Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรุฬหก
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2020 เวลา 02:59 • ปรัชญา
เจตน์จำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา EP2
Free Will is Exist or is it just an Illusion
Episode 2
ปัญหาเจตน์จำนงเสรีในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่
นักปรัชญาหรือในวงการปรัชญาให้แนวทางเรื่องเจตจำนงเสรี ว่าควรมีการศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกลงไปมากกว่านั้น นักปรัชญาตะวันตกสองพวกที่มีมุมมองเรื่องนี้ต่างกัน กลุ่มแรกคือพวก Determinism หรือนิยตินิยมบอกว่ามนุษย์เรานั้น “ไม่มีเจตน์จำนงเสรี” ตกลงคือเราไม่เคยเลือกอะไร เหตุปัจจัยเท่านั้นที่หล่อหลอมให้เรามาจะเป็นผู้มีอำนาจในการเลือกให้กับเรา นักปรัชญาพวกที่สองคือพวก Indeterminism หรืออิสรวิสัยนั้นก็บอกว่า “มนุษย์นั้นมีเจตนจำนงเสรี” ดังนั้นจะขอยกเอาแนวคิดทฤษฎีของนักปรัชญาระดับตำนานสองท่านที่มีทรรศนะต่างกันมาประกบกันให้เห็นข้อเปรียบเทียบ
คนแรกคือ โทมัส ฮอบส์ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เป็นนักปรัชญาอังกฤษที่มีชื่อเสียงมาก ในแง่ที่เป็นคนบอกว่า มนุษย์นั้น ไม่เคยเลือกอะไร
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
คนที่สองคือ ฉอง ปอล ซาร์ต เขาคนนี้ก็คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส มีชื่อเสียงมากเช่นกัน โดยซาร์ตบอกว่า มนุษย์นั้นถูกสาปให้มีเสรีภาพ (Man is condemned to be free.) เราเป็นอิสระแม้แต่ในสภาวะการณ์ที่เราเข้าใจว่าเราถูกบังคับ ในสถานการณ์นั้นก็ยังมีอิสระอยู่เสมอ
ฌอง ปอล ซาร์ต เครดิตภาพ: https://philosophychicchic.com
แนวคิดเรื่องเจตน์จำนงเสรีในทรรศนะของ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
มาดูกันที่ ฮอบส์ มองเห็นทุกอย่างในโลกนี้เหมือนเครื่องจักรกลไปซะหมด แม้แต่ร่างกายมนุษย์เขาก็อธิบายเปรียบเทียบกับเครื่องจักรที่ซับซ้อน เช่นตา เปรียบได้กับกล้องถ่ายรูป ปอดเปรียบเทียบกับเครื่องสูบลม แขนเปรียบได้กับคานงัด เครื่องมือต่างๆหลายร้อยชิ้น ในร่างกายมนุษย์ประสานงานกันด้วยระบบประสาทซึ่งเปรียบเสมือนสายโทรศัพท์หรือสายแลนเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายติดต่อกันอย่างทั่วถึง โดยมีจุดศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่ที่สมอง ดังนั้นร่างกายมนุษย์คือเครื่องจักรกลที่แต่ละส่วนสัมพันธ์กันอย่างพิสดารและมีประสิทธิภาพสูง สำหรับเรื่องจิต
ฮอบส์อธิบายว่า เป็นสารละเอียดอ่อนมีที่ตั้งอยู่ที่สมอง และอยู่ภายใต้กฎแห่งการเคลื่อนไหวแบบกลไกเช่นกัน กล่าวคือความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตคือการเคลื่อนไหวในสมอง ความรู้สึกรับรู้ต่างๆ(Consciousness) เป็นผลจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวโดยอัตโนมัติ ดังนั้นมนุษย์ไม่ได้มีความพิเศษนอกเหนือจากสิ่งอื่นใดในโลกเลย คือเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่เคลื่อนไหวตามหลักกลศาสตร์ ทุกสิ่งถูกกำหนดไว้ด้วยกฎเกณฑ์ที่ตายตัว อันเป็นแนวความคิดแบบนิยตินิยม (Determinism) จิตที่ไม่มีเจตนารมณ์อิสระ(Free Will) มีอำนาจเพียงตอบสนองสิ่งเร้าจากภายนอกเท่านั้น นั่นคือสิ่งเร้าให้เกิดปฏิกิริยาสองด้าน สิ่งเร้าบางอย่างทำให้เกิดความพอใจ (Pleasure) ก็เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี (Good)ก็เกิดการตอบสนองด้วยความอยาก (Appetite) สิ่งเร้าบางอย่างก่อให้เกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด (Pain) ก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย (Evil) ก็ก่อให้เกิดการตอบสนองด้วยการเกลียด (Aversion) ทั้งนี้ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้เกิดจากการตัดสินโดยเสรีจิต แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า จิตมนุษย์จึงเปรียบเสมือนเหล็กซึ่งอาจถูกแม่เหล็ก อันได้แก่สิ่งเร้าดึงดูดหรือผลักได้ ในเมื่อมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานตามกฎเกณฑ์ ไม่มีอิสระในการเลือกสรรแล้วในกรณีที่บางคนเป็นอันธพาลหรืออาชญากรซึ่งประพฤติผิดศีลธรรม เราอาจตั้งข้อสังเกตว่าคนๆนั้น ก็ไม่น่าจะมีความผิด เพราะการกระทำของเขาปราศจากเจตนารมณ์อิสระ แต่ตกอยู่ภายใต้กฎกลสาสตร์หรือสภาพแวดล้อมนั้น
เครดิตภาพ:https://www.brosmind.com/work/free-will
แต่สำหรับเรื่องนี้ ฮอบส์กลับให้ความเห็นว่า บุคคลประเภทนี้เปรียบเหมือนเครื่องจักรที่ชำรุด ต้องรีบซ่อมหรือไม่ก็ทำลายทิ้งเสียเลย ดังนั้นการลงโทษจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ฮอบส์ตั้งข้อสังเกตว่า เราเกิดมาเรามีครอบครัว เรามีสังคม วัฒนธรรม และมีการศึกษา อธิบายว่ามนุษย์เรานั้นเรา เมื่อเกิดมาแล้วนั้น เราจะต้องมีสังกัด เชื้อชาติ เช่นเป็นคนไทย เป็นพม่า เป็นจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ เป็นชนชาติใดชนชาติหนึ่ง เสร็จแล้วชนชาติที่เราสังกัด เราก็จะอยู่ในครอบครัวสังกัดชนชาตินั้น
เราอยู่ในครอบครัวคนจีน เราก็จะถูกเตี่ยและแม่ อบรบแบบครอบครัว คนจีน โดยที่เตี่ยและแม่เองก็ถูกอบรมมาจากพ่อและแม่ของเตี่ยอีกที ถ้าเราไปเกิดเป็นฝรั่ง พ่อแม่เราก็จะอบรมเราเป็นฝรั่งเช่นกัน เช่นการขึ้นรถโดยสารสาธารณะ วัฒนธรรมครอบครัวฝรั่ง เวลาลงรถโดยสาร พ่อแม่จะลงก่อน และให้ลูกเดินเรียงแถวตามกันออกมาเอง แต่ถ้าเป็นลูกคนไทยส่วนใหญ่พ่อแม่จะให้ลูกอยู่ข้างหน้า แล้วก็ลงก่อน เพื่อดูแลความปลอดภัยลูก ต่างจากฝรั่งที่เด็กจะต้องดูแลตัวเขาเอง ถ้าเราเกิดเป็นลูกครอบครัวที่พ่อแม่เราดูแลเราตลอดเหมือนไข่ในหิน ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เอาอกเอาใจ ก็จะทำให้เรามีอุปนิสัยบางอย่าง อุปนิสัยที่ว่านี้คือความสามารถในการช่วยเหลือตนเองถ้าเทียบกับลูกฝรั่งแล้วดูเหมือนเราจะมีศักยภาพน้อยกว่า ลูกฝรั่งกระดุมขาด ต้องเย็บเอง พ่อแม่ไม่เย็บให้ พ่อแม่จะเอาเข็มกับด้ายยื่นให้แล้วบอกว่า ให้เย็บเอง ถ้าทำยังไม่เป็นให้เปิดยูทูปดูเอาเอง ในนั้นจะมีสอน เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นครอบครัวทางตะวันออก(ส่วนใหญ่)ก็จะเย็บให้ลูก เมื่อทำให้ลูกบ่อยๆ ลูกครอบครัวนั้นก็จะทำอะไรไม่เป็น เมื่อเด็กไทย(ลูกคนมีตังค์) กับเด็กฝรั่งจะต้องไปใช้ชีวิตร่วมกันในโรงเรียน ปรากฏว่าถ้าเทียบกันแล้วลุกครอบครัวฝรั่งจะมีปัญหาน้อยกว่าเพราะเมื่อเกิดปัญหา เขาจะแก้ปัญหาด้วยตนเอง เมื่อเทียบกับลูกที่อยู่ครอบครัวไทย เมื่อเกิดปัญหาจะเรียกหาแต่พี่เลี้ยง คุณครูเป็นต้น
ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะว่า ลูกคนไทย เกิดมาแล้วด้อยกว่าลูกฝรั่ง ในทรรศนะของฮอบส์ ให้ความเห็นว่าอยู่ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างไรต่างหาก อยู่ในครอบครัวแบบไหน
ถัดมาก็คือเรื่องสังคมวัฒนธรรม ศาสนา ในที่นี้โฟกัสลงไปที่เรื่องศาสนาก็ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน
เช่นถ้าเราไปอยู่ในแวดวงของคนที่เขานับถือศาสนาอิสลาม บุคลิกของชาวมุสลิมจะแตกต่างจากที่เราชาวพุทธเป็นโดยส่วนใหญ่ เช่น โผงผาง ตรงไปตรงมา
ที่เป็นอย่างนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้วเป็นคนอย่างไร
ถ้าสลับที่เด็กทารกกัน โดยเอาเด็กชาวมุสลิมไปอยู่ครอบครัวพุทธ
เอาเด็กที่เกิดจากชาวพุทธไปเลี้ยงดูในครอบครัวมุสลิม
ผ่านไป๒๐ปี เด็กทั้งสองคนก็จะมีลักษณะที่ต่างกัน ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าบรรยากาศของศาสนาอิสลามเขาสอนต่างจากศาสนาพุทธ
ในขณะที่พระเยซูของศาสนาคริสต์บอกว่า ถ้ามีใครมาตบแก้มขวา ไม่ต้องถามว่าทำไมถึงตบ ให้ยื่นแก้มซ้ายมาให้เขาตบเลย เพื่อแสดงว่าเราไม่ยึดมั่นในตัวตนของเรา เอาชนะตัวเราได้...
เครดิตภาพ:https://www.catdumb.tv
แต่ถ้าถามชาวพุทธว่าถ้าถูกตบจะทำอย่างไร ซึ่งอาจจะได้คำตอบจากหลายสำนัก บางสำนักอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า บางพวกก็บอกว่า เป็นทั้งกรรมเก่า และกรรมของเขา คนที่ตบเรานั้นเป็นคนชั่ว ถ้าเราตบคืน ก็จะมีคนชั่วเพิ่มขึ้นอีกคน ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏในคัมภีร์
ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เวลามีคนมาด่าเรา แล้วเราด่าตอบ ในการด่าตอบโต้ของเรานั้นจะทำให้มีคนที่ทำวจีทุจริตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน
แต่หากเป็นศาสนาอิสลาม จะมีหลักคำสอนว่า ถ้ามีคนมาตบเรา ให้ตรวจสอบว่า ทำไมถึงตบ อธิบายได้หรือไม่ว่าทำไมคุณถึงตบผม ถ้าอธิบายได้ว่า เรานั้นทำบางอย่างไปล่วงละเมิดคู่กรณีเข้า อะไรต่อมิอะไรก็ตาม ให้ยอมรับ...
แต่หากคู่กรณีอธิบายเหตุผลไม่ได้ ต้องซัดมันคืน ถ้าไม่เอาคืน
ถือว่าเรานั้นบกพร่อง และปล่อยให้อธรรมมันลอยนวล
ถ้าอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดคุณถึงทำร้ายผม คุณจะยุ่ง...
คุณมีปัญหาแล้วนะ...อะไรทำนองนี้
คริสต์ไม่สอนแบบนี้ พุทธไม่สอนแบบนี้
เพราะฉะนั้น ฮอบส์ถึงได้บอกว่า คนเรานั้น บุคลิกจะเป็นอย่างไร ศาสนาที่อบรมเรานั้นมีส่วนเป็นตัวกำหนด มนุษย์ในทรรศนะของ ฮอบส์ ก็เหมือนกับน้ำ ไปอยู่ในตุ่มก็เป็นทรงเดียวกับตุ่ม ไปอยู่ใน คนโฑก็ทรงเป็นคนโฑ ตุ่มและคนโฑที่สำคัญในชีวิตมนุษย์ก็คือศาสนา
BE DIFFERENT
มีนักสังคมวิทยาบางพวกที่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบฮอบส์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอิทธิพลของศาสนามีผลลึกซึ้งเกินกว่าที่เราเข้าใจมาก
๑) ยกตัวอย่างว่าชาวพุทธสายมหายาน คือชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี เวียดนาม ที่นับถือสายมหายาน บุคลิกจะเป็นแบบหนึ่ง ค้าขายเก่ง มีหัวริเริ่ม ทำนั่นทำนี่ แต่ถ้าเป็นชาวพุทธเถรวาท เช่นชาว ไทย ชาวลาว ชาวเขมร ชาวพม่า ก็จะมีลักษณะอีกแบบหนึ่ง ไม่ชอบค้าขาย ชอบทำไร่ ทำนา เป็นต้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การที่เราชาวไทย ชาวพม่า ลาว เขมร ถ้าเทียบกับ ชาวเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม เป็นเพราะศาสนาพุทธที่เรานับถือนั้นเป็นคนละแบบกัน
ศาสนาพุทธแบบมหายาน สอนให้คิดริเริ่ม แหวกแนว อย่างนู่นนี่นั่น ส่วนพุทธเถรวาทเรา นั้นเป็นพวกอนุรักษ์นิยม Conservative เราก็ไปหว่านข้าวที่ทุ่งนา แล้วก็นอนกระดิกเท้าเป่าขลุ่ยรอต้นกล้างอกโต ถึงเวลาก็ไปเกี่ยวข้าว ได้แค่ไหนแค่นั้นเพราะเราพอเพียง เราสันโดษ ศาสนาเราสอนอย่างนั้น เราก็มีความสุขตามอัตภาพ ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้ก็ไม่ได้สรุปว่าดีหรือไม่ดี
แต่เพียงตั้งข้อสังเกตให้เห็นโดยเปรียบเทียบว่า ศาสนาที่สอนเรานั้นมีส่วนกำหนดเรา เพราะศาสนาก็เหมือนตุ่ม หรือคนโฑ ถ้าเราเปลี่ยนสลับให้ชาวไทย ชาวลาว พม่าเขมร ไปนับถือ พุทธศาสนามหายาน คนไทย ลาวเขมร พม่านี้ก็จะมีบุคลิกคล้ายๆกับ ชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น เวียดนาม กลับกัน ถ้าหากวันหนึ่งชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เปลี่ยนเป็นเถรวาท ก็จะมีบุคลิกไม่ชอบค้าขาย คงไม่ได้ผลิตรถยนต์มาให้เราขับอีก ก็จะนอนเป่าขลุ่ย ชิลๆ หลังจากหว่านข้าวในนา คำพูดนี้เพียงต้องการจะบอกว่า
สังคมไทยเราถ้าหากจะต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง อย่าลืมเงื่อนไขปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่ง คือศาสนานั่นเอง ยกตัวอย่างวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ถึงแม้จะเป็นวัดพุทธนิกายเถรวาท แต่ท่าทีและเจตคติคำสอน ปฏิปทา และการปฏิบัตินั้นโน้มเอียงไปในการเป็นพุทธมหายานอย่างชัดเจน ซึ่งบรรดาลูกศิษย์ญาติธรรมที่เข้าวัด ระดับทานบดีส่วนใหญ่ก็จะมีอาชีพค้าขายหรือทำธุรกิจ ที่เป็นเกษตรกรจะมีเป็นส่วนน้อย เพราะว่าลักษณะของวัดจะมีแนวคิดคล้ายๆกับทางมหายาน
อุโบสถวัดพระธรรมกาย 2560 เครดิตภาพ:http://backtozerogoal.blogspot.com
๒) ถัดมาคือเรื่องการศึกษา ฮอบส์ตั้งคำถามว่า การศึกษาคืออะไร การศึกษาตามที่เราเข้าใจ และแปลโดยศัพท์ คือการดัดแปลง เช่นมีไม้งอๆ เราจะเอาไม้งอๆนี้มาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งโดยตามธรรมชาติไม้จะงอ แต่สิ่งที่เราต้องการคือไม้ตรง ในธรรมบทท่านก็บอกว่าการบวช แล้วศึกษาไตรสิกขาเหมือนการดัดไม้งอๆ ซึ่งเราก็เอาไปลนไฟ พอร้อนๆก็ดัด ถ้ายังงอก็ทำเป็นลูกธนูไม่ได้ ดังนั้นในธรรมบทจึงบอกว่า ช่างศร ทำลูกศร บัณฑิตย่อมฝึกตน
ไตรสิกขา เครดิตภาพ: https://jiab007.wordpress.com
ไตรสิกขา มี ศีล สมาธิ ปัญญา คำว่าสิกขา แปลว่า การศึกษา และการศึกษาในทรรศนะของธรรมบทก็คือการดัดงอให้ตรงเป็นต้น ฮอบส์ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อการศึกษา หมายถึงการดัดแปลง ก็แปลความได้ว่า เราซึ่งทำการศึกษากันอยู่ทั่วโลกเวลานี้นั้น เราเชื่อว่ามนุษย์ทำการดัดแปลงได้ เป็นสิ่งที่ดัดแปลงได้ ที่เรานำคน นำเยาวชนมาสู่ระบบการศึกษา ฮอบส์บอกว่า มันสะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่า เราเชื่อแบบเดียวกับที่เขาเชื่อว่า คนก็เหมือนไม้งอ ซึ่งมันดัดกันได้
เราถึงดัดด้วยการศึกษา เพราะถ้ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี ก็ไม่สามารถดัดได้
คำว่าดัดนี้เราดัดกันตั้งแต่ใจ พอใจถูกตัดจนตรงตามต้องการแล้ว พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา เราก็ตรง
อุทฺกํ หิ นยนฺติ เนตฺติกา
อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ
ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
ชาวนาไขน้ำเข้านา
ช่างศรดัดลูกศร
ช่างไม้ถากไม้
บัณฑิตฝึกตนเอง
Irrigators lead water;
Fletchers fashion shafts;
Carpenters bend wood;
The wise tame themselves.
ช่างศรดัดลูกศร บัณฑิตย่อมฝึกตน
ซึ่งแนวคิดขอฮอบส์ ในจุดนี้ช่างคล้ายคลึงกับหลักของพระพุทธศาสนาทีเดียว การศึกษาเป็นอย่างไร การศึกษาก็จะดัดแปลงกล่อมเกลาให้เราเป็นคนอย่างนั้น สรุปแล้วนั้น ฮอบส์มีทัศนคติแนวคิดว่า มนุษย์เราเกิดมา เหมือนกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง เช่นไม้งอๆ หรือน้ำ แต่ถ้าหากต้องการให้มนุษย์สำเร็จรูปเป็นอะไร เราก็ดัดเอา แปลงเอา ดัดด้วยอะไร ก็ด้วยครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ศาสนา และการศึกษา
ฮอบส์เชื่อว่า มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี ไม่ใช่เป็นการมองมนุษย์ในแง่ร้าย แต่เป็นการมองอย่างสมจริง แล้วจะได้ใช้ความรู้จากการมองที่สมจริงสมจังนี้ มาตกแต่งมนุษย์ให้ได้ผลลัพธ์อะไรบางอย่าง
เมื่อเราฟังฮอบส์สรุปอย่างนี้ แล้วย้อนมองมาทางเจตคติของพุทธศาสนา
พระอรหันต์เมื่อเทียบแล้ว อุปมาคือไม้ที่ดัดได้ตรงที่สุด โดยคุณสมบัติพระอรหันต์ตามคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาของเราระบุว่าพระอรหันต์ไม่สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างได้ เช่นถ้าพระอรหันต์เผลอดื่มของมึนเมา เช่นสุรา
เครดิตภาพ: https://www.thairath.co.th
โดยยกเหตุการณ์สมมุติว่า เด็กวัด ที่คอยอุปัฏฐาก เดิมทีตั้งใจจะรินน้ำเปล่าถวายแต่เข้าใจผิดรินเหล้าขาวดีกรีต่ำถวาย
พระอรหันต์ท่านก็ยกขึ้นดื่ม เหล้าในความเข้าใจเรามองว่าเป็นของมึนเมาและผิดศีล เราชาวพุทธเถรวาทเชื่อว่าระบบกลไกร่างกายของพระอรหันต์ เหล้าขาวนี้จะไม่สามารถล่วงลำคอของท่านได้ ท่านจะสำรอกออกมาโดยอัตโนมัติ
4
เรื่องนี้ต้องการจะบอกว่า บุคคลที่ได้รับการดัดแปลงจนตรงที่สุดในทางศาสนา จะไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยธรรมชาติเลย เรื่องเหล้านี้อาจเป็นเรื่องทางกายภาพยังมีความคลุมเครือหากเป็นเรื่องทางใจจะค่อนข้างชัดเจน พระอรหันต์มีคุณสมบัติบุคลิก ที่ใครด่าอย่างไร ท่านก็จะไม่โกรธ และพระอรหันต์ฆ่าใครไม่ได้ ทั้งมนุษย์และสัตว์ แต่ถ้าเป็น คนธรรมดาหรือพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่านั้น หากมีเหตุจำเป็นบางอย่าง อาจมีการทำผิดศีลได้ เช่นฆ่าคนได้ ถ้าหากจำเป็น เช่นเพื่อป้องกันตัว แต่พระอรหันต์จะไม่ทำแม้เพื่อป้องกันตัวก็ตาม
เครดิตภาพ: https://www.thairath.co.th
จึงตั้งข้อสังเกตด้วยการสงสัยว่า การที่พระอรหันต์มีเงื่อนไขทำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ ไม่ได้มาจากการที่ท่านคิด แต่มาจากการที่ท่านถูกดัดแปลงจนกระทั่งว่า ชีวิตของท่านทั้งกายและใจ ทำงานโดยอัตโนมัติ ถ้าเทียบโดยทรรศนะของฮอบส์ ที่กล่าวมา สภาวะพระอรหันต์อาจไม่ได้มีจิตจำนงเสรีเลยก็ได้ ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตขึ้นไปอีกขั้นว่า ถ้าหากพระอริยะบุคคลในศาสนาของเรา คือคนที่ไม่มีเจตจำนงเสรีแล้ว การเป็นพระอริยะบุคคลในทางศาสนามีอิสระจากพันธนาการจริงหรือไม่
เครดิตภาพ: https://www.psychologytoday.com
คล้ายๆกับว่าเดิมทีก็เป็นคนธรรมดาดีๆอยู่ปกติทั่วไป เมื่อฝึกตนพัฒนายกระดับจิตขึ้นเรื่อยๆสูงขึ้นละเอียดขึ้น ยิ่งเหมือนหุ่นยนต์มากขึ้นๆ เหมือนเครื่องจักรที่ถูกป้อนโปรแกรม คำสั่งแบบมีเงื่อนไขไปเรื่อยๆอย่างนั้นหรือไม่ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) มีความเห็นที่ต่างคนละขั้วกับ ฮอบส์
จากปรัชญาทางกลสาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตของมนุษย์ ฮอบส์อนุมานถึงทฤษฎีเกี่ยวกับเจตสิก(Sentiment) และอภิจชา (Appetite) เขาได้เริ่มต้นจากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุแห่งสัญญา(Perception)อย่างง่ายๆ ซึ่งแสดงให้เห็นภาพสัญญาว่า เป็นการติดต่อระหว่าง อายตนะภายนอก (ตา หู จมูก ลิ่น กาย และใจ) ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวใน สมองและหัวใจความเคลื่อนไหวเหล่านี้ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับต่อมานั้น จะก่อให้เกิดจินตนาการ ฮอบส์เลือกใช้คำว่า จินตนาการ แทนคำว่าประสบการณ์เกี่ยวกับการมีจินตภาพ และจัดประเภทของความจำไว้เพียงเป็นวิธีการพูดถึงจินตนาการโดยเฉพาะวิธีหนึ่งเท่านั้น ฮอบส์เองได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เราควรจะเรียกว่า การพิจารณาทางฟิสิกส์หรือทางสรีรวิทยาเกือบสิ้นเชิงซึ่งต่อมา ฮอบส์เรียกว่า“ขบวนการจินตนาการ”
โดยอภิปรายถึงเรื่อง Prediction และ Retrodiction นั่นคือการคาดคะเนถึงอนาคตและอาศัยอดีต โดยอาศัยวิธีการ“การคาดคะเน”(Expectation)ซึ่งนับว่าเป็นสถานะแห่งจิตที่ไร้เหตุผลจากที่ประสบการณ์ในอดีตและนิสัยเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ความสุขุมรอบคอบ (Prudence)คือความสารถที่จะเป็นฝ่ายถูกต้องในอนาคตนั้น ฮอบส์ก็เห็นว่าเป็นเพียงเรื่องที่ปรุงแต่งสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเท่านั้น
ยังไม่จบนะครับ โปรดติดตามแนวคิดเรื่อง เจตน์จำนงเสรีในทรรศนะของ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) ตอนต่อไปใน Ep3
แหล่งอ้างอิง
1.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.
2.จำนง ทองประเสริฐ. ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔.
3. ชเอิญศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ ๗, กรุ
6. วศิน อินทสระ. พุทธปรัชญาเถรวาท. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.
7. สมภาร พรมทา. มนุษย์กับการแสวงหาความจริงและความหมายของชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๓๘.
8. เสาวนีย์ จิตต์หมวด. วัฒนธรรมอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ทางนำ, ๒๕๓๕.
-วิรุฬหก-
35 บันทึก
99
69
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจตน์จำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา Free Will is Exist or is it just an Illusion
35
99
69
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย