Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2020 เวลา 13:00 • การศึกษา
มีกฎหมายอยู่เรื่องหนึ่งที่สมัยเรียนผมมีความรู้สึกว่าไม่ค่อยจะยุติธรรมซักเท่าไหร่ (จริง ๆ มีหลายเรื่องแต่วันนี้ขอยกมาแค่นี้ก่อน) นั่นก็คือเรื่อง “การครอบครองปรปักษ์”
การครอบครองปรปักษ์คืออะไร?
ถ้าจะให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การที่คน ๆ หนึ่งได้ครอบครองทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตัวเองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จนได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไป (ฟรี ๆ)
อ้าว.. หลายคนพอได้ฟังก็อาจมีความสงสัยขึ้นมาทันทีเลยว่า ทำไมกฎหมายถึงเขียนแบบนี้.. แบบนี้ไม่ยุติธรรม.. ฯลฯ
ผมเองก็เคยสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมกฎหมายถึงยอมให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่พอได้ฟังคำอธิบายของอาจารย์ผู้สอนจึงเริ่มจะพอเห็นภาพอยู่บ้าง
ด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายเองที่ไม่ต้องการให้ทรัพย์สินต้องถูกปล่อยทิ้งเอาไว้เฉย ๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากกว่าหากทรัพย์สินเหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้สอย
หากเจ้าของปล่อยปละละเลย ไม่ยอมมาดูแลเป็นเวลานาน กฎหมายจึงเปิดช่องให้ผู้อื่นที่เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นฝ่ายได้กรรมสิทธิ์ไป
ซึ่งหลักเกณฑ์เรื่องการครอบครองปรปักษ์นั้น ได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โดยมีหลักเกณฑ์อยู่ว่า..
1. ครอบครอบทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
2. โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
- โดยสงบ หมายถึง ไม่ถูกโต้แย้งสิทธิในขณะการครอบครองปรปักษ์ เช่น ถูกฟ้องขับไล่
- เปิดเผย เช่น เข้าไปอยู่อาศัย หรือปลูกบ้านในที่ดิน ไม่ได้หลบ ๆ ซ่อน ๆ
1
- ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หมายถึง การเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นด้วยความเป็นเจ้าของ เช่น คอยหวงกันหากมีผู้อื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น
3. ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ (เช่น บ้าน, ที่ดิน) ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ (เช่น รถยนต์, แหวนเพชร) ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
(เพิ่มเติม: ในกรณีเป็นที่ดิน จะต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ อย่างเช่น โฉนดที่ดิน จึงจะนำเรื่องการครอบครองปรปักษ์มาใช้ได้
แต่ถ้าเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น นส3. นส3ก. หรือ สค.1 หากถูกแย่งการการครอบครอง กฎหมายกำหนดให้ผู้ครอบครองต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนภายใน 1 ปีนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง)
1
เมื่อครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อแล้ว ผู้ครอบครองปรปักษ์จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไปโดยผลของกฎหมาย
1
มีคดีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ซึ่งน่าสนใจ..
คือ ผู้ครอบครองปรปักษ์ (ขอสมมติว่าชื่อนายใจดี) ได้เข้าครอบครองที่ดินมีโฉนดของนายเฉยเมย ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว
นายใจดีจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวไปด้วยผลของกฎหมาย
นายเฉยเมยที่มาทราบเรื่องภายหลังไม่อยากเสียที่ดินไปฟรี ๆ จึงได้ไปเจรจากับนายใจดีเพื่อให้นายใจดียอมซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว
และนายใจดีได้ตอบตกลงที่ “จะซื้อ” ที่ดินจากนายเฉยเมย
ต่อมา นายเฉยเมยได้ฟ้องขับไล่นายใจดีให้ออกจากที่ดิน โดยอ้างว่านายใจดีไม่ได้ครอบครองที่ดินด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
เนื่องจากการที่นายใจดีตกลงยอมจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่านายใจดียอมรับว่าที่ดินไม่ใช่ของตนแล้ว
ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า..
แม้จะฟังว่าการที่นายใจดีตกลงจะซื้อที่ดินจะเป็นการยอมรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายเฉยเมย แต่ก็เป็นการยอมรับหลังจากที่นายใจดีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่นายใจดีได้รับโดยผลของกฎหมายแต่อย่างใด
เมื่อนายใจดีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้ว นายเฉยเมยจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6468/2554)
เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า “อย่าเฉยเมย” นะครับ 😂
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ
Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
Instagram.com/Natarat_law
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ
https://twitter.com/Nataratlaw?s=09
Photo:
pixabay.com
75 บันทึก
187
54
90
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
75
187
54
90
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย