24 พ.ค. 2020 เวลา 07:00 • การเมือง
เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๔ ( พระราชทานช้างมงคล )
ดวงหทัยหรือจักษุ เราก็ให้ได้ จะป่วยกล่าวไปไยกับทรัพย์นอกกายของเรา
คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์ หรือแก้วมณี ในเมื่อยาจกมาแล้ว เราได้เห็นแล้ว
พึงให้พาหาทั้งซ้ายขวาก็ได้ เราไม่พึงหวั่นไหว เพราะใจของเรายินดีในการบริจาค
ชาวสีพีจงขับไล่หรือฆ่าเราเสียก็ตาม พวกเขาจะตัดเราเป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด
เราจักไม่งดเว้นจากการบริจาคทานเป็นอันขาด …
บุญเป็นธาตุสำเร็จ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จทุกอย่าง เปรียบประดุจแก้วสารพัดนึกที่บันดาลให้เรา  ได้สมปรารถนาในทุกเรื่อง การที่ความสุขและความสำเร็จจะบังเกิดขึ้นได้นั้น ต้องเริ่มจากการสั่งสมบุญให้แก่ตัวเราเองก่อน บุญเป็นสิ่งที่ต้องทำ ใครทำคนนั้นได้ ถ้าไม่ทำบุญ จะแสวงหาความสุขอย่างไรก็ไม่พบ ดังนั้นหากอยากเข้าถึงความสุขและความเต็มเปี่ยมของชีวิต ต้องเริ่มที่การสั่งสมบุญ ด้วยการบำเพ็ญทานให้ต่อเนื่อง รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และหมั่นนั่งสมาธิ(Meditation)เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ สักวันหนึ่ง ความสุข ความสำเร็จสมหวัง ย่อมจะบังเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน
มีธรรมภาษิตที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ได้กล่าวไว้เป็น  อาสภิวาจาว่า
 
        “ดวงหทัยหรือจักษุ เราก็ให้ได้ จะป่วยกล่าวไปไยกับทรัพย์ นอกกายของเรา คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์ หรือแก้วมณี ในเมื่อยาจกมาแล้ว เราได้เห็นแล้ว พึงให้พาหาทั้งซ้ายขวาก็ได้ เราไม่พึงหวั่นไหว เพราะใจของเรายินดีในการบริจาค ชาวสีพีจงขับไล่หรือฆ่าเราเสียก็ตาม พวกเขาจะตัดเราเป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด เราจักไม่งดเว้นจากการบริจาคทานเป็นอันขาด”
นี่คือใจของพระโพธิสัตว์เจ้าของเรา  เมื่อท่านตั้งความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทันทีที่คิดจะบริจาคทานอะไร ไม่ว่าจะเป็นสมบัติภายนอกหรือภายในก็ตาม ท่านก็ให้ได้ทุกอย่าง ความรู้สึกหวงแหนหรือห่วงกังวล ไม่มีอยู่ในจิตใจอันบริสุทธิ์ของท่านเลย อีกทั้งเมื่อคิดจะให้ทานแล้ว ก็ไม่มีใครจะมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของท่านได้ เพราะถือว่า ท่านกำลังดำเนินตามปฏิปทาของผู้รู้ สิ่งที่ท่านคิดนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นอริยวงศ์ เป็นวงศ์ของพระอริยเจ้าหรือบัณฑิตนักปราชญ์ที่ทำกันมายาวนาน
 
        เพราะท่านถือว่า การให้สมบัติภายนอก หรือสมบัติภายใน คือ สรีระร่างกายของท่านนั้น เป็นเรื่องปกติ เป็นเพียงการสละความสุขเล็กน้อย เพื่อให้ได้สมบัติอันยิ่งใหญ่ ตรงนี้ขอให้พวกเรา ทุกคนกลับไปคิดทบทวนกันให้ดีว่า เมื่อเรามีศรัทธา ใช้ปัญญาพิจารณาดีแล้วว่า ทานที่เรากำลังทำนี้เป็นสิ่งที่ดีควรทำ ก็อย่าได้ไปหลงเชื่อถ้อยคำของคนอื่นหรือผู้ไม่รู้ อย่าให้ความตระหนี่ของเขามาครอบงำความศรัทธาของเรา ที่จะได้ฝากฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเสบียงบุญติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ เหมือนดังเรื่องของพระเวสสันดร ผู้ที่กล้าสละช้างมงคล ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีค่าควรเมืองแก่คนที่มาขอ
ครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงเมืองกาลิงคะที่เกิดฝนแล้ง เกิด ทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพงไปทั่ว แม้พระราชาจะสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้ฝนตกได้ จำเป็นต้องส่งพราหมณ์ทั้งแปด ไปขอช้างมงคลของพระเวสสันดร พราหมณ์ทั้ง ๘ ท่าน ชื่อ รามะ ธชะ ลักขณะ สุชาติมันตะ ยัญญะ สุชาตะ สุยามะ และโกณฑัญญะ  เมื่อพราหมณ์เดินทางไปถึงกรุงเชตุดร แทนที่จะแต่งตัวเต็มยศเหมือนราชทูตทั่วไป ต่างชักชวนกันปลอมแปลงเป็นยาจกขอทานผู้น่าสงสาร นุ่งเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดวิ่น เนื้อตัวเปื้อนฝุ่นธุลีไปนั่งรอพระเวสสันดรที่โรงทาน นี่เป็นวิธีอันชาญฉลาดของพวกพราหมณ์
*เช้าตรู่วันนั้น เมื่อพราหมณ์ทั้งแปดเห็นพระเวสสันดร ออกตรวจโรงทาน พวกเขารีบเข้าไปนั่งล้อมรอบช้างมงคล  ครั้นถูกตรัสถามว่า “ดูกรท่านพราหมณ์ผู้มีเล็บยาวมีขนยาว พวกท่านเหยียดแขนขวาออกมา จะขออะไรกับเราหรือ” พราหมณ์ทั้งแปด ทูลตอบว่า “ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะทูลขอหัตถีรัตนะตัวประเสริฐนี้ ไปยังกาลิงครัฐ พระเจ้าข้า” จากนั้นได้ทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกอย่างตามความเป็นจริง
พระเวสสันดรสดับเช่นนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราหวังจะบริจาคอวัยวะร่างกายของเรา แต่พวกพราหมณ์มาขอสิ่งที่เป็นเพียงทานภายนอกเท่านั้น ทำไมเราจะทำไม่ได้ เราจะทำความปรารถนาของพราหมณ์เหล่านี้ให้สำเร็จ ขณะประทับอยู่บนคอช้าง พระองค์ได้ตรัสตอบตกลงทันทีโดยไม่ได้ลังเลพระทัยแม้แต่น้อย ไม่ยอมให้ความตระหนี่เข้ามาครอบงำจิตใจได้ 
 
        ครั้นรับคำว่าจะให้ พระองค์ทรงเสด็จลงจากคอช้างและทำประทักษิณช้าง ๓ รอบ เพื่อตรวจความพร้อมของช้าง เมื่อไม่พบข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นกายช้างหรือเครื่องประดับ พระองค์จึงได้วางงวงช้างไว้ในฝ่ามือของพราหมณ์ พลางจับพระเต้าทองคำ หลั่งน้ำทักษิโณทกลงที่งวงช้าง ทันทีที่หลั่งน้ำทักษิโณทก แผ่นดินก็หวั่นไหว เสียงฟ้าร้องคำรามลั่น ชาวเมืองเกิดอาการขนลุกขนพองสยองเกล้าไปตามๆ กัน
เมื่อพราหมณ์ขอช้างได้แล้ว ก็พากันแห่ไปในใจกลางเมือง ครั้นมหาชนเห็นช้างมงคล ต่างถามว่า ท่านได้ช้างนี้มาจากไหน ทันทีที่รู้ว่าได้รับบริจาคมาจากพระเวสสันดร ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ และโกรธพระโพธิสัตว์มาก ได้รวมตัวกันตั้งแต่คนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตรจากทุกตระกูล พ่อค้า ชาวนา พราหมณ์ พากันมาชุมนุมร้องเรียนพระเจ้าสัญชัยว่า
 
        “พระเวสสันดร ควรพระราชทานข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเสนาสนะ เพราะของเหล่านั้นสมควรแก่พวกพราหมณ์ แทนที่จะพระราชทานช้างมงคล บัดนี้แคว้นของพระองค์ถูกพระโอรสบั่นทอนเสียแล้ว มงคลหัตถีนี้ เป็นราชพาหนะรู้ชัยภูมิในการทำยุทธหัตถีทุกอย่าง เป็นช้างเผือก สามารถเอาชนะข้าศึกได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งพระเวสสันดรยังพระราชทานคนเลี้ยงช้างอีก ๕๐๐ ตระกูลให้แก่พราหมณ์ทั้งแปดด้วย ขอพระองค์ทรงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกเมืองสีพี ไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด”
พระเจ้าสัญชัยสดับคำร้องเรียนเช่นนั้นแล้ว เห็นว่า ถ้าหากไม่เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง ชาวเมืองจะไม่พอใจ เรื่องราวอาจลุกลามใหญ่โต แม้พระองค์จะทรงรักพระโอรสสุดที่รักมากเพียงไร แต่ก็ไม่อาจต้านกำลังของชาวเมือง จึงได้แต่รับสั่งว่า “ถ้าชาวเมืองสีพีเห็นพ้องต้องใจกันเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด แต่ขอให้โอรสของเราพักอยู่ที่เมืองนี้เพียงคืนเดียว และให้เสวยราชสมบัติสักวันหนึ่งเถิด” จากนั้นทรงรับสั่งราชบุรุษให้ไปส่งข่าวถึงพระโอรส
 
        ถึงกระนั้นพระเวสสันดรทรงไม่ได้หวั่นไหวหรือท้อพระทัย หรือเดือดร้อนกับการสร้างมหาทานบารมีของพระองค์ มีแต่ความปีติโสมนัสว่า ดวงหทัยหรือจักษุเราก็ให้ได้ จะป่วยกล่าวไปไยกับทรัพย์นอกกายของเรา ในเมื่อยาจกมาแล้ว เราได้เห็นแล้ว ถึงเราจะให้แขนทั้งซ้ายขวา เราไม่พึงหวั่นไหว เพราะใจของเรายินดีในการบริจาค ปวงชนชาวสีพีจะขับไล่ หรือฆ่าเรา หรือพวกเขาจะตัดเราเป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด เราจักไม่งดเว้นจากการบริจาคเป็นอันขาด
เราจะเห็นว่า หากจะสร้างความดีสักอย่างหนึ่งอย่าง  ยิ่งยวด ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ต้องอาศัยกำลังใจที่มุ่งมั่น  เด็ดเดี่ยว ธรรมชาติของพระโพธิสัตว์ของเรานั้น เมื่อทรงตัดสินพระทัยว่าจะทำอะไรแล้ว จะไม่ทรงท้อถอยเด็ดขาด คืนนั้น แทนที่พระองค์จะทรงวิตกกังวลที่ต้องถูกขับไล่ออกนอกเมือง เพราะความไม่เข้าใจของชาวเมือง พระองค์กลับตั้งพระทัยมั่นว่า แม้เหลือเวลาเพียงชั่วราตรีเดียว ก็นับเป็นโอกาสอันเลิศที่เราจะได้สร้างทานบารมี ในวันรุ่งขึ้น ก่อนออกเดินทางไกล เพื่อไปอยู่ที่เขาวงกต เราจะต้องทำมหาทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนมหาทาน ที่ยิ่งยวดกว่านั้นคืออะไรมาติดตามกันในตอนต่อไป
 
        นี่เป็นเรื่องราวความเป็นผู้มีน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยวของพระบรมโพธิสัตว์ของเรา ท่านได้สร้างมหาทานบารมีที่ทำได้ยากยิ่ง จนถึงขั้นมีผู้ไม่เข้าใจและไม่พอใจในการกระทำของพระองค์ ถึงกับต้องขับไล่ออกจากเมือง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า บางครั้งเมื่อทำความดีแล้ว กลับมีผลออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีใครยกย่องชมเชย แต่ไม่ใช่ว่าความดีจะไม่ส่งผล เพียงแต่คนอื่นยังไม่เข้าใจ เขายังไม่เห็นคุณค่าของทานกุศล อย่างไรก็ตามผลแห่งความดีนั้นจะต้องปรากฏอย่างแน่นอน
พวกเรานักสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน เกิดมาภพชาตินี้ก็เพื่อสร้างบารมีเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่น เรามีเป้าหมายจะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ต้องสั่งสมทานบารมีให้มากๆ อย่าได้ประมาทหรือมัวชะล่าใจ ให้เร่งรีบขวนขวายทำบุญกุศลให้เต็มที่กันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เวสสันตรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๖๑๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา