดตามมาจากการที่เลือกกระทำในสิ่งที่เจตนานั้นบงการอยู่ โดยที่บุคคลผู้มิได้ฝึกฝนจิต ย่อมไม่รู้เท่าทันเท่าตัวบงการที่ควบคุมความประพฤติของเราให้ทำสิ่งต่างๆ อันเป็นผลกระทบทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น ดุจดังพระพุทธพจน์ว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ”ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ โดยที่ใจในที่นี้ก็คือ ตัวเจตนานั่นเอง ที่เป็นตัวการกระตุ้นให้คนเราทำสิ่งต่างๆจนเกิดมีผลติดตามมาเป็นกรรม และด้วยอำนาจแห่งเจตนานี้ จึงทำให้ผู้คนต่างติดอยู่ในสังสารวัฏ ไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏฏสงสารไปได้ ด้วยการที่ไม่รู้เท่าทันตัวการแห่งต้นเหตุ ดังนั้น เจตนา ก็คือตัวการที่สำคัญในการพัฒนาจิตของคนเราให้ดีขึ้นหรือเลวลงได้ พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมมีความสำคัญที่สุด ซึ่งคนทั่วไปอาจจะถือเอาว่ากายกรรมสำคัญที่สุด ที่เชื่อกันอย่างนั้น ก็เพราะว่า สามารถเห็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา เช่น การทะเลาะจนถึงการทำร้ายร่างกายกัน การยกพวกตีกัน เป็นต้น เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นเพราะเรานั่นเองเป็นผู้กำหนดการกระทำนั้นๆ โดยมีจุดผลักดันมาจากจิต หรือมโนกรรม ฉะนั้น กระบวนการเริ่มต้นของการกระทำทุกอย่างย่อมมีเจตนาเป็นประธานในการทำกิจกรรมของการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรา
"เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ”
เจตนาในพุทธปรัชญาเถรวาท
พุทธปรัชญาเถรวาท กล่าวถึง เจตนา เป็นเจตสิกดวงหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันกับจิตที่ดีหรือชั่วก็ได้ตามปัญญาหรือความทะยานอยาก (ตัณหา) อวิชชา ฯลฯ ที่ได้อธิบายกระบวนการเกิดขึ้นระหว่าง เจตนากับเหตุทั้งภายในและภายนอก ทำให้ให้เจตนามีความสมบูรณ์ในการกระทำของมนุษย์ เช่น หลักกรรม หลักปฏิจจสมุปบาท, อิทัปปัจยตา หรือ กฎไตรลักษณ์ เป็นต้น ภายใต้หลักการที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ซึ่งทางพุทธปรัชญาเรียกว่า กรรม
เครดิตภาพ: https://slate.com/technology/2013
เจตนาของพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นตัวเริ่มต้นของกระบวนการกฎแห่งกรรม มนุษย์มีความตั้งใจ มีความจงใจ ที่จะเลือก คิด พูด ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเสรี ก็แสดงว่า มนุษย์มีเจตน์จำนงเสรีเช่นกัน เจตน์จำนงเสรีของซาร์ต ถูกนำเสนอขึ้นเพื่อกระตุ้นให้มนุษย์รู้ว่า มนุษย์มีสิ่งนี้อยู่ แต่มนุษย์เข้าใจผิดคิดว่า ตนเองไม่มี ซาร์ตจึงบอกว่า เดิมทีมนุษย์ว่างเปล่า ไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร แต่ที่มีอยู่และเป็นอยู่นั้น มนุษย์ได้ใช้เจตน์จำนงเสรีในการเลือกที่จะมี เลือกที่จะเป็น มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องเจตนาที่ พุทธปรัชญาเถรวาทนั้นกล่าวถึงเจตนาที่เกิดขึ้นร่วมกันเจตสิกที่จะปรุงแต่งไปในทางที่ดีหรือทางที่ชั่ว ในขณะที่แนวคิดแบบจักรกล (Mechanism) ของ ฮอบส์ ที่มีความเห็นต่างออกไปว่า มนุษย์ไม่เคยได้เลือกด้วยตัวเองอะไรเลย สิ่งต่างๆในธรรมชาติดำเนินไปตามกฎกลศาสตร์ เหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งมากระทำต่อมัน ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยปราศจากสาเหตุ เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ล้วนแต่มีสาเหตุทั้งนั้น ในกรณีของมนุษย์ก็เช่นกัน มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การเลือกตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ของมนุษย์แต่ละครั้งจึงต้องมีสาเหตุชักนำมาก่อน กล่าวคือความประสงค์หรือจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ล่วงหน้านั่นเอง
เครดิตภาพ: https://www.rationalrealm.com
ในมงคลสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ชีวิตคนนั้นจะพัฒนาจากขั้นต่ำไปหาขั้นสูงเพื่อจะบรรลุนิพพานนั้นมีหลายสูตรวิธี แต่มีพระสูตรหนึ่งที่ตรัสในมงคลสูตรที่มี ๓๘ขั้นตอน โดยขั้นตอนทั้ง๓๘ นั้นเราเรียกว่า มงคล ในกถาแรกๆ ของมงคลสูตรเริ่มต้นด้วย อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง) ปณฑิตานญฺจ เสวนา (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา) ต้องไม่คบคนพาล และให้คบบัณฑิต โดยยกเรื่อง นกแขกเต้าสองพี่น้องเป็นอุทาหรณ์ โดยขอเปรียบเทียบตามทรรศนะมงคลสูตร ว่าคนเราเหมือนกับน้ำ ซึ่งน้ำไม่มีรูปร่างของตัวมันเอง เทใส่ขวด น้ำนั้นมันก็เป็นรูปขวด เทใส่แก้วก็เป็นรูปแก้ว เทใส่ในกล่องสี่เหลี่ยมก็เป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยม ถ้าคิดอย่างนี้เหมือนกับว่าคนพาลเป็นดั่งภาชนะบางอย่างที่ไม่ดี น่าเกลียด บัณฑิตก็เป็นภาชนะที่สวยงาม ฉะนั้นเราที่เป็นคน ก็เหมือนน้ำ ถ้ากรอกลงโอ่งที่น่าเกลียดที่เปรียบเหมือนคนพาล เราก็จะมีลักษณะเป็นโอ่งที่น่าเกลียดด้วย แต่ถ้าเทลงโถหรือคนโฑที่สวยงาม น้ำคือเราที่ไม่มีอำนาจในการจัดรูปร่างของตัวเอง ก็จะมีลักษณะเป็น คนโฑที่สวยงามได้ เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงกำชับเราว่า อย่าอยู่ใกล้โอ่งที่น่าเกลียด เพราะว่าถ้าอยู่ใกล้แล้ว เดี๋ยวเราก็จะเป็นแบบนั้น ให้อยู่ใกล้คนโฑ ตามแนวคิดของอรรถกถาผู้แต่งมังคลัตถทีปนีเชื่อว่าเราเหมือนกับน้ำ เทลงไปภาชนะใดก็มีลักษณะเป็นอย่างนั้น จึงเล่านิทานเปรียบเทียบว่า มีนกแขกเต้า อยู่คู่หนึ่ง ทำรังอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งตัวที่เป็นภรรยาก็ออกลูกมาสองตัว วันหนึ่งเกิดพายุพัดรังของลูกนกแขกเต้ากระเจิงไป ในเรื่องเล่าอีกว่า ตัวหนึ่งไปตกไปอยู่กับโจร ส่วนอีกตัวหนึ่งตกไปอยู่กับพระฤาษี โจรนั้นเป็นตัวอย่างของคนพาล ส่วนฤาษีก็เป็นอุทาหรณ์แสดงของบัณฑิต
เครดิตภาพ:https://kalyanamitra.org
เนื้อเรื่องเล่าต่อไปว่า
วันหนึ่งมีพระราชาเสด็จประภาสป่า และพลัดหลงกับเหล่าทหารเสนาอำมาตย์ พระราขาขี่ม้ามาเหนื่อย จึงมาพักที่ใต้ร่มไม้ โดยข้างบนต้นไม้มีนกแขกเต้า ซึ่งตัวนี้เป็นตัวที่อยู่กับโจรมานาน นกแขกเต้าตัวนี้มองลงมา แล้วก็อุทาน “เจ้าคนนี้คอก็มีสร้อย มีเพชรนิลจินดา ดูแล้วน่าจะเป็นคนรวย เราน่าจะฆ่าให้ตายแล้วชิงเอาสมบัติมาน่าจะดี” พระราชาได้ยินก็ตกใจว่าทำไม นกตัวน้อยนี้ทำไมพูดจาหยาบคาย จึงตื่นบรรทมแล้วหนีออกจากร่มไม้นั้นไป เมื่อไปถึงอาศรมของฤาษี ก็พบนกแขกเต้าตัวคล้ายๆกัน ทักทายปราศรัย เชื้อเชิญตอนรับขับสู้เป็นอย่างดี พระราชาจึงมีความรู้สึกว่า ทำไมนกตัวนี้พูดจาดีบุคลิกดีใจดีจัง ดูมีไมตรีเป็นมิตร พอเมื่อได้พบกับพระฤาษี พระฤาษีนั้นจึงได้อธิบายให้พระราชาฟังว่า นกแขกเต้าทั้งสองตัวที่พระองค์เจอนี้ ดั้งเดิมนั้นเป็นพี่น้องกัน ความหมายที่จะบอกว่า โดยDNAแล้ว นกแขกเต้าทั้งสองตัวนี้ สามารถที่จะพัฒนาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้เท่ากัน แต่ตัวที่ไปตกอยู่กับโจร โจรเลี้ยง อยู่ในบรรยากาศแบบโจร ก็ต้องคิดพูดทำแบบโจร แต่ตัวนี้ที่มาอยู่กับอาตมา ก็เป็นบรรยากาศคนละอย่างหนึ่ง เรื่องนี้น่าสนใจ คือกำลังจะบอกว่า คนเรานั้นก็เหมือนกับนกแขกเต้านี่แหละ ซึ่งในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงประมวลนิทานเรื่องนี้เป็นอุปมาเพื่อที่จะเตือนสติเราว่า มนุษย์ก็เหมือนกับนกแขกเต้า อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ใช้ชีวิตยังไง แวดล้อมด้วยคนแบบไหน เราก็จะเป็นคนแบบนั้น แล้วพระพุทธเจ้าจึงได้เตือนว่า อย่าคบคนพาล ให้คบบัณฑิต ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขแรกเบื้องต้นที่จะทำให้ได้บรรลุนิพพาน ถ้าอยู่กับพาลก็ไม่มีทางได้ไปนิพพาน เพราะก็จะมัวแต่คิด พูดและทำในเรื่องที่จะชักนำให้ไปสู่อบาย
1
เครดิตภาพ: https://www.theneweconomy.com
จึงตั้งคำถามว่า นิทานเรื่องนี้สะท้อนว่าอะไร ก.สะท้อนว่าคนและสัตว์นั้นเหมือนน้ำหรือไม่ ข.ในทางปรัชญาถ้าพูดว่า คนและสัตว์นั้นเหมือนกับน้ำนั้น ก็หมายความว่า คนและสัตว์ไม่มีเจตจำนงเสรี น้ำไม่มีเจตจำนงเสรี ปากกาเราที่อยู่บนโต๊ะถูกวางไว้ ก็ไม่มีเจตจำนงเสรี มันก็อยู่ของมัน สมมุติว่าในห้องแอร์ที่เย็นมากๆ มันก็กลายเป็นหยดน้ำ หยดน้ำจากแอร์ก็หล่นมากระทบกับปากกา มันก็ไม่หนีไปไหน มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น สิ่งที่ไม่มีเจตจำนงเสรีจะมีลักษณะดูง่ายๆคือ ไม่แสดงพฤติกรรมอะไร ปากกาบนโต๊ะ หยดน้ำหยดลงมาแล้วไม่หนีไปไหนสรุปได้ว่าไม่มีเจตจำนงเสรี แต่ถ้าหากเป็นแมลงสาบเดินมาบนโต๊ะนั้น แล้วน้ำหยดใส่มัน แมลงสาบตัวนั้นก็คงเดินหนี แต่ในทางปรัชญาการเดินหนีหยดน้ำแอร์ของแมลงสาบ ยังพูดไม่ได้ว่าเกิดจากเจตจำนงเสรีหรือไม่ มีแต่ความเป็นไปได้ ที่จะมีเจตจำนงเสรีเท่านั้น เพราะการที่แมลงสาบเดินหนี นักวิทยาศาสตร์มองว่าอาจจะเป็นเพราะระบบอัตโนมัติ ที่ธรรมชาติสร้างให้กับทั้งคนและสัตว์ ยกตัวอย่างการกายภาพบำบัด หมอกายภาพบำบัดจะเคาะหัวเข่าคนไข้ เมื่อเคาะยังตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนอง Reflex ถ้าเคาะแล้วเฉยๆ แสดงว่ามีปัญหาล่ะ แต่ถ้าเคาะแล้วเท้าจะดีด แสดงว่าใช้ได้ คือเท้าของเรา แต่เราไม่ได้เป็นคนสั่งให้มันดีด มันดีดของมันเองเป็นระบบอัตโนมัติ หรือถ้ามีอาการตื่นเต้นหรือตกใจ หัวใจก็จะสูบฉีดเลือดโดยอัตโนมัติมากกว่าปกติ โดยที่มันไม่ได้มีข้อความสอบถามหรือตัวเลือกให้เราตัดสินใจ ซึ่งก็แปลว่าระบบนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้ทำงานอยู่บนพื้นฐานของ Free Will เช่นเดียวกับกรณีของแมลงสาบที่เดินหนีหยดน้ำจากแอร์ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์บางคนอาจมองว่าเป็นการทำงานแบบระบบอัตโนมัติก็ได้ แต่ถ้าเรามีวิธีที่จะศึกษา จนกระทั่งเรารู้ว่าแมลงสาบมันคิดของมันเองได้ว่า “ฉันจะอยู่ตรงนี้ให้โง่ทำไมล่ะ เดินไปอีกทางดีกว่า” ถ้าแมลงสาบมันคิดและพูดได้อย่างนั้นแสดงว่ามันมี Free Will เนื่องจาเราศึกษาสัตว์ตรงๆไม่ได้เราศึกษาทางอ้อมๆ นักปรัชญาจึงสนใจเลือกศึกษามนุษย์ โดยตั้งคำถามว่า ปรากฏการที่เราสังเกตได้จากตัวเราเอง มนุษย์เราคิดว่าเราเลือกอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ คนจะมีทางให้ เลือกอยู่เสมอ
เครดิตภาพ: https://muslimvillage.com
รสนิยมการฟังเพลง หรือเสพงานศิลปะก็เช่นเดียวกัน เช่นจากเดิมหากเคยอยู่ต่างจังหวัด คุ้นเคยกับการฟังหรือได้ยินเพลงลุกทุ่ง,เพลงสตริงตามสถานีวิทยุเป็นประจำ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นรสนิยมที่คุ้นเคย ชื่นชอบ แต่เวลาผ่านไปหากได้ย้ายถิ่นฐาน มาเรียนหรือทำงานในตัวเมืองและคลุกคลีอยู่กับบรรยากาศที่ได้ยินได้ฟัง เพลงลูกกรุง เพลงสากล เพลงร่วมสมัย เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไปไปกับวัฒนธรรมการเสพคุ้นที่เปลี่ยนไปในปริมาณสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับความคุ้นเคยกับเพลงลูกทุ่งที่เคยฟัง หล่อหลอมให้เรามีรสนิยมที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าเราเองนั้นไม่ได้เลือกหรือไม่ได้โหวตให้ใครด้วยตัวเองทั้งหมด การที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน อยู่ในตุ่มน้ำคือวัฒนธรรมแบบใดก็จะหลอมตัวและจิตใจเราให้เป็นแบบนั้น คบคนแบบไหน เราก็จะเป็นคนแบบนั้น
ยังไม่จบนะครับ โปรดติดตามเรื่องนี้ตอนต่อๆไป /Episode 2
แหล่งอ้างอิง
1.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
2.จำนง ทองประเสริฐ. ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
3. ชเอิญศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ ๗, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๙.
4. พระสิริมังคลาจารย์. มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐.
5.มหามกุฏราชวิทยาลัย. มังคลัตถทีปนี แปล เล่มที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐.
6. วศิน อินทสระ. พุทธปรัชญาเถรวาท. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.
-วิรุฬหก-
โฆษณา