26 พ.ค. 2020 เวลา 14:02 • ข่าว
อินเดีย-จีนอาจทำสงครามกัน
ในระหว่างที่หลายประเทศกำลังหมกมุ่นอยู่กับการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19ภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจากสภาวะความต้องการซื้อทั่วโลกลดลง
ประเด็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศก็ยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่องในหลายมุมโลก โดยเฉพาะสงครามจิตวิทยาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงประเด็นปัญหาภายในของจีนทั้งฮ่องกงและช่องแคบไต้หวัน
อีกหนึ่งพื้นที่พิพาทสำคัญที่เรียกได้ว่าร้อนระอุไม่แพ้กันก็คือบริเวณแนวพรมแดนจีน-อินเดีย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีการปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่าย ทั้งในพรมแดนบริเวณพื้นที่ลดาขทางด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย และสิกขิมทางด้านตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย
แม้ว่าการปะทะกันของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนและกองทัพอินเดียจะเป็นเพียงการชกต่อยและขว้างก้อนหินซึ่งทำให้ทั้ง2ฝ่ายบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่มันก็สะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามแนวพรมแดนของทั้งสองชาติ
ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและจีนไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะทั้งสองประเทศมีพรมแดนซึ่งยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันว่าตรงไหนเป็นของใครยาวที่สุดในโลก ปัญหานี้ทำให้เกิดการทำสงครามขนาดใหญ่มาแล้วในปี 1962 และนับตั้งแต่นั้นก็มีการปะทะกันขนาดเล็กอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปประเทศในทศวรรษ 1970 การใช้กระสุนยิงกันระหว่างสองชาติก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งนี่ถือเป็นความตกลงร่วมกันของสร้างชาติแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ขยายปัญหาพิพาทพรมแดนให้ใหญ่โตจนเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นนั้นไม่สามารถอธิบายปัจจัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในจีนและอินเดียได้ ปัจจุบันทั้งสองชาติมีแนวความคิดเรื่องชาตินิยมทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก มันส่งผลโดยตรงต่อทิศทางและนโยบายทางการทหารของประเทศ
ระหว่าง 10 ปี ที่ผ่านมาทั้งจีนและอินเดียมีการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านกองทัพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากตามแนวพรมแดน ยิ่งไปกว่าทั้งอินเดียและจีนยังมีการเพิ่มกำลังทหารประจำการตามแนวพรมแดนดังกล่าวอีกด้วย
หลายปีมานี้กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนได้มีการทดสอบศักยภาพและความพร้อมทางการทหารของอินเดียอยู่อย่างต่อเนื่อง และเราเริ่มเห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการเมืองและการทูตอาจไม่ได้นำพาความสงบสุขสู่สองประเทศอีกแล้ว
น่าสนใจว่าเป็นเวลานานมากแล้วที่พรมแดนของสองชาตินั้นเงียบสงบและปราศจากความเคลื่อนไหวทางการทหาร อย่างไรก็ตามข้อมูลของทางการอินเดียระบุว่าในช่วงปี 2016-2018 กองทัพจีนมีการข้ามพรมแดนเข้ามาในฝั่งอินเดียมากกว่า1,025ครั้ง
ความตึงเครียดระหว่างสองชาตินั้นเริ่มเด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2017 จากประเด็นปัญหาการเผชิญหน้ากันเหนือพื้นที่บริเวณโดกรัม ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทของจีนและภูฏาน การเผชิญหน้าดังกล่าวกินเวลานานถึง 2 เดือนเต็ม ซึ่งมันช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น การเผชิญหน้าและปะทะกันของกองทัพสองชาติในอนาคตจะเป็นเรื่องปกติ
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้อินเดีย-จีนถึงไม่มีการปะทะกันเลย ต้องบอกอย่างนี้ครับว่าสองชาติเขามีสัญญาใจกันตั้งแต่ราวทศวรรษ 1980 นายกรัฐมนตรีราชีพ คานธีของอินเดียได้ตกลงกับเติ่ง เสี่ยวผิงว่าจะเอาเรื่องปัญหาพรมแดนวางไว้ก่อน แล้วร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เรื่องพวกนี้ไม่ถูกแตะอีกเลยมาเป็นเวลานาน เวลานั้นขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศใกล้กันมาก
แต่พอเวลาผ่านไปในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่างกันสิ้นเชิง โดยเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็น 5 เท่าของอินเดีย ในขณะที่งบประมาณทางการทหารของจีนเองก็มากกว่าอินเดียถึง 4 เท่าตัว สิ่งเหล่านี้สั่นคลอนสัญญาใจเดิมที่สองชาติมีไว้
ยิ่งไปกว่านั้นเราจะเห็นว่านับตั้งแต่ปัญหาวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ท่าทีนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของจีนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะประเด็นทะเลจีนใต้ ในขณะที่อินเดียเองก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวทีโลกเช่นกัน
ฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นพลวัตรสำคัญทางด้านความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติที่จะมีการปะทะและแข่งขันกันทางอำนาจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และหากทั้งสองประเทศไม่มีการสื่อสารหรือบริหารจัดการที่ดีพอ มันก็อาจนำมาซึ่งกันทำสงครามระหว่างกันได้ในอนาคต
ที่มา
บทความ India-China ties: Need to strengthen conventional and strategic deterrence capabilities post-Galwan Incident ของ Financial Express
บทความ Why We Should Worry About China and India’s Border Skirmishes ของ Foreign Policy

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา